ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์และสังคมจริงหรือ


การที่พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความขัดแย้ง ก็เพราะว่าความขัดแย้งเป็น "ทุกข์" ประการหนึ่งที่มนุษย์และสังคม "จำเป็น" จะต้องเผชิญหน้าไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม การสอนเรื่องความขัดแย้ง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์ขัดแย้งกัน หรือหากลยุทธ์เพื่อทำลายหรือห้ำหั่นกัน แต่เพื่อที่จะเตือนให้มนุษย์เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้ง และอยู่ร่วมกันรวมไปถึงการมีท่าทีต่อความขัดแย้งในเชิงบวกมากหรือแสวงหาคุณ ค่าแท้จริงจากความแย้งมากยิ่งขึ้น

          “ความขัดแย้ง” จัดได้ว่าเป็น “ธรรมชาติ” หรือ “ธรรมดา” ของสังคมทั่วไป จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “สิ่งจำเป็น” (Necessity) ของสังคม เพราะ สรรพสิ่งในสังคมนั้นแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา (อนิจจัง) ผลจากการแปรเปลี่ยนดังกล่าวนั้นจึงทำให้เกิดบรรยากาศของ “ทุกข์” หรือ “ความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นสภาวะหรือบรรยากาศที่ดำรงอยู่ในภาพเดิมไม่ได้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก็เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นในแง่ของโลก วิสัยนั้นไม่สามารถเป็นไปตามความต้องการ หรืออำนาจของสิ่งใด หรือบุคคลใด กล่าวคือไม่มีสิ่งใด หรือบุคคลใดบังคับให้มันไม่เปลี่ยนหรือไม่ให้ขัดแย้งกัน

             คำถามคือ "ทำไมมนุษย์และัสังคมจึงมักจะมีความขัดแ้ย้งกัน" คำตอบคือ (๑) อยากได้: การที่มนุษย์ในสังคม ต้องการ หรือปรารถนาสิ่งเดียวกัน ในเวลาเดียว" ถ้าหากมนุษย์ต้องการสิ่งเดียวกัน ในเวลาที่แตกต่างกัน เป็นไปได้ยากที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น (๒) อยากใหญ่: การแย่งชิงอำนาจของคนสองคน หรือสองกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม (๓) ใจแคบ: การที่มนุษย์คิดสิ่งเดียวกัน แต่มีความเห็น ความรู้สึก และความเข้าใจที่แตกต่างกัน แล้วยึดมั่นว่า ความคิด หรือความเห็นของของตัวเองถูก หรือดีที่สุด แต่คนอื่นผิด 

             ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งก็มิได้สะท้อนแง่มุมในเชิงลบแต่เพียงด้านเดียว เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้งก็สะท้อนแง่มุมในเชิงบวกด้วย ประเด็นปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ท่าทีของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวกับข้องกับความขัด แย้งในครอบครัว หรือสังคมเป็นที่ตั้งว่าจะมองความขัดแย้งในมิติใด จะเห็นว่า หากบางคนมองความขัดแย้งในแง่ลบ หรือแง่บวก มักส่งผลต่อพฤติกรรม หรือการจัดการแก้ไขความขัดแย้งด้วย ในหลายกรณีพบว่า ผู้ที่มองความขัดแย้งในแง่ลบ มักจะ “ใช้ความรุนแรง” ในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น สำหรับผู้ที่มองความขัดแย้งในแง่บวกมักจะใช้ “สันติวิธี” เป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง

             เริ่มแรกของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาพบว่า พระพุทธเจ้าได้ใช้แนวคิดแบบ “อัตตาธิปเตยยะ” หมายถึงการที่พระองค์เป็นศูนย์รวมเพื่อบัญชาการหรือสั่งการในประเด็นต่างๆ แต่เมื่อพระสงฆ์มีจำนวนมากยิ่งขึ้น พระองค์ได้เปลี่ยนระบบการบริหารแบบใหม่เป็นการให้ความสำคัญแก่สงฆ์ หรือ “โลกาธิปเตยยะ” หรือ “สังฆาธิปเตยยะ” อันเป็นการกระจายอำนาจให้แก่คนกลุ่มใหญ่ (คำว่า "กลุ่มใหญ่" นั้น พระพุทธเจ้าเน้นเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ)

             ถึงกระนั้นสิ่งที่อัตตาธิปเตยยะ และโลกาธิปเตยยะจะขาดมิได้คือ “ธัมมาธิปเตยยะ” อันเป็นการปกครองหรือทำหน้าที่โดยมี “ความชอบธรรมเป็นศูนย์กลาง” จะพบว่า “ความถูกต้อง” หรือ “ความชอบธรรม” (ธรรมิกา) เป็น “หัวใจ” ของรูปแบบการจัดการความขัดแย้งของพระพุทธเจ้าในทุก ๆ วิธี

             ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ดำรงอยู่บนฐานของความชอบธรรมอีกประการหนึ่งคือ “ความพร้อมหน้า” (สัมมุขาวินัย) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความ “โปร่งใส” “ยุติธรรม” และ “ตรวจสอบได้” เป็นต้น ที่คู่กรณีจะได้รับจากการพิจารณา หรือตัดสินความขัดแย้ง หรือพิพาทกัน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญของความชอบธรรมที่เพียบพร้อมไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้นั้น เพื่อสร้างสรรค์ให้สังคมโดยรวมเป็นสังคมที่ไม่มีความหวาดระแวง และรังเกียจกัน และเป็นสังคมที่เหมาะแก่การฝึกฝนพัฒนาตนเองตามแนวไตรสิกขา เพื่อเข้าถึง "สันติภาพ" อย่างแท้จริงต่อไป

            เมื่อกล่าวโดยสรุป การที่พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความขัดแย้ง ก็เพราะว่าความขัดแย้งเป็น "ทุกข์" ประการหนึ่งที่มนุษย์และสังคม "จำเป็น" จะต้องเผชิญหน้าไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม  การสอนเรื่องความขัดแย้ง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์ขัดแย้งกัน หรือหากลยุทธ์เพื่อทำลายหรือห้ำหั่นกัน แต่เพื่อที่จะเตือนให้มนุษย์เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้ง และอยู่ร่วมกันรวมไปถึงการมีท่าทีต่อความขัดแย้งในเชิงบวกมากหรือแสวงหาคุณค่าแท้จริงจากความแย้งมากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 315412เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 01:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาธุ ความขัดแย้งเป็นสัญชาตญาณหรือเปล่าขอรับ กราบนมัสการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท