SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

น้องแชมป์ ...ภาพวาดของคนตัวเล็กสู่ความภาคภูมิใจ-ฉบับ 7 กันยายน 2552


แชมป์เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวและเพื่อนบ้านคนอื่นที่ไม่มีสัญชาติ เพราะแชมป์คือตัวแทนความสำเร็จขนาดเล็กแต่เป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่”

น้องแชมป์ ...ภาพวาดของคนตัวเล็กสู่ความภาคภูมิใจ 

คำปิ่น อักษร[1] / ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว[2]

วันที่ 7 กันยายน 2552

 

“แชมป์เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวและเพื่อนบ้านคนอื่นที่ไม่มีสัญชาติ เพราะแชมป์คือตัวแทนความสำเร็จขนาดเล็กแต่เป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่”

เป็นคำแนะนำจาก คำปิ่น อักษร พี่เลี้ยงกลุ่มเด็กไทฮิมโขง สำหรับด.ช.ชัยพงษ์  อินทะโสม หรือ “น้องแชมป์” วัย 11 ปี เยาวชนไร้สัญชาติ แห่งบ้านบะไห

ด้วยพรสวรรค์ที่ติดตัวมา และการสนับสนุนจากโรงเรียนบ้านบะไหที่เล็งเห็นความสามารถของแชมป์ ทำให้แม้แชมป์จะเป็นเด็กไร้สัญชาติแต่ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดี แล้วแชมป์ก็ยืนยันความสามารถจากหลายรางวัลที่ได้มาจากการวาดภาพประกวด หลายคำชื่นชมที่โรงเรียนบ้านบะไหและหมู่บ้านได้รับ จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่รวมทั้งกลุ่มคนไร้สัญชาติต่างพากันภูมิใจในตัวของแชมป์

ขณะที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แชมป์ส่งผลงานเข้าประกวด ประเภทวาดภาพ ได้รับรางวัลระดับประเทศในหัวข้อ “พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เป็นครั้งแรกที่แชมป์สร้างชื่อให้กับโรงเรียน ขณะเดียวกันในทุกปีแชมป์จะได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของโรงเรียน และเป็นตัวแทนออกไปประกวดวาดภาพกับโรงเรียนอื่นๆในเขตอำเภอโขงเจียมและต่างจังหวัด

โดยรางวัลที่ได้รับในปี 2551 ที่ผ่านมา คือรางวัลรองชนะเลิศด้านประติมากรรม งานสืบสานงานศิลปะ ที่จังหวัด นครราชสีมา  และล่าสุดในปี 2552 คือรางวัลชนะเลิศวาดภาพระดับอำเภอโขงเจียม

นอกจากวาดภาพแล้ว แชมป์ยังมีความสามารถทางด้านดนตรีคือ การดีดพิณ งานโรงเรียนที่จัดให้มีการฟ้อนรำแชมป์ก็จะทำหน้าที่เป็นมือพิณให้กับวงดนตรีของโรงเรียน แชมป์เล่าว่า เขาสามารถเล่นพิณ ได้หลายลาย อาทิ จ้อยเมืองเหนือ เซิ้งดำนาและ มโหรี 

หากเอ่ยถึงความสามารถของแชมป์แล้วจึงไม่ใช่ธรรมดาสำหรับของกลุ่มคนตัวเล็กที่นี่  แชมป์ มีความใฝ่ฝันลึกๆว่าเขาจะได้มีโอกาสเรียนต่อในด้านสาขาที่เขาชอบ เพราะเขาเชื่อว่า “งานศิลปะคือสิ่งที่เขาทำได้ดีและมีอิสระ”

น้องแชมป์ เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเยาวชน “เด็กไทฮิมโขง” ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กเยาวชนไร้สัญชาติที่รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำค่าย ทำของที่ระลึกจำหน่าย รณรงค์ ทำกิจกรรมเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มเด็กรักบ้านในเขตเมืองอุบลราชธานี ตลอดจนช่วยสนับสนุนงานของ “เครือข่ายชุมชนคนรักน้ำของ” ซึ่งเป็นเครือข่ายของชาวบ้านในชุมชนริมน้ำโขงในเขต 5 อำเภอ รวม 15 หมู่บ้าน ที่พ่อแม่ตลอดจนญาติพี่น้องของแชมป์เป็นสมาชิกอยู่ด้วย

ด้วยความเชื่อว่าพวกเขา มีป่าที่เปรียบเสมือนโรงครัวที่หยิบจับอะไรมาทำกินก็ได้ ดังนั้นป่าที่นี่จึงเป็นดังลมหายใจของพวกเขา กิจกรรมต่างๆของแชมป์และเพื่อนๆคือพาแขกหน้าใหม่ๆเข้าไปท่องเที่ยวป่า โดยที่พวกเขาจะทำหน้าที่อธิบาย พันธุ์ไม้ สรรพคุณ และรูปแบบการดำรงอยู่ที่สัมพันธ์กันระหว่าง คนกับป่า หลายคำถามจึงมีคำตอบที่ไม่สิ้นสุด เพราะความรู้ที่เขามีเกิดจากการเรียนรู้ในภาคสนามโดยการใช้ชีวิตจากการใช้ประโยชน์ทำให้เห็นคุณค่าจากป่าถูกถ่ายทอดและได้ซึมซับมาตั้งแต่เล็กจนเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน

“แชมป์อาจจะยังเล็ก แต่ป่าที่นี่แชมป์ก็รู้จักดีไม่แพ้เด็กโตๆ เขารู้จักป่าที่นี่ทุกตารางนิ้วเพราะเป็นที่ๆเขาวิ่งเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก และพี่ๆก็รู้ว่าแชมป์มีความสามรถอะไร ดังนั้นเขาก็มีบทบาทในการทำกิจกรรมร่วมกัน” คำบอกเล่าของพี่คำปิ่น หรือพี่นุ้ย ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มเยาวชน

ความงดงามของป่าเขาที่รายล้อมหมู่บ้านต่างๆในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม สร้างสีสันให้กับทั้งคนและป่า เพราะนอกจากจะเป็นตลาดสดชาวบ้านแล้วยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา เด็กๆในหมู่บ้านบะไหเรียกได้ว่าถึงขั้นเซียนใน ความรู้เรื่องป่า

พื้นที่โดยรอบที่เยาวชนกลุ่มนี้นำเสนอได้แก่  ถ้ำเสือ ถ้ำควาย ผาขาว และบะกว้าง ห้วยใหญ่ เป็นที่หาเห็ด หน่อไม้ และของป่าอีกมากมายหลายชนิด นอกจากนี้บริเวณนี้เองในช่วงเดือน พฤศจิกายนยังเป็นทุ่งดอกไม้ที่ละลานตา ดอกสีม่วงแซมเหลือง สีขาว สีแดง มีให้เห็นและงดงามตลอดเส้นทางที่เดินผ่าน

ภาพความประทับใจเกิดขึ้นกับผู้มาเยือนตลอดเส้นทางเดินป่า พวกกลุ่มเยาวชน ทำหน้าที่นำทางท่องป่าได้เป็นอย่างดี มีบ้างที่เหล่าแม่ๆขอติดตามไปด้วยและเป็นทีมเตรียม อาหารระหว่างที่พักเที่ยง

ขณะที่เดินป่าอาหารสามารถหาได้ตามรายทางแต่ว่าใครจะหาอะไรมาได้ ปลาในลำห้วย เห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง ผักนานาชนิดถูกนำมาอธิบายสรรพคุณในขณะที่อาหารจานร้อนถูกยกออกมาจากเตา  ก่อนที่ทุกคนจะเคี้ยว กรุ๊ปๆกลืนลงท้องพร้อมด้วยแกงหน่อไม้ร้อนๆ ปิ้งปลาสดๆ พอเที่ยวกันจนเหนื่อยก็จะพากันมุ่งหน้ากลับหมู่บ้าน ขณะที่เดินทางกลับก็มิวายที่ช๊อปปิ้งทิ้งทวน หิ้วของกินนานาชนิดกลับไปบ้านด้วย... “นี่ไงพี่อาหารเย็นพวกเรา”

กิจกรรม “เดินป่า ตามหามื้อเที่ยง” ของกลุ่มเด็กไทฮิมโขง เกิดขึ้นจากการพูดคุย กันในกิจกรรมการออกค่ายเยาวชน  ซึ่งกิจกรรมได้เปิดโอกาสให้เยาวชนนำเสนอของดีในชุมชน อาหาร ความอุดมสมบูรณ์ ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอ บ้านพวกเค้ามีสิ่งดีดีที่จะนำเสนอมากมาย ซึ่งนี่ก็คือจุดเริ่มต้น ของการเดินป่าอาสาพาเที่ยวและกินข้าวเที่ยงร่วมกันขึ้นในเวลาต่อมา

ซึ่งหากพิจารณาลึกลงไปกว่านั้นพบว่า ป่าคือชีวิต คือทุกอย่างของพวกเขา ความไร้สัญชาติ การถูกบีบให้อยู่ในเฉพาะพื้นที่อาณาบริเวณที่จำกัด ทำให้ คนกลุ่มนี้ต่างพึ่งพา ทรัพยากรที่มีค่อนข้างสูง ทั้งเป็นแหล่งอาหาร และเป็นพื้นที่ที่พวกเขามีรายได้ส่วนหนึ่งจากการหาของป่าขาย ทั้ง เห็ด หน่อไม้ มัน(นก) เทียน กลอย น้ำผึ้ง ไข่มดแดง แมงทับ ตุ๊กแก กบ เขียด ปลา มากมายเท่าที่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าจะเอื้ออำนวยและสภาพป่ายังดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์

ปัจจุบัน กลุ่มคนไร้สัญชาติเหล่านี้ต่างวิตกและมีความกังวลใจอยู่ลึกๆว่า หากป่าเหล่านี้ถูกแปรสภาพเป็นสวนยางพารา  ไร่มันสำปะหลัง หรือ การบุกรุกป่าในรูปแบบต่างๆนั้นจะทำให้ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในการดำรงชีวิตของพวกเขาเหล่านี้คงต้องสั่นคลอนและอาจมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเยาวชนกลุ่มเด็กไทฮิมโขงเองก็เช่นเดียวกันในฐานะที่เป็นลูกหลานและมีส่วนร่วมในการเข้าไปใช้ประโยชน์

 

แชมป์เป็นลูกชายคนที่ 2 ของนาย สมศักดิ์  อินทะโสม และนางใม  อินทะโสม ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี 2518 พ่อแม่ของแชมป์เคยเข้าไปอยู่ที่ศูนย์ลาวอพยพ ทำให้ครอบครัวของแชมป์เป็นเพียงครอบครัวเดียวที่มี “บัตรลาวอพยพ” (ยังไม่ได้เปลี่ยนบัตรเป็น “บัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทย”) ในหมู่บ้านบะไห  ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (ตามติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม 2548)นั้น มีนโยบายที่ชัดเจนแล้วว่าจะได้รับการพัฒนาสถานะที่ดีขึ้น แต่พ่อแม่ของแชมป์ยังต้องรอกระบวนการภายใต้ยุทธศาสตร์ฯดังกล่าว

ปัจจุบันแชมป์เรียนหนังสืออยู่ชั้นป.5 ที่โรงเรียนบ้านบะไห  อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2548 ภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ทางโรงเรียนได้สำรวจและบันทึกน้องแชมป์ในทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และถือ “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” โดยได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ดังนั้นนอกจากรอพัฒนาสถานะตามพ่อแม่แล้วหากแชมป์สามารถเรียนจนจบระดับปริญญาตรีก็ยังสามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้ด้วย

สำหรับวันนี้ที่แชมป์ยังเป็นเด็กไร้สัญชาติ  ความยากลำบากและเงื่อนไขในการดำรงชีวิตด้วยวัยเพียง 11 ปี จึงทำให้แชมป์อาจจะไม่รู้สึกอนาทรร้อนใจนักกับสถานภาพในปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งที่แชมป์รับรู้ได้คือความลำบากของพ่อแม่ในยามที่ต้องเจ็บป่วยเนื่องจากไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ  นอกจากนี้อนาคตก็ยังเป็นเพียงจินตนาการที่แชมป์ยังไม่รู้ว่าวันข้างหน้าที่เขาจบ ป. 6 ไปแล้วจะเป็นเช่นไร เพราะความไร้สัญชาติ ของพ่อ แม่ทำให้ครอบครัวของแชมป์ค่อนข้างอัตคัด แต่วันนี้แชมป์ยังฝันได้..และถ่ายทอดออกมาได้ด้วยงานศิลปะ ที่ไม่เคยยอมละทิ้งมัน

 


[1] พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน “เด็กไทฮิมโขง”

[2] ผู้จัดการ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)

หมายเลขบันทึก: 320234เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2009 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท