ภาพสะท้อนแนวคิดทางกฎหมายจากทางปฎิบัติของซีพีลาว


CSR ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศลาว แต่ก็เป็นสิ่งที่ซีพีลาวไม่อาจจะละเลยได้ เนื่องจากว่าเป็นนโยบายหลักของทางบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” แม้ว่าในอีกมุมมองหนึ่งนั้น CSR จะถูกถือเป็นเพียงแค่ “Trend” ก็ตาม

“...เราพยายามสร้างคน โดยเราพยายามใช้คนไทยให้น้อยที่สุด...และในท้ายที่สุดเราต้องสร้างคนท้องถิ่นให้เป็นผู้บริหารให้ได้...”

             ถ้อยคำส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ คุณทำนอง พลทองมาก ผู้อำนวยการบริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา แม้ว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งที่2ของผู้เขียน สำหรับการเดินทางไปยัง “ซีพีลาว” ณ กรุงเวียงจันทน์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือการเดินทางในครั้งนี้มีผู้ร่วมเดินทางไม่มากเท่าครั้งแรก และในครั้งนี้ตัวผู้เขียนเอง ได้เตรียมประเด็นไปพูดคุยและสัมภาษณ์กับทางซีพีลาวในหลายประเด็นสำคัญๆ อาทิ ประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ(Corporate Social Responsibility : CSR) ประเด็นแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจภายใต้หลักการว่าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative Economy) รวมทั้งประเด็นแนวทางการประกอบธุรกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต เป็นต้น

             โดยในประเด็นแรกนั้น CSR ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศลาว แต่ก็เป็นสิ่งที่ซีพีลาวไม่อาจจะละเลยได้ เนื่องจากว่าเป็นนโยบายหลักของทางบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” แม้ว่าในอีกมุมมองหนึ่งนั้น CSR จะถูกถือเป็นเพียงแค่ “Trend” ก็ตาม ทั้งนี้การคำนึงถึงประเด็นCSRของซีพีลาวที่มีต่อสังคมนั้น ถูกถ่ายทอดออกสู่ความรับร็ของสังคม ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ภายใต้นโยบายในกรอบของกฎหมายอันนำไปสู่การปฎิบัติจริงตามมา อาทิ การจ้างแรงงาน กล่าวคือนอกจากซีพีลาวมุ่งจ้างแรงงานท้องถิ่นมากกว่าคนไทย(พนักงานกว่า 300 คน แต่มีแรงงานไทยเพียง 16 คน) เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมของลาวแล้ว การจ้างแรงงานก็ยังอิงอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายแรงงานลาว นอกจากนั้นในบางประเด็นเช่น สวัสดิการในการรักษาพยาบาลของพนักงาน อันเป็นสิ่งที่ซีพีลาวมอบให้กับพนักงานของตนเกินกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนอกเหนือจากการประกันสังคม ก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งทางซีพีลาว ได้สร้างความมั่นคงให้เกิดกับต้นทุนการบริหาร โดยอาศัยนโยบายCSRมาเป็นพื้นฐานในการวางแนวความคิด นอกจากประเด็นมาตรฐานแรงงานแล้ว ซีพีลาวยังคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งนโยบายที่ซีพีลาวดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นการดำเนินโยบายอย่างสอดคล้องกันกับนโยบายหลักด้านสิ่งแวดล้อมของซีพีเอฟ เช่น ในส่วนของContract Farming ซึ่งให้เกษตรกรของลาวได้ทำการปศุสัตว์เลี้ยงสุกร(ปัจจุบันมีทั้งสิ้นประมาณ 30 ฟาร์ม) โดยฟาร์มสุกรเหล่านั้นจะมีรูปแบบของการนำของเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพ อันเป็นการลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างอีกทางหนึ่ง ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายของซีพีลาวที่มุ่งเน้นคำนึงถึงสังคม นอกเหนือจากกรอบทางกฎหมายของลาวที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งในประเด็นเหล่านั้น

          ประเด็นตามมาในส่วนของการบริหารจัดการธุรกิจภายใต้หลักการว่าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือCreative Economy นั้น อนึ่งการบริหารจัดการธุรกิจโดยวางแนวทางตามหลักการดังกล่าวนี้ สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย รวมทั้งเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์และตราสินค้า อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สินค้าที่ได้รับการต่อยอดดังกล่าว ซึ่งบริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัด ก็ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการธุรกิจภายใต้แนวคิดดังกล่าว โดยสะท้อนออกมาในรูปของการบริหารจัดการต้นทุนทางปัญญา ภายใต้กรอบทางกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

         การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ย่อมตั้งอยู่บนความเสี่ยง ซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจของผู้บริหารว่าจะกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ โดยอาศัยการประเมินจากฐานข้อมูลทั้งหมดทุกภาคส่วนในองค์กร หาใช่เป็นการตัดสินใจภายใต้ความรู้สึก หรือความเชื่อมั่นของผู้บริหาร[1] ซึ่งการตัดสินใจภายใต้ภาวะความเสี่ยงนั้น ถือได้ว่าเป็นการบริหารจัดการแบบบูรณาการโดยอาศัยการบริหารจัดการบนฐานข้อมูลในทุกมิติ ทั้งมิติทางกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือศาสตร์แขนงอื่นๆ ดังนั้นแล้วกฎหมายจึงเป็นภาคส่วนหนึ่งของศาสตร์ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ การปิดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยการบริหารจัดการในมิติทางกฎหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารไม่อาจเลี่ยง เช่นเดียวกันกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านชื่อเสียง(Reputational Risk) ก็สามารถอาศัยกฎหมายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดหรือเกิดขึ้นได้

           อนึ่งการปิดความเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้กับชื่อเสียงของบริษัทฯ โดยอาศัยกลไกการคุ้มครองทางกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ภาคธุรกิจปรารถนา เนื่องจากถือได้ว่าเป็นการคุ้มครองต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการก้าวล่วงแห่งสิทธิที่ตนมีอยู่ตามกฎหมายหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั่นเอง การอาศัยกลไกทางกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาของส.ป.ป.ลาว เพื่อบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียงของบริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัด เช่น การนำเครื่องหมายการค้าไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการละเมิดอื่นใดภายใต้หลักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านชื่อเสียง อันนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต ภายใต้การดำเนินธุรกิจบนแนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือCreative Economy นั่นเอง ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของบริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัด ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการตามแนวทางดังกล่าว ภายใต้หลักกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาของส.ป.ป.ลาว ที่มุ่งคุ้มครองต้นทุนทางปัญญาได้เป็นอย่างดี ดังนั้นปัญหาที่พบในการดำเนินธุรกิจภายใต้ประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จึงมิใช่เรื่องของหลักกกฎหมายภายในของส.ป.ป.ลาวที่ขาดความชัดเจน แต่จากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้พบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้การคุ้มครองดังกล่าวยังไม่เกิดผลจริงในทางปฎิบัติเป็นเรื่องของประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎหมาย

          ประเด็นตามมาในส่วนของแนวทางการประกอบธุรกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ของบริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัดนั้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัด เป็นบริษัทย่อย[2] ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ดังนั้นการดำเนินนโยบายหลักๆของบริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัด ย่อมต้องสอดคล้องกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเป้าหมายในการคงความเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารสัตว์พร้อมๆ กับต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจเนื้อสัตว์และอาหารทั้งในประเทศไทยและในทุกประเทศที่บริษัทมีการลงทุน[3]กล่าวคือ มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ในทุกสายการผลิตที่เกี่ยวข้องกับอาหารนั่นเอง โดยจากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ จึงทำให้ทราบว่า รูปแบบอันนำไปสู่แนวทางการประกอบธุรกิจของ บริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัดนั้น ก็ไม่แตกต่างจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวคือ เป็นการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยแผนภาพดังนี้

 

FEED --> FARM --> PROCESSING --> FOOD

 

            ซึ่งในปัจจุบัน บริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัด มีผลิตภัณฑ์ยังไม่หลากหลายเมื่อเทียบกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) โดยมีผลิตภัณฑ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรดังนี้ อาหารสัตว์ สุกร ลูกสุกร ลูกไก่ ไข่ไก่ และปลา โดยในปัจจุบัน มีการผลิตในรูปแบบการแปรรูปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่การแปรรูปเพื่อบริโภคเป็นอาหาร ทั้งยังไม่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทั้งนี้ด้วยนโยบายที่ยังคงต้องอิงอยู่กับเป้าหมายของทางบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ดังนั้น การดำเนินธุรกิจของบริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัด จึงไม่อาจเลี่ยงกระบวนการผลิตทั้ง 4 รูปแบบ เช่นเดียวกันกับการผลิตของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

            การพูดคุยกับทางบริษัท ซี.พี. (ลาว) จำกัด ในวันนั้นนอกจากจะได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงในทางปฎิบัติ ยังทำให้ทราบถึงความเป็นไปได้ในทางปฎิบัติ บนพื้นฐานทางกฎหมาย ทั้งรับทราบถึงมุมมองของภาคธุรกิจที่มีต่อประเด็นเหล่านั้น การพูดคุยดังกล่าวจึงหาใช่เพียงการสร้างปฎิสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน แต่เป็นการร่วมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างไทยและลาว โดยอาศัยความร่วมมือทางวิชาการ อันเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหลอมรวมความร่วมมือ ทั้งจากภาควิชาการและภาคธุรกิจของสองฝั่งโขงเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น


[1] ปรากรณ์  สิริพรโอภาส,  “กฎหมายกับการบริหารจัดการความเสี่ยง : บริหารความเสี่ยง????,”< http://learners.in.th/blog/tum-1/96807>

[2] รายงานประจำปี พ.ศ.2551 ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน),หน้า 110

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 6

หมายเลขบันทึก: 307349เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2009 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ก็จะลงลึก สอบเค้าโครงก่อนดีไหม

ถึงเวลาแล้วล่ะ

ทบทวน Basic Concept ที่เอามาสร้างเค้าโครงเพียงพอแล้วยัง

มั่นใจแล้วยัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท