ว่าด้วยเรื่องโลงไม้-โลงผีแมน


การทำโลงไม้ ขนาดของโลงไม้ ทำเลที่ตั้ง

โลงไม้-โลงผีแมน

เราได้รู้จักวัฒนธรรมโลงไม้ หรือโลงผีแมนไปบ้างแล้ว  วันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับโลงไม้ที่พบจากการสำรวจที่อำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ในการสำรวจก็ได้บันทึกข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของโลงไม้ ขนาด  รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้ง  เพื่อมาวิเคราะห์ตีความเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมเมื่อสองพันปีมาแล้ว

 

องค์ประกอบของโลงไม้  

องค์ประกอบของโลงไม้นั้นสามารถแยกอย่างคร่าวๆ ได้เป็นสองส่วนหลัก ได้แก่

ส่วนของตัวโลงและหัวโลง ส่วนของตัวโลงนั้นเรียบง่ายไม่มีลักษณะพิเศษอะไรมากนักรูปทรงเหมือนท่อนซุงผ่าครึ่ง รัศมีของลำต้นโดยเฉลี่ยจะเท่ากันตลอดลำ ตัดหัวท้ายในแนวดิ่งเป็นลักษณะของมุมฉากต่อแนวนอน (ตามความยาวของ ท่อนไม้) แกนในของลำต้นถูกขุดออกด้วยเครื่องมือเพื่อให้เกิดพื้นที่ภายในซึ่งมีส่วนโค้งขนานไปกับส่วนโค้งของลำต้นภายนอก ส่วนหัวท้ายของท่องซุงเว้นพื้นที่ไว้หนาพอสมควรคงเพื่อให้เกิดการยึดถ่วงน้ำหนักกับส่วนหัวโลง

โดยปกติมักพบโลงไม้อยู่ด้วยกันเป็นคู่ (2 ชิ้น) บางแห่งพบประกบกันอยู่ ดังนั้นจึงสามารถแยกย่อยส่วนของตัวโลงออกได้เป็นส่วนที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนฝาโลง คือ ใช้ประกบคว่ำปิดอยู่ด้านบน และส่วนที่เป็นเสมือนตัวโลงซึ่งรองรับอยู่ด้านล่าง ในการนับจำนวนของโลงไม้จึงใช้การนับตัวโลงไม้ 2 ชิ้นถือเป็นโลงไม้ 1 โลง (ชิ้นฝาโลงและชิ้นตัวโลง) ทั้งนี้ต้องใช้การพิจารณาสัดส่วนของโลงไม้ประกอบด้วย คือ ต้องมีสัดส่วนความกว้างยาวที่เท่ากันและสัมพันธ์กัน

 

ขนาดของโลงไม้

 ขนาดของโลงไม้ที่พบนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ขนาดของโถงถ้ำและสภาพ

ทางธรณีวิทยาของถ้ำเองก็มีความสัมพันธ์กับขนาดของโลงไม้เช่นกัน ในการศึกษาจึงจำเป็นต้องกำหนดขนาดของโลงไม้เพื่อใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของโลงไม้เองในพื้นที่ต่างๆ กัน ขนาดของโลงกับสภาพของแหล่ง เทคนิควิธีการที่ใช้รองรับโลงไม้ขนาดต่างๆ ตลอดจนปริมาณของหลักฐานอื่นๆ ที่พบร่วมกับโลงไม้ต่างขนาดกัน  จากการศึกษาพบว่าขนาดของโลงไม้มีความยาวโดยประมาณตั้งแต่ 1.2 – 9.0 เมตร จึงได้กำหนดขนาดของไว้ดังนี้

    โลงขนาดเล็ก       คือ  โลงไม้ที่มีความยาวน้อยกว่า 2 เมตร                                                                    

    โลงขนาดกลาง       คือ  โลงไม้ที่มีความยาวมากกว่า 2 เมตรจนถึง 5 เมตร                                  

   โลงขนาดใหญ่     คือ  โลงไม้ที่มีความยาวมากกว่า 5 เมตรขึ้นไปอัตราส่วนความสัมพันธ์กันระหว่างความกว้างและความยาวของตัวโลงไม้นั้น ไม่มีความแน่นอน โลงไม้อาจมีขนาดไม่กว้างนักแต่มีขนาดที่ยาวมาก (โลงมีลักษณะผอม) หรืออาจมีขนาดที่ไม่ยาวมากแต่มีความกว้างมาก (โลงมีลักษณะอ้วน)

แหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนหรือโลงไม้ที่มีการสำรวจนั้น พบโลงไม้ในขนาดที่แตกต่างกัน

จำนวนก็ต่างกัน บางแหล่งพบโลงไม้ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ บางแหล่งพบเฉพาะบางขนาด แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโลงไม้ขนาดกลาง ซึ่งขนาดของโลงไม้น่าจะมีความหมายหรือมีนัย-สำคัญบางอย่าง เช่น อาจทำโลงไม้ขนาดใหญ่เพื่อใช้ประโยชน์หลายๆ ครั้ง เป็นที่ฝังศพของครอบครัวหนึ่งๆ เมื่อมีผู้ตายจึงนำกระดูกมาเก็บไว้รวมกัน จากการสำรวจพบว่ามีบางแหล่งภายในโถงถ้ำขนาดเล็กมีโลงขนาดใหญ่อยู่เพียงโลงเดียวแต่กลับพบโครงกระดูกถึง 10 โครงหรืออาจเป็นไปได้ถึงการแสดงออกถึงสถานภาพทางสังคมที่สูงกว่าผู้อื่น เช่น เป็นหัวหน้ากลุ่ม เป็นผู้นำ หรือเป็นหมอผีประจำกลุ่ม

การจำแนกลักษณะถ้ำฝังศพในวัฒนธรรมโลงไม้

                ลักษณะของถ้ำที่พบว่ามักจะถูกเลือกใช้ เพื่อสรุปหาการเลือกพื้นที่ฝังศพนอกเหนือไปจากการศึกษาที่ผ่านมาข้างต้น โดยประมวลข้อ-มูลจากการสำรวจตาม “โครงการการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน”     ซึ่งมีจำนวนแหล่งโบราณคดีที่นำมาศึกษารวม 30 แห่ง  เพื่อจำแนกลักษณะของถ้ำที่ถูกเลือกใช้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย  ซึ่งเป็นการแสดงทัศนคติหรือแนวคิดในการเลือกใช้ถ้ำของกลุ่มชนในวัฒนธรรมโลงไม้  โดยการจำแนกจะใช้การพิจารณาจาก ลักษณะทางกายภาพของแหล่ง ปริมาณแสงที่ส่องถึง ขนาด และความสามารถของถ้ำในการจัดเก็บโลงไม้ รวมถึงบริเวณที่พบตามลุ่มน้ำซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างในการเลือกใช้ของกลุ่มชนแต่ละพื้นที่       การจำแนกดังกล่าวในชั้นต้นสามารถแบ่งลักษณะถ้ำออกได้ดังนี้

                1.  ถ้ำขนาดเล็ก  เป็นถ้ำที่มีความกว้าง ประมาณ 1.5-5.0 เมตร ยาวประมาณ 6.0-12.0 เมตร  แสงแดดส่องได้น้อย บางส่วนก็จะมืด จำนวนโลงที่พบมีน้อยมาก  พบอยู่ตามหน้าผาหรือหลืบชะง่อนของเทือกเขาหินปูน การวางโลงไม้ จะวางตามการวางตัวของถ้ำ ซึ่งพบว่ามีคานไม้รองรับ บางแห่งมีความพิเศษแตกต่างออกไป คือ วางโลงไม้บนคานที่ซ้อนขึ้นไปถึงเพดานถ้ำ  ขนาดของโลงไม้ส่วนใหญ่จะมีขนาดกลาง

2.  ถ้ำโพรงกว้าง  ลักษณะของถ้ำประเภทนี้ คือ ลักษณะของถ้ำที่คล้ายกับเพิงผาโล่ง กว้าง มักเกิดบนหน้าผาชัน ปากถ้ำเปิดกว้าง แสงแดดสามารถส่องถึงทั่วทั้งบริเวณแหล่ง ขนาดแหล่งจะมีความกว้างประมาณ 10-20 เมตร ยาวประมาณ 15-35  เมตร ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขบวนการเกิดถ้ำ ถ้ำประเภทนี้พบขนาดเล็กสุดประมาณ  3x5  เมตร แม้ว่าพื้นที่มีลักษณะเป็นลานกว้าง แต่ก็พบโลงไม้จำนวนไม่มากนัก คือ พบตั้งแต่โลงเดียวจนถึง 4 โลง นิยมวางโลงไม้บนเสาและคาน  เป็นโลงที่มีขนาดกลาง-ใหญ่

3. ถ้ำโถงขนาดใหญ่ แหล่งลักษณะนี้โดยส่วนใหญ่จะพบอยู่บนหน้าผาสูงของเทือกเขาหินปูน  ปากถ้ำมีขนาดกว้าง แสงแดดสามารถส่องถึงเกือบทั้งถ้ำ อาจมีบางส่วนที่อยู่ในมุมมืด โดยทั่วไปลักษณะนี้จะเกิดจากโถงถ้ำที่เกิดการถล่ม มีชั้นหรือซอกหลืบที่ไม่ซับซ้อนมากนัก บริเวณที่แสงส่องถึงจะพบโลงไม้ตั้งอยู่บนเสาคาน เป็นโลงขนาดใหญ่ และพบโลงขนาดกลางกระจายอยู่ทั่วไป

ถ้ำลักษณะนี้จะมีพบกระจายอยู่ทั่วไปตามลุ่มน้ำต่างๆ พื้นที่ในการวางโลงขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เป็นลานหรือชั้นซอก หลืบที่ไม่คับแคบนัก ขนาดของถ้ำจะอยู่ระหว่าง 35x122  เมตร 

4.  ถ้ำแบบโถงกว้างอับแสง  ถ้ำลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะพบว่า ปากถ้ำจะมีขนาดเล็กลาดลงต่ำจนถึงปากคูหาซึ่งจะมีขนาดเล็กเช่นกัน  เมื่อผ่านปากคูหาเล็กนี้เข้าไปจะพบเป็นโถงถ้ำที่โล่งกว้าง มีพื้นที่มาก แสงแดดจะไม่สามารถส่องเข้าไปถึง บางครั้งในโถงใหญ่นี้อาจมีคูหาแบ่งเป็นห้องเล็กๆ กระจายอยู่ จำนวนแหล่งที่พบคือ 3 จาก 30 แหล่ง  ขนาดของถ้ำแบบนี้จะขึ้นอยู่กับการเกิดตามขบวนการทางธรณีวิทยาเช่นกัน คือ ขนาดเล็กสุดประมาณ 5x10 เมตร ใหญ่สุดที่พบคือ 30x34 เมตร  บริเวณที่พบจะมีลักษณะเป็นที่ลาดสันเขา  เท่าที่พบจะพบตามลุ่มน้ำลางและหรือโป่งแสนปิ๊ก ขนาดของโลงไม้อยู่ระหว่างขนาดกลาง-ใหญ่ จำนวน 3-10 โลง วางโลงบนเสาและคาน 

           5.  ถ้ำแบบคูหาซับซ้อน  ด้วยลักษณะเด่น คือ มีห้องคูหาหลายห้องหรือชั้นหลืบที่โลงซ้อนกันเป็นชั้น ซับซ้อน มีขนาดพื้นที่กว้างประมาณ 15x30  เมตร ยาว 30x45 เมตร ปากถ้ำจะมีขนาดไม่กว้างใหญ่มากนัก แสง-แดดสามารถส่องถึงเพียงบริเวณที่เลยปากถ้ำมาไม่มากนัก  ส่วนที่เลยเข้าไปจะมืด ด้วยลักษณะที่เป็นห้องคูหาทำให้เราสามารถพบโลงได้ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ จำนวนโลงไม้ที่พบขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่างของถ้ำโดยพบตั้งแต่ 3-5 โลง จนถึง 10 – 15 โลง พบตามที่ลาดของยอดเนินเขาเป็นส่วนใหญ่ 

      6.    ถ้ำแบบโถงยาวคล้ายทางเดิน  เป็นถ้ำที่เกิดจากการชะล้างของน้ำจนเป็นโถงยาว โล่ง แสงส่องเข้าได้น้อย พื้นที่ส่วนใหญ่จะมืด พบอยู่ตามหน้าผาสูงชันของเทือกเขาหินปูน การเข้าถึงแหล่งจะทำได้ยากลำบาก โดยทั่วไปโลงไม้จะพบตลอดทางของโถงถ้ำ   การวางโลงมักจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่างของถ้ำหากเพดานถ้ำสูงมาก มักจะพบการวางโลงด้วยเสาและคาน ในทางกลับกันของแหล่งบางแห่งที่จะพบโลงไม้อยู่บนพื้นถ้ำหรือ โขดหินภายในถ้ำ พบโลงไม้ในบริเวณที่มืดแสง ลึกเข้าไปในถ้ำ ขนาดของถ้ำจะยาวประมาณ  12 จนถึง 110  เมตร 

บริเวณพื้นที่ที่ทำการศึกษาสามารถอธิบายได้ว่า ถ้ำแต่ละลักษณะตามการจำแนกจะพบกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอปางมะผ้า  โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำลางสามารถพบถ้ำที่ถูกเลือกสำหรับเก็บโลงไม้ได้เป็นจำนวนมากและพบหลายลักษณะที่สุด

หมายเลขบันทึก: 307883เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มาอ่านเรื่องโลงผีแมนครับ
  • เคยได้ยินมาเหมือนกัน
  • ขอบคุณครับ

 

เรามักจะได้ยินคำว่า "โลงผีแมน" จากแม่ฮ่องสอนค่ะ แต่ความจริงมีการพบโลงลักษณะเดียวกันที่ในถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย และกาญจนบุรีค่ะ อาจจะมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท