เรื่องเล่า


ดีใจจังที่เราทำตาม CPG

ดีใจจังที่เราทำตาม CPG

นางรัศมี  แมนประโคน พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ

 

ภายในห้องฉุกเฉินวันนี้ไม่วุ่นวายเหมือนวันที่ผ่าน ๆ มา  ช่วงเวลาประมาณ 11 นาฬิกา

พยาบาลผลัดเปลี่ยนกันพักรับประทานอาหารกลางวัน  เหลือฉันกับแจ๊คซึ่งเป็นพยาบาลน้องใหม่และพี่แผ้วผู้ช่วยเหลือคนไข้ เมื่อไม่มีผู้มารับบริการภายในห้องฉุกเฉิน ฉันจึงปลีกตัวไปลงข้อมูล การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ห้องบัตร ซึ่งอยู่ติดกับห้องฉุกเฉิน

หลังจากฉันลงข้อมูลไปได้ประมาณ 5 นาที ได้ยินเสียงผู้มารับริการแจ้งว่ามีอาการเจ็บหน้าอก  พยาบาลจุดคัดกรองและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ได้นำผู้ป่วยไปส่งที่ห้องฉุกเฉินทันที ฉันจึงรีบเดินตามมา  แจ๊คกำลังวัดสัญญาณชีพและซักประวัติผู้ป่วยอยู่

“ เหมือนภาวะหัวใจขาดเลือดหรือเปล่า แจ๊ค”

“เหมือนอยู่ครับ” แจ๊คตอบ

“ชีพจรไม่ค่อยสม่ำเสมอ เหมือนคนอื่นเลย” พี่แผ้วบอก

“ถ้าอย่างนั้น รีบตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเลย  เจาะระดับน้ำตาลในเลือดด้วย พี่แผ้วขอสายออกซิเจนด่วน”

หลังจากสาละวนตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเสร็จ ผลออกมาผิดปกติจากที่เคยเห็น ลักษณะเหมือนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

“พี่จะเอาผลไปให้หมอดูเลยดีกว่า ผลผิดปกติ”  ฉันจึงรีบเดินไปห้องตรวจเพื่อรายงานผลพยาบาลหน้าห้องตรวจบอกว่าแพทย์ไปตรวจที่จุดบริการโรคระบบทางเดินหายใจ ฉันจึงรีบรุดไปทันที  หลังจากแพทย์ดูผลแล้วได้สั่งการรักษาทันที

“ ให้น้ำเกลือ 0.9% NaCl 80 cc/hr  เจาะเลือด ส่ง Trop-T ทันที  แล้วก็ให้ ASA(V) 1 เม็ดเคียวก่อนกลืน ขอหมอสั่งยาคนไข้ที่ตรวจค้างคนนี้เสร็จจะรีบตามไป”

ฉันรีบกลับมาที่ห้องฉุกเฉิน “คนไข้เป็นยังไงแจ็ค หมอสั่งเปิดเส้น ให้ให้ยาASA(300) เคี้ยวก่อนกลืน  แล้วส่ง Trop –T”   หลังจากฉันพูดจบ มองไปที่เตียงเห็นผู้ป่วยวูบไป

“พี่คนไข้ arrest คลำชีพจรไม่ได้” แจ๊คพูดขึ้นเสียงดัง ผู้ป่วยมีลักษณะเกร็งทั้งตัว ตาค้าง ตัวเขียว รูม่านตาไม่ตอบสนองต่อแสง

“ตามทีม CPR” ฉันบอกเสียงดัง พี่แผ้วรีบวิ่งไปกดกริ่ง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่โรงพยาบาลเราใช้เพื่อแจ้งทีมว่ามีผู้ป่วย arrest ที่ห้องฉุกเฉิน

ฉันรีบจัดสถานที่เพื่อให้ง่ายต่อการช่วยฟื้นคืนชีพ ลากเครื่องกระตุกหัวใจมาติดให้ผู้ป่วย แพทย์มาถึงได้ทำ Defibrillation  360 jule  2 ครั้งติดกัน แล้วแพทย์รีบไปใส่ท่อช่วยหายใจ หลังจากนั้นจังหวะของหัวใจที่ปกติก็กลับมาปรากฏบนหน้าจอเครื่องกระตุกหัวใจอีกครั้ง ตัวผู้ป่วยเริ่มอ่อนลง สีหน้าเริ่มแดงขึ้น รูม่านตาหดเล็กลง  สักพักผู้ป่วยขยับมือและขาได้ ค่อย ๆ เปิดเปลือกตาขึ้น และทำตามคำสั่งได้  แล้วผู้ป่วยก็ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลบุรีรัมย์อย่างปลอดภัย

 

ถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานหลายเดือน แต่ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นอยู่ในความทรงจำของฉันตลอดเวลา  แพทย์ พยาบาลจากแผนกผู้ป่วยนอก ทุกคนมาด้วยความรวดเร็ว และทำหน้าที่ของตนเองสุดความสามารถ  ทำงานเป็นทีม  ถึงแม้จะตะกุกตะกักบ้าง ในที่สุดผู้ป่วยก็ฟื้น ลืมตาอีกครั้ง ท่ามกลางความดีใจของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยคนไข้ และญาติ 

ฉันมีความรู้สึกดีใจ ภูมิใจ และรู้สึกว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งดีดีทีเกิดขึ้น  HA ... นี่แหละคือ HA  … ทุกคนทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพ ..ตามระเบียบปฏิบัติ  ถ้าประชาสัมพันธ์รับบัตรแล้วให้ผู้ป่วยไปตรวจที่หน้าห้องตรวจ ถ้าพยาบาลห้องฉุกเฉินไม่ทำตาม CPG ถ้าไม่มีระบบรายงานแพทย์  ถ้าไม่มีกริ่งฉุกเฉิน ถ้าทีมสุขภาพต่างทำหน้าที่เฉพาะของตนเองเท่านั้น.....อะไรจะเกิดขึ้น   4 นาทีทองสำหรับผู้ป่วยรายนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

 

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 306385เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2009 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

*-* สวัสดีค่ะ

ร่วมชื่นชมยินด้ด้วยค่ะ

คุ้นๆว่ารู้จัก นามสกุล แมนประโคน นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท