วัฒนธรรมองค์การ (ตอนที่ 2)


วัฒนธรรมองค์การ (ตอนที่ 2)

บันทึกนี้เป็นเรื่องวัฒนธรรมองค์การ (ตอนที่ 2) ซึ่งต่อจากวัฒนธรรมองค์การ (ตอนที่ 1) ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องวัฒนธรรมองค์การซึ่งประกอบด้วยวัฒนธรรมองค์การกับการบริหาร, ปัญหาเชิงวัฒนธรรมในองค์การ, การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและสาเหตุของการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง มากล่าวไว้ใน วัฒนธรรมองค์การ (ตอนที่ 2) ดังนี้ค่ะ...

วัฒนธรรมองค์การกับการบริหาร

วัฒนธรรมองค์การเป็นผลรวมของค่านิยม ความเชื่อ บรรทัดฐานและแบบแผนของพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคล ทั้งกลุ่มเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่อยู่รวมกันเป็นระบบสังคม ในองค์การวัฒนธรรมองค์การมีอิทธิพลต่อการดำเนินไปของกิจกรรมภายในองค์การ อิทธิพลดังกล่าวอาจเป็นผลในทางส่งเสริม หรือต่อต้านภารกิจขององค์การก็ได้

ดังนั้น ผู้บริหารพึงตระหนักและทำความเข้าใจวัฒนธรรมองค์การ ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมองค์การจะส่งผลในการส่งเสริมทิศทางและเป้าหมายขององค์การหรือไม่ ย่อมขึ้นกับรูปแบบวิธีการ (Style) ในการบริหารของผู้บริหารองค์การนั่นเอง...

บุคคล กลุ่ม และองค์การ จะมีรูปแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยมีเป้าหมายร่วมกัน ก่อให้เกิดเป็น สังคมคนทำงาน ที่มีแนวทางและรูปแบบทาง วัฒนธรรม ของตนเอง วัฒนธรรมองค์การจะมีพลัง ก่อให้เกิดการ ร่วมใจ และ ร่วมมือ เป็นพลังความพยายามหรือความมุ่งมั่นของกลุ่ม ที่เรียกว่า พลังของกลุ่ม (group effort) ไปสู่เป้าหมายขององค์การ

ทิศทางระหว่าง เป้าหมายร่วม ของคน กลุ่มและองค์การจะเป็นทิศทางเดียวกันไปสู่ เป้าหมายองค์การ ที่เป็นทางการขององค์การหรือไม่เพียงใดจะได้รับอิทธิพลจาก รูปแบบการบริหารของผู้บริหาร ลักษณะภาวะผู้นำการใช้ระบบการจูงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารจะต้องเข้าใจในระบบสังคม และวัฒนธรรมขององค์การเป็นอย่างดี จึงจะนำองค์การไปสู่การปรับเปลี่ยนและการพัฒนาได้อย่างสอดคล้องตามทิศทาง เป้าหมายและกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมขององค์การ

ปัญหาเชิงวัฒนธรรมในองค์การ

ประสิทธิผลขององค์การหรือหน่วยงานใด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับแบบแผนของพฤติกรรมอันแสดงให้เห็นถึง ค่านิยม ความเชื่อ และบรรทัดฐานของคนและกลุ่มคนในองค์การนั้น ๆ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ภายในองค์การ เช่น การปรับเปลี่ยนทิศทางและเป้าหมายขององค์การ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการบริหารมาใช้ เช่น การนำระบบคุณภาพมาใช้ การใช้ระบบการประเมินผลงานแบบใหม่ เป็นต้น หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในองค์การ การปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารก็ตาม ในองค์การที่มีวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมแล้ว มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ...

ค่านิยม ความเชื่อและบรรทัดฐานที่เป็นปัญหาขององค์การแบบอนุรักษ์นิยม เช่น...

1. ขาดระเบียบวินัย ชอบทำอะไรตามอำเภอใจ องค์การแบบไม่เป็นทางการจะมีความเข้มแข็งและเด่นชัด การสื่อสารภายในองค์การ การติดต่อประสานงานใช้รูปแบบไม่เป็นทางการเป็นหลัก กลุ่มไม่เป็นทางการจะมีอิทธิพลมาก คำสั่งใด ๆ มักจะถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์เสมอ จะมีปฏิกิริยาต่อต้าน ถ้ากลุ่มไม่เห็นด้วย

2. รักพวกพ้องในทางที่ผิด ช่วงปกป้องสมาชิกกลุ่มที่กระทำความผิด มองข้ามความถูกต้องทำนองคลองธรรม โดยเชื่อว่าคนของกลุ่ม ใครแตะต้องไม่ได้ มีการใช้อิทธิพล มีเส้นมีสาย บอกให้ทราบถึงอิทธิพลของกลุ่มและบารมีของผู้นำกลุ่ม

3. ไม่ตรงต่อเวลา เป็นส่วนหนึ่งของการไม่มีระเบียบวินัย มาทำงานสาย เข้าที่ประชุมช้า ส่งงานไม่ตรงตามกำหนด มีข้ออ้างเสมอจนถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของบุคคลหรือกลุ่ม

4. นิยมความสนุกสนาน ไม่ทำอะไรจริงจัง ความสนุกมาก่อนทำให้ขาดบรรยากาศของการทำงาน ทำกิจกรรมต่อเนื่องในระยะเวลายาวนานไม่สำเร็จ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเห็นว่าสิ่งใหม่ ๆ นั้นน่าสนุก เมื่อเบื่อแล้วก็เลิกไป ไม่สามารถดำเนินการให้เห็นผลในระยะยาว

5. นิยมวัตถุ เพื่อแสดงความมีหน้ามีตา ชอบความหรูหรา ฟุ่มเฟือย หน้าใหญ่ใจโตทำอะไรเกินฐานะ เป็นสาเหตุของการกู้หนี้ยืมสินและก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเอง ต่อครอบครัวและต่องานในที่สุด

6. เชื่อถือโชคลางไสยศาสตร์ ไม่เชื่อตัวเอง เชื่อว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ลึกลับมาทำให้ตัวดีได้ มีศรัทธาแก่กล้าจนขาดปัญญา

7. เห็นใครดีกว่าไม่ได้ มีความอิจฉาริษยาเป็นทุน จึงมีพฤติกรรมที่ออกมาในรูปให้ร้ายต่อกัน

8. อิงผู้มีอำนาจ เข้าหาอำนาจ เชื่อว่าสามารถปกป้องให้คุณให้โทษ ทำให้คุณกลัวและยังบันดาลให้มีทรัพย์สินเงินทอง

9. ขาดความรับผิดชอบ ไม่ทำตามหน้าที่ ไม่รู้หน้าตนเอง รู้แต่หน้าที่คนอื่น ชี้ผิดชี้ถูกในเรื่องของผู้อื่นได้ดี แต่ไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง วุ่นวายไปทั่วทั้งองค์การ

10. ไม่ละอายต่อบาป จนทำให้เกิดความเดือดร้อน บางคนไม่กลัวกฎหมายหรือบาป ขอให้ตัวดีเป็นใช้ได้ เมื่อความผิดปรากฎ จะถามหาพยานหบักฐาน เข้าทำนองถามหาใบเสร็จ ก่อให้เกิดการกล่าวเท็จ ให้ร้ายผู้อื่น

การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนแปลง วิธีการบางอย่างที่บุคคลหรือกลุ่มคนในองค์การจะกระทำเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลง มีดังนี้

1. ลดปริมาณผลลัพธ์ของการทำงานให้ต่ำลงเรื่อย ๆ

2. การใช้เวลามากขึ้นเพื่อทำงานให้เสร็จ

3. การเรียกร้องขอโอนย้าย

4. การทะเลาะแบบเรื้อรังและมีความไม่เป็นมิตรแฝงอยู่ในใจ

5. การปลุกระดมเพื่อแสดงออกถึงการประท้วง

สาเหตุของการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

1. ความรู้สึกไม่มั่นคง คนโดยทั่วไปจะพอใจในลักษณะที่ตนเองมีอยู่ เป็นอยู่ บ่อยครั้งที่คนจะมองว่าการเปลี่ยนแปลงมีผลคุกคามต่อความมั่นคงของตน

2. เหตุผลทางเศรษฐกิจ การที่พวกเขามีความเกรงกลัวว่าตนจะต้องสูญเสียเศรษฐกิจ หรือรายได้ ขณะเดียวกัน รปรับลดขนาดองค์การโดยเทคนิคการบริหารงานสมัยใหม่จะกระทบต่อความรู้สึกของคนทุกระดับรวมทั้งผู้บริหารระดับสูงด้วย ทำให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

3. เหตุผลด้านสังคม - จิตวิทยา ยังมีอุปสรรคในด้านการรับรู้อารมณ์และวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งกีดขวางการเปลี่ยนแปลงโดยการใช้อารมณ์และเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลของตนเอง โดยที่ได้รับอิทธิพลมาจากค่านิยมและวัฒนธรรมของตนและกลุ่มที่ตนสังกัดอยู่

ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงอาจจะได้รับการยอมรับ ถ้าผู้บริหารจะได้พยายามเอาชนะการต่อต้าน โดยการใช้การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารจึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มีภาวะผู้นำที่ดี มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์วิชาการบริหารสมัยใหม่ ให้สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมในองค์การแบบไทย ๆ รวมทั้งใช้กระบวนการจูงใจคนอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์สอดคล้องกับสิ่งที่องค์การต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ที่มา : บทความ อาจารย์ ดร.สุวิทย์ อุดมพาณิชย์ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 316273เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2009 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาเรียนรู้ด้วยคนค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ...อาจารย์ชาดา...

ขอบคุณค่ะ...เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ...

เรียน อาจารย์ บุษยมาศ

เป็นบทความที่ทันสมัยครับ ผมเคยเขียนบทความการสร้างวัฒนธรรมองค์การเพื่อรองรับการปฏิรูประบบราชการ

ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หลายปีมาแล้วครับ แต่ที่อาจารย์เขียนใหม่กว่า จะนำไปต่อยอด ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ...ผอ.พรชัย...

ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท