BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เทศนาอานิสงส์กฐินวัดยางทอง 2552


เทศนาอานิสงส์กฐินวัดยางทอง 2552

วันนี้ ทอดกฐินวัดยางทอง ซึ่งผู้เขียนได้รับอาราธนานิมนต์ให้แสดงธรรมด้วย โดยผู้เขียนได้ยกพระบาลีขึ้นเป็นหัวข้อในการแสดงธรรมว่า...

  • กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย
  • ความดีที่ทำแล้ว ประเสริฐกว่า

สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป บุญกฐินทานถือกันว่าเป็นการกระทำความดีอย่างหนึ่ง บางคนก็ใคร่จะไปทอดกฐินกับเค้าบ้าง แต่ก็มัวผลัดโน้นอ้างนี้ จึงไม่ได้ไป นั่นคือ แม้จะยอมรับว่าการทอดกฐินเป็นการดี แต่เมื่อยังไม่ได้ทำ ก็จัดว่ามิใช่สิ่งที่ประเสริฐอะไร แต่เมื่อกระทำแล้วนั้นแล จึงถือว่าดีกว่า ประเสริฐกว่า...

ถามว่า การทอดกฐิน เป็นความดีอย่างไร ? ผู้เขียนได้ขยายความดีของการทอดกฐินขึ้นมาแสดง ๓ นัย กล่าวคือ

  • ความดีในเชิงพระวินัย
  • ความดีในเชิงวัฒนธรรม
  • ความดีในเชิงเศรษฐกิจ

ประการแรก ความดีในเชิงพระวินัยนั้น เพราะมีพระบรมพุทธานุญาตให้ขยายอานิสงส์ของการจำพรรษาออกไปอีก ๔ เดือน คือ จากกลางเดือน๑๒ ไปถึงกลางเดือน๔

อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ ประการคือ

  1. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา
  2. ฉันคณโภชน์และปรัมปราโภชน์ได้
  3. เก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้โดยไม่จำเป็นต้องพาไปค้างคืนที่อื่นได้
  4. เก็บผ้าไว้ได้ตามใจปรารถนา
  5. ลาภในที่นั้นย่อมเป็นของผู้ที่ำจำพรรษาที่นั้น

แต่ผู้เขียนขยายความเฉพาะข้อแรก กล่าวคือ ตามพระวินัยนั้น พระภิกษุจะต้องบอกลาก่อนเมื่อจะเดินทางไปอยู่ที่อื่น โดยบอกเจ้าอาวาส พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง สามเณร หรือโดยที่สุด ถ้าไม่มีใครก็ให้บอกลาโยมหน้าวัดหรือข้างวัดก็ได้ มิอย่างนั้นแล้วจะเป็นอาบัติ... แต่ถ้าจำพรรษาแล้ว ไม่จำเป็นต้องบอกลาก็ได้ เพราะมีวินัยลดหย่อนให้ ๑ เดือนหลังออกพรรษา (ถึงกลางเดือน ๑๒)

แต่ถ้าได้รับการกรานกฐินถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาต การลดหย่อนข้อนี้ก็จะขยายออกไปถึงกลางเดือน ๔... ข้ออื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน แต่ผู้เขียนขยายความเฉพาะข้อนี้เท่านั้น

 

ประการที่สอง ความดีในเชิงวัฒนธรรม นั่นคือ การทอดกฐินจัดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมพุทธศาสนาแบบไทยๆ การไปทอดกฐินก็ได้ไปเที่ยวพักผ่อน ได้ชมโน้นชมนี้ ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเยี่ยมญาติพี่น้อง ได้มีโอกาสพบปะเพื่อนฝูง เป็นต้น

อย่างหนึ่งที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างคือ ในอดีตนั้น ผู้หลักผู้ใหญ่จะพาลูกหลานไปทอดกฐิน เพื่อเด็กหนุ่มสาวจะได้มีโอกาสพบปะกัน ขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่จะได้มีโอกาสสังเกตพฤติกรรมของหนุ่มสาวเหล่านั้น หรือมีโอกาสทาบทามสู่ขอซึ่งกันและกันตามที่เห็นสมควร เป็นต้น

สรุปว่า วัฒนธรรมมีคุณค่าอย่างไร เป็นวิถีการดำเนินชีวิตอย่างไรในสังคม งานทอดกฐินซึ่งจัดเป็นวัฒนธรรมไทยก็ย่อมมีคุณค่าเหล่านั้นอยู่ด้วย...

 

ประการสุดท้าย ความดีในเชิงเศรษฐกิจ นั่นคือ การทอดกฐินทำให้มีการจับจ่าย เงินผ่านมือ ผ่านจากระเป๋าหนึ่งไปอีกกระเป๋าหนึ่ง มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน เมื่อการซื้อขายเพิ่มขึ้น รัฐก็ย่อมเก็บภาษีได้มากขึ้น...

ปัจจัยที่เป็นบริวารกฐิน ก็จะเป็นกองทุนให้วัดนำมาพัฒนาวัดด้านต่างๆ ตามสมควร มีการจ้างงานเกิดขึ้น คนมีงานทำเพิ่มขึ้น คนมีรายได้เพิ่มขึ้น สินค้าก็จะขายได้และผลิตใหม่ได้ต่อไป เป็นต้น

สรุปว่า การทอดกฐินทำให้เศรษฐกิจทั้งระดับมหัพภาคและจุลภาคมีดัชนีเพิ่มขึ้นในเชิงบวก โดยประการฉะนี้

 

อย่างไรก็ตาม การมาทอดกฐินก็คือการมาทำบุญทำทาน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ทำนองว่า ผู้ที่ทำบุญทำทานในชาตินี้ ชาติหน้าก็จะเป็นผู้มั่งคั่งด้วยโภคสมบัติ... และถ้าชักชวนผู้อื่นให้ทำบุญทำทานด้วย ชาติหน้าก็จะเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยพรรคพวกเพื่อนฝูงหรือบริวารสมบัติ... ดังนั้น เราชาวพุทธจึงนิยมชักชวนกันมาทอดกฐินทุกๆ ปี เพราะหวังในโภคสมบัติและบริวารสมบัติดังกล่าว...

ท้ายที่สุด ก็ได้อำนวยพรให้บรรดาญาติโยมที่มาีร่วมทอดกฐินจงอุดมด้วยโภคสมบัติและบริวารสมบัติตามความปรารถนาทุกๆ คน เทอญ...

หมายเลขบันทึก: 308042เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2009 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท