เครื่องดนตรีพม่า ว่าด้วยเรื่อง "มองซาย"


เครื่องดนตรีพม่า ว่าด้วยเรื่อง "มองซาย"

สวัสดีครับ วันนี้ขอเสนอเรื่องราวเครื่องดนตรีทองเหลืองของพม่าชิ้นนึง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่เมื่อเราคนไทยได้ไปเที่ยวชายแดนไทย-พม่าในเทศกาลงานสำคัญเมื่อไร ก็จะเจอนักดนตรีพม่านำมาบรรเลงประกอบการแสดงให้เห็นอยู่เป็นประจำนะครับ เครื่องดนตรีที่ว่านี้คือ "มองซาย"ครับ เรามาดูท่วงทีลีลาและเรื่องราวของเครื่องดนตรีชิ้นนี้กันเลยนะครับ

เครื่องดนตรีพม่า ว่าด้วย “มองซาย”

       เครื่องดนตรี “มองซาย” ของพม่านี้หากจะบัญญัติศัพท์ให้เป็นไทยก็น่าจะเรียกได้ว่า “โหม่งราง” หรือ “โหม่งแผง" เพราะจุดกำเนิดเสียงอยู่ที่การนำเอา “ลูกโหม่ง” ที่พม่าเรียกว่า “มอง” ขนาดต่างๆมาบรรจุลงไว้ใน “กรอบรางหรือร้านไม้” ซึ่งพม่าเรียกส่วนนี้ว่า “ซาย”

       ลูกโหม่ง ที่พม่าเรียกว่า “มอง” นี้ก็คือโลหะผสมที่ถูกตีขึ้นรูปให้กลมและแบนบางอย่างถาดมีปุ่มนูนขึ้นเป็นจุดกระทบตรงกลาง  ไม่ใช่ลูกฆ้องชนิดเนื้อหนาๆมีฉัตรยาวทรงกระบอกอย่างลูกฆ้องวง หรือฆ้องเหม่ง ที่พม่าจะเรียกลูกฆ้องชนิดว่า “เจหน่อง”

        “มองซาย” หนึ่งชุดจะมีลูกโหม่งจำนวนทั้งหมด ๑๗-๑๘ ใบไล่เรียงขนาดจากใหญ่ไปหาเล็ก ร้อยเชือกผูกไว้ในราง หรือร้านไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ประกอบติดกันจำนวน ๓ ราง ได้แก่

        ๑.รางด้านบนซึ่งจัดวางให้ตั้งขึ้นและเอียงลาดไปด้านหลังเล็กน้อยให้พอเหมาะกับมือของผู้บรรเลง รางส่วนนี้เป็นรางขนาดใหญ่บรรจุลูกโหม่งไว้ ๓ ใบ เริ่มต้นด้วยเสียง ฟา ซอล ลา  ถัดลงมาเป็น

       ๒.รางส่วนกลางซึ่งวางราบกับพื้นต่อจากรางด้านบน รางส่วนกลางมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองแถวด้วยกรอบไม้กั้นกลางในทางยาวทำให้เกิดพื้นที่ส่วนบน ซึ่งบรรจุลูกโหม่งเอาไว้จำนวน ๓ ใบเริ่มต้นด้วยเสียง ที โด เร พื้นที่ส่วนล่างบรรจุลูกโหม่งไว้จำนวน ๔ ใบ เริ่มด้วยเสียง มี ฟา ซอล ลา รวมลูกโหม่งทั้งหมดจำนวน ๗ ใบ และ

        ๓. รางด้านขวามือของผู้บรรเลงตั้งอยู่ส่วนท้ายสุดของรางส่วนกลางต่อเยื้องออกไป ตัวรางมีขนาดเล็กแบ่งพื้นที่ภายในเป็นสองส่วนด้วยเช่นเดียวกับรางกลาง พื้นที่ส่วนบนบรรจุไว้ด้วยลูกโหม่งจำนวน ๓ ใบ เริ่มด้วยเสียง ที โด เร พื้นที่ส่วนล่างบรรจุไว้ลูกโหม่งไว้จำนวน ๔-๕ ใบ เริ่มด้วยเสียง ม ฟ ซ ล ดังนั้นรางที่ ๓ จึงมีลูกฆ้องบรรจุอยู่ทั้งหมดจำนวน ๗-๘ ใบ บางครั้งอาจพบว่ารางส่วนที่ ๓ นี้สามารถจัดวางให้ท้ายรางราดเอียงขึ้นได้เพื่อให้พอเหมาะกับมือของผู้บรรเลง

ผังโน๊ตมองไซง์

                       รางที่ ๑          ซ    ล

                       รางที่ ๒      ท    ด     ร

                                        ม    ฟ     ซ    ล    ท    ด     ร    รางที่ ๓

                                                                  ม    ฟ    ซ    ล

 

ภาพมองซาย จาก www.yangonow.com/.../instrument.html

ประวัติ

            “มองซาย” ได้รับการประดิษฐ์และถูกนำเข้ามาใช้ในวงปี่พาทย์ของพม่าเป็นครั้งแรกในสมัยอาณานิคม ช่วงปี พ.ศ.๒๔๔๗(ค.ศ.๑๙๐๔) คือหลังจากที่ระบอบกษัตริย์ได้สลายไปจากพม่าแล้ว ๒๙ ปี สมัยก่อนนั้น  “มอง” ถูกเรียกว่า “หน่องนีง” และ เจนีง” พบหลักฐานเก่าที่สุดในสมัยพุกามจากจารึกเซยะติ่ง (พ.ศ.๑๗๓๗) และจารึกเมี่ยวก์กูนี (พ.ศ.๑๗๘๔) ในสมัยก่อน “มอง” ถูกใช้ตีเพื่อเป็นสัญญาณในการสงคราม การเรียกประชุมไพร่บ้านพลเมือง ส่วนในปัจจุบัน “มอง” ได้ถูกนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ของพม่า เริ่มต้นมีเพียง ๗ ใบ ต่อมาจึงเพิ่มเป็น ๙ ใบและท้ายที่สุดมีจำนวนเป็น ๑๗ ใบในปัจจุบัน 

         สำหรับการเทียบเสียงนั้นผู้เขียนพบว่าพม่านิยมใช้เทียนขี้ผึ้งบริสุทธิ์ที่เรียกว่า “ปยาพยอง”ติดในปุ่มฆ้อง ไม่มีตะกั่วอย่างที่ไทยใช้ ดังนั้นเสียงฆ้องหรือโหม่งที่ได้จึงมีเสียงที่ไม่ดังกังวาน นักดนตรีพม่าส่วนใหญ่จึงต้องพิถีพิถันในการเลือกลูกโหม่งหรือลูกฆ้องให้ได้เสียงตรงตามที่ต้องการมกาที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่ได้ตามนั้นจึงค่อยถ่วงเสียงเอา

         ในทัศนะของผู้เขียน ซึ่งเคยเรียนเครื่องดนตรีชนิดนี้มาบ้าง คิดว่ามองซายเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงค่อนข้างยากที่สุดในบรรดากลุ่มเครื่องตีดำเนินทำนองเนื่องจากระบบการจัดเรียงเสียงไม่ได้เรียงเป็นแผงในระนาบเดียวกันเหมือนอย่างระนาด และฆ้องวง แต่มองซายมีระบบการตีเสียงคู่แปดที่มือไม่ได้แยกกันออกไปตามแบบปกติ แต่ต้องวางมือเป็นคู่สี่ คู่สาม และคู่ห้า ส่วนการตีเสียงคู่สี่ก็ต้องใช้ระบบการวางมือที่คู่สอง เป็นต้น ดังนั้นการฝึกครั้งแรกจึงค่อนข้างสลับสับสนมาก เมื่อผนวกเข้ากับทำนองเพลงพม่าที่ไม่เคยได้ยินเข้าอีกก็งงกันไปใหญ่ครับ

      แต่อย่างไรก็ดีคงไม่พ้นความพยายามไปได้นะครับ ถ้าได้บรรเลงทุกวัน เสียงของมองซายนั้นไพเราะลุ่มลึกดีทีเดียวครับ ถ้าชำนาญแล้วมีการประคบมือด้วยก้จะไพเราะมากๆ

เครื่องดนตรีชนิดนี้ขนย้ายง่ายกว่าฆ้องวงแบบพม่ามาก จึงเป็นที่นิยมเหมือนกับปี่พาทย์เครื่องเบาของไทยอย่างไงอย่างงั้น ดังนั้นเราจึงมักพบว่ามองซายมักเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นที่นิยมกันทั่วไปในวงปี่พาทย์พม่าทั้งในระดับราชการ ไปจนถึงพื้นบ้านพื้นเมืองเลยครับ

           

หมายเลขบันทึก: 309252เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...มีเเค่นี้หรอกหรอ ขอเยอะๆได้มั้ย คาโอรุเค้าต้องการอ่ะ

่้าเรีืทสนทสาวบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท