Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

งานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและงานชักพระ วัดนางชีโชติการาม


หลังวันลอยกระทงของทุกปี  แพรขอแนะนำเพื่อนๆไปทำบุญในงานบุญประจำปีของฝั่งธนบุรี คือ "งานชักพระวัดนางชี" หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ"  ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่มาเมืองไทยตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พ.ศ ๑๒๑๙)  มาพร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ทางวัดนางชีจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ  ปีละครั้ง  ในปีนี้จัดงานระหว่าง วันที่ ๓-๕  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยทำพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ แล้วเปิดผอบที่บรรจุนำพระบรมสารีริกธาตุมาตรวจต่อหน้ากรรมการด้วย ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี หลังจากวันลอยกระทง ๑ วัน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๓  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๑๔-๑๖.๐๐ น. ค่ะ

และใน "งานชักพระ"นี้ ทางวัดนางชีจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่จะอัญเชิญออกแห่ทางน้ำ จัดขึ้นในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี หรือหลังวันลอยกระทง ๒ วัน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธที่ ๔  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ค่ะ

วัดนางชีเป็นวัดเก่า เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีได้สร้างร่วมกับพระยาฤาชัยณรงค์ และออกหลวงเสนาสุนทร สาเหตุที่สร้างก็เนื่องมาจากแม่อิ่มลูกสาวของเจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีป่วยอย่างไม่รู้สาเหตุ จนกระทั่งมีชีปะขาวมานิมิตเข้าฝันให้เจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีแก้บนโดยให้ลูกสาวบวชชี ดังนั้นเมื่อแม่อิ่มหายป่วย เจ้าพระยาพิชัยมนตรีจึงให้ลูกสาวบวชชีพร้อมกับสร้างวัดนี้  วัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้างในปลายแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (พระราชาธิราชที่ ๒) เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ เนื่องจากอยู่ระหว่างทำสงครามกับพม่าก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนปลายรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระรูปสิริโสภาคย์มหานาคนารีเป็นพระสัสสุใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปฏิขรณ์จึงให้ชื่อว่า วัดนางชี เพื่อเป็นการอนุสรในการบวชชีของพระองค์  และท่านพระยาโชฎึกราชเศรษฐีซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีนอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยามได้มีจิตศรัทธาร่วมบูรณะปฎิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัดด้วย โดยทำเป็นศิลปะแบบจีนประดับประดาด้วยเครื่องเคลือบประดับมุก ลับแล หรือฉากบังเตียงแกะฉลุลายไทย ฝีมือจีน ฯลฯ ถวายให้เป็นสมบัติของ โดยดัดแปลงและแก้ไขรูปทรงพระอุโบสถพระวิหารให้เป็นแบบจีน ประดับประดาด้วยเครื่องเคลือบ และนำตุ๊กตาหินแบบจีนและหินปูทางเดินมาจากเมืองจีนเพื่อมาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ นอกจากนี้ได้ถวายเครื่องใช้แบบจีนเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเตียงไม้มะเกลือประดับลายหอยมุกและหินอ่อน ซึ่งเป็นของลูกสาวที่เสียชีวิตอยู่บนเตียงนี้เมื่ออายุประมาณ ๑๘ ปี ๑ หลัง เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายวัดนี้แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระอารามหลวง ได้พระนามว่า "วัดนางชีโชติการาม" ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระยาราชานุชิต (จ๋อง) ได้บูรณะและปฏิสังขรณ์วัดซึ่งกำลังทรุดโทรมขึ้มมาใหม่ทั้งวัด อารามอีกครั้ง เช่นพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ เสนาสนะต่างๆ ให้รื้อของเก่าแล้วสร้างใหม่โดยเฉพาะ หลังคา พระอุโบสถสร้างตามแบบที่นิยมกันตามแบบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว คือไม่มีช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ สิ่งสำคัญภายในวัดนางชี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงทำการค้ากับจีน ทรงสั่งทำเครื่องเคลือบรูปเรือสำเภา อันเป็นเครื่องหมายการค้าให้อนุชนได้ศึกษา โดยทรงได้พระราชทาน วัดนางชี 1 คู่ พระประดับหน้าบันพระวิหารที่สร้างตามศิลปะแบบจีน นอกจากนี้ได้พระราชทานเสาหินเทียบเรือพระที่นั่งซึ่งทรงสั่งมาจาก ประเทศจีนให้แก่วัดนางชี และถวายเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

ปูชนียวัตถุพิเศษที่สำคัญในวัดได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกซึ่งมีจำนวนไม่แน่นอน อาจจะเพิ่มหรือลดลงแตกต่างกันไปในแต่ละปี ก่อนที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้ประชาชนสรงน้ำ จะมีการตรวจนับจำนวนพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกทุกครั้ง เมื่อแห่พระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้วก็จะตรวจอีกครั้งหนึ่งก่อนจะนำไปประดิษฐานเก็บไว้บนกุฎิเจ้าอาวาส พระบรมธาตุนั้นจะมีขนาดเล็กมาก คือ มีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของเมล็ดข้าวสารหัก เวลาตรวจนับจะต้องใช้แว่นขยายช่วยจึงจะมองเห็นชัด กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาได้เขียนเล่าเกี่ยวกับจำนวนพระธาตุที่เพิ่มขึ้น และลดลงไว้ในหนังสือตำราพระธาตุว่า พระบรมธาตุและพระธาตุนี้ก็เป็นของแปลก ถ้าเป็นพระบรมธาตุก็ว่าเสด็จมาเองบ้าง เสด็จไปเองบ้าง ครั้งหนึ่งประมาณ ๒๐ ปีล่วงแล้ว

พระบรมสารีริกธาตุที่วัดนางชีถูกบรรจุไว้ในผอบแก้วซึ่งเป็นขวดน้ำหอมจากฝรั่งเศสที่ชาววังใช้น้ำหอมผสมน้ำอาบกันในสมัยก่อน แล้วประดิษฐานไว้ ณ มณฑปที่จัดทำเป็นพิเศษ ตามประวัติที่เล่ากันต่อ ๆ มากล่าวว่า เมื่อประมาณ พ.ศ ๑๒๑๙  คณะพราหมณ์ ๓ ท่าน และชาวจีน ๙ ท่าน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุผอบทองคำ ๒ ผอบมาโดยเรือสำเภาจากชมพูทวีป เพื่อไปประดิษฐานไว้ที่เมืองปทาคูจาม อาณาจักรศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช) และที่เมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง แต่เมื่อได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานที่เมืองนครศรีธรรมราช (ในปัจจุบันนี้ได้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระสถูปเจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วได้เดินทางต่อไปจนเรือได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงที่ตรงบริเวณปากน้ำคลองด่านปัจจุบัน (ตามสภาพภูมิศาสตร์ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยทางแถบเมืองธนบุรียังเป็นป่าทึบ และพื้นดินยังไม่งอกออกมามากมายเท่าในปัจจุบัน) คณะพราหมณ์และชาวจีนจึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุขึ้นห่างจากที่เรือล่มประมาณ ๕ไมล์ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีก็ตกลงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ ที่นั้น แต่ไม่ทราบว่าได้ประดิษฐานไว้อย่างไร เมื่อนานเข้าผอบทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้ถูกฝังจมดิน พระบรมสารีริกธาตุที่ทูลเชิญเสด็จมาในครั้งนั้นมีด้วยกัน ๕ พระองค์คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ส่วนใหญ่ ส่วนแขน ซี่โครง หัวเข่าและขา

ต่อมาในสมัยพระชัยราชา (พระเอก) กษัตริย์องค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๘๒ เป็นปีที่วัดนางชีสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบรมสารีริกธาตุเสด็จขึ้นมาให้ปรากฏแก่แม่ชีอิ่มให้เห็นทั้ง ๕ พระองค์ แม่ชีอิ่มได้ทูลเชิญเสด็จบรรจุไว้ในผอบแก้วและได้ประดิษฐานไว้ ณ วัดนางชีแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมาในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี หลังจากวันลอยกระทงและเทศน์มหาชาติแล้ว ทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ หรือ "งานชักพระ" หรือ "งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ"

งานชักพระที่วัดนางชี  เป็นงานชักพระแห่งเดียวที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และแตกต่างไปจากงานชักพระทางจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นประเพณีอันสืบเนื่องมาจากพระพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์เมื่อเสด็จมาจากดาวดึงษ์แล้ว จึงอัญเชิญพระพุทธองค์ประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้แห่แหนไปสู่ที่ประทับ ซึ่งจัดทำกันในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษาโดยอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกที่อยู่บนรถหรือบนเรือแล้วให้เรือชาวบ้าน หรือคนช่วยกันจับปลายเชือกลากพระไป แต่งานชักพระวัดนางชีเป็นการเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกขึ้นประดิษฐานบนบุษบกแทนแล้วชักแห่ไปทางเรือจากหน้าวัดนางชีไปตามลำคลองด่าน เลี้ยวซ้ายออกไปตามคลองบางกอกใหญ่ และผ่านมาช่วงปลายของคลองซึ่งเรียกว่าคลองชักพระ (ปัจจุบันนี้คำว่าคลองชักพระยังปรากฎเป็นชื่อของสถานที่ต่าง ๆ ในบริเวณนั้น เช่น ตำบลคลองชักพระ สะพานคลองชักพระ ถนนชักพระ เป็นต้น) แล้วอ้อมไปทะลุคลองบางกอกน้อยล่องขบวนไปตามคลองบางกอกน้อย คาดว่าพอถึงวัดไก่เตี้ยเขตตลิ่งชันประมาณตอนเพลหยุดขบวนและขึ้นเลี้ยงพระที่นั่น เสร็จแล้วก็ล่องขบวนไปออกปากคลองบางกอกน้อย เลี้ยวขวาเลียบมาตามลำน้ำเจ้าพระยาแล้วมาเข้าคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แล้ววกมาเข้าปากคลองด่านกลับไปยังวัดนางชีตามเดิม การแห่ครั้งนี้ชาวบ้านมักเรียกว่า "แห่อ้อมเกาะ"

พิธีกรรมในสมัยก่อนงานชักพระวัดนางชีเป็นงานเทศกาลประจำที่ครึกครื้นมโหฬารที่สุดในแถบนั้น ผู้ที่เข้าขบวนแห่จะแต่งตัวกันอย่างสวยงาม ประณีต เรียบร้อยจะเตรียมซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไว้ตั้งแต่มีงานภูเขาทอง เป็นที่เชื่อกันว่าในปีใดถ้าไม่มีการแห่พระบรมธาตุจะต้องมีอันเป็นไปอันทำให้ชาวบ้านแถบนั้นเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือภัยพิบัติต่าง ๆ แม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางรัฐบาลห้ามไม่ให้มีการแห่แหนหรือจัดงานใดเลย แต่งานแห่พระบรมธาตุก็ยังคงต้องดำเนินไปตามประเพณีโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุในสมัยก่อนจะเป็นขบวนเรือพายช่วยกันชักจูงเรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไป ทางวัดจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้สรงน้ำแต่เช้าตรู่ และจะเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากวัดตั้งแต่ ๖.๐๐ น. ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้นำพระบรมสาริริกธาตุมาให้สรงน้ำตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ ของวัน แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึงเวลา ๙.๐๐ น. ของวันต่อมา เรือที่มาร่วมขบวนมีจำนวนหลายร้อยลำและมาจากตำบลทั้งใกล้และไกล เรือที่มาร่วมขบวนแห่มีหลายแบบ

ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเปลี่ยนเป็นเรือยนต์ขนาดใหญ่ ที่ยังจัดตกแต่งเรืออย่างแบบเดิม ส่วนเรือที่ตามขบวนก็เปลี่ยนเป็นเรือหางยาวซึ่งมีผู้ที่จะร่วมขบวนต้องเสียเงินเป็นค่าโดยสารเรือขบวนนั้น ถึงแม้จะไม่มีเรือของชาวบ้านมาร่วมขบวนแห่อย่างเอิกเกริกดังเช่นสมัยก่อน บรรดาชาวบ้านตามริมคลองยังคงมานั่งดูขบวนแห่ตามริมคลองอย่างหนาแน่นพวกที่อยู่ลึกเข้าไปจะพายเรือมาจอดรถดูขบวนเป็นทิวแถว เมื่อขบวนเรือไปใกล้บริเวณวัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน จะเริ่มมีขบวนเรือของพวกชาวบ้านพายมาเข้าร่วมขบวนแห่ ยังมีเรือหลายลำแต่งตัวสวยงาม เป็นแบบเดียวกัน บางลำมีการร้องรำทำเพลง เต้นรำกันไปในเรืออย่างสนุกสนาน พอถึงวัดไก่เตี้ยจะเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนที่ซึ่งทางวัดจัดไว้เพื่อให้ชาวบ้านแถบนั้นได้สักการบูชาสาระ

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานในปีต่อๆ ได้ สอบถามรายละเอียดได้ที่วัดนางชี เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ  โทร. ๐ ๒๔๖๗ ๔๐๙๓, ๐ ๒๘๖๙ ๐๒๖๐

 

ที่อยู่ : 312 ถ. เทิดไท แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160

โทรศัพท์ : (662) 467-4540, 467-4093

รถประจำทาง : 4 9 10 103  รถปรับอากาศ : 4

ท่าเรือ : 1. เรือหางยาวโดยสาร: ท่าวัดปากน้ำ

2. เรือหางยาวรับจ้าง: ท่าวัดนางชี

เวลาทำการ : บริเวณวัด: ทุกวัน 5.00-22.00 น.

โบสถ์: ทุกวัน 5.00-6.00 น. 17.00-19.00 น.

ที่จอดรถ : บริเวณภายในวัด

สถานที่ใกล้เคียง : วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดราชคฤห์ วัดอัปสรสวรรค์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปรากฎในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่าเมื่อ พ.ศ.2422 พระปิยมหาราชเจ้า ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มาวัดนางชี เพื่อพระราชทานพระกฐิน ในนิราศเมืองเพชรของพระสุนทรโวหาร(ภู่) แต่งระหว่าง 2384-2392 ก็ได้กล่างถึงวัดนางชีไว้ว่า

ถึงวัดบางนางชีมีแต่สงฆ์   ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน

หรือหลวงชีมีบ้างหรืออย่างไร   คิดจะใคร่แวะหาปรึกษาชี

 

หมายเลขบันทึก: 310534เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 06:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท