การไหว้...วัฒนธรรมไทยที่ควรรักษาและปฏิบัติให้เป็นนิสัย


เมื่อเช้าไม่มีภาระต้องอยู่บุญ ทำให้ได้เดินไปส่งพี่เหน่นและน้องฟุงขึ้นรถบัสมหาวิทยาลัยไปโรงเรียน เป็นบริการที่เราจ่ายค่าตอบแทนน้อยมาก แต่อำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรที่ดีมาก ได้ฝึกให้ลูกตื่นแต่เช้ามีวินัยในการจัดการตัวเองให้ทันเวลาด้วย จะใช้เวลานี้เพื่อคุยกับลูกหรือบางครั้งก็แค่เดินไปเป็นเพื่อนเท่านั้นไม่ได้คุยกันมาก แต่ก็รู้สึกว่าลูกชอบให้เราไปด้วย

เราไปนั่งรออยู่ใกล้ๆกัน พอรถมาลูกก็จะลุกขึ้นยกมือไหว้ก่อนจะไปขึ้นรถ เวลาขึ้นรถก็สอนให้ลูกยกมือไหว้คนขับรถด้วยทุกครั้ง เพื่อให้เกียรติและขอบคุณ ดีใจที่ได้เห็นลูกปฏิบัติจนเป็นกิจวัตร แม้ว่าจะเห็นเด็กคนอื่นๆทำน้อยมาก ไม่ถึงหนึ่งเปอเซ็นต์ จะบอกเหตุผลลูกไว้ว่าทำไมเราจึงควรไหว้ทักทายและขอบคุณ แต่ไม่ได้เข้มขวดกับลูกในวัยที่เขาโตแล้วนี้ เคารพความคิดเห็นของเขาว่าเขาจะทำหรือไม่ เพราะจะเห็นว่าลูกก็มีเหตุผลของตัวเองในการที่จะไหว้หรือไม่ไหว้ใคร

สำหรับสามหนุ่มน้อยที่เราสั่งสอน อบรมมาเหมือนๆกันนั้น เราจะได้เห็นว่าเขามีวิจารณญาณที่ต่างกัน พี่วั้นเป็นคน”มืออ่อน”ที่สุด เพราะจะได้เห็นพี่วั้นไหว้เสมอไม่ว่าจะทำอะไรกับใคร คุณแม่เองก็ชื่นชมที่ลูกทำได้ดีมาก เพราะเราเองก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าลูกเลย เผลอยิ้มทักทายผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยแทนการไหว้ก็ออกจะบ่อย ส่วนพี่เหน่นจะ”มือแข็ง”กว่า เป็นคนช่างสังเกตและพิจารณาก่อน สังเกตว่าลูกเลือกที่จะไหว้หรือไม่ไหว้ ก็ได้แต่”คุย”กับลูกว่า ยังไงๆการยกมือไหว้ก็ไม่มีทางเสียสำหรับเด็กๆ สำหรับตัวเองแล้วการที่เราสามารถบังคับตัวเองให้ไหว้คนที่เราคิดว่าไม่สมควรไหว้ได้ ถือเป็นการชนะตัวเองที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่บังคับลูกนะคะ คิดว่าให้เขาเลือกเองว่าจะทำหรือไม่ทำ สำหรับน้องฟุงนั้น สมัยกลับจากเมืองนอกใหม่ๆดูจะเป็นคน”มืออ่อน”กว่าปัจจุบัน ยังจำได้ว่าขนาดรับตังค์ทอนน้องฟุงยังยกมือไหว้เลย น่าเอ็นดูมาก

ได้รับคำชมอยู่บ่อยๆว่า ทั้งสามหนุ่มเป็นเด็กมีสัมมาคารวะ รู้จักกาละเทศะ ซึ่งเราก็ถือว่านี่คือหน้าที่หนึ่งของเราที่ต้องอบรมสั่งสอนลูก และต้องทำตั้งแต่เขายังเป็น”ไม้อ่อน” แต่ก็จะไม่ใช้วิธีบังคับหรือเข้มงวด บอกเหตุผลให้ลูกรู้ว่า ทำไมเราจึงควรทำ และเราเองก็พยายามทำให้เป็นตัวอย่าง ในยามที่ลูกยังเล็กเราก็จะคอยเตือนเป็นประจำ แต่เมื่อเขาโตขึ้น ก็ปล่อยให้ลูกคิดเองเลือกเองว่าเขาควรจะทำอะไรเมื่อไหร่ เมื่อเขาทำดีเราก็ชื่นชม มีคนชมเราก็บอกต่อ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ลูกรู้ว่าอะไรที่เป็นสิ่งดีควรทำ เด็กอื่นจะทำหรือไม่ทำ เราก็ต้องคิดได้เองว่าเราควรจะทำหรือไม่ อยากให้ลูกเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยตัวของเขาเอง ดีใจที่ได้เห็นเขาทำสิ่งที่ควรทำแม้ในขณะที่รอบๆตัวเขาไม่มีใครทำ

ยังคงยืนยันเสมอว่า วัฒนธรรมการไหว้แบบไทยๆเป็นสิ่งที่เราควรยึดถือปฏิบัติและรักษาไว้ และจะพยายามที่จะทำให้เป็นนิสัยให้ได้ดีกว่านี้ค่ะ มาช่วยกันรักษาสิ่งดีๆที่เป็นเอกลักษณ์ของเรากันไว้นะคะ

หมายเลขบันทึก: 310771เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2009 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าชื่นชมมากค่ะ และน่ายินดีกับเด็กๆที่มีคุณแม่ที่น่ารักเช่นนี้

ตัวเองกำลังกังวลกับลูกสาวสามคน ทราบดีว่าเด็กๆเป็นอย่างไรก็เนื่องจากการเลี้ยงดูของเราเอง

เหมือนสุภาษิตไทยหลายๆ บท บางครั้งจึงรู้สึกเสียใจเล็กๆ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกไม่ได้

ท้อบ้าง ในบางครั้งที่ประสบปัญหาชีวิต แต่จะไม่ถอยค่ะ

ขอบคุณที่มีเรื่องราวดีดีมาเล่าให้ฟังค่ะ

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่เราต้องรักษาไว้ เพราะมิฉะนั้นจะหายไปจากวัฒนธรรมไทยค่ะ

และขอยืนยันค่ะว่า ครอบครัวของเราก็ยังรักษาวัฒนธรรม เรื่อง การไหว้ ค่ะ เพราะเราเป็นคนไทยค่ะ

สวัสดีค่ะ..เด็กๆสมัยนี้ยอมรับว่าไหว้แบบรีบร้อนไม่ก้มหัวลงค่ะ..จะยกมือแบบแข็งๆคงเพราะว่าไม่มีเวลาจะฝึกทำบ่อยๆกับใครค่ะ..สังเกตจาก 3 ทะโมนที่บ้าน..เพราะเลิกเรียนอยู่บ้าน วันหยุดอยู่บ้านนั่งหน้าคอมแบบนี้บ่อยๆ..ค่ะ ฝึกยากค่ะ..3 หนุ่มน้อยหน้าตาดีนะค่ะถอดแบบจากคุณแม่มากไหมค่ะเนี่ย..

สวัสดีค่ะ...คุณโอ๋-อโณ

วัฒนธรรมไทย...การไหว้

เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังไปพร้อมๆกับรอยยิ้ม

ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยของเรานะคะ

ฝึกไว้กับไม้อ่อน...เป็นเรื่องที่ควรชื่นชมค่ะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับสิ่งทีนำมาแบ่งปัน

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท