สรุปบทเรียน"เครือข่ายพลเมืองคุณธรรม"....การค้นหาความดีด้วยความชื่นชม


หลักการสำคัญที่เครือข่ายพวกเรากำลังทำร่วมกันในตอนนี้นั้นก็คือหลักการการจัดทำแผนที่ความดี และหลักการสุนทรียสาธกหรือสุนทรียปรัศนี(Appreciative Inquiry_AI) หากแต่เป็นกระบวนการAIโดยธรรมชาติ

เมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ผมเดินทางไปอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ไปร่วมประชุมกับ“เครือข่ายพลเมืองคุณธรรม”ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนองรี ต.ท่าตะคร้อ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี  ซึ่ง“เครือข่ายพลเมืองคุณธรรม” นี้เป็นเครือข่ายผู้นำจากพื้นที่ 10 ตำบลใน 7 จังหวัดภาคตะวันตก กาญจน์ฯ ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ ที่เคยทำโครงการความร่วมมือกับศูนย์คุณธรรมฯ ภายใต้โครงการค้นหาความดีด้วยความชื่นชม โดยมีคุณศิวโรจน์  จิตนิยม จากตำบลหนองสาหร่าย  อ.พนมทวน  จ.กาญจนบุรีเป็นแกนนำ  แม้ว่าโครงการกับศูนย์คุณธรรมจะจบโครงการไปนานแล้วแต่เครือข่ายผู้นำเหล่านี้ก็ยังคงนัดเจอกันเป็นระยะๆหมุนเวียนสลับกันเป็นเจ้าภาพครับ  ผมเป็นที่ปรึกษากับเครือข่ายนี้มาต่อเนื่องจึงถูกชวนไปร่วมประชุมด้วย 

 “เครือข่ายพลเมืองคุณธรรม” สนใจจะสรุปบทเรียนการทำงาน ผมจึงได้ให้ข้อเสนอว่าหากจะให้ได้ผลน่าจะหาสถานที่ที่ผู้นำเราจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันเช่นการเดินป่า  เดินป่าไปพูดคุยกันไป หาสถานที่ที่เหมาะๆล้อมวงคุยกัน(บรรยากาศหน้าหนาวอย่างช่วงเวลานี้ไปเมืองกาญจน์ฯก็น่าจะเหมาะดีน๊ะ) จึงเป็นที่มาของการนัดหมาย ขึ้นป่าปีนเขาถอดบทเรียนกันในวันที่ ๑๐-๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ ณ ป่าเมืองกาญจน์ฯ(คิดว่าน่าจะเป็นแถวอุทยานฯเอราวัณ)เพื่อที่จะได้จัดขบวนเครือข่ายศูนย์พลเมืองคุณธรรมให้แกนนำได้มีการตกผลึกทางความคิด และมีแรงบันดาลใจร่วมในการสร้างความมุ่งมั่นอย่างหวังผลกับความสำเร็จของการขับเคลื่อนพลังพลเมืองคุณธรรมต่อไปข้างหน้า  ความมุ่งมั่นของพวกเขาก็คือ........

  • พวกเราพลเมืองคุณธรรมคือผู้ตื่นตัวมีจิตขันอาสาทำงานกับชุมชนด้วยความสามารถ ความดีงามและความสุข
  • พวกเรามีเกียรติและมีศักดิ์ศรีของเราเอง
  • พวกเราสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีงามในชุมชนร่วมกันได้
  • พวกเรามีประสบการณ์มีความสามารถมีความรับผิดชอบต่อชุมชนเรา
  • พวกเรามีความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์  ถึงแม้เราจะมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม และชาติพันธ์
  • พวกเรามีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมาและเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนท้องถิ่นของพวกเรา
  • พวกเราจะร่วมกันทำงานสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดกับชุมชนโดยกระบวนการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนา(หรือตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น)ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้
  • พวกเราต่างมุ่งที่จะเสริมสร้างความสุขให้ซึ่งกันและกัน

ในการสรุปบทเรียน "เครือข่ายพลเมืองคุณธรรม"ที่เมืองกาญน์ฯช่วง๑๐-๑๒ ธค.ในครั้งนี้ผมตั้งใจจะใช้กระบวนการAdventure based learning หรือการเรียนรู้ในแบบการเผชิญภัยด้วยการเดินป่าเมืองกาญจนฯผสมกับกระบวนการค้นหาความดีด้วยความชื่นชม(กระบวนการสุนทรียสาธกAppreciative Inquiry_AI) เป็นเครื่องมือสำคัญในการถอดบทเรียนครับ

ขั้นตอนในการสรุปบทเรียนโดยกระบวนการ AI ประกอบด้วย 4 D ที่ผมได้เตรียมออกแบบไว้ มีดังนี้

1. Discovery: ค้นหาแก่นของความดีงามที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานที่ผ่านมาของเครือข่าย

1. เลือกหัวข้อที่เป็นประเด็นเชิงบวก (positive topic) เพื่อเป็นจุดเน้นในการสำรวจโดยเน้นกระบวนการทำงานที่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนที่เห็นชัดๆ

2. สร้างคำถามเพื่อสำรวจประเด็นที่เลือกไว้

3.ใช้คำถามในกลุ่มย่อยแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นที่เลือกไว้ในระหว่างการเดินป่าและหลังการเดินป่า

4. สรุปกระแสหลักๆที่ปรากฏในเรื่องราวต่างๆ

2. Dream: สร้างจินตนาการว่าถ้า “เครือข่ายพลเมืองคุณธรรม” อยู่ในภาวะที่ดีที่สุด อะไรจะเกิดขึ้น

3. Design: ที่ประชุมออกแบบการดำเนินงานของเครือข่ายนอนาคต

4. Destiny: เตรียม เป้าหมาย  แผนการดำเนินงานของเครือข่ายและพัฒนาทักษะที่จำเป็นของแกนนำเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายข้างหน้า

นอกจากนี้ในการสรุปบทเรียนครั้งนี้ ผมตั้งใจจะสะท้อนในหลักการที่ผมให้คำปรึกษากับทางแกนนำด้วยว่าหลักการสำคัญที่เครือข่ายเรากำลังทำร่วมกันนั้นคือหลักการ การจัดทำแผนที่ความดี และหลักการสุนทรียสาธก หรือสุนทรียปรัศนี(AI)นั่นเอง  หากแต่เป็นกระบวนการAIโดยธรรมชาติ โดยไม่ได้บอกว่าเป็นAI และไม่ได้มีการจัดกระบวนตามหลักการAIอย่างเต็มรูปแบบ  ซึ่งAIนี้เป็นกระบวนการหนึ่งที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับกระบวนชุมชนเข้มแข็ง โดยAI นี้เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมในศึกษาค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดของชุมชน  ทั้งการค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคน ในองค์กร หรือของชุมชนท้องถิ่นเรา  รวมทั้งสิ่งที่อยู่ในตัวของเรา  ตลอดจนการค้นหาความดีงามในมิติต่างๆรอบตัวเราด้วยความชื่นชมยินดี นอกจากนี้ยังรวมถึงการค้นหาความดีอย่างเป็นกระบวนการสาวลึกลงไปอีกว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความดีงามในชุมชนเรายังคงดำเนินไปอย่างดีที่สุดจนถึงทุกวันนี้ได้  เพื่อเราจะได้นำมาใช้เป็นการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนากันต่อไป

 บทบาทของการเป็นที่ปรึกษาของผมคือการไปกระตุ้นทำให้พวกเขาได้มีการคิดและได้ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ในเชิงบวก เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่นของเขาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมด้วยตัวของเขาเอง  แทนที่จะเน้นย้ำถึงปัญหาและความขาดแคลน  ตัวผมเองก็พลอยชื่นชมยินดีกับการค้นพบสิ่งที่ดีๆร่วมกันของชุมชนเขาด้วย   ที่สำคัญคือการให้คำปรึกษาในกระบวนการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาในแต่ละพื้นที่  ทั้งนี้แต่ละพื้นที่อาจเรียกชื่อที่แตกต่างกันออกไป  บางพื้นที่เรียกตัวชี้วัดความดี บางทีเรียกตัวชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น หรือเรียกตัวชี้วัดความสุข แต่ผมเรียกรวมๆว่าการจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น  และที่โชคดีเป็นพิเศษโดยเฉพาะกับเครือข่ายนี้คือการที่มีที่ปรึกษากิตติมศักดิ์อย่างท่านอ.ไพบูลย์   วัฒนศิริธรรมท่านได้กรุณาลงเยี่ยมชุมชนในพื้นที่ที่จัดทำโครงการนี้ของเครือข่าย "พลเมืองคุณธรรม" ในหลายครั้ง ด้วยท่านสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษครับ

 “มนุษย์ทุกคนมีพรสวรรค์อยู่ในตัว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง และมีคุณค่าต่อผู้อื่นด้วย ในชุมชนที่เข้มแข็ง พวกเขามีความตระหนักถึงคุณค่าเหล่านั้น และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ในขณะที่ชุมชนอ่อนแอกลับไม่ตระหนักว่าคนในชุมชนมีคุณค่า จึงสูญเสียโอกาสอย่างมหาศาล”

John McKnight and John Kretzman

 

หมายเลขบันทึก: 316413เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2009 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีครับพี่สุเทพ

หลังจากกลับมาจาก พอช.วันนี้ก็คิดกระบวนการต่อ และติดต่อ(ว่าที่) วิทยากรบางท่าน ครับ ทาง คุณทวีสิน จาก SCG. ผมจะเข้าไปคุยกับพี่เขาเร็วๆนี้ครับ คาดว่าน่าจะว่างวันที่ ๑๕ ครับ ดังนั้นผมจะลองออกแบบกระบวนการให้ยืดหยุ่น

เข้าไปชมความสวยงามของ "ภูเขางามรีสอร์ท"ที่จะเป็นที่สัมมนาแล้ว สวยงามครับ บรรยากาศแบบนี้เหมาะมากสำหรับการทำ workshop

ผมคิดว่า กระบวนกวน AI สำคัญมากครับที่จะเร้าให้คนหนึ่งคน มีพลัง แรงบันดาลใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ดังนั้นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นวันที่ ๑๔ - ๑๕ ธค. ๕๒ ก็ต้อง ๔ D ครับ

1. Discovery: ค้นหาแก่นของความดีงามที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานที่ผ่านมา

  • เลือกหัวข้อที่เป็นประเด็นเชิงบวก (positive topic) เพื่อเป็นจุดเน้นในการสำรวจโดยเน้นกระบวนการทำงานที่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนที่เห็นชัดๆ
  • สร้างคำถามเพื่อสำรวจประเด็นที่เลือกไว้
  • ใช้คำถามในกลุ่มย่อยแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นที่เลือกไว้ในระหว่างการเดินป่าและหลังการเดินป่า
  • สรุปกระแสหลักๆที่ปรากฏในเรื่องราวต่างๆ

2. Dream: สร้างจินตนาการ

3. Design: ที่ประชุมออกแบบการดำเนินงาน

4. Destiny: เตรียม เป้าหมาย  แผนการดำเนินงานเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายข้างหน้า

 

ขอบคุณครับคุณเอก สำหรับคำแนะนำในการปรึกษาหารือในวันนี้ กับการประชุมปรึกษาหารือเพื่อการสร้างโมเดลการพัฒนา พอช.ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้โดย “การอบรมนักจัดการความรู้โดยชุมชนปฏิบัติ”

การ WS.ในวันที่ 14-15 ธันวาคม ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่จุดประกาย KMกับคนทำงานจากทุกส่วนหน่วยในองค์กร จึงมีความสำคัญมากครับ ผมเห็นด้วยกับแนวคิด กับข้อเสนอคุณเอกครับ..........

 “เราต้องจัดการความรู้สึกและการจัดการความรักก่อนการจัดการความรู้

กับการจัดการความรู้สึก.....ทำอย่างไรคน พอช.จึงจะรู้สึกว่า KMเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ทำแล้วรู้สึกดีด้วย

 การจัดการความรัก....... ทำอย่างไรคน พอช.จึงจะเกิดประสบการณ์ตรง จากการได้ชื่นชมยินดีกับเรื่องราวที่ดีๆของเพื่อนๆใน พอช.และเกิดความรู้สึกอยากให้เรื่องเหล่านั้นต้องเกิดการขยายผลสื่อสารต่อๆกัน

การจัดการความรู้....... ทำอย่างไรคน พอช.เมื่อมีจุดเริ่มต้นจากการถอดความรู้ครั้งนี้ให้เป็นจุดเริ่มต้นการเกิดชุมชนนักปฏิบัติตามความสนใจและสมัครใจ”

รวมทั้งเห็นด้วยกับความเห็นของดร.ยุวนุช ทีมวิทยากรร่วมของคุณเอก “ในเรื่องของ COP และเครื่องมือ KM ต่างๆที่จะใช้ควรให้เป็นธรรมชาติ ไม่ให้รู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้ต้องทำ KM”

สำหรับสถานที่จัดยืนยันเป็น"ภูเขางามรีสอร์ท" สวยงามครับ บรรยากาศน่าจะเหมาะสำหรับการทำ workshopครับและน่าจะเหมาะสำหรับการบ่มเพาะสิ่งดีๆให้ผลุดบังเกิดขึ้น ร่วมกันสร้างนะครับ

  • ตามมาให้กำลังใจ
  • ถ้าเลือกที่กาญจนบุรีบอกด้วยนะครับ
  • เป็นคนเมืองกาญจน์โดยกำเนิด
  • สนใจเรื่องการจัดการความรู้ วิทยากรกระบวนการ
  • AI และการถอดบทเรียนครับ
  • มีอะไรพอช่วยได้ยินดีครับบบบ

สวัสดีครับ อ.ขจิต การสรุปบทเรียน "เครือข่ายพลเมืองคุณธรรม"ที่เมืองกาญน์ฯในช่วง๑๐-๑๒ ธคนี้ จัดที่อุทยานฯเอราวัณ เมืองกาญจน์ฯครับ ทางแกนนำคือ พี่ศิวโรจน์ อยู่ที่หนองสาหร่าย พนมทวนใกล้ๆบ้านอ.ขจิตนั่นเองยืนยันแล้วครับ พื้นที่หนองสาหร่าย ท่านอ.ไพบูลย์ท่านเคยลงเยี่ยมมาแล้ว จึงเสนอให้เป็นแม่ข่ายการแลกเปี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่นๆ อ.ขจิตครับงานนี้เป็นงานของชาวบ้านเขา จัดกันเองแบบง่ายๆ งบประมาณจัดก็ช่วยกันลงขันครับ ผมเป็นที่ปรึกษาให้แบบห่างๆหน่อย ไม่ได้มีบทบาทโดยตรงครับ ผมถามทางแกนนำ เขายินดีต้อนรับอาสาสมัคร ช่วยกระบวนการถอดบทเรียนในครั้งนี้ครับ ตอนนี้มีทางคุณวิโรจน์ คนเมืองกาญจน์เหมือนกันกับอ.ขจิต(อยู่ทางบ้องตี้_ไทรโยค)อาสาช่วยเวทีแล้วคนหนึ่งครับ  ผมบอกคุณเอกไปว่าถ้าหากจะมีอาสาสมัครสัก 2-3 มาแจมในงานนี้ด้วยก็จะเยี่ยมมากครับ

สำหรับ WS. “การอบรมนักจัดการความรู้โดยชุมชนปฏิบัติ” จัดในวันที่ 14-15 ธันวาคมจัดที่"ภูเขางามรีสอร์ท" จ.นครนายกครับ  งานนี้มีคุณเอกกับดร.ยุวนุชและทีมงานกรุณาเป็นวิทยากรให้ครับ  เป็นการอบรมสำหรับ จนท.ในหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ครับ แล้วจะเล่าต่อครับ

 

 

ได้ลงนัดไว้แล้วครับ จะไปให้ได้ วันที่ 14 -15 ธันวาคม 2552

คารวะ... อ.สุเทพ ไชยขันธ์

  • ติดตามอ่านบันทึกแล้วบังเกิด “พลังการเรียนรู้” ร่วมไปด้วยครับ…
  • รับทราบนาม "พี่สุเทพ ไชยขันธ์"... จากพี่ที่นับถือท่านหนึ่งจากเครือข่ายการทำงาน สสจ.กาฬสินธุ์ครับ... ทราบว่า "บ้านใกล้เรือนเคียง" แต่มิเคยพบเจอ  
  • และ.... ทราบความ จาก อ.ดร.วิรัตน์ ท่านเล่าและชื่นชมว่าเป็นคนเก่ง และคนทำงานความรู้ตัวจริงเสียงจริงผู้หนึ่ง ...
  • ขอ…ชื่นชม ขอร่วมเรียนรู้ และขอบคุณประสบการณ์การทำงานความรู้ดีๆ ที่แบ่งปันสู่สาธารณะ ครับ

เมล์คุณสุเทพ ล่มครับ เลยต้องเอามมาตอบในนี้

เสียดายจังเลยครับคุณสุเทพ

ผมเคยพยายามติดต่อพี่ศิวโรจน์ และคุณแรม  แต่ไม่มีการติดต่อกลับ

วันที่ 11 ธค ผมติดทำกลุ่ม การจัดการความรู้ให้โรงพยาบาลท่าม่วง
กาญจนบุรี  แต่จัดครึ่งวันบ่าย น้องเอกเคยชวนและจองตัวเรื่องที่  14-15
ผมมีสอนวันที่ 15 เต็ม ถ้าเป็น 14 พอไปได้ครับ แต่ 16 ธค มีงานไปเป็นวิทยากรกระบวนการจัดการเรียนรู้ของคณะทันตฯมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ

  จะลองติดต่อดูนะครับ

ปล.เพิ่งไปก่อกวนน้องเฟิร์นใน Okkid ของไทยพาณิชย์มาครับ

    ขอบคุณครับ

ขจิต ฝอยทอง

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ยินดีครับหากจะพอปลีกเวลาไปร่วมทีมกับคุณเอกในวันที่ 14- 15 ธค.นี้ที่นครนายกได้

มีโอกาสผมไปทางพนมทวนในวันหยุดจะไปขอเมล้ดพันธุ์ผักไปปลูกที่ราชบุรีบ้าง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณช้างน้อยมอมแมม

ดีใจได้รู้จัก ได้ทักทายคนบ้านเดียวกัน ยิ่งเป็นคนผู้ไทด้วยกันแล้ว ..ยิ่งดีใจครับ

"คนบ้านเดียวกัน แม้ไม่ได้สบตากันก็พอเข้าใจอยู่...." ฮาฮาฮาๆๆๆๆ

ผมเป็นคนไกลบ้านแล้วครับ ....จากมานานคิดฮอดบ้านครับ

สวัสดีครับ พี่สุเทพ

คุณเอก เล่าเรื่องการหารือกันที่ พอช. เพื่อจัดเวทีวันที่ ๑๔ - ๑๕ ธ.ค. ให้ฟัง

น่าสนใจมาก ๆ ครับ

ผมบอกกับคุณเอกว่า ผมเองเคยมีภาวะนักพัฒนาเขียนไม่ออกอยู่นานครับ

วันนี้พอจะเขียนบันทึกได้บ้าง ก็พยายามทบทวนว่าตนเองผ่านจุดนั้นมากำด้อย่างไร

รับปากคุณเอกว่าจะเขียนบันทึกถอดบทเรียนตัวเองให้ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเวทีครับ...

เพื่อนผมคนนึงเพิ่งเข้าไปร่วมงานกับพอช. ชื่อ เบิ้ม - วีระพงษ์ ครับ

พอช. โชคดีที่ได้เบิ้มเข้าไปร่วมงานครับ ไม่เพียงความสามารถครับ ใจใหญ่สมชื่อครับ...

ผมรับปากเบิ้มจะช่วยงานของ พอช.ชิ้นนึงด้วยครับ...

มาแนะนำตัวครับ...

มาอ่านโดยบังเอิญครับ ช่วงบ่ายๆ 

ดีใจครับที่กัลยาณมิตรหลายท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนที่บันทึกของพี่สุเทพ ...ผมคิดว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้นอกจากความรู้ที่งอกเงยเเล้ว เครือข่ายกัลยาณมิตรก็เพิ่มขึ้น ขยายมากขึ้น

ในช่วง ๑๔ ธค. ที่อาจารย์ ดร.ขจิต เขียนมานั้น เเสดงว่าตอบรับผมเเล้วใช่ไหม??

ต้องบอกพี่สุเทพว่า ครั้งนี้ ผมเองก็มีปฏิปทาในการร่วมสร้างสรรค์ งานอบรมครั้งนี้มากมายครับ จากการที่ประชุมกันก็เห็นความตั้งใจอย่างมากของทีมงาน พอช. (เยี่ยมมากๆเลย)

ผมเลยระดมพล คนคุณภาพเข้าไปร่วม ลปรร.ครับ

กำลังประสานงาน SCG. - คุณทวีสิน  อยู่ครับ ส่วนทีมงานที่จีบๆอยู่ ก็มร คุณเกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร หรือ หนานเกียรติ  คนข้างบนนี้ และ คนคุณภาพอีกคนจากแอโร่ไทย(วิทยุการบิน)

 

สวัสดีครับ คุณหนานเกียรติ

คุณเบิ้ม - วีระพงษ์ เป็นเพื่อนร่วมงานใหม่กับเราครับ ได้ทักทายกันแล้ว มีเรื่องราวให้คุยกันเยอะ

ได้รู้จักทักทายกันด้วยความรู้สึกเป็นกันเองและอบอุ่นดี มีเรื่องที่สนใจจะคุยกันต่ออยู่ครับ

ยินดีครับ ......ยินดีเป็นอย่างยิ่งหากคุณหนานเกียรติจะไปร่วมทีมกับคุณเอก_จาตุพรอีกคน ในวันที่ 14- 15 ธค.นี้ที่"ภูเขางามรีสอร์ท" จ.นครนายก

สวัสดีครับ... อ.สุเทพ

  • ยินดียิ่งครับที่ได้พานพบคนเก่งผู้ไกลบ้าน "ผู้ซอดฮอดเมิงไทผู้ไกลฮอดเมิงแกว" เพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักได้เอ่ยนามและ "เว้าขวัญ" ถึงบ่อยๆครับ
  • หยุดยาวต้นเดือนนี้จะนำพา "ผู้ไทยน้อย" คืนถิ่น ไปสืบเค้ามูล "เจ้าโคตรลุงพาข้าว" หากได้ชิม "อ่อมหวายขม" พร้อมสัมผัสลมหนาว "โตนโพน" จะรำลึกถึงนะครับ
  • หากแวะมาเยือน "ท้องทุ่งศาลายา" อย่าลืม "เอิ้นขาน" ถึงผู้น้องนะครับ............

สวัสดีค่ะ คุณสุเทพ

แจง KBD-1 มารายงานตัวค่ะ มาช้าไปนิสส์ เพราะเพิ่งได้ลิ้งค์มาจากบล็อกของน้องใบเฟิร์นค่ะ อ่านเรื่องย้อนหลังแล้ว นับถือในความเป็นครอบครัวนักกิจกรรมจริงๆ ค่ะ และยังเป็นครอบครัวตัวอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ด้วย...

มีครอบครัวรุ่นใหม่ 2 ครอบครัว ครอบครัวหนึ่งมาจากชลบุรี ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งมาจากจังหวัดพิจิตร จะมาช่วยแจงสร้างบ้านดินที่ราชบุรี วันที่ 5-7 ธันวาคมนี้ค่ะ เขาเล่าให้ฟังว่าได้แรงบันดาลใจมาจากครอบครัวของคุณสุเทพ ที่มีอาจารย์นิศารัตน์ น้องข้างฟ่าง กับใบเฟิร์นร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน ติดตามอ่านทุกบล็อกไม่ว่าจะเป็นในบล็อก Oknation ที่แจงเขียน และใน Okkid ชื่นชม ประทับใจ และอย่างเลี้ยงลูกให้ได้แบบนี้บ้างค่ะ แจงเองก็ยิ้มแก้มปริที่มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจตรงนี้ แต่เรื่องวิธีการเลี้ยงลูกจนปัญญาแนะนำค่ะ เพราะมีแต่ภาคทฤษฎี คงต้องให้คุณสุเทพและครอบครัวเป็นผู้แนะนำเองค่ะ

หากคุณสุเทพ อาจารย์นิศารัตน์ และน้องๆ ว่าง แจงขอเรียนเชิญทุกท่านมาร่วมสร้างบ้านดินที่ด่านทับตะโก ด้วยนะคะ (มาโชว์ตัวด้วย แฮะๆๆ) รายละเอียดตามนี้ค่ะ http://www.oknation.net/blog/kbd/2009/11/16/entry-1

ปล. เรื่องสุนทรียสาธก... ??? งงๆ กับคำศัพท์อยู่ค่ะ แต่อ่าน 4D แล้วน่าสนใจมาก ไม่ทราบว่ารับอาสาสมัครไปสังเกตุการณ์ไหมคะ

สวัสดีครับพี่

ยินดีที่ได้รู้จักพี่นะครับ

ครอบครัวพี่น่าจะเป็นต้นแบบสำหรับการเลี้ยงลูกให้ผมได้ด้วยครับ

สำหรับเบิ้ม - วีระพงษ์ กับผม ถือได้ว่าเป็นเพื่อนที่ค่อนข้างสนิทกันครับ

เราต่างเป็นอโชก้าเฟลโลว์ด้วยกัน เบิ้มเป็นอโชก้ารุ่นพี่ผมครับ

เบิ้มมีเครือข่ายที่กว้างขวางมากในแทบทุกวงการ

ทั้งนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น

มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกับข้าราชบริพาร

มีเพื่อนฝูงทั้งในแวดวงราชการและนักพัฒนาเอกชน

ในเชียงราย เบิ้มได้รับการยอมรับมาก ๆ ครับ

เบิ้มให้เหตุผลในการเข้าร่วมงานกับ พอช. ดว่ามากกว่าการเข้าไปประกอบอาชีพครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ สุเทพ คน พอช. ได้คุณเอก คุณ หนานมาร่วมงาน พอช. คงเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

ในภาคปฎิบัติกับการเรียนรู้เราเต็มีทอยู่แล้วครับ

จะตามความก้าวหน้าครับอาจารย์

สวัสดีครับคุณแจง KBD-1

ขอบคุณครับสำหรับการAppreciative (A_สุนทรียะ)คือการชื่นชม ยินดี ให้การยอมรับ ศรัทธาในครอบครัวเรา

"มีครอบครัวรุ่นใหม่ 2 ครอบครัว ครอบครัวหนึ่งมาจากชลบุรี ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งมาจากจังหวัดพิจิตร จะมาช่วยแจงสร้างบ้านดินที่ราชบุรี วันที่ 5-7 ธันวาคมนี้ค่ะ เขาเล่าให้ฟังว่าได้แรงบันดาลใจมาจากครอบครัวของคุณสุเทพ ที่มีอาจารย์นิศารัตน์ น้องข้างฟ่าง กับใบเฟิร์นร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน ติดตามอ่านทุกบล็อกไม่ว่าจะเป็นในบล็อก Oknation ที่แจงเขียน และใน Okkid ชื่นชม ประทับใจ และอย่างเลี้ยงลูกให้ได้แบบนี้บ้างค่ะ แจงเองก็ยิ้มแก้มปริที่มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจตรงนี้"

ครับตรงนี้แหละINQUIRY "I_สาธก"คือการค้นพบแล้วนำมาหยิบยกสาธกเป็นเรื่องเล่าบอกต่อๆกันไป ส่งผลต่อคนที่ได้รับฟังเรื่องราวเกิดการAppreciative (A_สุนทรียะ)คือการชื่นชม ยินดี ให้การยอมรับ ศรัทธา เป็นวงจรต่อเนื่องไป จึงเป็น AI หรือสุนทรียสาธกที่มีความต่อเนื่องครับ โชคดีที่เรามีเครื่องมือที่เรียกว่าBlog นี้ทำให้เกิด AI ที่ต่อเนื่องได้ครับ แม้ว่าจะอยู่ไกลกันก็พูดคุยกันได้

หลักการของAI ที่น่าสนใจมีอยู่ว่าเมื่อคนเรามีฐานการAppreciativeในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเรื่องราวของคนใดคนหนึ่ง ก็จะเป็นแรงดึงดูดเข้าหากัน เหมือนครอบครัวเรามีโอกาสได้ทำกิจกรรมกับกลุ่มKBDบ่อยครั้งครับ

เรื่องAI นี้ผมเองยังเป็นนักเรียนน้อยเรียนรู้ฝึกหัดอยู่ครับ มีครูบาอาจารย์ที่น่านับถือหลายท่านครับที่ท่านศึกษาเรื่องนี้ถึงขั้นเป็น กุรุในเรื่อง AIนี้แล้วและผมเองก็มีโอกาสได้เรียนรู้จากท่านอีกทีครับเช่นคุณหมอประเวศ วะสี(ท่านเรียกแผนที่ความดี) ท่านอ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, อ.ชัยวัฒน์ ถิรพันธ์,ทตพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล และอ.ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์จากมข.เป็นต้น

กิจกรรมร่วมสร้างบ้านดินที่ด่านทับตะโกเราคงไม่ได้ไปร่วมครับ เอาไว้โอกาสหน้านะครับคงไม่ได้แล้วเสร็จในครั้งเดียว ยังมีเวลาครับและปีใหม่ครอบครัวเราว่าจะไปร่วมค่ายกล้าแผ่นดินที่อุบลราชธานีครับ(ป่าดงนาทาม_แถวๆโขงเจียม) น้องใบเฟิร์น,ข้าวฟ่างพึ่งจะไปร่วมกิจกรรมที่นครนายกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พวกเขามีเรื่องที่ประทับใจที่สุดในชีวิต น้องใบเฟิร์นได้บันทึกความประทับใจไว้ในBlog_okkid http://www.okkid.net/blog_journal_detail.php?journal_id=3424&member_id=576

คาราวะ ท่านวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--ผู้อาวุโส

วันที่8-9 ธค.ทราบว่าท่านวอญ่าอยู่ที่มสธ.กับงาน "แผนแม่บทชุมชน"

ผมอยู่ที่นั่นด้วย คงได้พบกันครับ

สวัสดีตอนเช้าครับพี่สุเทพ

ช่วงนี้กำลังทำแผนเตรียมการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครผู้ตรวจการแผ่นดิน และวันที่ 18 -22 ธ.ค. ผมลงพื้นที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ มรภ.รำไพพรรณี (จ.จันทรบุรี ) ซึ่งมีเวลาว่างพอสมควร พอที่จะลงพื้นที่สำรวจความเข้มแข็งของชุมชนในจังหวัดจันทรบุรีได้บ้าง ถ้ามีข้อมูลพื้นที่ช่วยกรุณาแนะนำหน่อยครับ เช่น ชุมชนด้านการจัดการธรรมภิบาล เครือข่ายพลเมืองคุณธรรม เป็นต้น พี่สามารถดูละเอียดเกี่ยวกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ที่ www.ombudsman.go.th ได้เลยครับ

ปล.ถ้ามีการให้ความรู้ความเข้าใจด้านเครือข่าย KM หรือเกี่ยวข้อง กระซิบบอกผ่าน บล็อกได้เลยครับ

ขอบพระคุณมากครับ

ณพมิตร ดาน้อย (ต้อง)

สวัสดีครับคุณต้อง_แคปหมู

........

ยินดีครับที่จันทบุรีมีเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งอยู่หลายแห่ง

ที่ผมคุ้นเคยหน่อย เช่น

# ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตำบลบางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ ที่นี่มีกิจกรรมสร้างภาวะชุมชนเป็นสุข บ้านปลาธนาคารปู

ที่นี่มี ด.ต.ปัญาวัฒน์ กระทุ่มเขต ประสานงานอยู่

# ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตำบลบางกะไชย อ.แหลมสิงห์ ที่นี่มีกิจกรรมการบูรณาการทุนชุมชนโดดเด่นเรื่องกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์

ที่นี่มี กำนันมนัส ชาวไทย เป็นผู้ประสาน

# ศูนย์เรียนรู้เรื่องกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ที่วัดโพธิ์ทอง ที่มีพระอธิการมนัส ขันติธรรมโม เป็นเจ้าอาวาส และท่านเป็น

ประธานเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่มี บทบาทสูงมากในจันทบุรี มีเครือข่ายที่กว้างขวาง

อีกแห่งไกลออกไปหน่อยครับ

# ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตำบลทับไทร อ.โป่งนำร้อน ครับ

.......

เอาพอเป็นตัวอย่างในการที่คุณต้อง_แคปหมู

จะได้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการปรึกษาหารือกับทางพื้นที่อีกทีนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีพี่สุเทพ

ผมเพิ่งกลับมาจากจ.จันทรบุรี ไปลงพื้นที่บางสระเก้า ในระดับชุมชนท้องถิ่น และชุมชนเมืองในเขตเทศบาล และไปขายไอเดีย กรรมการ สภาองค์กรชุมชนจังหวัดจันทรบุรี ซึ่งได้รับผลตอบรับในเรื่องแนวคิดอาสาสมัครผู้ตรวการแผ่นดินดีมากครับ ซึ่งหลายท่านยังไม่รู้จักหน่วยงานของผม ผมก็ให้เอกสารความรู้กันสด ๆ ได้ตอบข้อซักถามเป็นจำนวนมาก ซึ่งสรุปว่า ทุกท่านมีความตั้งใจและเห็นด้วยในการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครในจังหวัดจันทรบุรี ซึ่งหวังว่าจังหวัดจันทรบุรีคงมีแนวร่วมทำกิจกรรรมร่วมกับสนง.ผู้ตรวจการแผ่นดินในอนาคตใกล้ ๆ นี้

ด้วยความนับถือและจิตคาระวะ

ณพมิตร ดาน้อย

ยินดีด้วยครับคุณต้อง_แคปหมู

ผมเชื่อมั่นเลยครับ  เครือข่ายอื่นๆก็น่าจะให้ความสนใจและให้การตอบรับที่ดี

กับเรื่องแนวคิดอาสาสมัครผู้ตรวการแผ่นดินเหมือนกับที่จันทบุรีครับ

ขอชื่นชมคุณสุเทพครับ และผมดีใจมากที่เห็นการใช้ AI ในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

ขอบคุณครับ อ.โย

เรื่อง AI นี้ผมฝึกหัดจากครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะ อ.โย

และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติกับกัลยามิตรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท