ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

การใช้เกณฑ์ตัดสินคุณค่าของพุทธจริยศาสตร์: ศึกษากรณีเหล้าสาโทถูกกฎหมาย


การดำเนินการเรียกร้องให้มีการผลิตและจำหน่ายเหล้าสาโทได้อย่างถูกกฎหมาย ด้วยข้ออ้างทางเศรษฐกิจ สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น พึงกระทำด้วยความระมัดระวังและพิจารณาอย่างรอบคอบจากหลายฝ่าย เพราะโทษของเหล้าสาโทมีมากกว่าคุณ ความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ สติปัญญาของคนในชาติและความทุกข์โทมนัสหลายอย่างไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินได้ มิใช่เพียงเพื่อให้เศรษฐกิจอยู่รอดอย่างเดียว ความอยู่รอดของชีวิตทรัพย์สิน และสติปัญญาของคนในชาติเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากเราถูกทำลายสติปัญญาเสียแล้ว แม้จารีตประเพณีและภูมิปัญญาอันมีคุณค่าอย่างอื่นที่เรามีอยู่ก็จะถูกทำลายไปด้วย

             เหล้าสาโทเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับยุคสังคมแห่งเกษตรกรรม     มีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัวมันเอง  กล่าวคือคนสมัยโบราณใช้สาโทเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรม    ใช้เป็นส่วนประกอบยา และดื่มในงานเทศกาลต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันโทษของสาโทก็มีอย่างมหันต์  เพราะถ้าดื่มมากย่อมก่อทุกข์โทษแก่ตนเองและสังคมประเทศชาติ

            การดำเนินการเรียกร้องให้มีการผลิตและจำหน่ายเหล้าสาโทได้อย่างถูกกฎหมาย  ด้วยข้ออ้างทางเศรษฐกิจ สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น  พึงกระทำด้วยความระมัดระวังและพิจารณาอย่างรอบคอบจากหลายฝ่าย     เพราะโทษของเหล้าสาโทมีมากกว่าคุณ  ความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ สติปัญญาของคนในชาติและความทุกข์โทมนัสหลายอย่างไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินได้  มิใช่เพียงเพื่อให้เศรษฐกิจอยู่รอดอย่างเดียว  ความอยู่รอดของชีวิตทรัพย์สิน  และสติปัญญาของคนในชาติเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม     เพราะหากเราถูกทำลายสติปัญญาเสียแล้ว แม้จารีตประเพณีและภูมิปัญญาอันมีคุณค่าอย่างอื่นที่เรามีอยู่ก็จะถูกทำลายไปด้วย

             ๑.  การใช้เกณฑ์หลักตัดสิน 

             เกณฑ์หลักที่ใช้ในการตัดสินคือการพิจารณาถึงต้นตอของการกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือโลภะ โทสะ โมหะ  การกระทำที่เกิดจากโลภะมักเป็นเรื่องของความอยากได้ ความต้องการจนเกินพอดี  ความต้องการอวดตนในด้านต่างๆ เพื่อข่มคนอื่น  การกระทำที่เกิดจากโทสะมักเป็นเรื่องของความโกรธ ความรุนแรง  อาฆาต การใช้กำลังประหัตประหารกัน  ส่วนการกระทำที่เกิดจากโมหะมักเป็นเรื่องของความโง่เขลาไม่รู้ความจริง ไม่รู้จักคุณโทษ ไม่รู้จักการหลีกเลี่ยงออกจากสิ่งเหล่านี้  อกุศลมูลทั้ง ๓ อย่างนี้ถือว่าเป็นเกณฑ์สากล  ที่ใช้พิจารณาต้นตอของปัญหาที่เกิดจากสภาพจิตภายในของบุคคลนั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อตนเองและสังคม

             แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดในแง่ของการกระทำของมนุษย์ที่ยังมีกิเลสอยู่ การกระทำทุกอย่างล้วนมีอกุศลมูลเจือปนอยู่ทั้งสิ้น  จึงดูเหมือนว่าเกณฑ์หลักที่นำมาตัดสินเหล้าสาโทนี้กว้างเกินไป  เพราะเครื่องดื่มประเภทอื่นที่ไม่มีแอลกอฮอล์ก็ทำให้คนดื่มติดใจได้(เกิดตัณหา อุปาทาน) เช่น เครื่องดื่มประเภทกระตุ้นประสาท  ดังนั้น เกณฑ์หลักจึงทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์  ไม่สามารถเป็นมาตรฐานในการตัดสินเหล้าสาโทได้  แม้ในด้านของผู้ผลิตเหล้าสาโทและภาครัฐในฐานะผู้อนุญาตให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย  ก็ไม่สามารถนำเกณฑ์หลักมาตัดสินได้

             ๒.  การใช้เกณฑ์รองตัดสิน

             เกณฑ์รองที่ใช้ในการตัดสินคือมโนธรรมสำนึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของผู้ดื่ม  ผู้ดื่มเหล้าสาโทจะดื่มมากหรือน้อยก็ถือว่าขาดมโนธรรมสำนึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  ในด้านของตนเอง ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ได้เข้าสู่ร่างกายและกดประสาทส่วนกลาง เมื่อร่างกายไม่สามารถขับถ่ายออกหมด  สารพิษนี้ก็จะสะสมอยู่ในร่างกายและคอยทำลายอวัยวะส่วนอื่น ๆ  จึงถือว่าขาดมโนธรรมสำนึกต่อตนเอง  ถ้าเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้คนจำนวนมาก เช่น พนักงานขับรถโดยสาร  ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นมาก  เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้กับพนักงานขับรถ  ถ้าดื่มเหล้าสาโทหรือเครื่องดื่มที่มีลักษณะกดประสาท จึงมีอัตราเสี่ยงต่ออันตรายอย่างมาก(ดูตารางที่ ๓,๔ หน้า ๑๘–๑๙ ประกอบ)  ดังนั้น  เกณฑ์นี้จึงถือเอาจิตสำนึกของผู้ดื่มเป็นหลักสำคัญ คือมีจิตสำนึกที่จะตักเตือนตนเองและสอนตนเองก่อนสอนคนอื่น[1] ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตัวบุคคลหรือแก้ไขที่เจตนาในการคิดดื่ม  เมื่อไม่ดื่มแอลกอฮอล์จึงถือได้ว่ามีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น  สังคมย่อมมีหลักประกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือเริ่มที่มโนธรรมสำนึกของผู้คิดดื่มเหล้าสาโทและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

             นอกจากมโนธรรมสำนึกแล้ว  ยังมีเหล่าบัณฑิตติเตียนการกระทำและการดื่ม  เพราะส่งผลกระทบต่อตนและสังคม  เป็นการเบียดเบียนตนและคนอื่น   เป็นไปเพื่อทุกข์  ส่งผลต่อจิตคือทำให้จิตขุ่นมัวลุ่มหลง วุ่นวายสับสน สติปัญญาเสื่อม  จึงถือได้ว่าเกณฑ์รองสามารถใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินได้สมบูรณ์กว่าเกณฑ์หลัก  เพราะเกณฑ์รองพิจารณาตัดสินที่ตัวบุคคลก่อน  จากนั้นสังคมซึ่งมีฐานะผู้รับผลของการกระทำจึงมีบทบาทช่วยตัดสินการกระทำด้วย

             ตัวอย่างการใช้เกณฑ์รองตัดสินนี้มีหลักฐานปรากฏในพระวินัยปิฎกมากมาย เช่น กรณีของพระสาคตะที่ดื่มหัวเชื้อสุราจนเมา  พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามความเห็นของภิกษุสงฆ์ว่าการกระทำเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่  ภิกษุสงฆ์ต่างมีความเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่สมควรทำ  ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยปกครองสงฆ์โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๑๐ ข้อ  ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ เพื่อการยอมรับของสงฆ์  (สังคมสงฆ์)สังคมชาวบ้านและความมั่นคงของพระธรรมวินัย[2]  พระธรรมวินัยจึงเป็นเหมือนธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ที่ใช้หลักเกณฑ์ความสำนึกของพระภิกษุและสำนึกร่วมของสังคมบ้านเมือง  ทำให้การดำเนินชีวิตของพระสงฆ์และชาวบ้านมีความเกื้อกูลต่อกัน  เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน  จนทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบมา

             ลักษณะเด่นของเกณฑ์รองคือ เป็นการแก้ปัญหาตรงจุดและพัฒนาจิตอยู่ในตัว  กล่าวคือมุ่งให้ผู้กระทำมีจิตสำนึกรับผิดชอบ  ตักเตือนตนเองก่อนจะกระทำ  เมื่อบุคคลมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง  ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา  และเมื่อมีเสียงของสังคม(ปรโตโฆสะ) มีเหล่าบัณฑิตช่วยกันวางกรอบ วางระเบียบชีวิตของผู้คนในสังคมเป็นอย่างดีแล้ว  อบายมุขทั้งหลายย่อมอ่อนกำลังและไม่สามารถทำลายปราการแห่งธรรมของสังคมได้  เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมประเทศชาติย่อมเจริญมั่นคงต่อไป

             ๓. การใช้เกณฑ์ร่วมตัดสิน

             เกณฑ์ร่วมที่ใช้ในการตัดสินคือ หลักมหาปเทส ๔ ข้อที่ว่าไม่ควร  เนื่องจากเหล้าสาโทเป็นสิ่งมีโทษมากกว่าคุณและขัดกับหลักการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ตามระบบพุทธธรรม  จึงนับเข้าในสิ่งที่ไม่ควรทำไม่ควรดื่ม และไม่ควรอนุญาต  หากมีคำถามว่า ทำไม  สุรา ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ๆ  ซึ่งทำลายผู้คนมากว่าเหล้าสาโท  จึงไม่ห้ามและยังถือเป็นสิ่งถูกกฎหมาย  คำตอบคือคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่เคยสรรเสริญสิ่งที่ทำลายสติปัญญาของมนุษย์  ตรงกันข้าม  พระองค์ทรงสอนให้หลีกเว้นจากอบายมุขและสิ่งเสพย์ติดเหล่านั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ  จริงอยู่  เหล้าสาโทมีดีกรีต่ำกว่าสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น  แต่ผลกระทบที่เกิดจากเหล้าสาโทมิใช่เล็กน้อยเหมือนปริมาณดีกรีของเหล้าสาโท  ผลกระทบของมันเมื่อบวกกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นก็ยิ่งทวีความรุนแรงและก่อโทษมากมาย  ความเสียหายต่าง ๆ มักเกิดจากการมองข้ามสิ่งเล็กน้อย เช่น ไฟที่ก้นบุหรีแม้จะเล็กน้อยก็สามารถขยายลุกลามเผลาผลาญป่าใหญ่ได้หลายพันไร่  งูเห่าแม้จะตัวเล็กแต่ก็สามารถฆ่าช้างได้  บาดแผลที่ร่างกายแม้เล็กน้อย ถ้าไม่รักษาก็อาจเป็นบาดทะยักทำให้ถึงตายได้  แม้ในประวัติการทำสังคายนาพระธรรมวินัย  พระสงฆ์สาวกต่างปรารภโทษเล็กน้อย ได้ร่วมกันชำระศาสนาให้บริสุทธิ์[3]  จึงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองตราบเท่าทุกวันนี้

             ในสังคมไทยก็เช่นเดียวกัน  บรรพบุรุษของไทยได้ทำการสร้างชาติ ปกป้องเชิดชูพระพุทธศาสนาด้วยการนำหลักธรรมมาเป็นแม่แบบในการปกครองประเทศและดำเนินชีวิต  จนทำให้ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงควบคู่กันสืบมา ภาพสะท้อนเหล่านี้เราเห็นได้จากวรรณกรรมของไทยในยุคต่าง  ๆ    เช่น  ไตรภูมิพระร่วง    ถือว่าเป็นเงาสะท้อนภาพของสังคมยุคสุโขทัยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องของมึนเมาและสิ่งเสพย์ติดทั้งหลายถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ดังที่เทพินทร์  พัชรานุรักษ์กล่าวว่า

            ผู้ดื่มสุราในยุคแรกนี้(ยุคก่อนกรุงรัตนโกสินทร์) จะถูกมองว่าเป็นคนชั่ว ประพฤติตัวไม่ดี  เนื่องจากอิทธิพลของพุทธศาสนาซึ่งถือว่าการงดเว้นสุราและของมึนเมาเป็นศีลข้อสำคัญ  อิทธิพลของพุทธศาสนาทำให้สังคมนำสุราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมาตรฐานของความดี คนดี สิ่งเหล่านี้สะท้อนอยู่ในวรรณกรรมพื้นบ้านและคติคำสอนต่าง ๆ เช่น ไตรภูมิพระร่วง  คำสอนของพระลอ  ขุนช้างขุนแผน  สุภาษิตสอนหญิง  พญาปู่สอนหลาน เป็นต้น  ความเชื่อเช่นนี้น่าจะมีผลในทางปฏิบัติอยู่มาก  เนื่องจากสมัยนั้นมีการบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อกับไทยว่าเครื่องดื่มทั่วไปของชาวสยามคือน้ำบริสุทธิ์  ส่วนที่นิยมรองลงมาคือน้ำชา  และมีคนพื้นบ้านน้อยคนที่ติดนิสัยดื่มจัด  นอกจากนั้นยังมีการบันทึกไว้ว่านักเลงสุราถือกันว่าเป็นความชั่วอันมิใช่คุณสมบัติของสาธุชน  และการบริโภคสุราเป็นเรื่องน่าละอายสำหรับคนไทย[4]   

             ภาพสะท้อนจากวรรณกรรมเหล่านี้จึงไม่ควรมองข้าม ควรที่คนไทยจะนำมาเป็นบรรทัดฐานกำหนดอนาคตของชาติ ไม่ควรนำวัฒนธรรมแบบตะวันตกซึ่งนิยมดื่มไวน์และถือว่าเป็นคนมีระดับมาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาประเทศชาติ การพยายามทำสิ่งที่ผิดศีลธรรมให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย  จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สิ่งที่ชั่วร้ายขยายตัวอย่างสะดวกรวดเร็ว  และจะกลายเป็นข้ออ้างของผู้ต้องการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนในทางที่ผิด  นำมาเป็นประเด็นต่อรองกับรัฐเพื่อให้มีการอนุญาตสิ่งผิดศีลธรรมและผิดกฎหมายให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายได้หลายอย่างตามมาไม่รู้จบสิ้น

 

 


      [1] ขุ.ธ.(บาลี) ๒๕/๑๕๘/๔๕.

      [2] ดูเพิ่มเติมใน วิ.มหา.(บาลี) ๑/๓๙/๒๖.

      [3] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๓๗/๒๗๕.

      [4] เทพินทร์  พัชรานุรักษ์,  พฤติกรรมการบริโภคสุรา,  (กรุงเทพฯ :  สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์  

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข,  ๒๕๔๑),  หน้า  ๑๘.

หมายเลขบันทึก: 316980เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2009 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กลาบนมัสการยามสายค่ะ

เมาเพศ หมดราคา

เมาสุรา หมดสำคัญ

เมาการพนัน หมดตัว

เมาเพื่อนชั่ว หมดดี

เมาโสเภณี ก็ซุปเปอร์โกโก ***

(คำสอนของพระพยอม กัลยาโณ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท