sha-รพ.หนองจิก
โรงพยาบาลหนองจิก จังหวัดปัตตานี

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”


เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา”

                บนเส้นทางของการทำงานสุขภาพนั้น การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นบทบาทการ “สร้าง”  สุขภาพเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น หรือหากประชาชนจะเจ็บป่วยก็เป็นไปด้วยความสมเหตุสมผล ไม่ด้วยด้วยสาเหตุอันไม่ควรทั้งที่สามารถป้องกันได้ การทำงานสร้างเสริมสุขภาพเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ทาง “วิทยาศาสตร์” และ “สังคมศาสตร์” เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิง “พฤติกรรม” สุขภาพ ที่ต้องใช้เวลานานในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบสุขภาพของชุมชน. โดยเฉพาะในตำบลตุยงซึ่งเป็น 1 ใน 12 ตำบล ของอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  ซึ่งมีการจัดการสภาพปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย หนึ่งในวิธีการนั้นคือ การจัดการที่เหมาะสมกับภาวะเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยกลไกภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการ ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อปี พ.ศ.2544 ซึ่งบริบทของการทำงานเป็นไปตามสภาพนโยบายของงานสาธารณสุขมูลฐาน ประกอบกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นในช่วงเวลานั้นเป็นกระแสที่มาแรงที่ทุกคนรับรู้ได้ การเข้าถึงชุมชนภายใต้กลไกภาคประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเอง ภายใต้หลักการส่งเสริมให้ “คิดเป็น ทำเป็น” จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการทำงานในเวลานั้น แม้จะพบปัญหาอุปสรรคในเรื่องขององค์ความรู้ในการจัดการโครงการเพื่อเสนอของบประมาณจากองค์กรท้องถิ่น... การกำหนดจุดมุ่งเน้นในการ Empowerment ในด้านองค์ความรู้ ในเวลาต่อมา... เพื่อให้ชุมชนสามารถค้นพบปัญหา จัดลำดับความสำคัญของปัญหา และการเขียนโครงการ จัดทำโครงการเพื่อเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยหวังว่าในวันหนึ่ง คงจะมีชุมชนต้นแบบในการจัดการด้านสุขภาพบ้าง นั่นเป็นสิ่งที่คาดหวังเล็ก ๆ เพราะแต่ละพื้นที่มีต้นทุนทางสังคมที่แตกต่างกัน... ในเส้นทางของการทำงานด้านสุขภาพกับอาสาสมัครสาธารณสุขนั้น... มีเรื่องราวมากมายทั้งในมิติสังคม ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของแต่ละคนในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว การรับรู้และสะท้อนปัญหาการทำงานของพวกเขาในพื้นที่ ซึ่งหลาย ๆ คนมีบทบาทหรือหัวโขนที่หลากหลาย... ทั้งเป็นประธานชุมชน กรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาชิก อบต. ฯลฯ

                น้องมาช่วงเย็นนะ เดี๋ยวนี้เค้าไม่ค่อยอยู่บ้าน กลางวันไปส่งขนม”   มีอะไรจะฝากก็ได้นะ เดี๋ยวเค้ากลับมาพี่จะบอกให้”  เสียงตะโกนบอกมาจากครัวหลังบ้านปนเปกับเสียงสิ่งแวดล้อมที่บ่งบอกถึงภาระของเพื่อนบ้านข้างเคียงว่าคนที่เราไปหานั้นไม่อยู่บ้าน ในบางครั้งเรารับรู้ถึงชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว อย่างไม่ตั้งใจ ดังเช่นว่า แกเลิกกับสามีมานานแล้ว อยู่กับลูก อยู่กันแค่สองคน ก็ต้องทำงานแทบทุกอย่าง เพื่อหาเลี้ยงลูกที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย”

                “เมาะซูไปสวนที่กาบัง อาทิตย์หน้าถึงจะกลับ สัญญาณมือถือไม่มีนะ นอกจากเมาะซูจะโทรติดต่อกลับมาเอง”  เป็นเสียงของสามีประธาน อสม. ตำบลตุยงที่บอกกับเรา ในวันที่เราไปหา เยี่ยมเยียนและประสานการทำงานว่า ผู้เป็นภรรยาไปสวนที่จังหวัดยะลา และเราก็ไม่ลืมที่จะฝากข้อความไว้กับผู้เป็นสามี

                ตอนนี้ลูกซูแยเรียนพยาบาลอีกปีก็จะจบแล้ว อยากจะให้ลูกสาวกลับมาทำงานใกล้บ้าน”  เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ อสม. เอ่ยกับเราด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจ ทำให้นึกย้อนกลับไปเมื่อสามปีก่อนหน้า ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เรามีโอกาสพูดคุยกับซูแย ถึงแนวทางการศึกษาที่เคยแนะนำไปว่า กระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนบุคลากรอีกมาก หากจบออกมาแล้วคงจะมีงานทำแน่นอน เหนือสิ่งอื่นใดอยู่ที่ความสามารถของเด็กเอง ที่มุ่งมั่นทำสิ่งที่คาดหวังได้สำเร็จตามความปรารถนา...

                ...ครั้งหนึ่งในการสำรวจข้อมูลสถานสุขภาพของตำบล เราได้รับข้อมูลแบบสำรวจกลับมาของหมู่บ้านปะกาลือสงน้อยมาก จนทำใจหายเมื่อเทียบกับหลังคาเรือนที่มีอยู่ แต่ก็เข้าใจได้ถึงแววตาที่บ่งบอกถึงข้อจำกัดในการทำงาน การวางตัวที่ยากลำบากในการที่ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายไหน... ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ แม้แต่โรงเรียนในหมู่บ้านนี้ ก็ถูกปิดลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในปัจจุบันได้เปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติแล้ว ใครที่คุ้นเคยจะรู้ว่าในพื้นที่ก็ยังเคยมีเหตุปะทะ ปิดล้อม กับกลุ่มก่อความไม่สงบเมื่อไม่นานมานี้ หรือเกิดเหตุลอบทำร้าย ท่านนายอำเภอ แต่ก็ไม่เกิดการสูญเสีย... ได้แต่คิดว่าทั้งกลไกของรัฐ และภาคประชาชนเองยังทำงานได้ยากลำบาก แล้วชาวบ้านตาดำ ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จะอยู่อย่างไร...

                เราชนะเลิศ ในการนำเสนอระดับจังหวัด ได้เงินมาห้าพันกับประกาศอีกใบหนึ่ง”  ...น้ำเสียงของพี่ภาที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่ที่  1  ส่งผ่านมาทางโทรศัพท์มือถือในขณะที่ผมประชุมอยู่ที่หาดใหญ่ และปรึกษากับผมว่าจะจัดการอย่างไรดี ซึ่งก็ได้แนะนำไปว่าแล้วแต่การจัดการของเขา แต่ก็ไม่วายพี่ภาอุตส่าห์มีน้ำใจซื้อตุ๊กตาให้ผม 1 ตัว...

                ... เมื่อครั้งประชุมวิชาการสาธารณสุขเขตที่จังหวัดสงขลา เพื่อนำเสนอผลงานประเภทโปสเตอร์ เราได้รางวัลชนะเลิศกลับมา... ในครั้งนั้น ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขได้ฝากผลิตภัณฑ์ แฮนด์เมค ของชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกระเป๋า ของชำร่วย ที่ทำด้วยมือ ไปกับทีมงานของเราเพื่อนำไปขายในงาน... ยินดีครับ พี่ภา เรามีพี่ตาเป็นนางกวักเรียกแขก แต่ไม่รู้จะขายได้มากน้อยแค่ไหนนะครับ” ...เป็นเสียงตอบรับจากผม ...บทสรุปในเวลานั้น พี่ตา ซึ่งเป็นพยาบาลอยู่ในฝ่ายส่งเสริมสุขภาพสามารถขายของให้ชมรมผู้สูงอายุได้เป็นเงินห้าพันกว่าบาท... ความคิดในเวลาต่อมาเราได้แนะนำเรื่องของการตลาด และประชาสัมพันธ์ ให้เห็นช่องทางของการสร้างรายได้ โดยให้ข้อมูลกับสมาชิก บ้านแผนไทย”  ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรนวดแผนไทย จากพี่จุลี ที่เป็นหัวหน้างานนวดแผนไทยของโรงพยาบาล... งานประชุมต่าง ๆ ที่มีการออกบู๊ทในตัวจังหวัด เรามักจะชี้ช่องให้กับสมาชิก เพื่อการไปออกบู๊ทนวดแผนไทย... ในใจก็คิดว่าแล้วแต่โอกาส เวลาที่เอื้ออำนวย ความสะดวกของการไปทำงาน ความสมัครใจของสมาชิก เพราะการจะไปนอกสถานที่ก็จะต้องขนอุปกรณ์ ต้องมีพาหนะในการเดินทาง ...ไปหรือไม่ไป เราได้ทำหน้าที่และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้ว

                การให้ใจกับการทำงานร่วมกับชุมชนด้วยความเข้าใจ วิธีคิด การบริหารจัดการโดยคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ ต้นทุนทางสังคม สภาพแวดล้อม โอกาสการเอื้ออำนวย บริบทของสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ตลอดจนการอำนวยการที่ดีของผู้บริหาร ซึ่งสนับสนุนหลาย ๆ อย่าง ที่เราเสนอขอไปเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกลไกภาคประชาชนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริหาร การพัฒนาศักยภาพเติมเต็มในส่วนที่เป็นโอกาสพัฒนา เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียง เป็นแบบอย่างในการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรม ที่หลากหลายร่วมกันอย่างมีความสุข ตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา”

 

นายไพบูลย์     งามสกุลพิพัฒน์

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

หมายเลขบันทึก: 310658เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ทำงานด้วยใจ  และแล้วเราก็ได้ทั้งใจและพลังมาทำงานต่อไปให้ใจพองโต
  • อ่านแล้ว  ปลื้มจัง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท