ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย (ตอนที่ 1)


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย (ตอนที่ 1)

เอกสารประกอบการเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมพื้นฐาน

รหัสวิชา ส 41101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

หน่วยการเรียนที่ 8
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

------------------------------------------------------


หัวเรื่อง
                                1.  ความหมายและลักษณะสำคัญของกฎหมาย
                                2.  ที่มาและประเภทของกฎหมาย
                                3.  ความสำคัญของกฎหมายต่อสังคมและบุคคล
                                4.  ผลกระทบที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

สาระสำคัญ

                                กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ กติกา ข้อบังคับ เพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในสังคมให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน มีสภาพบังคับ ใช้ได้ทั่วไป มีลักษณะคล้ายคลึงกับศาสนา ศีลธรรม จารีตประเพณี เพราะเป็นข้อบังคับเกี่บกับความประพฤติของมนุษย์ กฎหมายช่วยให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในสังคม ผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อสังคมส่วนรวมและตนเอง และต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

 

จุดประสงค์ปลายทาง

                                เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

 

จุดประสงค์นำทาง

                                1.  นักเรียนสามารถอธิบายความหมายและสรุปลักษณะสำคัญของกฎหมายได้

                                2.  นักเรียนสามารถอธิบายประเภทและที่มาของกฎหมายได้

                                3.  นักเรียนสามารถเปรียบเทียบความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างกฎหมายกับศาสนา ศีลธรรมและจารีตประเพณีได้

                                4.  นักเรียนสามารถวิเคราะห์ความสำคัญของกฎหมายที่มีต่อสังคมและบุคคลได้

                                5.  นักเรียนสามารถอธิบายและสรุปผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีต่อบุคคลและสังคมได้

 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

1.  ความหมายและลักษณะสำคัญของกฎหมาย

                                กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ กติกา คำสั่งหรือข้อบังคับที่ออกโดยผู้ที่มีอำนาจสูงสุด

ของรัฐ เพื่อใช้บังคับและควบคุมความประพฤติของบุคคลในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ มีสภาพบังคับ ใช้ได้เป็นการทั่วไปถ้าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะต้องมีความผิดและถูกลงโทษ

                                จากความหมายของกฎหมายดังกล่าว อาจแยกพิจารณาได้ว่า กฎหมายมีลักษณะที่สำคัญดังนี้

                                1.  กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่กำหนดโดยผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐ เช่นในประเทศไทย อังกฤษ และญี่ปุ่น องค์กรนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่นี้คือรัฐสภา ในภาวะปกติองค์กร                 นิติบัญญัติจะเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดนี้แทนประชาชน ถ้าเป็นช่วงที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร ผู้มีอำนาจสูงสุดย่อมหมายถึงหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือผู้กระทำรัฐประหาร ทั้งนี้สุดแต่ว่าระบอบการปกครองของประเทศในขณะนั้นจะเป็นรูปแบบใด

                                2.  กฎหมายเป็นข้อบับที่ใช้ได้ทั่วไปกับพลเมืองทุกคนในรัฐ  หมายความว่ากฎหมายใช้บังคับกับพลเมืองทุกคนที่เป็นพลเมืองและทุกสถานที่ในรํบหรือประเทศนั้นๆ โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน มิใช่ออกเพื่อใช้บังคับหรือกำหนดให้ใช้เฉพาะบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น

                                3.  กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป  หมายความว่า เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายแล้ว ต้องใช้กฎหมายนั้นบังคับได้โดยตลอดไปจนกว่าจะมีการประกาศยกเลิก หรือถูกลบล้างโดยกฎหมายใหม่

                                4.  กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม  หมายความว่าพลเมืองทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับของกฎหมายนั้นๆ ทั้งเรื่องการให้กระทำการละเว้นการกระทำการต่างๆ ตัวอย่างเช่น

                                -  บุคคลผู้มีรายได้ตามที่กฎหมายกำหนดต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ

                                -  บุคคลต้องละเว้นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไปเป็นของตนโดยพลการ

                                -  บุคคลต้องละเว้นการทำร้ายร่างกายผู้อื่น

                                5.  กฎหมายต้องมีสภาพบังคับหรือบทลงโทษ  กล่าวคือกฎหมายนั้นเมื่อประกาศใช้แล้วถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดต่อกฎหมายแล้ว ผู้นั้นจะต้องได้รับผลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การดำเนินวิธีบังคับนี้ กฎหมายต้องมีวิธีการที่จะให้เกิดโทษหรือผลร้าย ผลเสียแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม

                                โทษหรือสภาพบังคับของกฎหมายจำแนกได้ดังนี้

                                -  โทษหรือสภาพบังคับทางอาญา คือการประหารชีวิต  จำคุก  กักขัง  ปรับ ริบทรัพย์สิน      

                                -  โทษหรือสภาพบังคับทางแพ่ง คือการบังคับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้หยุดหรืองดเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

หมายเลขบันทึก: 310102เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ก็ดีนะแต่สั้นไปหน่อย

อยากได้แบบข้อความที่เน้นตรงคณะนิติศาสตร์และแนวข้อสอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท