โครงกระดูกคนบอกอะไรเกี่ยวกับอดีต?


โครงกระดูกคน แฮริสไลน์ อาหารการกิน สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ

เราท่านหลายคนคงไม่รู้ว่าร่างกายของเรานั้นเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญต่อการศึกษาอดีตเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นเหมือนกุญแจที่ช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้คน  สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในอดีต  เมื่อมึข่าวว่ามีการพบโครงกระดูกโบราณแล้วชาวบ้านนำไปฌาปนกิจเพื่อให้วิญญาณได้ไปสู่ที่สุคติหรือไปขุดค้นเพื่อหาของที่อยู่ร่วมกับหลุมฝังศพ  ทำให้จิตใจเราค่อนข้างห่อเหี่ยวเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเราได้ทำลาย finger print ที่สำคัญของบรรพชนของเรา  วันนี้จึงอยากเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องโครงกระดูกคนค่ะ

 

 

โครงกระดูกคนทำให้ทราบเรื่องราวในอดีตได้อย่างไร?

การศึกษาเรื่องมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในอดีต  สามารถจะศึกษาได้โดยตรงจากโครงกระดูก นิเวศน์วัตถุ และโบราณวัตถุต่างๆ ที่อยู่รอบๆ โครงกระดูก

  • ทำให้ทราบเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงในอดีต
  • ทำให้ทราบเกี่ยวกับโภชนาการในอดีต
  • ทำให้ทราบเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการบาดเจ็บในอดีต
  • ทำให้ทราบเกี่ยวกับอาชีพของคนในอดีต
  • ทำให้ทราบเกี่ยวกับสถานภาพทางสังคมของคนในอดีต

 

คนกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในอดีต

            ในที่นี้โครงกระดูกเป็นแหล่งข้อมูลในการตรวจสอบความกดดันจากสภาวะแวดล้อม  เช่นการขาดอาหาร หรือ การเปลี่ยนแปลงระบบการดำรงชีพจากการหาอาหารตามธรรมชาติมาเป็นการทำเกษตรกรรม  นักโบราณคดีจำเป็นต้องประมวลข้อมูลหลักฐานด้านเทคโนโลยีจากโบราณวัตถุ  และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  ทั้งนี้เพราะการเกษตรกรรมแบบเข้มข้นนั้นต้องใช้แรงงานมากในการปรับพื้นที่  การหว่านเมล็ดพืช

การเก็บเกี่ยว  การนวดข้าว  ถ้าปีใดได้พืชผลงามก็ไม่มีปัญหาอะไร  แต่บางปีมีฤดูแล้งที่ยาวนาน  การเพาะปลูกก็ล้มเหลว  ก็จะส่งผลกกระทบต่อชุมชนนั้นๆ  โดยเฉพาะทางด้านกายภาพ  จะรบกวนการเจริญเติบโตของทารกและเด็ก  ตลอดจนมีผลต่อการสืบพันธุ์  หรือจัดว่าเป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ  และเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ

 

วิธีการที่นักมานุษยวิทยากายภาพใช้ในการตรวจสอบความกดดันของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย คือ แฮริส ไลน์ (Harris lines)  เป็นวิธีการตรวจสอบจำนวนเส้นขวางในกระดูก  อันเกิดจากความกดดันเนื่องจากการขาดอาหาร  โดยเอกซ์เรย์กระดูกส่วนยาวของร่างกาย  วิธีการนี้จะตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพกับตัวอย่างของโครงกระดูกที่มีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนกระะทั้งอายุประมาณ 18 ปี

 

โภชนาการในอดีต

เมื่อโครงกระดูกถูกค้นพบจากการขุดค้น  นักโบราณคดีจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับดินที่ทับถมรอบๆ โครงกระดูกนั้นๆ  เพราะอาจจะมีร่องรอยของเมล็ดพืช  เศษกระดูกขนาดเล็ก หรือละอองเรณูของพืชหลงเหลืออยู่

            ฟันก็เป็นหลักฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องอาหารและการดำรงชีวิตในอดีต  โดยเฉพาะการศึกษาร่องรอยของการสึกหรอของฟัน  นอกจากนี้นักโบราณคดียังใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์อีก 2 วิธีมาช่วยในการศึกษาเรื่องโภชนาการจากโครงกระดูกคน คือ การวิเคราะห์ด้วยวิธีไอโซโทป (Isotopica analysis) และการวิเคราะห์การสะสมตัวของธาตุโลหะในกระดูก (Strontium)

         วิธีแรก  การวิเคราะห์ด้วยวิธีไอโซโทป  จะช่วยจำแนกสารโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อยึดต่อกระดูก (collagen)  วิธีการวิเคราะห์นี้จะช่วยบอกสารเคมีที่หลงเหลือในโครงกระดูก  และอาหารที่คนกินเข้าไปว่าเป็นพืชที่เติบโตในแผ่นดินหรือชายฝั่งทะเล

         วิธีที่สอง  การวิเคราะห์การสะสมตัวของธาตุโลหะในกระดูกนั้น  ช่วยให้ทราบว่า  ถ้าคนกินผักเป็นอาหารหลัก  จะพบธาตุโลหะในอัตราส่วนที่มาก  ขณะเดียวกัน  ถ้าคนกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก  อัตราการสะสมของธาตุโลหะจะน้อย

         อย่างไรก็ดี  ถ้าเราต้องการทราบรายละเอียด  เช่นชนิดของพันธุ์พืช  หรือสัตว์ที่คนโบราณกินเข้าไป  เราจำเป็นต้องอาศัยหลักฐานประเภทเมล็ดพืช  กระดูกสัตว์  หรือละอองเรณูที่ได้จากการขุดค้นมาประกอบผลการวิเคราะห์ดวยวิธีไอโซโทปและการสะสมตัวของธาตุโลหะในโครงกระดูกด้วย

 

สุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บในอดีต

โครงกระดูกคนเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยนำไปสู่ความกระจ่างด้านสุขภาพของคนในอดีต  การวินิจฉัย

โรคภัยไข้เจ็บนั้นนักมานุษยวิทยาต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านแพทย์ศาสตร์และต้องนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับคนปัจจุบันที่ป่วยเป็นโรคนั้นๆ ด้วย

นอกจากโครงกระดูกจะเป็นกุญแจสำคัญที่บอกโรคภัยไข้เจ็บแล้ว  ยังสามารถช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับการบาดเจ็บในอดีตด้วย  ซึ่งสามารถจะจำแนกอย่างคร่าวๆได้แก่  ร่องรอยที่แตกกแยกในกระโหลก  ที่อาจจะเกิดจากการรักษา  หรือร่องรอยที่เกิดจากการบาดเจ็บจากอุปกรณ์แหลมคม  เป็นต้น

 

การประกอบอาชีพในอดีต

โครงกระดูกเป็นหลักฐานโดยตรงในการบ่งบอกการประกอบอาชีพในอดีต  การศึกษาวิจัยสิ่งที่บ่งชี้ความกดดันที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพซึ่งปรากฏร่องรอยในโครงกระดูกนั้น  จำเป็นต้องศึกษาร่วมกับสาขาวิชาอื่นๆ  เช่นนิติเวชศาสตร์  ประชากรศาสตร์ ฯลฯ

 

สถานภาพทางสังคมในอดีต

นักโบราณคดีศึกษาและตรวจสอบระบบสังคมในอดีตด้วยการวิเคราะห์พิธีกรรมฝังศพ  โดยตั้งข้อสันนิษฐานว่า  บุคคลที่ได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากคนทั่วไปในขณะที่มีชีวิตอยู่  ย่อมได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว   ในสังคมที่ซับซ้อน  กลุ่มชนที่เป็นชนชั้นผู้นำมักจะถูกตกแต่งหลุมฝังศพอย่างหรูหรา  ประกอบไปด้วยเครื่องอุปโภคบริเโภคและข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตาย

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 309302เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท