เรียนรู้จากผู้เฒ่า


ช่วงนี้มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน อากุงอายุ 86 ปีแล้ว สุขภาพโดยทั่วไปถือว่าดีมากเทียบกับคนในวัยเดียวกัน แต่อากุงจะมีอาการของคนสูงวัยที่ขี้หลงขี้ลืม (ที่เราก็เป็นบ้าง) และที่สำคัญซึ่งเราได้เรียนรู้คือ การย้ำคิดย้ำทำ พูดซ้ำๆในเรื่องเดิมหลายๆครั้งในช่วงวัน แต่ละวันเราก็จะได้เรียนรู้ว่า อากุงเก็บเรื่องแต่ละเรื่องมาคิด อากุงเป็นห่วงลูกหลาน (ที่มีมากมายนับรวมแล้วก็เกือบ 40 ชีวิต) ทั้งๆที่ทุกคนก็โตๆมีงานมีการทำเลี้ยงตัวเองได้ตามอัตภาพ หลานคนโตสุดก็อายุกว่า 35 ปีแล้ว หลานเล็กสุดก็อายุเกือบ 12 ปีแล้ว ทุกคนมีชื่อที่อากุงตั้งให้ ซึ่งอากุงย้ำนักย้ำหนาว่า ไม่ใช่ชื่อเล่น แต่เป็นชื่อจีน (ประทับใจมากและย้ำกับลูกเสมออย่างที่อากุงบอก) ทุกชื่อมีความหมายดีๆที่ลึกซึ้ง

อากุงเป็นคนสู้ชีวิต และคงมีประสบการณ์ทั้งด้านดีและด้านร้ายมามากในชีวิต ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาด้วยตัวเองทั้งสิ้น เลี้ยงลูก 7 คนมาได้ด้วยตัวเองแล้วยังมีฐานะมั่นคง เลี้ยงตัวเองได้ด้วยเงินที่หามาเองได้จนปัจจุบัน วางแผนชีวิตไว้ได้อย่างดีมาก

เรียกได้ว่าอากุงเป็นต้นแบบที่ดีมากๆในการใช้ชีวิต มาวันนี้ที่อากุงแก่มากแล้ว ด้วยความที่เป็นคนวางแผนก็ต้องกลายมาเป็นคนที่ต้องขึ้นกับคนอื่นบ้าง แต่ก็ยังคงห่วงกังวลกับชีวิตลูกหลานไปหมด และส่วนมากช่วงนี้อากุงจะมองโลกในแง่ค่อนข้างร้าย อากุงไม่เทียบตัวเองกับคนที่แย่กว่า แต่อากุงจะเทียบกับตัวเองตอนที่ยังหนุ่มแน่น เล่นเอาเราลูกหลานเหน็ดเหนื่อยในการพยายามพูดคุยกับอากุงให้ปล่อยวางบ้าง สงสารที่อากุงต้องเหนื่อยคิดเรื่องต่างๆที่ทำให้เครียดๆทั้งๆที่บางเรื่องเจ้าของเรื่องเองไม่ได้เครียดอะไรเลย

เรียนรู้จากอากุงในช่วงวัยนี้ว่า การสั่งสมอารมณ์ดีๆมองโลกในแง่ดีเอาไว้ น่าจะเป็นต้นทุนที่ดีในการใช้ชีวิตวัยแก่ ใครที่รู้ตัวว่ากำลังสะสมอารมณ์ไม่ดีไว้กับตัว อย่าลืมคิดถึงตัวเองในยามแก่ที่เรามักจะไม่รู้ตัวเอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องพยายามฝึกตัวเองเสียแต่เนิ่นๆเราจะได้ใช้ชีวิตแบบสบายๆไร้กังวล ไม่เก็บเอาเรื่องที่ทำให้ชีวิตเหนื่อยๆมานั่งคิดกันเรื่อยๆในยามที่เราควบคุมตัวเองได้ไม่ทั้งหมดเพราะวัยและสังขารไม่อำนวยนะคะ ลด ละ เลิกสิ่งที่ทำร้ายอารมณ์ตัวเองให้ได้เสียแต่เนิ่นๆน่าจะเป็นบทเรียนที่มีค่าที่ได้เรียนรู้จากผู้เฒ่าที่อยู่ใกล้ๆตัวเราทั้งหลาย

หมายเลขบันทึก: 313790เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

  • บทเรียนนี้มีคุณค่าจริง ๆค่ะ
  • ขอขอบพระคุณมากนะคะ  ที่เขียนมาให้อ่าน
  • ด้วยความระลึกถึงเสมอค่ะ

เป็นคำเตือนที่ดีมากค่ะ ส่วนตัวคิดอยู่เสมอว่าวันหนึ่งตัวเองก็ต้องพึ่งคนอื่น คิดว่าจะไม่ทำเหมือนผู้เฒ่าที่ตัวเองดูแลอยู่ แต่ลืมนึกไปว่า เมื่อถึงเวลานั้นเราอาจควบคุมไม่ได้ เห็นทีจะต้องพยายามฝึกการลด ละ เลิก สิ่งที่ทำร้ายอารมณ์ตัวเองอย่างที่คุณโอ๋-อโณแนะนำค่ะ

สะท้อนภาพจริงได้ดีมากๆเลยครับ

คุณพ่อผม ๘๒ ปีแล้ว ยังช่วยงานสังคมอยู่เสมอ แต่คุณพ่อก็มองสังคมแบบที่ว่านี่แหละครับ อย่างนั้นก็ไม่ถูก อย่างนี้ก็ไม่ใช่ แต่คุณพ่อไม่ถึงกับเครียดมากมายเพราะลูกๆพาเฉไฉไปเรื่องอื่นๆบ่อย พาไปทานข้าวนอกบ้าน ดีที่บ้านผมไม่มีลูกคนไหนสร้างปัญหาให้พ่อวุ่นวายใจ ให้หลานเข้ามาพูดคุยนอนเป็นเพื่อนบ้าง บางทีเราก็สำรวจตัวเองว่าเราก็เริ่มหงุดหงิดกับพฤติกรรมของลูกน้อง เด็กรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ดังใจแล้วก็ต้องถามตัวเองว่าเราเริ่มจะแก่แล้วใช่ไหม...อิอิ

อยู่กับผู้สูงวัย พยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากท่าน จะทำให้ทุกย่างก้าวที่เราเดินมีความระมัดระวังมากขึ้น แล้วอย่าลืมสุภาษิตที่ว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี นิมิตตัง สาธุ รูปัง กตัญญูกตเวทิตา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท