ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ป่าไม้วิกฤติ: ผิดที่วิธีคิดหรือใครทำ


            ในระยะเริ่มต้นของศตวรรษที่ผ่านนั้น  เราจะเห็นได้ว่ามนุษยชาติได้ดำรงตนอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่ปั่นป่วน  ซึ่งมีอยู่ทั่วขอบเขตของโลก เป็นวิกฤติการณ์ที่ซับซ้อนหลายมิติ  ล้วนส่งผลกระทบต่อเราในทุก ๆ ด้าน  วิกฤติการณ์ที่มนุษย์กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้มีหลายประการด้วยกัน  กล่าวคือ  เศรษฐกิจ  สังคม การเมือง  และปัญหาที่น่าสะพึงกลัวอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม[1]

            ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น  เมื่อกล่าวถึงภาพรวม  เราจะพบได้ว่าเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์  ซึ่งจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ล้วนกลายเป็นปัญหาที่จะทำลายตัวมนุษย์เอง  และมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยตรง จึงเป็นเรื่องยากที่หลีกเลี่ยงผลกระทบซึ่งจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติในด้านต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอากาศเสีย   แผ่นดินทรุด  และการร่อยหรอของจำนวนป่าไม้ในลักษณะต่าง ๆ[2]

            จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามมวลมนุษยชาติอยู่ในขณะนี้  เป็นเหตุให้มนุษย์เริ่มหันมาให้ความสนใจ และทำให้เกิดมีการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น  กลุ่ม Greenpeace  เป็นต้น   ถึงแม้ประเทศไทยเอง  ก็ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว  จึงได้มีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529  ดังได้กล่าวปรารภถึงปัญหาการพัฒนาประเทศในช่วยระยะเวลา  20  ปี  ที่ผ่านมาว่า

            “ขณะเดียวกันก็พบว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจนั้น  ได้สร้างความเสื่อมโทรมให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ๆ หลายด้าน เช่น ที่ดิน อากาศ แหล่งน้ำ และ ป่าไม้  เป็นต้น”[3]

            “ป่าไม้”  เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติในการช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ  (Ecology  System)  ในอันที่จะป้องกันความวิบัติทางธรรมชาติ เช่น ความแห้งแล้ง  ปัญหาการพังทะลายของหน้าดิน ปัญหามลพิษ  อุณหภูมิสูงขึ้น  เป็นต้น  แก่ตัวมนุษย์เอง   แต่เพราะอารยธรรมตะวันตกที่มาจากรากฐานทางความคิดที่มองมนุษย์แยกต่างหากออกจากธรรมชาติ   ดังที่พระธรรมปิฏก[4]  (ป.อ.ปยุตฺโต)  และพระเมธีธรรมาภรณ์[5] (ประยูร  ธมฺมจิตฺโต)  ผู้ช่วยศาสตราจารย์จินดา  จันทร์แก้ว[6]  ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านพุทธศาสนาของประเทศไทย  รวมไปถึงนักวิชาการต่างประเทศ เช่น ปีเตอร์  ฮาร์วีย์[7] และ คลิฟ  พอนติ้ง[8]  ฟริตจ๊อบ  คาปร้า[9] (Fritjof  Capra) เป็นต้น ซึ่งมีทัศนะที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกันว่า   ศาสนา  ปรัชญา และวิทยาการต่าง ๆ  ของตะวันตก  รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์  และนักประวัติศาสตร์ไม่ว่าทางฝ่ายทุนนิยม  หรือสังคมนิยม แทบทั้งสิ้น  ล้วนมีท่าทีต่อธรรมชาติในลักษณะสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

            ก.  มองเห็นว่า มนุษย์เป็นสิ่งที่แยกต่างหากออกจากธรรมชาติ 

            ข.  มนุษย์ที่ครอบครองธรรมชาตินั้น  จะต้องครอบครอง  เป็นนาย  เป็นผู้พิชิต  เป็นผู้จัดการธรรมชาติ

            ค.  สาเหตุที่จัดการธรรมชาตินั้น  ก็เพื่อนำธรรมชาติมาสร้างสรรปันแต่งเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ  ในการใช้เป็นเครื่องมือบำรุงบำเรอ  สนองความต้องการของมนุษย์

จากการแนวคิดดังกล่าว  จึงเป็นสาเหตุให้มนุษย์ตัดไม้ทำลายป่า  และนำผลประโยชน์เหล่านั้นมาสนองความต้องการของตนโดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศที่กำลังจะสูญเสียไป   ดังจะเห็นได้จาก

               1.  สถิติพื้นที่ป่าไม้ของโลกที่ชี้ให้เห็นว่า ป่าไม้นั้น หมดไปปีละ 105 ล้านไร่  พื้นที่เพาะปลูกกลายเป็นทะเลทราย ปีละ 36 ล้านไร่  พันธุ์สัตว์พันธุ์พืชสูญหายไปปีละประมาณห้าพันชนิด  เพราะป่าถูกทำลาย[10] 

               2.  และที่ใกล้ตัวที่สุด จากรายงานสถิติของกรมป่าไม้ เมื่อ ..2530  มีพื้นที่ป่าไม้  91,294,152  ไร่  หรือคิดเป็นร้อยละ 28.47  ของพื้นที่ประเทศ  และข้อมูลปี      .. 2536  พบว่า  พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยเหลืออยู่  83,450,623  ไร่  หรือคิดเป็นร้อยละ  26.02  ของพื้นที่ประเทศ  ซึ่งมีแนวโน้มของการลดลงอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง พ.ศ. 2532-2536  พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยถูกบุกรุกทำลายถึง  6.18  ล้านไร่[11]  

              สิ่งที่สามารถชี้ชัดให้เห็นถึงความหายนะที่คนไทยได้รับจากการตัดไม้ทำลายก็คือ เมื่อปี พ.ศ. 2532 ได้เกิดเหตุน้ำท่วมในภาคใต้อย่างฉับพลัน เนื่องจากไม่มีป่าไม้คลุมดิน เหตุการณ์ดังกล่าวได้คร่าชีวิตคนไปถึง 166 ราย ทำลายบ้านเรือนของราษฎรไป 16,000 หลัง  และทำลายพื้นที่เพาะปลูกนับล้านไร่[12]  จากสภาพการณ์ดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า   ผลของการมองธรรมชาติแบบโลกตะวันตกนั้น ได้กลายเป็นหอกที่คอยทิ่มแทง  และสร้างความหายนะให้บังเกิดแก่มวลมนุษยชาติอย่างน่าสะพึงกลัว และได้สร้างความสูญเสียทางด้านกายภาพ และจิตภาพให้แก่คนในสังคมโลกอย่างไม่มีวันจบสิ้น ตราบเท่าที่เขายังถูกอวิชชา และตัณหาครอบงำ โดยมิได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติ และท่าทีที่ได้กระทำต่อป่าไม้

               จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น  จึงย้อนเข้ามาสู่คำถามที่ว่า  “ป่าไม้วิกฤติ ผิดที่วิธีคิด หรือใครทำ?  จากหลักการที่กล่าวมาในเบื้องต้น  ได้กลายเป็นสิ่งที่ชี้ชัดให้เราได้เห็นว่า ทัศนะที่คนส่วนใหญ่หลงยึดเป็นแม่บทนั้น ผิดทางเสียแล้ว  ดังนั้น  เราจึงต้องการ “ทัศนะแม่บท” (Paradigm)  อย่างใหม่ ซึ่งเป็นการมองความเป็นจริงด้วยสายตาใหม่  เป็นการเปลี่ยนแปลงปฐมฐานในทางความคิด   แนวคิดที่ถูกต้องจะหาได้จากที่ใด  และมีแนวความคิดที่เป็นแม่บทอย่างไร คำตอบก็คือ พุทธศาสนา  และพุทธศาสนามีแนวความคิดอันจะสามารถใช้เป็นทัศนะแม่บทได้  นั่นคือ  ไตรสิกขา[13]

               หลักไตรสิกขานั้น  ถือได้ว่า  เป็นทัศนะ หรือแนวความคิดแม่บทที่จะนำไปแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม   ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก  3  ประการด้วยกัน  กล่าวคือ

               1.  ระดับพฤติกรรม     พุทธศาสนามุ่งเน้นให้มนุษย์ มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติป่าไม้ ไม่ฝืนกฎธรรมชาติ ไม่ข่มขืนทารุณ   แสวงหาผลประโยชน์  เอารัดเอาเปรียบ  เยียบย้ำซ้ำเติม  รีดทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะบังเกิดขึ้น

               2.  ระดับจิตใจ    เน้นให้ทุกคนมีความเมตตา  กล่าวคือ  รักและทนุถนอม  เอาใจใส่  ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบต่อชตากรรมของธรรมชาติร่วมกัน   และมีความกตัญญูต่อธรรมชาติต้นไม้   ดังคำกล่าวที่ว่า  ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า  ได้กินจากน้ำต้องรักษาน้ำ  ไม่พยายามที่จะแสดงถึงความเป็นเจ้านายของธรรมชาติป่าไม้  หากแต่ดำรงตนอยู่ในสถานะของความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน

                3.  ระดับปัญญา  มองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของของสรรพสิ่ง  กล่าวคือว่ามนุษย์กับป่าไม้จะต้องสัมพันธ์กัน  การกระทำการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  จะส่งผลกระทบถึงกันในทันที ฉะนั้น มนุษย์และธรรมชาติป่าไม้  จะต้องพึ่งพาอาศัย  เกื้อกูนซึ่งกันและกัน

                พระพุทธเจ้าและเหล่าอริยสาวกได้พิสูจน์ให้เห็นถึงแนวความคิดและหลักการดังกล่าว  โดยมีวิถีชีวิตทั้งก่อนและหลังการตรัสรู้ที่ดำรงอยู่ในลักษณะประสานสอดคล้องกับธรรมชาติ  มีจิตใจที่รักและทนุถนอมธรรมชาติป่าไม้  อีกทั้งมองเห็นว่า  มนุษย์กับธรรมชาตินั้น  จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  ฉะนั้น  ถึงเวลาแล้ว  ที่เราจะต้องนำแนวความคิดดังกล่าว  มาวางเป็นทัศนะแม่บท  เพื่อที่จะให้มนุษย์และธรรมชาติต้นไม้มีท่าที่ประสานสอดคล้องกัน.

 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร.
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


[1] Frijof  Capra ,  The  turning  Point  (London: Fontana Paperbacks ,  1982),  p.1.

[2] วินัย  วีระวัฒนานนท์  และสิวลี  ศิริไล,  “สิ่งแวดล้อมศึกษาตามหลักพุทธธรรม,”  ภาควิชาศึกษาศาสตร์  คณะสังคมและมนุษย์ศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล , น. 8-9.

[3] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,  แผ่นพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ..2525-2529, ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ,  น. 3.

[4] พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) ,  คนไทยกับป่า  , พิมพ์ครั้งที่ 4   (กรุงเทพฯ:  สหธรรมิก ,  2537) , น.  48-50.

[5] พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร  ธมฺมจิตฺโต) ,  ธรรมะและการอนุรกษ์สิ่งแวดล้อม ,  พิมพ์ครั้งที่ 1  (กรุงเทพฯ: สหธรรมิก ,  2538) ,  น. 24-25.

[6] จินดา  จันทร์แก้ว,  “พุทธศาสนากับนิเวศวิทยา,”  พุทธจักร 10  (ตุลาคม  2533) : 25.

[7] ปีเตอร์  ฮาร์วีย์,  “พุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม,”  พุทธศาสน์ศึกษา  3  (กันยายน-ธันวาคม  2538) : 54.

[8] Clive  Ponting,  A Green  History  of  the  World  (Newyork: St. Martin’s Press, 1991), p.141-160

[9] ฟริตจ๊อฟ  คาปร้า , จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ ,  แปลโดย  พระประชา  ปสนนฺจิตโต  พระไพศาล  วิสาโล  สันติสุข  โสภณสิริ  รสนา  โตสิตระกูล , พิมพ์ครั้งที่  3  (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์ ,  2539) ,  น.  54.

[10] พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต), การพัฒนาที่ยั้งยืน (กรุงเทพฯ: บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2537), น. 32.

[11] กองแผนงานและแผนสิ่งแวดล้อม  สำนักงานนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อม,  รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม  ..2537  (กรุงเทพฯ: บริษัท อินทิเกรเต็ด โปรโมชั่น  เทคโนโลยี  จำกัด, 2539),  น.11.

[12] วอลเดน  เบลโล  เชียร์  คันนิงแฮม  ลี เค็ง ปอห์, โศกนาฏกรรมสยาม: การพัฒนาและการแตกสลายของสังคมไทยสมัยใหม่,  แปลโดย  สุรนุช  ธงศิลา  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2542), น. 261-262.

[13] บาลี  องฺ. ฉกฺก.  22/105/422.

หมายเลขบันทึก: 321944เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2009 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • นมัสการท่านฯ
  • เข้าใจว่ามนุษย์เป็นตัวการใหญ่เลยนะครับ
  • แบบนี้ต้องปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่
  • ให้มีจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

ขอบใจอาจารย์ขจิตที่แวะมาแสดงความเห็น มุมมองของอาจารย์ถูกต้องที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท