รังสรรค์นวัตกรรมนำเศรษฐกิจพอเพียงสู่ผู้เรียน งานวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนากลุ่มสาระสังคมศึกษา


ความเป็นมา

            ปีการศึกษา 2550 กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี   ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการรังสรรค์นวัตกรรมนำเศรษฐกิจพอเพียงสู่ผู้เรียน  เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของกลุ่มสาระการเรียนรู้  ในฐานะของโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนา

กรอบความคิดของการเปลี่ยนแปลง

          การจัดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี  ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการนำการเปลี่ยนแปลง   ด้วยหลักการสำคัญที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท ความพอประมาณ  ความมีเหตุผล  การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเพื่อรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง  ตลอดจนการใช้ความรอบรู้  ความรอบคอบและคุณธรรม    โดยมุ่งหวังให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนวัตกรรม  ซึ่งหมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ    ที่นำมาใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง  การดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในด้านของการบริหารจัดการเรียนการสอน     และการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน  ตลอดจนการนำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ  ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน

พัฒนาจากรากฐานที่แข็งแกร่ง

          การพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมของโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ยึดหลักการพัฒนาต่อยอดจากฐานเดิม  โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบันจุดเด่นของกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี  จะประกอบไปด้วยผลงานเด่นที่เป็นต้นทุนเดิมอยู่  3 ประการ คือ

  1. การจัดหลักสูตรที่หลากหลายสอดคล้องกับบริบทของสังคมและท้องถิ่น ได้แก่ การเปิดสอนรายวิชา ตามรอยพระยุคลบาท  ภูมิปัญญาไทย   เพชรบุรีศึกษา   ภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว   จีนศึกษา Phetchaburi Studies Environment  Studies และ World Today เป็นต้น
  2. จัดการเรียนรู้จากชุมชนสู่โลกกว้าง  สร้างเครือข่ายการเรียนรู้เชื่อมโยงจากท้องถิ่น ซึ่งได้แก่  การพัฒนารูปแบบการสอนที่ใช้แหล่งวิทยาการภายในชุมชน  การจัดการเรียนสอนโดยใช้วัดเป็นฐานแห่งการเรียนรู้
  3. คุณภาพผู้เรียนเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ พิจารณาจากผลการทดสอบการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน Ordinary Nation Education Test (O – Net) ซึ่งมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศ  และนักเรียนที่มีคะแนนสูงสุดของโรงเรียนสามารถทำคะแนนได้ถึง 85 คะแนน

เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง

เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง ที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นในปีการศึกษา 2550  คือ การพัฒนาขีดความสามารถจัดการทางด้านคุณภาพของผู้เรียน  ด้านความรู้ คุณธรรม รักการเรียนรู้ อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขอย่างสร้างสรรค์  ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

     มิติของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งตัวผู้เรียนและกลุ่มสาระสังคมศึกษา ฯ   จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนวัตกรรมที่มีสิ่งใหม่เติมเต็มให้เกิดประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย

  1. การจัดทำห้องเรียนมัลติมีเดียเพิ่มอีก 2  เพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนอย่างกว้างขวางไม่ขาดสาย
  2. พัฒนานวัตกรรมทางด้านไอซีที สื่อการเรียนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเสริมความรู้แก่ผู้เรียน
  3. เชื่อมโยงความรู้จากชุมชนสู่โลกกว้าง นำสิ่งที่ค้นพบจากชุมชนสู่การเรียนรู้Online ด้วยเครือข่ายเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ
  4. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านโครงงานต่าง ๆ ในรูปของ โครงงานเศรษฐกิจพอเพียงเช่น โครงงานปันน้ำใจสู่ชายแดน  โครงงานเรารักเขาวัง  โครงงานเรารักแม่น้ำเพชร เป็นต้น
  5. ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพสังคมท้องถิ่น ด้วยการจัดทำหน่วยการเรียนรู้และรายวิชาเพิ่มเติมที่หลากหลาย บูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงในรายวิชาต่าง ๆ

ยุทธวิธีของการขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลง

            การขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  ได้ใช้ยุทธวิธี การเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง(Action Learning)  เป็นกระบวนการของการทำงานกลุ่มที่มีทักษะและประสบการณ์ที่หลากหลายแตกต่างกัน  โดยสมาชิกในกลุ่มจะร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและวางแผนปฏิบัติการ (ActionPlan) ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  มีการรับรู้ปัญหาร่วมกัน ติดตาม สอบถาม คิดไตร่ตรองสิ่งใหม่ ๆ  เป็นยุทธวิธีที่ช่วยทำให้การบริหารจัดการความรู้  (Knowledge Management : KM)ในองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  เนื่องจากเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้(Share)  การแสดงความคิดเห็น (Show)  และการเรียนรู้ร่วมกัน (learn)  ของสมาชิกในทีมที่พบว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ย่อมนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคคล หน่วยงาน และเป้าหมายขององค์กรในที่สุด 

วิธีดังกล่าวจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการเพื่อการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ของโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี  โดยใช้การประชุมเรียนรู้อย่างเป็นทางการในคาบนิเทศทุกวันจันทร์ คาบเรียนที่ 8 และการประชุมนิเทศติดตาม สื่อสารที่ไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่องภายในห้องพักครู   ที่สมาชิกนั่งทำงานร่วมกันในกลุ่มสาระการเรียนรู้

ผลของการเปลี่ยนแปลง

  1. ห้องมัลติมิเดียเพื่อการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3 ห้องเรียน    ทำให้การจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น     ทั้งในด้านของการสอนของครู    และการนำเสนองานของนักเรียนสามารถทำได้อย่างหลากหลาย  เช่น  การสอนผ่านInternet   และ e-learning  รวมทั้งการตรวจสอบผลงานการเรียนรู้จากชุมชนที่นักเรียนส่งผ่าน เว็บบล็อก ต่าง ๆ
  2. การพัฒนานวัตกรรมทางด้านไอซีที

       2.1  ครูนพพล  สำเภาเงิน  จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เสริมประสบการณ์ รายวิชาภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว ด้วยโปรแกรม Desk Top Author พบว่า นักเรียนมีความสนใจการเรียนรู้และมีผลการเรียนสูงขึ้น   เพราะเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ  ทำให้ผู้เรียนสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา

       2.2  ครูปรียาภรณ์  แก้วน่วม  และครูชุติมน  โตสุวรรณ จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม Desk top Author ประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา  พบว่า นักเรียนมีความสนใจในการเรียนรู้และมีผลการเรียนสูงขึ้น  นักเรียนมีความสนุกในการเรียนรู้การเชื่อมโยงความรู้จากชุมชนสู่โลกกว้าง

  3.  ครูนพพล  สำเภาเงิน  จัดการเรียนการสอนโดยใช้แหล่งวิทยาการภายในชุมชนในรายวิชาภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  และ วิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยวิธีการสืบค้นข้อมูลจากชุมชนและนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บบล็อกใน Internet ทำให้นักเรียนมีความรู้และความภูมิใจเกี่ยวกับชุมชนของตนเพิ่มขึ้น  รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการอ่าน และการเขียนของนักเรียนอีกด้วย

  4.  ครูสุวรรณา  สุภาพจน์  ครูปรียาภรณ์  แก้วน่วม จัดการเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนาโดยใช้วัดเป็นฐานจัดการเรียนรู้  พัฒนาความรู้ คุณธรรมตามหลักศาสนาให้กับนักเรียน

  5. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านโครงงาน   คณะครูกลุ่มสาระสังคมศึกษาออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนทำโครงงานคุณธรรม เยาวชนไทยทำความดีถวายในหลวง ประกอบด้วย

     1.1  โครงงานปันนำใจสู่น้องชายแดน  เป็นโครงงานที่ต่อยอดจากการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ซึ่งดำเนินการโดยครูกรรณิการ์  ประมงค์ และครูขวัญเรือน  แสนสุข  ได้จัดกิจกรรมนำสิ่งของและความรู้ไปมอบให้กับน้อง ๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาภายในจังหวัดเพชรบุรี  ถูกนำมาขยายผลเป็นโครงงานปันน้ำใจสู่น้องชายแดน  โรงเรียนบ้านแพรกตะคร้อ  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  โดยใช้หลักของเศรษฐกิจพอเพียง  ให้นักเรียนรู้จักการบริโภคที่พอเพียง  รู้จักแบ่งปันให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส  รวมทั้งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง  ด้วยการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 

     1.2  โครงงานเรารักเขาวัง  เป็นหนึ่งในโครงงานคุณธรรม เยาวชนไทยทำความดี ถวายในหลวงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ทำโครงงานพัฒนาเขาวังและทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book)  เรารักเขาวัง เผยแพร่การท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี

    1.3  โครงงานเรารักแม่น้ำเพชร   เป็นการบูรณาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ  เพื่อให้นักเรียนเห็นคุณค่าของแม่น้ำเพชรบุรี  ให้เกิดความตระหนักในการศึกษาถึงความสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี   และนำไปสู่การสร้างหน่วยการเรียนรู้และกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำในสาระการเรียนต่าง ๆ  ต่อไป  โดยได้เริ่มจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2550  

   6. บูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญและนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต

       การพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ดังนี้

  1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น  จากการสรุปผลการเรียนรู้ภาคเรียนที่ 1ปีการศึกษา 2550 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปีการศึกษาที่ผ่านมา   โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.34 คะแนน  สูงจากเดิมเมื่อ ปีการศึกษา 2549 ( 3.08 คะแนน) 
  2. ผลการประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์จากครูผู้สอนพบว่า  มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สูงขึ้นกว่าในปีการศึกษาที่ผ่านมาเช่นกัน

 

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

            ภาพของความสำเร็จดังกล่าว   เป็นผลจากการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน  รู้และเข้าใจในบทบาท  ภาระงานของกลุ่มสาระวิชาในสภาวะปัจจุบัน    และ ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง   ความมีเหตุมีผล  มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญสามารถสรุปข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโรงเรียนต่าง ๆ  ดังนี้

 1. ความสำคัญในการสร้างความสมดุลของการจัดการความรู้ภายในโรงเรียน  จากประสบการณ์พบว่า   ในอดีตที่ผ่านมาการพัฒนาการเรียนการสอนให้ความสำคัญจากแหล่งความรู้ภายนอก  ละเลยความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคลขององค์กร (Tacit Knowledge)   ทำให้บุคลากรขาดความเชื่อมั่นในการพัฒนาตนเอง  ขาดจินตนาการในการสร้างนวัตกรรม   ต้องพึ่งพิงผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา  การพัฒนาครูและบุคลากรภายในโรงเรียนจึงต้องทำอย่างครบกระบวนการเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก   ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติเพื่อนำไปใช้  (Learning by Doing Or Using)  ด้วยบรรยากาศของมิตรไมตรีและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 2. การจัดการเรียนรู้จากชุมชนสู่โลกกว้าง  ก่อให้เกิดผลการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนแบบ 6 E วิถีชุมชนสู่โลกกว้าง ด้วยการประยุกต์กิจกรรมการเรียนรู้แบบ 5 E (Inquiry Cycle) มาใช้ในการศึกษาชุมชน  แล้วจัดระบบความรู้สู่เครือข่ายสากลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  กิจกรรมดังกล่าวประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้

  1. engagement  ขั้นสร้างความสนใจ
  2. exploration  ขั้นสำรวจและค้นหา
  3. explanation  ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป
  4. elaboration  ขั้นขยายความรู้
  5. evaluation  ขั้นประเมินผล
  6. e -  Learning  ขั้นจัดระบบความรู้เผยแพร่สู่สากลด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

  3. การจัดทำศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงและข้อมูลชุมชน   เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและข้อมูลท้องถิ่น  ขยายผลต่อผู้เรียนและบุคคลภายนอก   สำหรับโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี  ได้ดำเนินการจัดทำเป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวเพชรบุรี    ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์กับเมืองเพชรบุรี  ข้อมูลทางด้านศิลปวัฒนธรรม  และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  โดยเชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลต่าง ๆ  ด้วยระบบที่ทันสมัย  เป็นศูนย์ศึกษาท้องถิ่นของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ    และประชาชนผู้สนใจทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ   

 

หมายเลขบันทึก: 322042เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2009 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาสวัสดีปีใหม่ค่ะ มีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพใจเข้มแข็ง ให้มีแต่ความสุขตลอดปี และตลอดไปนะค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณนพพล สำเภาเงิน

ไม่ทราบว่าเป็นคนเดียวกับที่เคยเป็นเพื่อนเราที่จังหวัดตากหรือเปล่า

เมื่อตอนอยู่ ม.ศ.3 น่ะค่ะเราอยู่ แม่สอดชื่อ อี้ด

ให้กำลังใจค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาเยี่ยมเยียน ด้วยความระลึกถึงค่ะ สบายดีนะค่ะ
  • มีความสุขมาก ๆ นะค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท