ก๊าซแอมโนเนียรั่ว...จัดการอย่างไรดี


สวัสดีค่ะ  วันนี้ผู้เขียนมาปฏิบัติงานเวรเช้าที่หน่วยกู้ชีพนครินทร์เนื่องจากหน่วยได้รับมอบหมายให้จัดหน่วยปฐมพยาบาลงานรับเกียร์ของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 22.00 น. ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นการแจ้งระยะเวลากระชั้นชิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้เองค่ะ  จึงไม่สามารถจัดทีมออกปฏิบัติหน้าที่ได้  ผู้เขียนจึงต้องมาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพในวันนี้เองค่ะ

7.45 น. รับส่งเวรต่อจากเวรดึก น้องพยาบาล  102 เวรดึก เล่าสถานการณ์ให้ฟังว่า

 เกิดเหตุก๊าชแอมโมเนียรั่วที่ โรงน้ำแข็งใกล้โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง มีเด็กนักเรียนเข้าค่ายลูกเสือประมาณกว่า 300 คน มีอาการหายใจไม่สะดวก แสบตา แสบจมูก หายใจเร็ว ตกใจ  บางส่วนนำส่ง โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น   ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายจากจุดไปที่สนามกีฬากลาง ยังแสบตา ทีมกู้ชีพได้ประสานงานผู้เกี่ยวข้องขอย้ายเด็กนอนเข้าค่ายต่อที่โรงยิมของโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย  ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้บริหารโรงเรียนทั้งสองแห่ง  จึงช่วยกันเคลื่อนย้ายต่อไปที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โดยส่วนใหญ่เหล่านักเรียนที่ไม่มีอาการเดินไป  มีบางส่วนขึ้นรถมูลนิธิ และ Ambulance  งานนี้ทีมกู้ชีพกู้ภัยทุกทีมในจังหวัดขอนแก่นพร้อมใจกันออกปฏิบัติหน้าที่  มีแพทย์พยาบาลจากทีมกู้ชีพโรงพยาบาลขอนแก่นและทีมกู้ชีพจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 2 ทีม  ออกปฏิบัติหน้าที่ประจำการอยู่ดูแลปฐมพยาบาลผู้ป่วย ณ ที่ตั้งค่ายชั่วคราวโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย (ไปเวลา 01.16 - 03.10 น.)

ขอบคุณภาพจาก

http://www.krobkruakao.com/kkn/?a=news&s=detail&news_id=13010

 

บทเรียนที่ได้รับ

  • ขอนแก่นมีทีมกู้ชีพ กู้ภัย ในจังหวัดมีความพร้อมออกปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง 

  • ทีมมีเวลาไม่มากในการประเมินสถานการณ์และจัดการความปลอดภัย ในสถานการณ์ฉุกเฉินต้องการผู้นำที่สามารถติดต่อประสานงานผู้บริการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันควบคุมและแก้ไขให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

  • การประสานงาน การตัดสินใจ การสั่งการ เป็นทักษะที่มีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน

  • การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนียรั่วซ้ำซ้อน หลายต่อหลายครั้ง น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายเพื่อให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมปลอดภัย

  • ผู้ประกอบการควรมีมาตรการควบคุมดูแล บำรุงรักษาตามมาตรการความปลอดภัยโดยเคร่งครัด

  • ผู้ปฏิบัติควรมีชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากก๊าซพิษที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์

 

ผู้เขียนติดตามข่าวจากเว็บ มีหลายแหล่ง Post ข่าวขึ้นเว็บกันเรียบร้อยแล้ว  มีรายละเอียดเนื้อข่าวดังนี้    

เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่  13 ธันวาคม  2552  เกิดเหตุก๊าซแอมโมเนียจากโรงงานน้ำแข็ง เอ็มพี ถ.เหล่านาดี เขตเทศบาลเมือง จ.ขอนแก่น รั่ว   ทำให้นักเรียนที่กำลังเข้าค่ายลูกเสือที่โรงเรียนเทศบาลวัดกลางที่ด้านหน้าโรงงาน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- มัธยมศึกษาปีที่ 4 ประมาณ 570 คน เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความผิดปกติด้านทางเดินหายใจ ต้องนำส่งโรงพยาบาลหลายแห่งในจ.ขอนแก่น จำนวน 50 คน

 ส่วนนักเรียนที่เหลือต้องอพยพไปตั้งค่ายลูกเสือที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย   ซึ่งห่างจากโรงเรียนเทศบาลวัดกลางประมาณ 300 เมตร สำหรับค่ายลูกเสือดังกล่าวเป็นการเข้าค่ายของระดับ ม.1 -  ม.2 โดยมีนักเรียนระดับ ม.3 - ม.4 เป็นพี่เลี้ยง และได้ให้เข้าค่ายตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยจะมีการปิดค่ายในวันที่ 20 ธ.ค. 2552
 
เบื้องต้นจากการสอบถามพนักงานโรงงานดังกล่าว ทราบว่า ได้เกิดความผิดพลาดจากการผลิตน้ำแข็ง ซึ่งปกติแล้วการทำน้ำแข็งจะต้องมีน้ำ และแก๊ซแอมโมเนียผสมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะ  

 ก่อนเกิดเหตุพบว่า  มีการปิดวาวล์น้ำ ทำให้แก๊ซแอมโมเนียเกิดการฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ 

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรงงานน้ำแข็งดังกล่าว ตั้งอยู่ด้านหลังของโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง ที่ผ่านมามักจะเกิดปัญหาขึ้นบ่อยครั้ง 

ขอบคุณแหล่งข่าว

http://www.posttoday.com/breakingnews.php?id=80444

 http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=421390

แอมโมเนีย  คือ อะไร 

 มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีตัวนี้กันนะคะ 

ดูภาพขนาดใหญ่

“แอมโมเนีย” มีสถานะเป็นก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรงมาก เราอาจจะเคยได้กลิ่นนี้ก็ได้ ที่เราเรียกว่า “เยี่ยวอูฐ” สำหรับดมเวลาเป็นลม แต่ถ้าเป็นก๊าซแอมโมเนียล้วนจะฉุนจนสำลัก บางทีก็ใช้ในลักษณะของสารละลาย เพราะสามารถละลายน้ำได้ดีมาก สารทำความสะอาดในบ้านเรือนอาจเป็นพวกแอมโมเนียผสมแอลกอฮอล เช่น น้ำยาล้างกระจก สำหรับก๊าซจะเป็นสารนำความเย็นบรรจุในแผงท่อโลหะของตู้เย็น หรือเครื่องทำความเย็นของโรงงาน

ปัจจุบันมีการใช้แอมโมเนียอย่างกว้างขวางมาก ตัวสารแอมโมเนียเป็นด่างจึงมีฤทธิ์กัดกร่อนแบบด่างอื่น ๆ เช่นโซดาไฟ ทำให้เกิดการระคายเคือง แสบตา อาจทำให้ตาบอดได้ ก๊าซแอมโมเนียบรรจุในถังอัดก๊าซ เวลาลำเลียงขนส่ง

แอมโมเนียสามารถละลายในน้ำได้ ดังนั้นเมื่อมีการสัมผัสแอมโมเนียที่มีความเข้มข้นสูงๆ เราสามารถใช้น้ำสะอาดจำนวนมากล้างออกเพื่อให้อาการปวดแสบปวดร้อนทุเลาลงได้ ส่วนวิธีการกำจัดแบบง่ายก็คือการเจือจางในน้ำจำนวนมากๆ จนคิดว่ากลิ่นไม่ฉุนไม่เป็นอันตรายแล้วจึงค่อยนำไปทิ้งได้

การสูดเข้าไปแรง ๆ จะทำให้สำลักหายใจไม่ออก เพราะเกิดการบวมน้ำของทางเดินหายใจ มีอาการคลื่นไส้อาเจียร ปวดท้องรุนแรง เจ็บหน้าอก ชักและถึงตายได้ ถ้าสูดเข้าไปไม่มากนัก อาจจะเป็นแค่ปอดบวม เยื่อจมูกและตาอักเสบ เพราะละลายน้ำได้ดีและเกิดความร้อนด้วย สำหรับแอมโมเนียเหลวถ้าถูกผิวหนัง จะกัดผิวหนังด้วยความเย็นจัด

โรคที่เกี่ยวข้อง: 

· โรคลมพิษจากการสัมผัส (Contact urticaria)

· โรคหลอดลมสาขาอุดตัน (Bronchiolitis obliterans)

ข้อชี้บ่งและอาการของการได้รับสารแอมโมเนีย

      สารนี้ก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อ

  • เยื่อเมือก

  • ระบบทางเดินหายใจส่วนบน

  • ดวงตา

  • ผิวหนัง

  • การสูดดมอาจทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ อักเสบ การบวมน้ำของ larynxand bronchi, chemical pneumonitis และอาการบวมน้ำที่ปอด

อาการที่เกิดจากการได้รับสารนี้  อาจได้แก่

  • รู้สึกแสบร้อน

  • ไอ

  • หายใจมีเสียง

  • หลอดลมตอนบนอักเสบ

  • หายใจถี่

  • ปวดหัว

  • คลื่นไส้และอาเจียน

 

วิถีทางที่ได้รับสารแอมโมเนีย

การสัมผัสทางผิวหนัง:   ทำให้เกิดแผลไหม้.

การดูดซึมทางผิวหนัง:   อาจเป็นอันตรายหากถูกดูดซึมผ่านผิวหนัง.

การสัมผัสทางตา:   ทำให้เกิดแผลไหม้.

การสูดดม:   

  • สามารถทำให้หายใจไม่ออกได้อย่างเฉียบพลัน

  • เป็นพิษเมื่อสูดดม

  • สารนี้ทำให้เนื้อเยื่อของเยื่อเมือกและบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนถูกทำลายอย่างรุนแรงมาก

การกลืนกิน:   อาจเป็นอันตรายหากกลืนกิน.

 

ข้อมูลของอวัยวะเป้าหมาย

  • ปอด

  • ระบบประสาทส่วนกลาง

  • ตับ

  • ไต

มาตรการปฐมพยาบาล

เมื่อสูดดมสารแอมโมเนียเข้าไป

  • ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์

  • ถ้าไม่หายใจ ให้การช่วยหายใจ  

  • ถ้าหายใจลำบาก ให้ออกซิเจน

เมื่อสัมผัสสารแอมโมเนีย

  • ให้ล้างผิวหนังทันทีด้วยสบู่และน้ำปริมาณมาก ๆ

เมื่อสารเข้าตา

  • ควรขจัดสิ่งปนเปื้อนจากดวงตาทันทีโดยล้างตาด้วยน้ำปริมาณมากเป็นเวลานาน

  • ต้องแน่ใจว่าได้ล้างตาอย่างเพียงพอ โดยใช้นิ้วมือแยกเปลือกตาออกจากกันระหว่างล้าง

เมื่อกลืนกิน

  • ให้ใช้น้ำบ้วนปากในกรณีที่ผู้ป่วยที่ยังมีสติอยู่

  • ไปพบแพทย์

เราจะช่วยเหลือตนเองได้อย่างไร

ในฐานะประชาชนทั่วไปถ้าจะมีโอกาสประสบอุบัติเหตุจากก๊าซรั่ว ซึ่งเกิดจากการรั่วจากเครื่องทำความเย็น หรือถังก๊าซรั่วระหว่างขนส่ง สำหรับคนที่ทำงานในกิจการที่เกี่ยวข้องเช่นในอุตสาหกรรมที่กล่าวข้างต้น ก็จะมีโอกาสมากหน่อย จึงควรรู้วิธีป้องกันและแก้ไขดังนี้

  • เก็บถังก๊าซไว้ในที่อากาศระบายได้ดี ห่างจากแหล่งติดไฟ ห้ามสูบบุหรี่

  • เมื่อได้กลิ่นเพียงเล็กน้อย ต้องหาทางป้องกันตัวเองก่อนเข้าไปปิดการรั่วไหล

  • และเคลื่อนย้ายไปยังที่โล่ง 

  • ในกรณีไฟไหม้ ห้ามใช้น้ำ 

  • ถ้ามีผู้ป่วยต้องช่วยให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์เร็วที่สุด 

  • ถ้าจำเป็นให้ใช้การช่วยหายใจแบบปากต่อปาก หรือใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ 

  • ถ้าถูกผิวหนังควรชะล้างด้วยนํ้าปริมาณมาก ๆ ทาด้วยพอลลีเอธีลีน ไกลคอล 400 และส่งแพทย์...

หมายเลขบันทึก: 319992เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีคะพี่ไก่

ข้อมูล ขอนำรายงานงานระบาดวิทยา จังหวัด นะคะ ในนามของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และ SRRT โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอบคุณมากคะ ฝากขอบคุณน้องอรัญญา ที่ช่วยในการบริหารจัดการสอบสวนช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น

สวัสดีค่ะ

  • นับว่าเป็นความประมาทของผู้ประกอบการนะคะ
  • เป็นกำลังใจให้ค่ะ

สวัสดีค่ะน้องไก่

  • ยินดีให้ความร่วมมือในนามของ SRRT รพ.ศรีนครินทร์ค่ะ
  • อยากให้ทีมที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันถอดบทเรียนแก้ไขหาโอกาสพัฒนากันทุกฝ่าย
  • ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำซ้อนอีกค่ะ   
  • และเป็นห่วงความปลอดภัยของทีมกู้ชีพ ยังไม่มีชุดใส่ป้องกันก๊าซพิษกันเลยค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ครูคิม

  • อยากให้ทุกคนทุกฝ่ายตระหนักถึงความปลอดภัยให้มากกว่านี้ค่ะ
  • ทุกจังหวัดมีโรงงานที่ใช้ก๊าซแอมโนเนียลองสำรวจและทำแผนป้องกันรองรับนะคะ

วันนี้เตรียมข้อมูลเพื่อซ้อมแผนรับสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดขอนแก่นจากสารเคมีรั่วไหล

กำหนดการซ้อม วันที่ 4 มีนาคม 2553  ณ โรงเรียนเทศบาลวัดกลางค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท