เรื่องเล่า...ที่งดงามกับการดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยหญิง


การปรึกษากับน้อยในครั้งนี้ของฉันจะดูไม่แตกต่างจากผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่เพียงการพูดคุยให้การปรึกษาซึ่งเป็นเพียงกระจกเงาที่สะท้อนให้ผู้ป่วยได้มองเห็นปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองแล้ว ฉันรู้สึกว่ามันก็เหมือนกับการช่วยส่องไฟให้พวกเขาได้เดินไปบนหนทางที่พวกเขาได้เลือกเดินให้ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย.. แค่นี้แหละที่พยาบาลอย่างฉันก็รู้สึกเป็นสุขใจแล้ว

มาติดตามเรื่องเล่า  เรื่องต่อไปเลยนะคะ อีกหนึ่งความงดงามที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลของเรา....อ่านแล้วก็อดปลื้มใจแทนคนไข้จริงๆ ที่มีพยาบาลที่เห็นความเจ็บป่วยทั้งทางกาย ทางใจและทางจิตวิญญาณ.....                               

                                                 “ เส้นทางชีวิต ”

              เมื่อ 6 เดือนก่อนฉันได้พบกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง “ น้อย “ คือชื่อของเธอ น้อยอายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้น ม. 4 เธอมานอนรพ.ด้วยอาการ จุกแน่นใต้ลิ้นปี่   และมีเรื่องเครียดในครอบครัว น้อย  เป็นเด็กที่จัดว่าหน้าตาดี   รูปร่างเล็ก  ผิวพรรณขาวนวล   จมูกโด่ง   น้อยเป็นลูกสาวคนเดียวของพ่อแม่  แต่อาศัยอยู่กับน้าสาวมาตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่ทำงานค้าขายอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง  กลับมาหาเดือนละ 1-2 ครั้งและส่งเงินมาให้บ้าง   บ้านของน้าสาวอยู่ใกล้ตัวอำเภอ และใกล้กับโรงเรียนที่น้อยเรียนอยู่  จากการพูดคุยน้อยบอกว่า  น้าสาวเป็นคนชอบบ่น  เธอช่วยทำงานบ้านทุกอย่าง  เวลาไปทำการบ้านบ้านเพื่อนน้าก็จะหาว่าไปเที่ยว  ขณะที่น้อยนอนอยู่ที่โรงพยาบาลฉันก็ได้มีโอกาสพบกับน้าสาวของน้อยขณะพูดคุยกัน ฉันนึกถึงคำพูดของน้อยขึ้นมาทันที เป็นอย่างที่น้อยพูดจริงๆ เธอพูดไม่หยุดพูดได้ทุกเรื่อง และย้ำตลอดเวลาว่า รักน้อยเหมือนลูกสาว ที่บ่นว่ากล่าวเป็นเพราะความรักและความหวังดี ไม่อยากให้น้อยเสียคน พร้อมกับสาธยายถึงภาระที่เธอต้องรับผิดชอบอีกมากมายรวมทั้งค่าใช้จ่ายของน้อยด้วย จนฉันฟังแทบไม่ทัน ฉันสรุปได้ว่า เธอพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวของเธอซึ่งอยู่กัน 4 คน  เธอมีลูก 2 คน คนโตแต่งงานจึงย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดลูกสาวอีก1 คน ยังไม่ได้แต่งงาน อายุมากกว่าน้อย 3 ปี  บางครั้งเธอเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายของน้อยเพราะพ่อแม่ของน้อยไม่ค่อยส่งเงินมาให้ เธอต้องช่วยรับภาระตรงนี้ด้วย  ขณะเธอเล่า  ตาเธอเริ่มแดง น้ำตาคลอเบ้า ฉันเห็นเธอพยายามกลั้นน้ำตาไว้  เธอบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเธอแต่เป็นเพราะ แม่และตัวของน้อยเองที่ทำให้เกิดเรื่องอย่างนี้ ฟังดูแล้วฉันรู้สึกเห็นใจเธออยู่ไม่น้อยทีเดียว

         วันต่อมา ฉันได้พูดคุยกับน้อย น้าสาวและแม่ของเธอ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดูเหมือนทุกคนจะพยายามปรับความเข้าใจกัน  มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันและจะช่วยกันแก้ไขปัญหา  ฉันคิดว่าพวกเขาน่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้  วันต่อมาสีหน้าของน้อยสดชื่นขึ้น  ฉันเห็นรอยยิ้มของเธอ เธอบอกว่าสบายใจขึ้นและจะกลับไปอยู่กับน้าสาวต่อซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย แพทย์อนุญาตให้น้อยกลับบ้านได้

       2 สัปดาห์ต่อมา น้อยกับน้าสาวมาพบฉันตามนัด วันนี้น้อยใส่เสื้อสีเหลือง ทำให้ผิวของเธอดูผ่องขึ้น สีหน้าของน้อยดูสดใส    ฉันได้พูดคุยกับพวกเขาเรื่องอาการเจ็บป่วยของน้อย น้อยบอกว่าไม่มีอาการจุกแน่นใต้ลิ้นปี่แล้ว   ตอนนี้น้าสาวเข้าใจเธอมากขึ้น   เวลาเธอไปทำการบ้านบ้านเพื่อน ก็จะบอกน้า  น้าบ่นน้อยลง   น้าสาวของน้อยบอกว่าหลังจากวันนั้นก็ได้พูดคุยกับแม่ของน้อย แม่ของน้อยรับปากว่าจะลงมาเยี่ยมน้อยบ่อยขึ้นและช่วยรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายของน้อยมากขึ้น ฉันคิดว่าชีวิตของพวกเขาน่าจะลงเอยด้วยดีจึงไม่ได้นัดพวกเขามาหาอีก จนเวลาล่วงเลยไปเกือบ 5 เดือนที่ฉันไม่ได้พบพวกเขา วันหนึ่งตอนเช้าขณะรับส่งเวร  จนถึงผู้ป่วยเตียงหนึ่ง น้องพยาบาลบอกว่าผู้ป่วยเตียงนี้มารพ. เมื่อคืน ด้วยอาการ วูบก่อนมารพ. และไม่รู้สึกตัว....  หลังจากรับเวรเสร็จฉันก็เดินไปดูผู้ป่วยที่เตียง  ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าฉันคือร่างของน้อยที่นอนอยู่บนเตียง สีหน้าดูหม่นหมอง  ใบหน้าที่ขาวดูซีดไปถนัดตา  ฉันคิดในใจว่าอะไรหนอที่ทำให้เด็กคนนี้มีอาการอย่างนี้  น้องพยาบาลได้บอกกับฉันว่าน้อยไม่ยอมให้ประวัติว่าเป็นอะไรมา  แต่ได้ประวัติจากญาติว่าเธอไปเที่ยวบ้านเพื่อนชาย หลังจากนั้นวูบ ไม่รู้สึกตัว เพื่อนๆจึงนำส่งรพ.  ฉันรอให้น้อยพัก ช่วงบ่ายๆ จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับน้อย  น้อยเล่าให้ฟังว่า  “หนูถูกน้าสาวด่า ทำให้หนูควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้” ฉันจึงให้น้อยค่อยๆเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง เธอเล่าต่อว่า “เมื่อวานหนูกับเพื่อนอีก 2 คนไปหาเพื่อนชายที่บ้านซึ่งอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง สักพักน้าสาวได้โทรศัพท์ตามให้กลับบ้าน แต่เพื่อนอีก 2 คนไม่ยอมกลับ น้าสาวก็โทรศัพท์มาต่อว่าอีกรอบ หลังจากนั้นเธอบอกว่ารู้สึกโมโหมาก จึงขว้างข้าวของ ขว้างโทรศัพท์ที่เพิ่งซื้อมาทิ้งและจะทำร้ายตัวเอง แต่ เพื่อนชายได้มาห้ามไว้ แล้วเธอก็จำอะไรไม่ได้เลย มารู้สึกตัวอีกทีก็นอนอยู่รพ.แล้ว

ขณะที่น้อยพูดคุยอยู่นั้น ฉันสังเกตเห็นน้ำตาของเธอเริ่มคลอที่เบ้าตาและไหลรินอาบแก้มสองข้าง เธอใช้มือปาดน้ำตาแล้วเล่าต่อว่า “ หนูรู้สึกท้อมากเลย  ตอนนี้หนูไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว  เมื่ออาทิตย์ที่แล้วน้าสาวก็ว่าหนู  หนูไม่อยากมีชีวิตอยู่  หนูเลยวิ่งไปบนห้องนอนใช้ผ้าจะผูกคอตาย แต่มีคนมาช่วยไว้ทัน” และอีกมากมายจากคำพูดของน้อย  รวมทั้งเรื่องของเธอที่เธอบอกว่า น้าสาวจะให้เธอแต่งงานกับผู้ชายที่น้าหาให้ เธอบอกว่าผู้ชายเป็นคนรวยอยู่ต่างจังหวัด แต่เธอบอกว่าเธอไม่ได้รักผู้ชายคนนี้  ตอนนี้เธอบอกว่าเธอชอบพออยู่กับผู้ชายคนหนึ่ง เธอบอกว่า เขาเป็นสุภาพบุรุษมาก ไม่เคยล่วงเกินเธอเลย....ฉันได้พูดคุยกับน้อยนานพอสมควร ได้สะท้อนให้น้อยมองหาความต้องการของตัวเอง  ให้เธอได้มองเห็นเส้นทางที่จะเดินไปข้างหน้า ซึ่งมีหลายทางแต่คนที่จะเลือกเดินก็คือตัวของเธอเอง....ครั้งนี้คนที่มาเฝ้าน้อยเป็นแม่ของเธอ ฉันไม่เห็นน้าวสาวของน้อยมาเยี่ยมเลย  ฉันได้พูดคุยกับแม่ของน้อย  เธอบอกว่าตอนนี้ไม่ค่อยรู้หรอกว่าลูกมีปัญหาอะไร  เวลาลงมาหาก็เห็นลูกเขาสดชื่นดี  เลยคิดว่าลูกมีความสุขดี  หลังจากที่เราได้คุยกันแม่ของน้อย บอกว่าเดี๋ยวจะลองไปถามน้อยดูว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร 

วันต่อมาฉันได้พูดคุยกับแม่และน้อยอีกครั้ง  วันนี้สีหน้าน้อยดูสดชื่นขึ้น  เธอบอกว่าตอนนี้นอนหลับได้ดีแล้ว  กินข้าวได้เยอะด้วย  ฉันได้เห็นรอยยิ้มของเธอเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เธอมานอนรพ.ในครั้งนี้   เธอบอกว่าได้พูดคุยกับแม่แล้ว และตกลงใจที่จะไปอยู่กับแม่ ซึ่งแม่เธอเองก็ยินดี  น้อยบอกว่า  “หนูเลือกแล้วที่จะไปอยู่กับพ่อแม่ ถึงแม้จะไกลหน่อยแต่หนูคิดว่าหนูอยู่ได้ และน่าจะมีความสุขมากกว่านี้” ฉันได้ถามเรื่องการเรียนของน้อย เธอบอกว่าปีนี้จะหยุดเรียนไว้ก่อน รอปีหน้าจะกลับมาเรียน ม. 4 ใหม่ฉันดีใจกับการตัดสินใจของน้อย  ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดแต่ฉันคิดว่าอย่างน้อย เธอก็ได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองแสวงหาคือความรัก และความเข้าใจจากพ่อกับแม่ของเธอ ฉันคิดว่าชีวิตคนเราบางครั้งก็ไม่ได้อับจนหนทางเสมอไป แต่เป็นเพราะการขาดคนที่เรารู้สึกไว้ใจ หรือรับฟังปัญหาของเราต่างหาก ถึงแม้ว่าในการให้การดูแล ให้การปรึกษากับน้อยในครั้งนี้ของฉันจะดูไม่แตกต่างจากผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่เพียงการพูดคุยให้การปรึกษาซึ่งเป็นเพียงกระจกเงาที่สะท้อนให้ผู้ป่วยได้มองเห็นปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองแล้ว ฉันรู้สึกว่ามันก็เหมือนกับการช่วยส่องไฟให้พวกเขาได้เดินไปบนหนทางที่พวกเขาได้เลือกเดินให้ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย.. แค่นี้แหละที่พยาบาลอย่างฉันก็รู้สึกเป็นสุขใจแล้ว

                                                                 เขียนโดย    อำภาศรี  ศรียศ 

                                                                  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

                                                                          รพร.นครไทย

หมายเลขบันทึก: 314388เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2009 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รออ่านเรื่องต่อไปนะคะพี่แอ๋ว

ดีมากครับ มันเป็นความสุขทีได้ทำงานคุณภาพแบบธรรมชาติจริงๆ ช่วยเผยแพร่ให้น้องๆในWARD ให้อ่าน และฝึกเขียนเพิ่มด้วย น่ะครับ

ขอบคุณนะค่ะสำหรับกำลังใจ ตอนนี้น้องๆที่ Ward กำลังฝึกวิทยายุทธ์กันอยู่ค่ะ

ช่วยแนะนำด้วยนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท