ปางมะผ้าหมายถึงอะไร? ประวัติบ้านถ้ำลอด


ไปเที่ยวไหน แล้วรู้จักภูมินามและภูมิหลังของพื้นที่จะทำให้เราเกิดความประทับใจมากขึ้นและมีความทรงจำที่งดงามเกี่ยวกับพื้นที่

ก่อนที่จะเข้าเรื่องของแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด  ที่มีความพิเศษน่าเยี่ยมเยือน เราน่าจะมาทำเข้าใจความหมายของชื่ออำเภอปางมะผ้ากันก่อน  และทำความรู้จักชุมชนที่อยู่ในบริเวณนั้นกันหน่อย  เพื่อท่านจะได้เข้าใจที่มาที่ไปของกลุ่มตะเกียงที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำท่านเข้าสู่ถ้ำลอด

 

ปางมะผ้า  หมายถึงอะไร?

          ปางมะผ้า  เป็นคำภาษาไทยใหญ่  ปาง  หมายถึงที่พักชั่วคราว  มะผ้า  เพี้ยนมาจากคำว่า หมากผ้า  แปลว่ามะนาว     ปางมะผ้า  หมายถึงที่พักชั่วคราวที่มีมะนาว

 

ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านถ้ำลอด

เป็นงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลโดย ศิริลักษณ์  กัณฑศรี   อนุสรณ์  อำพันธ์ศรี  และอุดมลักษณ์  ฮุ่นตระกูล 

 

อาณาเขตของหมู่บ้าน

            ทิศเหนือ             ติดต่อกับ            ศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนและทางหลวงหมายเลข 1095

            ทิศใต้                 ติดต่อกับ            บ้านลุกข้าวหลาม ตำบลปางมะผ้า

            ทิศตะวันออก       ติดต่อกับ            บ้านหนองผาจ้ำ ตำบลปางมะผ้า

            ทิศตะวันตก         ติดต่อกับ            บ้านบ่อไคร้ ตำบลปางมะผ้า

 

            หมู่บ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดที่สุดคือหมู่บ้านถ้ำลอดประชากรส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่ ลักษณะพื้นที่ตั้งทางกายภาพหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ริมน้ำลาง จำนวน 2 ลูก แบ่งออกเป็นบ้านถ้ำลอดเหนือและบ้านถ้ำลอดใต้ ระหว่างเนินเขาทั้งสอง มีลำน้ำสายเล็ก ๆ ที่มีน้ำไหลไม่ตลอดปีคือ ลำห้วยแห้งอ่อน (หรือห้วยแห้งน้อย) ในทางธรณีวิทยาของพื้นที่โดยรอบของบ้านถ้ำลอด แบ่งระหว่างชุดหิน 2 ชุด คือ ชุดหินปูนทางด้านตะวันตกของลำน้ำลาง และหินตะกอนเนื้อหยาบอยู่ทางด้านตะวันออกของลำน้ำ หมู่บ้านถ้ำลอดตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของรอยเลื่อน สภาพธรณีสัณฐานที่ปรากฏจึงเป็นลักษณะของภูมิประเทศแบบคาร์สต์อันได้แก่ หลุมยุบ และธารน้ำมุด เป็นต้น  บริเวณโดยรอบของหมู่บ้านมีที่ราบตะพักลำน้ำกระจายอยู่เป็นระยะ ๆ ตาม 2 ฝั่งลำน้ำลางแต่ไม่ได้มีขนาดกว้างใหญ่มากพอที่จะทำการเกษตรแบบนาที่ลุ่มที่ใช้เลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านได้ ลักษณะตำแหน่งที่ตั้งของบ้านถ้ำลอดเหนือมีลักษณะเป็นขอบของแนวเลื่อนของชั้นหิน ส่วนบ้านถ้ำลอดใต้ตั้งอยู่บริเวณขอบของหลุมยุบซึ่งความลาดชันไม่สูงมากนัก แต่ก็ทำให้พื้นที่บางส่วนมีก้อนหินปูนที่หลงเหลือจากการถล่มของถ้ำกระจายอยู่ทั่วไป

            พื้นที่บริเวณหมู่บ้านถ้ำลอด รวมทั้งบริเวณเขตพื้นที่สถานพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด เป็นพื้นที่ที่มีการเข้ามาใช้ประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆมาโดยตลอด รวมทั้งกลุ่มคนไทยใหญ่ด้วยเช่นกัน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านถ้ำลอด พบว่า แต่เดิมนั้นชาวไทยใหญ่จะเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปตามปัจจัยต่างๆได้แก่ แหล่งทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่า และอาหาร เป็นต้น ความเชื่อเรื่องผี และปัจจัยทางการเมือง เป็นต้น

            การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานนั้นชาวไทยใหญ่ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านถ้ำลอดปัจจุบันนั้น เคยเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตามแนวชายแดนไทยและพม่า ช่วงที่อยู่ฝั่งประเทศไทยจะกระจายกันอยู่ตั้งแต่บ้านผามอญ เรื่อยมาจนถึงบริเวณบ้านถ้ำลอดปัจจุบัน เรื่อยไปถึงบ้านหัวลาง ปางคาม และไม้ลัน เป็นต้น

            สำหรับการเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณหมู่บ้านถ้ำลอดปัจจุบันพบว่า กลุ่มคนไทยใหญ่ในช่วงก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นได้ย้ายกันไปอยู่ในฝั่งประเทศพม่า ต่อมาเมื่อสงครามสงบจึงได้ย้ายมายังฝั่งประเทศไทย แต่อยู่ได้ไม่นานก็ต้องย้ายกลับไปฝั่งพม่าอีกครั้งทั้งนี้เนื่องจากมีทหารมาจากเชียงใหม่ และเกณฑ์เด็กไปเรียนหนังสือ คนในหมู่บ้านกลัวว่าทหารจะเอาเด็กไปเป็นทหารจึงย้ายหนีไปฝั่งพม่าอีกครั้ง แต่พบว่าทหารจากพม่าเข้ามากดขี่รีดไถ่ ทำให้อดอยากข้าวปลาไม่พอกิน จึงย้ายกลับมาที่ฝั่งไทยอีกครั้งโดยครั้งนี้ได้ย้ายไปอยู่แถบบ้านปางคาม และไม้ลัน แต่อยู่อาศัยได้เพียงประมาณ 10 ปีเท่านั้นก็พบว่าที่ดินทำกันไม่เพียงพอเนื่องจากมีคนไทยใหญ่จากที่อื่นๆ ย้ายมาสมทบจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นกลุ่มคนไทยใหญ่บางกลุ่มจึงย้ายที่อยู่มาที่บ้านหัวลาง แต่ก็อยู่ได้เพียงประมาณ 9 ปีเท่านั้น จำนวนคนก็มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2512 กลุ่มคนไทยใหญ่นำโดยพ่อเฒ่าจิ่งต่าจึงได้ย้ายจากบ้านหัวลางมาที่บริเวณบ้านนาหมากโอ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของบ้านถ้ำลอดปัจจุบัน ตอนที่ย้ายมานั้นพบว่ามีกลุ่มคนไทยใหญ่บางครอบครัวได้มาตั้งบ้านบริเวณดังกล่าวบ้างแล้ว แต่จำนวนไม่มากนัก เช่น ครอบครัวของพ่อเฒ่าหวี่ พ่อเฒ่าส่างมะ แม่เฒ่าเส่ พ่อเฒ่าวีสะ พ่อเฒ่านุง เป็นต้น

            แต่ในขณะเดียวกันในสำนึกของชาวบ้านบางกลุ่มกลับบอกว่าพ่อเฒ่าจิ่งต่าเป็นผู้นำในการเคลื่อนย้ายชาวไทยใหญ่มาที่บ้านนาหมากโอเป็นกลุ่มแรก และขณะนั้นยังไม่มีบ้านใครตั้งอยู่เลย โดยกลุ่มครอบครัวที่ย้ายมาจากหัวลางมาที่บ้านนาหมากโอพร้อมพ่อเฒ่าจิ่งต่าได้แก่ พ่อเฒ่ากุ่งนะ พ่อเฒ่าวิละทะ พ่อเฒ่าตง แม่เฒ่านุง แม่เฒ่าเล็ก แม่เฒ่ายวง เป็นต้น แต่ครอบครัวของพ่อเฒ่าจิ่งต่าเป็นครอบครัวใหญ่ที่สุดที่ย้ายมาจากบ้านหัวลาง

            การสร้างบ้านที่นาหมากโอนั้นบางครอบครัวจะสร้างใกล้ลำน้ำลาง บางครอบครัวจะสร้างไว้บนเนินเขาด้านหลัง และบางส่วน เช่นครอบครัวของพ่อเฒ่าจิ่งต่าจะสร้างห่างออกไปบริเวณห้วยผาเผือกซึ่งอยู่ถัดไป นอกจากนี้บริเวณนาหมากโอจะมีตาน้ำ หรือกึดอยู่ด้วย แต่ปัจจุบันได้แห้งไปแล้ว

            อย่างไรก็ตามก่อนที่กลุ่มของพ่อฒ่าจิ่งต่าจะเลือกสร้างบ้านที่นาหมากโอก่อนหน้านั้นได้มีการเสี่ยงทายเพื่อถามเจ้าที่ในการตั้งหมู่บ้านบริเวณสถานีพัฒนาฯเช่นกัน แต่ผลของการเสี่ยงทายพบว่าเจ้าที่ไม่อนุญาตเพราะสถานที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นพ่อเฒ่าจิ่งต่าจึงนำคนไปตั้งบ้านที่บริเวณนาหมากโอแทน

            ช่วงที่พ่อเฒ่าจิ่งต่าได้มาตั้งบ้านอยู่ที่นาหมากโอนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ชาวกะเหรี่ยงจากขุนยวม แม่ฮ่องสอนซึ่งได้รับสัมปทานทำไม้สักได้มาตั้งปางช้างเพื่อขนไม้ลงน้ำลางเพื่อส่งลงน้ำปายอีกต่อที่บริเวณพื้นที่สถานีพัฒนาฯ แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านและชาวกะเหรี่ยงที่ทำไม้ก็ไม่ได้ติดต่อกันอย่างไร คล้ายต่างคนต่างอยู่ เพราะอยู่กันคนละที่

            หลังจากที่พ่อเฒ่าจิ่งต่าได้มาตั้งบ้านที่บ้านนาหมากโอทำให้มีกลุ่มชาวไทยใหญ่ที่ทราบข่าวก็ย้ายกันตามมาอยู่ด้วย แต่ก็อยู่ที่บ้านนาหมากโอได้เพียงปีเดียวเท่านั้นก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายบ้านไปตั้งอยู่บริเวณบ้านเก่า และบริเวณห้วยผาเผือก แต่ครอบครัวของพ่อเฒ่าจิ่งต่าซึ่งอยู่ที่สูงกว่าจึงไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

            หลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่บริเวณบ้านเก่า ก็อยู่ได้ประมาณ 8-9 ปีเท่านั้นจึงย้ายมาอยู่ที่บริเวณบ้านเหนือปัจจุบัน สาเหตุที่ต้องย้ายบ้านครั้งนี้เนื่องมาจากมีคนตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นทางผีผ่าน และทางด้านหลังของบ้านเก่าเป็นหน้าผาสูงทำให้ตอนเย็นจะบังแสงแดดหมด จึงเชื่อว่าเป็นทางผีผ่าน ตอนที่ย้ายมาที่บ้านเหนือนั้นพ่อเฒ่าจิ่งต่าและครอบครัวไม่ได้ย้ายตามมายังคงอยู่ที่บริเวณใกล้กับห้วยผาเผือกเช่นเดิม

            ช่วงที่ย้ายมาตั้งบ้านที่บริเวณบ้านเหนือของบ้านถ้ำลอดนั้นพบว่ามีร่องรอยของบ้านที่มีคนมาอาศัยก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เพราะพบร่องรอยของเสาบ้าน และต้นมะม่วงซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่มะม่วงป่า แต่เป็นมะม่วงที่คนเอามาปลูก ในช่วงที่ย้ายมานั้นได้มีการเชิญผีเจ้าเมือง ซึ่งเป็นผู้ดูแลหมู่บ้านมายังบ้านเหนือด้วย โดยหมอเมืองที่ทำหน้าที่คือพ่อเฒ่าจั่นต๊ะ

            นอกจากนี้จากคำบอกเล่าพบว่า ชาวบ้านครั้งที่มายังบ้านนาหมากโอนั้นได้สร้างวัดไว้ที่บริเวณนาหมากโอด้วยเช่นกัน โดยเป็นอาคารสร้างจากไม้ และได้นิมนต์พระมาจากบ้านเมืองแพม

            ต่อมาพ่อเฒ่าจิ่งต่าและครอบครัวจึงย้ายบ้านจากบริเวณห้วยผาเผือกมายังบริเวณบ้านใต้ของบ้านถ้ำลอด สาเหตุที่ไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านเหนือเพราะว่าพื้นที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นในช่วงนี้จึงได้มีการเชิญผีเจ้าเมืองมาจากบ้านนาหมากโอด้วย โดยผู้ที่ทำหน้าที่หมอเมืองนั้นมีด้วยกัน 2 คนคือ พ่อเฒ่าจิ่งต่า และพ่อเฒ่าหวิ่ง แต่มาเมื่อพ่อเฒ่าจิ่งต่าเลิกไปหน้าที่จึงตกเป็นของพ่อเฒ่าหวิ่งคนเดียว และเมื่อพ่อเฒ่าหวิ่งอายุมากขึ้นจึงสืบทอดตำแหน่งให้พ่อเฒ่าคำส่วยเป็นหมอเมืองต่อ

            ข้อแตกต่างระหว่างผีเจ้าเมืองบ้านเหนือและบ้านใต้คือ บ้านเหนือจะเป็นผีเจ้าเมืองแก่ ดังนั้นเวลาถวายของจึงเป็นของหวานต่างๆ ส่วนเจ้าเมืองบ้านใต้เป็นผีหนุ่ม ดังนั้นจึงต้องถวายด้วยของคาวเช่นเหล้า ไก่ เป็นต้น แต่ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นของหวานเช่นเดียวกัน

            ชาวไทยใหญ่บ้านถ้ำลอดในช่วงนี้จะทำไร่ ปลูกผัก ข้าวโพด เลี้ยงหมูเพื่อยังชีพ โดยจะถากป่าเพื่อทำเป็นที่ไร่ โดยจะเลือกพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ตลอดบริเวณรอบหมู่บ้าน เช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณสถานีพัฒนาฯ เรื่อยไปจนถึงบริเวณหน้าและหลังถ้ำลอดก็ถูกจับจองเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเช่นกัน สำหรับพื้นที่บริเวณเพิงผานั้นพบว่าถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเช่นกัน ส่วนพื้นที่ใต้เพิงผานั้นพบว่าถูกปล่อยให้เป็นที่ว่างบางครั้งจะถูกใช้เป็นที่พักของคนในหมู่บ้านระหว่างล่าสัตว์ รวมทั้งเป็นที่พักของพ่อค้า และคนเดินทางระหว่างปายกับแม่ฮ่องสอน

            ต่อมาในปี พ.ศ. 2521-2522 จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีการพัฒนาตัดเส้นทางรถจากบ้านสบป่องเข้ามายังบ้านถ้ำลอดเป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตรทำให้การเดินทางเข้าสู่ถ้ำลอดสะดวกขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจพื้นที่บริเวณอำเภอปางมะผ้าและได้จัดตั้งให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่วนอุทยาน ในช่วงนี้ชาวบ้านถ้ำลอดถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ห้ามไม่ให้ถางป่า ทำไร่ ปลูกพืช รวมทั้งเข้าป่าหาของป่าด้วย และมีการยึดพื้นที่ทำกิน เช่นบริเวณที่ตั้งของสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าถ้ำน้ำลอดในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ไร่ของพ่อเฒ่าติยะ รวมทั้งบริเวณที่ไร่ใกล้ๆกับตัวถ้ำลอดจากพ่อเฒ่าวิมาอยู่ในการดูแลของรัฐด้วย  แม้ชาวบ้านถ้ำลอดจะไม่พอใจนัก แต่ก็ไม่ต้องการจะถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขังคุก ซึ่งชาวบ้านค่อนข้างกลัวมาก แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ยังคงเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าบ้าง แม้บางครั้งจะถูกจ้าหน้าที่จับก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะชีวิตเคยพึ่งพิงธรรมชาติและป่ามาโดยตลอด

            เมื่อชาวไทใหญ่บ้านถ้ำลอดไม่สามารถทำไร่ ปลูกผักเพื่อเลี้ยงชีพแบบเดิมได้ ดังนั้นบางคนที่ไม่มีที่นาก็ต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงานที่อื่น ส่วนคนที่พอมีที่อยู่บ้างก็ต้องรับจ้างบริษัทเอกชนจากเชียงใหม่ปลูกถั่วแระ ซึ่งเป็นลักษณะของการปลูกแบบ เกษตรพันธะสัญญา (Sub - contract farming) แม้ว่าในช่วงแรกชาวบ้านจะเห็นว่าการปลูกถั่วแระ และดอกดาวเรืองนั้นสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตน เพราะไม่ต้องเสียค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลง ซึ่งบริษัทจะหามาให้ และจะหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ต่อมาก็พบว่าได้ไม่คุ้มทุน ทั้งนี้เพราะบริษัทเอกชนต้องการให้ชาวบ้านใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ แต่ชาวบ้านก็พบว่าต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องเลิกปลูกกันไป ทำให้ชาวบ้านหลายต่อหลายคนไม่มีทางเลือกที่จะหาเลี้ยงปากท้องได้ จากการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติทำให้ชาวบ้านถ้ำลอดบางคนหันหน้าเข้าสู่วงจรของธุรกิจท่องเที่ยว บางคนลงทุนซื้อตะเกียงเพื่อคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปเที่ยวชมถ้ำลอด

            ในปี พ.ศ. 2533 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอดขึ้น และมีการเปลี่ยนชื่อของถ้ำลอด จากเดิมที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำหลวง” (หรือถ้ำใหญ่) มาเป็นถ้ำน้ำลอด ในปี พ.ศ. 2535 กลุ่มผู้หญิงที่หิ้วตะเกียงนำเที่ยวจึงได้รวมตัวกันปรึกษากับผู้นำหมู่บ้านในขณะนั้นคือ กำนันมณี เสลาสุวรรณ เกี่ยวกับปัญหาการแย่งนักท่องเที่ยวจนเกิดการก่อตั้ง “กลุ่มคิวตะเกียง” ขึ้น โดยมีสมาชิกเริ่มแรกเป็นผู้หญิงชาวไทใหญ่ในหมู่บ้านประมาณ 20 คนเข้าเป็นสมาชิก ส่วนในปีที่ 2 จึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 44 คน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 111 คน และต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มคิวแพขึ้น ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 96 คน

 

หมายเลขบันทึก: 306805เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านเรื่องปางมะผ้าครับ

  • สวัสดีครับ
  • มาอ่านบันทึกที่มีสาระครับ
  • ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท