"ความมั่งคั่งปฏิวัติ" สรุป (4)


ความมั่งคั่งปฏิวัติ

     Revolutionary Wealth เป็นหนังสือ Best Seller อีกเล่มหนึ่งที่ Alvin & Heidi Toffler เขียนโดยอาศัยประสบการณ์วิเคราะห์และมองโลกในอนาคตในมิติที่คนทั้งโลกต้องหยุดฟังและคิดตาม เฉกเช่นหนังสือของทั้งสองที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้คือ Future Shock และ The Third Wave

     นิติธร สุวรรณศาสตร์ ได้สรุปเนื้อหาสำคัญของหนังสือ Revolutionary Wealth ไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551) ไว้ว่า...

     “...หนังสือของ Toffler มักถูกจัดให้อยู่ในประเภทศาสตร์แห่งอนาคต แต่ก็ควรจัดอยู่ในพวกเศรษฐศาสตร์บวกเบ็ดเตล็ดได้ แม้ Toffler จะออกตัวว่าไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์แต่ก็สามารถเขียนเรื่องราวได้ทะลุทะลวงบริบททางเศรษฐศาสตร์โดยตลอด และความหลากหลายของข้อเขียนของเขายังครอบคลุมถึงเรื่องการเมือง, วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนรวมไปถึงการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย

     Revolutionary Wealth เป็นหนังสือที่เนื้อหาหนักมากแถมยังหนาถึงประมาณ 400 หน้า Toffler แบ่งเนื้อหาเป็น 10 ภาค มี 50 บทและเขียนด้วยถ้อยคำเฉพาะตัวที่มีศัพท์แสงอยู่มากมาย ด้วยประสบการณ์นักเขียนอันยาวนาน ทำให้เขารู้ว่าเมื่อใดจำเป็นต้องขยายความศัพท์ที่สำคัญๆ และย้ำใจความที่เป็นกุญแจของเรื่อง นั่นทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่น่าเบื่อและไม่ชวนให้หลงประเด็น

     Toffler นิยามคำว่า Wealth ที่เรามักแปลว่า "ความมั่งคั่ง" ว่าคือ "อะไรก็ตามที่ทำให้เราสมปรารถนา" ไม่ว่าความปรารถนานั้นอยู่ในรูปเงินตราหรือทรัพย์สิน และไม่ว่าจะจับต้องได้หรือไม่ก็ตาม ชี้ให้เห็นว่ามนุษยชาติได้พัฒนาความมั่งคั่งมาโดยตลอด

     ต่อเมื่อโลกได้ก้าวผ่านจากคลื่นลูกที่สอง (โลกแห่งอุตสาหกรรมหนักและการผลิตแบบ mass) สู่คลื่นลูกที่สามว่า ด้วยอุตสาหกรรมบริการ และการผลิตแบบ customized เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น, เร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น จนน่าจะใช้คำว่า ปฏิวัติ (revolutionary) ได้

     แกนสำคัญที่ Toffler ใช้อธิบายการขับเคลื่อนมนุษยชาติซึ่งถือเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้คือ รากฐานเบื้องลึก (Deep Fundamentals) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พัวพันกับ Fundamental ที่ใช้แพร่หลายในวงการเศรษฐกิจ, การเมือง ฯลฯ Toffler เสนอว่า เวลา, สถานที่ และความรู้คือสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ พอจะขยายความในพื้นที่อันจำกัดได้ว่า เวลาในแง่ของอัตราเร็วในการทำงานของหน่วยงาน, องค์กรหรือประเทศมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาโดยตรง และส่งผลถึงประสิทธิภาพและความล่มสลายของผู้ที่ไม่สามารถแข่งขันได้

     นอกจากนั้น อัตราเร็วที่แตกต่างกันขององค์กรทำให้เกิดคอขวดและความไม่สมดุลซึ่ง Toffler บอกว่ากุญแจคือการทำให้หน่วยต่างๆ ที่สัมพันธ์กันทำงานในอัตราเร็วที่ร่วมกันได้ (Synchronize กัน)

     ในแง่ของสถานที่ นอกจากจะพูดถึงนวัตกรรม Cyberspace ที่ซึ่งเป็นสถานที่แบบเสมือนแล้ว Toffler ยังมองไปที่ความเป็นไปของ "โลกาภิวัตน์" ซึ่งผู้คนพูดถึงตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาว่าทำให้โลกไร้พรมแดน

     เขาว่าทุกวันนี้มีทั้งการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ( De-Globalization) เพื่อปิดกั้นการรุกของทุนและความรู้สำหรับหน่วย หรือประเทศที่มีขีดความสามารถต่ำ และมีทั้งโลกาภิวัตน์ในบริบทใหม่ๆ (Re-Globalization) เช่นเรื่องของสิ่งแวดล้อมซึ่งไม่สามารถปัดความรับผิดชอบด้วยขอบเขตดินแดนประเทศ

     ความรู้ นั้น Toffler ย้ำมาตลอดว่าคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในยุคคลื่นลูกที่สาม เขาว่ายุคนี้ข้อมูลซึ่งอาจหมายถึงความรู้หรือไม่ก็ตาม มีอยู่มากมาย และการตัดสินใจบนพื้นฐานอิงความรู้ก็อาจหลงทางได้ถ้าไม่สามารถแยกความรู้จริงๆ ออกจากทะเลแห่งข้อมูล และความเร็วของการพัฒนายังทำให้ความรู้หลายอย่าง ล้าสมัยไปได้โดยถูกแทนที่ด้วยความรู้ใหม่ๆ ที่มีดีกว่า

     ยังมีภาคที่พูดถึงการกลับมาของการบริโภคในสิ่งที่ตัวเองผลิตได้ ( Prosuming: แทนที่จะเป็น Consuming แบบการบริโภคทั่วไปที่ใช้เงินเป็นหลัก) ซึ่ง Toffler เชื่อว่าหายไปเมื่อโลกเปลี่ยนจากคลื่นลูกที่หนึ่ง (สังคมเกษตรกรรม) สู่ลูกที่สอง แต่คราวนี้ไม่ได้มาในแบบที่ชาวนากินข้าวที่ตนเองปลูก แต่เป็นงาน (ทั้งงานโดยตรงและงานรอง) ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเงินตราโดยตรง

     ไม่ว่าจะเป็น การผลิต Shareware, งานอาสาสมัคร รวมไปถึงการตอบแบบสอบถามของลูกค้าซึ่ง Toffler บอกว่าเสมือนลูกค้าทำงาน R&D ให้ เป็นต้น เขาคิดว่านักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจ Presuming Economy น้อยเกินไปโดยไม่รู้ว่าเศรษฐกิจแบบนี้อิงอยู่คู่กับเศรษฐกิจเงินตราแบบแยกไม่ออก

     ใน 4 ภาคสุดท้าย Toffler พูดถึงทั้งอนาคตของทุนนิยม, ความยากจน และอนาคตของทั้งสหรัฐ, ญี่ปุ่น, จีน (และอินเดีย), ยุโรปและของโลก ประเด็นที่น่าสนใจคือ เงินตราที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของทุนนิยมได้พัฒนา ทั้งในแง่ของการเคลื่อนตัวด้วยความเร็วที่สูงด้วยอาณาเขตที่แทบไร้ขอบเขต

     ที่สำคัญคือ รูปแบบของเงินซึ่งอาจเป็นได้ว่าอาจจะถูกใช้อีกต่อไป เพราะอาจมีการคิดค้นเงินรูปแบบใหม่ๆ แก้ไขปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็เป็นได้

     ตลอดจน Toffler ให้พื้นที่กับเรื่องของ "ญี่ปุ่น" ไม่แพ้จีนและอินเดีย เขามองว่าจุดอ่อนญี่ปุ่นมีอยู่ 2 ประการ คือ ความไม่สมดุลของการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกับการพัฒนาการบริการและภาคสังคมซึ่งล้าหลัง

     เขาเชื่อว่าญี่ปุ่นต้องปฏิรูปทั้งการเมือง , งานราชการและธุรกิจบริการอย่างเร่งด่วน อีกประเด็นคือ การที่ญี่ปุ่นมีคนวัยหลังเกษียณมากขึ้น ซึ่งสะท้อนงานสาธารณสุขที่ได้ผล แต่กลายเป็นว่ารัฐต้องใช้เงินทุนเลี้ยงดูมาก เขาเสนอว่าญี่ปุ่นควรสร้างงานภาคบริการให้ผู้สูงวัยเพื่อให้เกิดรายได้ รวมถึงการย้ายถิ่นพำนักของคนวัยนี้ไปสู่ประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำซึ่งข้อนี้ญี่ปุ่นเองก็ทำอยู่แล้ว

     โดยสรุปเมื่ออ่าน Revolutionary Wealth แล้ว ผมเข้าใจว่า Toffler คงเขียนงานอย่าง The Third Wave หรือ Power Shift ไว้ดีมาก จนงานรุ่นหลังๆ รวมถึงหนังสือเล่มนี้ยังคงกล่าวถึงแกนเดิมที่กล่าวถึงเมื่อสิบกว่าปีก่อนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โลกาภิวัตน์, บทบาทของความรู้ในการพัฒนา หรือกระทั่งคลื่นลูกที่หนึ่งถึงลูกที่สาม หรือ Prosuming

     แต่กระนั้น แนวของ Toffler ก็ยังน่าสนใจอยู่ดีกับวิธีคิดและมุมมองต่อเรื่องต่างๆ ซึ่งเขาทำได้อย่างเป็นเอกลักษณ์และทะลุปรุโปร่ง”

     จากชื่อเสียงของผู้เขียนและความน่าสนใจของการมองโลกในอนาคต ทำให้มีการนำมาแปลเป็นภาษาไทย โดย สฤณี อาชวานันทกุล ภายใต้ชื่อ “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ผู้สนใจยังคงหาหนังสือฉบับภาษาไทยนี้ได้ตามร้านหนังสือทั่วไป

หมายเลขบันทึก: 308283เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท