การผลิตมังคุดอินทรีย์ที่จันทบุรี


มังคุดอินทรีย์

การผลิตมังคุดอินทรีย์

แนวคิด 

เกษตรกรต้องมีการเตรียมใจให้ยอมรับกับผลผลิตที่จะได้รับว่าอาจจะไม่มีปริมาณและคุณภาพเหมือนกับการใช้สารเคมีร่วมด้วย

วิธีการ

1.การจัดการหลังเก็บเกี่ยว  ต้องมีการจัดการต้นมังคุดทันทีโดยการ

                 1.1  ตัดยอดเพื่อควบคุมความสูง  โดยต้นที่ยังไม่เคยตัดแต่งยอดให้ตัดยอดลงให้เหลือความสูง ในระยะที่สามารถทำงานได้สะดวก ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะ 4-5 เมตร  การตัดยอดให้ได้ความสูงในระยะที่ต้องการอาจต้องตัดหลายครั้ง  การตัดครั้งเดียวในทันทีอาจทำให้กิ่งที่อยู่ด้านบนโดนแสงแดดเผา ทำให้กิ่งแห้งและผุได้ง่าย  

  1.2 ตัดแต่งกิ่งภายในต้นเพื่อให้โปร่งแสงแดดส่องได้ทั่วถึง ควรไว้กิ่งประมาณ 25 กิ่งต่อต้น

  1.3 ตัดแต่งปลายกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่ม และป้องกันไม่ให้กิ่งหัก  เนื่องจากกิ่งที่ยื่นยาวและมีปริมาณใบมาก ปลายกิ่งจะหนักจะทำให้กิ่งหักได้ง่าย

2. การใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นมังคุดสมบูรณ์

    การทำมังคุดอินทรีย์ควรใช้ปุ๋ยที่ได้จากการหมัก ทั้งหมักแบบแห้งและหมักน้ำ  สำหรับการใช้ปุ๋ยหมักแห้งจะใส่ทันทีหลังเก็บเกี่ยว โดยอาจใส่เพียงครั้งเดียวในปริมาณ  30-40 กิโลกรัมต่อต้น หรือแบ่งใส่ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกใส่หลังเก็บเกี่ยว  ครั้งที่2 ใส่ในขณะที่เริ่มออกดอก และครั้งที่ 3 ใส่ในช่วงติดผลอ่อน  ส่วนปุ๋ยหมักน้ำ มีทั้งหมักจากมูลค้างคาว   มูลวัว   มูลไก่  การใส่ จะใส่ไปพร้อมกับระบบน้ำอาจใส่เพียงครั้งเดียวหรือแบ่งใส่เป็นช่วงเช่นเดียวกันกับปุ๋ยหมักแห้ง   

3. การกระตุ้นให้มังคุดแตกใบอ่อน  โดยปกติถ้าต้นมังคุดสมบูรณ์ และมีการตัดแต่งกิ่ง มังคุดจะแตกใบอ่อนได้เองตามธรรมชาติ  การผลิตมังคุดอินทรีย์จะไม่มีการกระตุ้นให้แตกใบอ่อนโดยการใช้สารกระตุ้น แต่จะทำให้ต้นมังคุดสมบูรณ์ และหลังจากแตกใบอ่อนจะมีการฉีดพ่นปุ๋ยหมักน้ำ ที่เรียกว่าฮอร์โมนไข่ เพื่อบำรุงใบ และสะสมอาหาร โดยสามารถฉีดพ่นได้ตั้งแต่แตกใบอ่อน จนกระทั่งออกดอก  สำหรับฮอร์โมนไข่ เกษตรกรสามารถหมักได้เอง โดยใช้ส่วนผสมต่างๆ ดังนี้ ไข่ไก่สด  จำนวน  5  กิโลกรัม   น้ำตาลทรายแดง  5  กิโลกรัม  แป้งข้าวหมาก 1 ลูก  ยาคูลท์  2 ขวด  หมักไว้อย่างน้อย 45 วันจึงนำไปใช้ในอัตรา 20   ต่อน้ำ 20 ลิตร

4. การกระตุ้นให้มังคุดออกดอก

     4.1ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่ต้องกระตุ้นให้มังคุดออกดอก ทำโดยการใช้เครื่องตัดหญ้าตีใบมังคุดและเศษวัชพืชใต้โคนต้นให้แตกกระจุยจะทำให้รากมังคุดขาดและเกิดภาวะเครียด  ห้ามทำให้โคนมังคุดโล่งเตียนโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้รากมังคุดยิ่งลงลึกมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การทำให้มังคุดอยู่ในภาวะเครียดทำได้ยากยิ่งขึ้น

     4.2 หลังจากนั้นงดน้ำจนกว่าจะเห็นก้านมังคุดเป็นร่อง  แล้วจึงให้น้ำในปริมาณมาก จำนวน 1 ครั้ง  จากนั้นเว้น  3 วันให้น้ำอีกครั้งหนึ่ง  และรอดูอาการ  1  สัปดาห์ โดยก่อนการให้น้ำจะต้องสังเกตอุณหภูมิด้วย ถ้าอากาศเย็นไม่ควรให้น้ำ ควรให้ในช่วงอุณหภูมิสูง

5. การให้น้ำ ควรให้น้ำตลอดตั้งแต่เริ่มเป็นดอก จนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยในช่วงพัฒนาการของผลจะเป็นช่วงที่มังคุดต้องการปริมาณน้ำมากที่สุด

 6. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

     ทำการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ได้จากการหมัก  เช่น สารสะเดา  กลอย  บอระเพ็ด หนอนตายหยาก ในทุกช่วงที่แมลงเข้าทำลาย เช่นในช่วงแตกใบอ่อน เริ่มแทงตาดอก ดอกขนาดเล็ก ดอกบาน  ติดผลเล็ก  โดยให้ทำการสำรวจศัตรูพืชก่อนทุกครั้ง

หมายเลขบันทึก: 311275เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2009 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สามารถ ติดต่อรับซื้อมังคุดอินทรีย์ได้ที่ไหนบ้างคะ

ตกลงตลาดอินทรีมีมั่ยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท