Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

พิธีอาบน้ำเพ็ญ วันลอยกระทง


พิธีอาบน้ำเพ็ญ คือ อะไร

พิธีอาบน้ำเพ็ญ คือ พิธีอาบน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในคืนพระจันทร์เพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) แต่เดิมนิยมประกอบพิธีในเดือน 3 ตรงกับวันมาฆบูชาของทุกๆ ปี ต่อมามีการจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ ที่ 2  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2552  จึงถือเป็นสิริมงคลอันสมบูรณ์อย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นวันที่สายน้ำทุกแห่งทั่วโลกมีความบริสุทธิ์ใสสะอาด หนึ่งปีจะมีเพียงวันเดียวเท่านั้น ที่สามารถจัดพิธีอาบน้ำเพ็ญได้

พิธีอาบน้ำเพ็ญ มาจากไหน

พิธีอาบน้ำเพ็ญ ปรากฏหลักฐานตามหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่๕ ความว่า 

"วันนี้ทางศาสนาพราหมณ์เรียกว่า ศิวาราตรี ตอนเช้าพวกพราหมณ์จะนำหม้อทองเหลือง  เดินทูนศีรษะไปยังแม่น้ำคงคา นั่งตามริมฝั่งน้ำ แล้วใช้หม้อตักน้ำขึ้นมา บริกรรมคาถา แล้วนำมาล้างหน้าบ้วนปาก จากนั้นก็กระโดดลงไปในแม่น้ำคงคา ดำ ลงไปในน้ำ ๓ ครั้ง โกยดินตมที่อยู่ในน้ำมาฟอกถูตัวแทนสบู่ แล้วจึงใช้น้ำ ชำระล้างถูตัวให้สะอาด  เสร็จแล้วจึงเอาหม้อตักน้ำขึ้นมานุ่งผ้าให้เรียบ ร้อย เดินทูนหม้อน้ำมุ่งหน้าสู่เทวสถาน เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป การปฏิบัติเช่นนี้ ถือว่าได้อาบน้ำชำระบาปที่ได้ทำมาทั้งหมด" 

ในสมัยพุทธกาลการอาบน้ำเพ็ญแบบพุทธนั้น ชาวชมพูทวีปส่วนใหญ่นับถือศาสนา พราหมณ์ คำสอนที่ถือเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำ เรียกว่า นหานสุทธิความบริสุทธิ์เกิด ได้เพราะการอาบน้ำชำระบาปแม้พระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกพราหมณ์ภารทวาชะชักชวน ไปอาบน้ำ เพื่อลอยบาปเช่นกัน ซึ่งพระองค์ก็มีพระดำรัสสอนเกี่ยวกับการอาบน้ำในพระธรรมวินัยของพระองค์ว่า 

"คนพาลที่ทำความชั่วแล้วถึงจะไปสู่แม่น้ำพหุกา แม่น้ำอธิกักกะ แม่น้ำคยา แม่ น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสตี แม่น้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี เป็นประจำ ก็ทำให้เป็นคนบริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำเหล่านี้จะทำอะไรได้ จะช่วยชำระสะสางผู้ทำบาปหยาบช้าให้บริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นไม่ได้ ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าท่านอาบน้ำใน ศาสนาของเรา คือ มอบความปลอดภัยให้สัตว์ทั้งปวง ไม่พูดคำเท็จ ไม่เบียด เบียนสัตว์อื่น ไม่ลักทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น มีศรัทธา ไม่ตระหนี่ถี่ เหนียวแล้ว จะต้องไปสู่แม่น้ำเพื่อประโยชน์อันใด  แม้แต่การดื่มน้ำจากแม่น้ำเหล่านั้น ก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ (การอาบน้ำไม่สามารถล้างบาปได้เลย  ถ้าไม่มีศีล มีธรรม)" 

พิธีอาบน้ำเพ็ญ เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างไร

เนื่องด้วยวันสำคัญในทางศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือที่เรียกว่าคืนเพ็ญ จึงเกิดพิธีกรรมหนึ่งขึ้นมาคือ "พิธีอาบน้ำเพ็ญ" เพราะเชื่อว่าการอาบน้ำเพ็ญให้คุณทุกประการ

คนไทยแต่โบราณจึงนำพิธีกรรมอาบน้ำเพ็ญเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีลอยกระทง คือ เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนที่พระจันทร์เต็มดวงตรงศีรษะก็จะลงอาบน้ำเพ็ญใกล้ตามแม่น้ำลำคลอง พิธีการอาบน้ำมนต์น้ำเพ็ญนั้นที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานคือการประกอบพิธีอาบน้ำเพ็ญที่วัดสุทัศน์สมัยสมเด็จพระสังฆราชแพ ท่านประกอบพิธีเพียงปีละครั้งเท่านั้น โดยมากเลือกเอาวันเพ็ญ เดือนสิบสอง  พิธีโบราณหากว่าวันเดือนใดที่มีพระจันทร์เต็มดวงตรงกับวันจันทร์ก็ใช้วันนั้นได้ ถือว่าเป็นวันที่พิเศษอย่างยิ่ง เพราะนานทีปีหนจึงมีพระจันทร์เต็มดวงตรงกับวันจันทร์ ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่พิธีกรรมนี้มีวัดวาอารามถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เฉพาะบางวัดเท่านั้น โดยประเพณีในการอาบน้ำเพ็ญ พระสงฆ์และฆราวาสจะมาร่วมพิธีกันที่ลานกลางแจ้ง เพื่อสวดมนต์และอาบน้ำในตอนเที่ยงคืน โดยน้ำที่ใช้อาบนั้นจะต้องมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ บางแห่งก็จะมีสายสิญจน์โยงสู่ภาชนะที่เก็บน้ำต่อเนื่องไปยังผู้เข้าร่วมพิธี ด้วยความเชื่อที่ว่า เพื่อให้มนต์และคาถาแผ่เมตตาเชื่อมโยงไปให้บังเกิดแต่สิ่งที่ดีๆ แก่บุคคลทั้งหมดนั้น

พิธีอาบน้ำเพ็ญ มีประโยชน์อย่างไร

 

คนโบราณเชื่อว่า การอาบน้ำเพ็ญเป็นการอาบน้ำชำระบาป สาปส่งสิ่งที่ไม่ดี และขจัดสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายให้หายไปจากจิตใจและร่างกาย เพื่อเป็นการสร้างเสริมบารมีและสิริมงคลแก่ชีวิต ถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ของตนเองและครอบครัว จะทำกันในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงของวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12  เท่านั้น

เมื่ออาบน้ำเพ็ญแล้วก็จะมีโชคมีลาภ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม คนที่ป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บหน้าตาเศร้าหมอง เมื่อได้อาบน้ำเพ็ญไปแล้วก็จะหายจากอาการเจ็บป่วย หรือผู้ที่เป็นหมอดู นักพยากรณ์ เป็นแพทย์แผนโบราณ  เมื่อได้อาบน้ำมนต์แล้วก็เชื่อว่าจะทำให้มีความสามารถในการพยากรณ์ ในการรักษาโรคดีขึ้น หรือผู้ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาก็เชื่อกันว่าหากได้รับอาบน้ำมนต์น้ำเพ็ญ เมื่ออาบนั้นให้อธิษฐานอยู่ในใจ จะทำให้เรียนเก่งความจำดี มีปฏิภาณไหวพริบ การอาบน้ำเพ็ญจึงดีทั้งเสน่ห์เมตตามหานิยม โชคลาภ คุ้มครองป้องกัน ความจำดีมีปฏิภาณไหวพริบเรียนหนังสือเก่ง เสริมสง่าราศีให้ผุดผ่องดังพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เสริมบารมีแก่ผู้มีญาณเทพ มีองค์เทพคุ้มครอง ขจัดอำนาจมนต์ดำ คุณไสย ภูตผีปีศาจที่เข้าแฝงอยู่ในร่างกาย ทำให้ชะตาชีวิตรุ่งโรจน์ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ผู้ที่เข้าพิธีอาบน้ำเพ็ญ มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า น้ำในวันนี้เกิดจากพลังเทพ ประทานพร น้ำทุกหยดมีเทพในภพในภูมิต่างๆ ประทับสถิตหรือสรงสนาน ประกอบกับน้ำทุกสายที่ไหลบ่ามาจากป่าเขาลำเนาไพร ล้วนไหลผ่านดงสมุนไพรนานาพันธุ์ สารพัดคุณสารพัดประโยชน์ที่สามารถช่วยบำบัด เยียวยารักษาโรคได้ทุกชนิด ทำให้ผู้ได้อาบและดื่มกินมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ผิวพรรณผ่องใส และอายุยืน

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยจากโรคต่างๆ เมื่อได้อาบน้ำเพ็ญแล้วจะช่วยให้บรรเทาหรือหายจากอาการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่มีอาชีพหมอดู นักพยากรณ์ แพทย์แผนโบราณ จะทำให้มีความสามารถในการพยากรณ์ดีขึ้น หรือนักเรียนนักศึกษาต่างเชื่อว่า หากได้รับการอาบน้ำเพ็ญพร้อมกับตั้งอธิษฐานอยู่ในใจ จะทำให้เรียนเก่ง มีปฏิภาณไหวพริบ และความจำดี   "ปีหนึ่งจะมีเพียงวันเดียวที่ทำพิธีอาบน้ำเพ็ญ ในอดีตจะทำ ณ แม่น้ำที่เชื่อว่ามีความบริสุทธิ์ดุจดั่งน้ำทิพย์ ที่เต็มไปด้วยพลังอำนาจแห่งดวงจันทรา ที่สร้างปาฏิหาริย์ให้แข็งกล้า จนบังเกิดความขยันหมั่นเพียร เรียนรู้สู้ทุกอย่าง สร้างความเจริญรุ่งเรือง หนุนนำเนื่องแก่ผู้กระทำอย่างสูงสุด"

 

ชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล  ถ้าสนใจพิธีอาบน้ำเพ็ญ  สามารถเข้าร่วมพิธีได้ที่ไหน

 

วัดสุทัศน์เทพวราราม เสาชิงช้า กรุงเทพฯ ได้จัดพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์ วันเพ็ญเดือน 12 ขึ้นตามตำรับ "พิธีอาบน้ำเพ็ญ" ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ในอดีต พิธีนี้จะประกอบพิธีปีละครั้ง

พิธีอาบน้ำเพ็ญ  จะเริ่มจากพระสงฆ์ทำสังฆกรรม สวดพระปาติโมกข์ คือ ศีล 227 ข้อ อันหมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งสงฆ์ทั้งปวง ต่อด้วยเจริญพระคาถาพุทธาภิเษก หมายถึง พระพุทธ มีความยิ่งใหญ่ ดุจดวงอาทิตย์ พระธรรม มีความเยือกเย็น งดงามดุจพระจันทร์ พระสงฆ์ เปรียบเสมือนดวงดาว ที่รายล้อมอยู่ บารมี 30 ทัศ สรรเสริญพุทธลักษณะ 32 ประการ อนุพยัญชนะ 80 ประการ และบทเจริญเมตตาใหญ่ ต่อด้วยเจริญพระคาถาภาณวาร เป็นพระคาถาที่สวดตามวาระ ไม่ค่อยสวดบ่อยนักเป็นพระคาถาขับไล่เสนียด สิ่งอัปมงคล ป้องกันภัย และโรคร้ายต่างๆ และเจริญอายุวัฒนะ

วัดสุทัศนเทพวราราม จึงขอเชิญพุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ร่วมพิธีได้ในวันลอยกระทงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป อันเป็นวันจันทร์ที่ 2 พ.ย.2552 ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ โทร. 08-1619-6396, 08-1446-4569, 08-6884-4522

 

วัดตะเคียน ถ.พระราม 5 (นครอินทร์) ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เป็นวัดหนึ่งซึ่งสืบสานประเพณีอาบน้ำเพ็ญนี้ โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อวันลอยกระทงปี พ.ศ.2550 

เทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2552 นี้ ทางวัดตะเคียนกำหนดจัดให้มีพิธีอาบน้ำเพ็ญเป็นครั้งที่ 3 เพื่อสะเดาะเคราะห์ และเสริมบุญเสริมบารมี ให้แก่ญาติโยม เริ่มงานตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป โดยจะ มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์บทนพเคราะห์ พระคาถามหามงคลต่างๆ ไปจนถึงพิธีอาบน้ำเพ็ญในเวลา 24.00 น.

โดยผู้เข้าร่วมพิธีจะได้รับมอบ "ตะกรุดจันทร์เพ็ญ" เป็นที่ระลึก ซึ่งตะกรุดนี้ผ่านการปลุกเสกตลอดไตรมาส 52 (มีจำนวนจำกัด) นอกจากนี้ ยังจัดให้มี "ตลาดน้ำกลางคืน" เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติโยมได้ซื้อหาอาหารและพืชผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์ภายในท้องถิ่นเมืองนนทบุรีกันอย่างจุใจ

สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ประสงค์จะเข้าร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นี้ สอบถามรายละเอียด และเส้นทางได้ที่พระอาจารย์สงบ กิตติญาโณ เจ้าพิธี โทร. 0-2595-1851, 08-1921-0946 งานนี้ทางวัดย้ำว่า ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น 

 

ถ้าไม่สามารถไปร่วมพิธีอาบน้ำเพ็ญได้  จะทำอย่างไร

สำหรับผู้ไม่สามารถไปร่วมพิธีที่ใดได้และคนที่อยู่ในเมืองก็ทำได้เช่นกัน  ตามคติความเชื่อของคนโบราณมักจะตักน้ำจากแม่น้ำลำคลองที่ไหลผ่านหน้าบ้านในเวลาเที่ยงคืนพอดี  ตักมาอาบน้ำตอนเที่ยงคืน  หรือให้นำภาชนะใส่น้ำไปตั้งไว้ยังกลางแจ้งรอ จนกระทั่งบังเกิดเงาของพระจันทร์ลอยเด่นอยู่ภายในขันน้ำมนต์ หรือภาชนะที่ ใส่น้ำนั้น เป็นการนำเอาธาตุน้ำมารับแสงจันทร์  ธาตุน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวจะซึมซับเอาพลังงานจากพระจันทร์ช่วงเต็มดวงไว้อย่างเต็มที่ จากนั้นก็ตักอาบได้ ถือว่าเป็นสิริมงคลเช่นกัน

แต่ถ้าจะให้ดีเราขอแนะนำให้นำน้ำมนต์ที่ได้บูชามาจากวัดต่างๆ ลงไปผสมน้ำอาบด้วย  (ยิ่งถ้าเตรียมไว้ 9 วัด ก็จะได้น้ำศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น  ดังนั้น  ก่อนวันลอยกระทงควรเดินสายไหว้พระ 9 วัด นะคะ)  พร้อมกับตั้งอธิษฐานอยู่ในใจ  ก็จะใช้แทนได้ดีค่ะ  

ขอให้สนุกกับการอาบน้ำเพ็ญในคืนวันลอยกระทงนะคะ

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 309446เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2009 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2014 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลดีมากเลย หลังจากทีได้ีคุยกันตอนนั่งบนรถที่จะไปนครนายกกันแล้ว ได้พูดถึงพิธีอาบน้ำเพ็ญกัน ที่บอกว่าปัจจุบันคนในเมืองหลวงมีกิจกรรมอะไรขึ้นมาที่มันสามารถจับต้องได้ โดยอาศัยพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเข้าด้วยแล้ว สังคมก็จะนิยมกัน แต่ตามที่เขียนไว้นั่งแหละ การอานน้ำก็ใช่ว่าจะชำระความชั่วในใจไปได้ กับการแค่อาบน้ำหนึ่งถัง ก็ต้องมีศีลธรรมประกอบไปด้วย ชีวิตมันจะได้เจริญรุ่งเรืองตามคำอธิฐานของตน

พิธีกรรมบางอย่างก็เป็นของเฉพราะภาค จะนำมาใช้ในอีกจังหวัดหนึ่งก็เป็นเรื่องอยากอยู่ ก็ต้องอาศัยเวลาในการปรับความคิดและความรู้สึก ผู้อ่านคงจะได้ประโยชน์บ้างนะ อย่างน้องก็เป็นอุปกรณ์เข้าใกล้พระรัตนตรัยมากยิ่งขึ้น ทำให้มีศรัทธายึดมั่นด้วย

พิธิกรรมก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หากเรายึดติดอยู่กับพิธีกรรมไม่สามารถก้าวให้พ้นไปได้ สติปัญญาก็จะกว้างไกลไ้ด้อย่างไร ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท