ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

เกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางพุทธจริยศาสตร์ ศึกษากรณีการฆ่าตัวตาย


การที่มนุษย์ซึ่งเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนั้น ควรที่จะนำเอาปัญหาเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือในการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นแก่ ตัวเอง และนอกจากนั้นแล้ว การพยายามที่จะระบาย หรือบอกความจริงที่เกี่ยวกับความทุกข์ใจ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่ตนเองกำลังประสบนั้น ให้แก่บิดามารดา หรือเพื่อน ๆ ในสังคมได้รับทราบปัญหาและหาทางออกร่วมกัน วิกฤติการณ์ที่ตนเองคิดว่าเป็นเรื่องที่เลวร้าย และหาทางออกไม่ได้นั้น อาจจะมีแนวทางที่สามารถหาบทสรุปได้ หากเปิดใจกว้าง และพร้อมที่จะเปิดใจรับฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกที่จะฆ่าตัวตายก็อาจจะกลายเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของความคิดเท่า นั้น ซึ่งการคิดในลักษณะนี้เป็นเพียงกิเลสตัวหนึ่ง หากเราพยายามที่จะพิจารณาให้เห็นถึงความเป็นจริงอยู่เรื่อย ๆ แล้ว ในระยะยาวเราก็สามารถที่จะมีความสุขท่ามกลางวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคมได้อย่างปกติสุข

                 แม้พระพุทธศาสนาจะมองว่า ชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง  เพราะว่า “การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น  เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก”   ฉะนั้น  เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ยาก  พุทธจริยศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าบางสถานการณ์ก็ควรที่จะสละทรัพย์ไปเพื่อรักษาอวัยวะ  และสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ ทำไม? จะต้องรักษาชีวิต จุดประสงค์เพื่อต้องการให้มนุษย์ทุกคนนั้นการฝึกฝนพัฒนาตนเองในอันที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือ “พระนิพพาน”  อันจะทำให้มนุษย์นั้นจะได้ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีก

                แต่ถึงกระนั้น  พุทธจริยศาสตร์ก็มองว่า หากมนุษย์มีตัวแปรบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถที่จะรักษา หรือประคับประคองชีวิตของตนเอง เพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายสูงสุดในชาตินี้ได้  ซึ่งตัวแปรบางอย่างนั้นอาจจะทำให้มนุษย์ต้องตัดสินใจ “ฆ่าตัวตาย” 

                ประเด็นปัญหาทางศีลธรรมในทางพุทธจริยศาสตร์จึงเกิดขึ้นว่า การที่มนุษย์บางคนเลือกที่จะหนีปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตนเองโดยการฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ ควรหรือไม่ควรอย่างไร  คำตอบในเบื้องต้นนั้นก็คือ พุทธจริยศาสตร์มองว่า เมื่อกล่าวถึง “การฆ่า” ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตาย หรือฆ่าคนอื่นตายก็ตาม  พุทธจริยศาสตร์มิได้มีท่าทีสนับสนุน หรือส่งเสริมให้มนุษย์หาทางออกด้วยการฆ่าตัวตายแต่อย่างใด   แต่สิ่งที่พุทธจริยศาสตร์พยายามที่จะมุ่งเน้นให้มนุษย์ฆ่านั้น ไม่ใช่ร่างกายของตนเองหรือคนอื่น หากแต่เป็นการ “ฆ่ากิเลส” ที่มีอยู่ในตัวเอง

                คำถามที่จะเกิดตามมาก็คือว่า “การเลือกทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย” นั้น พุทธจริยศาสตร์มองว่า ควรหรือไม่?  การกระทำดังกล่าวจะไม่เป็นการขัดกับหลักการที่พุทธจริยศาสตร์มองว่า “ชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่า” เพราะได้มายากหรือไม่?   พุทธจริยศาสตร์มองว่า การฆ่าตัวตัวตายนั้นไม่ได้มีปัญหาในทุก ๆ  กรณีแต่อย่างใด   ในบางกรณีก็มีทางออกให้ เช่น บางคนเป็นโรคอย่างร้ายแรง รักษาอย่างไรก็ไม่หายขาด   การที่บุคคลที่จะฆ่าตัวตายโดยใช้สังขารของตนเองเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นให้เกิดมีขึ้นในขณะฆ่าตัวตายนั้น ดังกรณีของพระฉันนะ และพระโคธิกะนั้น  พุทธจริยศาสตร์มองว่า เป็นสิ่งที่เจ้าของชีวิตสามารถที่หาทางออกด้วยการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งทางออกดังควรที่จะมีปัญญาเป็นเครื่องกำกับอยู่ตลอด  ซึ่งการใช้ปัญญาของพระเถระทั้งสองท่านนั้น เป็นปัญญาที่ยืนอยู่บนฐานของฌาน และญาณในทางพระพุทธศาสนา

                 เราจะเห็นว่า  การหาทางออกของพระโคธิกะ หรือพระฉันนะ  เป็นการเลือกที่จะฆ่าตัวตายบนฐานของสภาพจิตที่บรรลุฌานในระดับใดระดับหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา  แต่หากพุทธ       ศาสนิกชนบางคนที่ยังเป็นปุถุชนจะใช้ข้ออ้างจากกรณีของพระเถระทั้งสองรูป และตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยมองว่า ท่านทั้งสองสามารถที่จะทำเลือกที่จะฆ่าตัวตายได้   การยกกรณีของพระเถระทั้งสองมาเป็นฐานในการเลือกของปุถุชนนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อปัญหาในเชิงศีลธรรมเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเมื่ออยู่ในฐานะของปุถุชน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การฆ่าตัวตายของเรานั้น จะทำให้การฆ่าตายนั้นดำรงอยู่บนฐานของความบริสุทธิ์ทางใจโดยไม่ได้ถูกกิเลสครอบงำ  เพราะเมื่อกล่าวถึงคำว่า “ปุถุชน” นั้น หมายถึงผู้ที่ยังหนาไปด้วยกิเลส  เมื่อมนุษย์ที่เป็นปุถุชนเลือกที่จะฆ่าตัวตายท่ามกลางสภาพจิตที่หนาไปด้วยกิเลส ย่อมทำให้การฆ่าตัวตายด้วยสภาพจิตที่สงบ สะอาด สว่างนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง

                ในขณะเดียวกัน  การฆ่าตัวตนเองบนฐานของความไม่พร้อมในแง่มุมต่าง ๆ  กล่าวคือ  สภาพจิตของตัวเองถูกครอบงำด้วยโลภะ โทสะ หรือโมหะนั้น    ครอบครัวของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การที่บิดา มารดา ต้องเจ็บปวด  และร้องไห้คร่ำครวญต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตายของเขา  ลูก ๆ ของเขาต้องไร้ที่พึ่งพาอาศัย  ฉะนั้น  การฆ่าตัวตายในบรรยากาศเช่นนี้  เป็นสิ่งที่พุทธจริยศาสตร์เห็นว่าไม่ควรที่บุคลใดบุคคลหนึ่งจะเลือกกระทำอย่างยิ่ง  สาเหตุก็เพราะว่า   การฆ่าตัวตายของเขาในสภาพการณ์เช่นนี้  นอกจากจะทำให้เขาไปเกิดในทุคติภูมิแล้ว ยังทำให้บุคคลอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องประสบกับความทุกข์ในลักษณะต่าง ๆ 

                ฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดต่อประเด็นนี้ก็คือ การที่มนุษย์ซึ่งเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนั้น  ควรที่จะนำเอาปัญหาเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือในการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง  และนอกจากนั้นแล้ว  การพยายามที่จะระบาย หรือบอกความจริงที่เกี่ยวกับความทุกข์ใจ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่ตนเองกำลังประสบนั้น ให้แก่บิดามารดา หรือเพื่อน ๆ ในสังคมได้รับทราบปัญหาและหาทางออกร่วมกัน  วิกฤติการณ์ที่ตนเองคิดว่าเป็นเรื่องที่เลวร้าย และหาทางออกไม่ได้นั้น อาจจะมีแนวทางที่สามารถหาบทสรุปได้ หากเปิดใจกว้าง และพร้อมที่จะเปิดใจรับฟัง  เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกที่จะฆ่าตัวตายก็อาจจะกลายเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของความคิดเท่านั้น  ซึ่งการคิดในลักษณะนี้เป็นเพียงกิเลสตัวหนึ่ง หากเราพยายามที่จะพิจารณาให้เห็นถึงความเป็นจริงอยู่เรื่อย ๆ แล้ว  ในระยะยาวเราก็สามารถที่จะมีความสุขท่ามกลางวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคมได้อย่างปกติสุข

หมายเลขบันทึก: 316984เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2009 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท