ดนตรีมอญในพม่าว่าด้วยฆ้องมอญ


ฆ้องมอญ เครื่องดนตรีมอญในพม่า

สวัสดีครับ.

     วันนี้ขอเสนอเรื่องเกี่ยวกับเครื่องดนตรีซึ่งดูจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับคอดนตรีไทย โดยเฉพาะเมื่อเราไปในงานศพ งานเมรุ ก็จะพบว่ามีเครื่องดนตรีประเภทฆ้องวงที่ตัวรางแกะเป็นรูปกินนรี รำอ่อนงอนโค้งวงเดือนตั้งเด่นอยู่หน้าวง ใช่แล้วครับ นั่นคือ "ฆ้องมอญ" ที่คนไทยส่วนใหญ่มักเรียกผิดไปว่าเป็น "ฆ้องนางหงษ์" เพราะเห็นหางงอนๆ  เหมือนหงษ์ ซึ่งที่จริงแล้วคำว่า "นางหงษ์" นี่เป็นชื่อวงดนตรีไทยชนิดหนึ่งนะครับ. ใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพโดยใช้เครื่องปี่พาทย์ของไทย มีระนาด ฆ้องวงใหญ่แบบราบ แล้วที่สำคัญคือใช้ปี่ชวาเป่าเป็นต้นเสียงนำวง(เสียงปกครอง)ครับ แล้วก้เรียกว่าวงปี่พาทย์นางหงษ์

ภาพฆ้องมอญในประเทศไทย
ภาพจากwww.cmw.ac.th/.../Art/teerapon002/sec3.2.html

        เอาแหละครับ คราวนี้เราก็เข้าเรื่องของ "ฆ้องมอญ" กันเลยนะครับ.แต่ฆ้องมอญที่ผมจะเสนอในบันทึกนี้มีที่พิเศษหน่อยเพราะเป็นข้อมูลของฆ้องมอญที่ใช้บรรเลงในประเทศพม่า เห็นเป็นโอกาสอันดีเลยขอนำมาเสนอให้ผู้สนใจถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในภูมอภาคอุษาคเนย์ได้อ่านกันนะครับ

ฆ้องมอญ  

      ในภาษามอญเรียกว่า  “ปาดกาว์ง”  หรือ “มองจักกิเตา.” ครับ สำหรับภาษาพม่าจะเรียกฆ้องมอญว่า "ละชาน"  ซึ่งคำศัพท์ทั้งสองชาติเมื่อแปลความมาแล้วต่างก็ได้ความหมายตรงกันว่า “ฆ้องวงดือน” หรือ “ฆ้องจันทร์เสี้ยว” ด้วยกันทั้งคู่นะครับ เพราะทั้งมอญและพม่าเขาต่างก็พิจารณาจากรูปร่างลักษณ์ของร้านฆ้อง(รางฆ้อง)ที่ทำเป็นวงโค้งขึ้นไปเหมือนพระจันทร์เสี้ยวนะครับ 

    สำหรับการประดับตกแต่งนั้นทั้งฆ้องมอญในเมืองไทยและฆ้องมอญในพม่าต่างก็นิยมแกะสลักหัวรางไว้เป็นรูปกินนรไหว้หรือไม่ก็ฟ้อนรำด้วยกันทั้งคู่ จะต่างกันก็แต่ในส่วนหางเท่านั้นที่ฆ้องมอญในเมืองพม่าไม่นิยมแกะสลักเป็นหางหงษ์โค้งงอนอย่างไทยแต่จะปล่อยไว้เรียบๆดังภาพที่ได้นำมาแสดงไว้นี้ (ส่วนด้านล่างเป็นที่เห็นเป็นจรเข้นอนยิ้มอยู่นั้นไม่ใช่ฐานของฆ้องมอญนะครับ แต่เป็นจะเข้มอญ.ซึ่งผมจะนำมาเรียนเสนอในบันทึกครั้งต่อไปครับ)

                                 

               มองจักกิเตา หรือ ละชาน ฆ้องมอญในพม่า                      
ภาพจาก www.museumfire.com/burma.htm

         ส่วนของลูกฆ้องของมอญนั้นทำด้วยโลหะสำริด ที่พม่ามักจะเรียกรวมๆกันว่า "เจ" มีจำนวน ๑๔-๑๕  ลูก ผูกไว้ในรางไล่ขนาดจากใหญ่ไปหาเล็ก(ซ้ายไปขวา) และที่สำคัญอันเป็นเอกลักษณ์อย่างโดดเด่นของฆ้องมอญทั้งในไทยและพม่าที่มีอยู่เหมือนๆกันก็คือ ธรรมเนียมการเว้นลูกฆ้องกลุ่มเสียงต่ำด้านซ้ายมือไว้สองเสียงมิให้ไล่เรียงเสียงได้ครบ ซึ่งภาษาดนตรีไทยเรียกว่า “หลุม” 

       รามญโมส่วยนักดนตรีชาวมอญได้กล่าวถึงระบบการไล่เรียงระดับเสียงของฆ้องมอญในประเทศพม่าไว้ว่าในปัจจุบันมีใช้กันอยู่ ๒ ระบบ ได้แก่  

           ๑) ระบบเก่า เป็นระบบโบราณของมอญ ประกอบด้วยเสียง G A  - C D E - G A B C D  E F G A (ซอล ลา -  โด เร มี -  ซอล ลา ที โด เร มี ฟา ซอล ลา) ซึ่งรามญโมส่วยกล่าวว่าระบบดังกล่าวมีนี้ความสัมพันธ์กับระบบการนับช่วงเวลาทางจันทรคติ และเป็นระบบเสียงที่นิยมใช้กันในการบรรเลงประกอบพิธีกรรมลงทรงฟ้อนผี (นัตกนา)ของชาวมอญในเขตอำเภอสิ่นไจก์ และเขตอำเภอปอง ในรัฐมอญ  และ

         ๒) ระบบใหม่  เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๓ ในเขตหมู่บ้านสิ่นไจก์ ของอำเภอปอง โดยอาจารย์นายฉ่วยปีญ์  และอาจารย์อูมยะ ได้เพิ่มลูกฆ้องเสียง  F (ฟา) ในส่วนลูกทั่ง(ลูกต่ำสุด) และส่วนที่ขาด (เป็นหลุม) ขึ้นอีกหนึ่งลูกรวมเป็น ๑๖ ลูกได้ระบบเป็น F G A – C D E F G A B C D E F C A  (ฟา ซอล ลา-โด เร มี ฟา ซอล ลา ที่ โด เร มี ฟา ซอล ลา)

        อย่างไรก็ดีจากระบบทั้งสองที่กล่าวมาเราจะพบได้ว่า ระบบการไล่เรียงเสียงในระบบเก่าตามที่ปรากฏในข้อ (๑) นั้นเป็นระบบการไล่เรียงเสียงที่เหมือนกับที่ใช้อยู่ในประเทศไทยมากที่สุด ดังนั้นเราจึงอาจสรุปได้ว่าระบบการไล่เรียงเสียงฆ้องมอญที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ก็คือระบบเสียงมอญเก่าที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์และร่อยรองของการมีปฏิสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างมอญในไทย และมอญในพม่ากับไว้ได้อย่างดี แม้เวลาจะผ่านมากว่าสองร้อยปีแล้วก็ตาม

       ดังนั้นก็ขอให้ชาวไทยเชื้อสายมอญหรือชาวไทยที่ไม่ได้มีบรรพชนเป็นคนมอญจงช่วยกันรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นพี่น้อง ญาติมิตรสนิทใกล้นี้เอาไว้เป็นทรัพย์มรดกทั้งของชนในชาติและภูมิภาคอุษาคเนย์ต่อไปครับ

สิทธิพร เนตรนิยม

 

เอกสารอ้างอิง : ๑.รามญโมส่วย,มอญคีตะนิทาน,พิมพ์ครั้งแรก ๒๐๐๔,ย่างกุ้ง

                     ๒.www.museumfire.com/burma.htm

                    ๓.www.cmw.ac.th/.../Art/teerapon002/sec3.2.html


 

หมายเลขบันทึก: 308690เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2009 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณครับ ได้รับความรู้ดีครับ

ขอบคุณครับ.ที่สนใจ

อยากทราบว่า การแกะสลักรูปกินนร ที่ประดับฆ้องมอญ มีคติความเชื่อมีความหมายว่าอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท