Quality of teachers and Educators and their life.คุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษากับการดำเนินชีวิต


สรุปการนำเสนอคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษากับการดำเนินชีวิต ในการประชุมครูอาเชียน ครั้งที่ 25 ระหว่าง 10-14 ธันวาคม 2552 ณ สาธารณรัฐเวียตนามเหนือ โดยทีมคณาจากจาก สกสค. ยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็น “Innovation of learning process” (นวัตกรรมกระบวนการเรียนรู้) ของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู สกสค. กระทรวงศึกษาธิการ ดังกล่าวแล้ว คุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษารวมถึงการดำเนินชีวิตของครูไทยก็จะเป็นไปตามแนวทางที่พึงประสงค์ และยังคาดหวังได้ว่า “คุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา และการดำเนินชีวิตของครู” จะช่วยส่งเสริมและสร้างคุณภาพการเรียนการสอนของครูหรือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน” ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา

Quality  of  teachers  and  Educators  and  their  life.

คุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษากับการดำเนินชีวิต

ดร.อำนาจ  สุนทรธรรม

ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู  สกสค.  ศธ.

                 กระแสโลกาภิวัตน์ (Globallization)  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์โลก  เป็นผลให้เกิดองค์การรูปแบบใหม่ (New  Organization)  ที่เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning  Organization)  ซึ่งนำไปสู่องค์การความรู้ (Knowledge  Organization)  และองค์การนวัตกรรม (Innovation  Organization)  ซึ่งองค์การรูปแบบใหม่ดังกล่าวจะเป็นองค์การที่สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในศตวรรษใหม่ (  New  Century)  เป็นองค์การที่เน้นความรู้  ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและคุณภาพของคนในองค์การทำให้องค์การมีความสามารถในการสร้างคนและการแข่งขันสูงขึ้น  คนในองค์การได้เรียนรู้ไปพร้อมกับความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ (Peter M.Drueker,2004)  และพบว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งโดยถือเป็นเกณฑ์หนึ่งในกลุ่มดัชนี “กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน”  ในการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ  ของ  International  Institute  for  Management  Development  หรือ  IMD  และ  World  Economic  Forum  หรือ  WEF  การศึกษาเป็นเกณฑ์ที่มีความสำคัญยิ่ง  หลายองค์การหลายประเทศจึงให้ความสนใจในกระบวนการศึกษา  โดยการเร่งปฏิรูปการศึกษา  ปฏิรูปการเรียนรู้หรือปฏิรูปการเรียนการสอน  ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพครูเป็นลำดับแรก  โดยเชื่อว่าหากครูมีคุณภาพแล้ว  กระบวนการเรียนการสอนหรือกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนก็จะเกิดคุณภาพ  และจะนำไปสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้  องค์การความรู้และองค์การนวัตกรรมในที่สุด

            ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับและเข้าใจตรงกันว่า “คุณภาพการเรียนการสอนของครูหรือคุณภาพ        การเรียนรู้ของผู้เรียนขึ้นอยู่กับคุณภาพของครูโดยตรง  ประเทศต่างๆจึงให้ความสนใจที่จะพัฒนาคุณภาพการผลิตและพัฒนาครูกันอย่างจริงจัง  เพื่อหวังผลสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา  ปฏิรูปการเรียนของผู้เรียน  เพื่อหวังผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีอันดับที่ดีขึ้น  เป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนถึงสมรรถนะของประเทศในเวทีโลกดังกล่าวแล้วในตอนต้น  สำหรับประเทศไทยก็ตระหนักและให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปการเรียนรู้เป็นอย่างมาก  โดยการปฏิรูปการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์รอบแรก  (First  round)  เมื่อสิบปีที่แล้ว  ด้วยการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติขึ้นเมื่อปี  พ.ศ. 2542  ซึ่งเป็นกฎหมายทางการศึกษาฉบับแรกของประเทศ  และมีกระบวนการดำเนินการ   ต่าง ๆ  อีกมากมาย  และพบว่าการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรกของประเทศไทยยังไม่ถึงจุดประสงค์หรือเป้าหมายที่เป็นที่น่าพอใจ  อันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม  เศรษฐกิจ  การเมืองและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษารอบที่สอง (Secound  round)  จึงประกาศขึ้นในปี  พ.ศ. 2552  โดยให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต  การเรียนฟรี  15  ปี  เน้นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและแข่งขันได้  โดยมีจุดเน้น  (Focus)  ที่การผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพเป็นลำดับแรก  ทั้งนี้ต้องการสร้างคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ

            จากการศึกษาวิจัยเพื่อเตรียมการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรกเมื่อปี  พ.ศ. 2542  พบว่าคุณภาพการเรียนการสอนของครูหรือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน  ขึ้นอยู่กับ  “คุณภาพของตัวครูและบุคลากรทางการศึกษา”  โดยตรง  และยังพบต่อไปว่า  “คุณภาพของตัวครูและบุคลาการทางการศึกษา”  มีความสัมพันธ์อย่างสูงยิ่งกับ  “กระบวนการผลิต  พัฒนา  การมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่และการดำเนินชีวิตของตัวครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งได้แก่  การดำเนินชีวิตในสังคมเศรษฐกิจ  การเมืองและเทคโนโลยียุคโลกาภิวัตน์”  ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า  “คุณภาพการเรียนการสอนของครูหรือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน”  ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษานั้น  จะขึ้นอยู่กับ  “คุณภาพของตัวครูและบุคลากรทางการศึกษา  รวมถึงการดำเนินชีวิตของครูและบุคลากรทางการศึกษา”  นั่นเอง  และในการศึกษาวิจัยยังพบว่าผลกระทบที่รุนแรงต่อคุณภาพของตัวครูและบุคลากรทางการศึกษาและการดำเนินชีวิตของตัวครูและบุคลากรทางการศึกษาก็คือกระแสโลกาภิวัตน์ด้านสังคม  เศรษฐกิจ  การเมืองและเทคโนโลยี

            Thomas  Friedman  กล่าวไว้ในหนังสือ  “The  World  is  Flat”  ว่า  กระแสโลกาภิวัตน์เป็นกระแสที่ก่อตัวเป็นระลอกคลื่นมากกว่า  500  ปีมาแล้ว  ในทำนองเดียวกับ  “Window 1.0, 2.0  และ  3.0  ในส่วนของกระแสโลกาภิวัตน์ก็มีกระแสโลกาภิวัตน์ระลอกที่  1  ที่  2  และที่  3  ซึ่งปัจจุบันก็เข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ระลอกที่  3  ไปแล้ว  นั่นคือกระแสโลกาภิวัตน์ระลอกที่  1  เรียก  “Globalization  of  Nation  State  (รัฐภิวัตน์)”  เกิดขึ้นเมื่อ  500 – 600  ปีที่ผ่านมา  โดยการขยายอำนาจด้วยการใช้กำลังทางการทหาร  โลกาภิวัตน์ระลอกที่  2  เรียกว่า  “Globalization  of Companies  (บรรษัทภิวัตน์)”  เริ่มเมื่อปี  ค.ศ. 1800  จากการปฏิวัฒน์อุตสาหกรรมที่อังกฤษ  แล้วก็แผ่ขยายในรูปแบบของการแสวงหาอาณานิคม  จนมาถึงระบบการค้าปัจจุบันและระลอกที่  3  ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี  ค.ศ. 2000  เรียกว่า  “Globalization  of  People  (ปัจเจกภิวัตน์หรือประชาชนภิวัตน์)”  เป็นกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ  ของโลก  โดยผู้คน  (ประชากรของโลก)  มีโอกาสที่จะแข่งขันกันพร้อม ๆ กับร่วมมือกันทั้งในด้านกายภาพ (Physical  spases)  และด้านความคิดความเชื่อหรือวัฒนธรรม  (Virtual  spases)  เป็นเหตุก่อให้เกิดพลวัตการเปลี่ยนแปลง  (Dynamic  Change)  ในภูมิรัฐศาสตร์โลก  ในการเงินโลก  ในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ  และในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศในภาคอุตสาหกรรม  นั่นคือกระแสโลกภิวัตน์ทำให้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์โลก  ทำให้เกิดองค์การรูปแบบใหม่ที่เป็น  “Learning  Organization : LO (องค์การแห่งการเรียนรู้)”   ซึ่งกระแสโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้มีผลกระทบรุนแรงต่อ  “คุณภาพของตัวครูและบุคลากรทางการศึกษา  รวมถึงการดำเนินชีวิตของตัวครู”  ดังกล่าวแล้ว

            กระแสโลกาภิวัตน์ด้านสังคมเศรษฐกิจ  การเมืองและเทคโนโลยี  โดยเฉพาะระลอกที่  3  คือ   Globalization  of  People    จะเน้นที่จะผลิตพัฒนาและส่งเสริมให้คนดำเนินชีวิตเพื่อการสร้างคุณภาพและการแข่งขันในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้  (Knowledge  Based  Sosiety  and  Economy)  ซึ่งสังคมเศรษฐกิจ  (Socio-economy)  เป็นสังคมเศรษฐกิจที่เน้นคุณภาพและการแข่งขันด้วย  “ความรู้”  ความเร็วของการเปลี่ยนแปลง”  และ  “ความเก่ง  ความสามารถ/สมรรถนะของคน”  ซึ่งรวมเรียกว่า  “ทุนทางปัญญา”  (Intellectual  Cappital : IC)  ซึ่งเป็นสินทรัพย์  (Asset)  ที่มีมูลค่ามากที่สุด  เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนจับต้องไม่ได้  (Intangible  Asset)  เป็นสินทรัพย์ที่แตกต่างไปจากสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางบัญชี  (Tangible  Asset)  หรือสินทรัพย์ที่จับต้องได้  ตามเศรษฐกิจรูปแบบเดิม  (Old  Economy)  ที่เคยยึดถือกันอยู่  เช่น  ที่ดิน  อาคาร  เครื่องมือ  เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้า  โดยภาพรวมสังคมเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ระลอกที่  3  ส่งผลต่อการจ้างงาน  ต่อรายได้  ต่อดัชนีค่าครองชีพ  โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพครู  ซึ่งต้องทุ่มเทและมุ่งมั่นต่อการสร้างคุณภาพการเรียน  การสอน การเรียนรู้ของผู้เรียน  จึงได้รับผลกระทบโดยตรงต่อสังคม  เศรษฐกิจ  การเมืองและเทคโนโลยียุคโลกาภิวัตน์อย่างรุนแรง ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศ  ซึ่งก็เติบโตมาจากครอบครัวระดับสังคมเศรษฐกิจชั้นกลางไป  (Socio-economy  middle  class)  มีภาวะหนี้สินที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในการศึกษาและพัฒนาวิชาชีพ  จากการดูแลครอบครัวในด้านที่อยู่อาศัย  การศึกษาของบุตรและการดูแลบุตร  รวมถึงหนี้สินอันเกิดจากภาวะทางสังคม  ด้วยภาระหนี้สินที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีอยู่  ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างมาก  และก็เป็นที่ประจักษ์ชัดและยอมรับกันว่า  “การดำเนินชีวิตของครูและบุคลากรทางการศึกษาในภาวะหนี้สินในภาวะขาดแคลนสวัสดิภาพสวัสดิการ”  มีผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษา  มีผลกระทบรุนแรงต่อการสร้างคุณภาพการเรียนการสอนหรือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน  แต่ประเทศไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการจึงปฏิรูปการศึกษา  โดยการปฏิรูป  “คุรุสภา”  ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพครูที่ตั้งขึ้นปี  พ.ศ. 2488  โดยทำหน้าที่ใหม่  2  ประการ  คือ  (1)  ทำหน้าที่ดูแลเรื่องมาตรฐานวิชาชีพครูมีคุรุสภาเดิมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ  และ  (2)  ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสวัสดิการและสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา  โดยกำหนดหน่วยงานใหม่ที่เรียกว่า  “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา  หรือ สกสค.  เป็นหน่วยงานรับผิดชอบขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงศึกษาธิการ

            การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการ  สกสค.  เพิ่มขึ้นจากการที่มีคุรุสภาอย่างเดียวในอดีต  เป็นการยอมรับและเชื่อกันว่า  “สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาของประเทศไทยในยุคสังคมเศรษฐกิจกระแสโลกาภิวัตน์”  มีผลโดยตรงต่อ  “คุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาและ  การดำเนินชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษา”  โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา  ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช  (Sufficiency  Economy  Philosophy  of the  King)  โดยเน้นหลัก  “พอประมาณ - มีเหตุมีผล  -  มีภูมิคุ้มกัน  ใช้ความรู้ปัญญาและคุณธรรมเป็นเงื่อนไขสำคัญ”  และกระบวนการทำงาน  การประสานงานและร่วมมือของหน่วยงาน  3  หน่วยงาน  คือ  (1)  กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.  (2)  คณะกรรมการประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตครูระดับประเทศ  ภูมิภาคและจังหวัด  และ  (3)  สถาบันการเงินคือ  ธนาคารออมสิน  ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ  ได้ร่วมกันจัดตั้งหน่วยงานเป็นองค์การอิสระ  เรียกว่า  “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู”  มีคณะกรรมการ  กฎ  ระเบียบ  และข้อบังคับซึ่งออกโดยคณะกรรมการ  สกสค.  กระทรวงศึกษาธิการ  เป็นผู้กำกับดูแล  โดยมีผู้อำนวยการศูนย์และบุคลากรของศูนย์ปฏิบัติงานตามข้อบังคับ  เพื่อทำหน้าที่ในการประสาน  สนับสนุน  ส่งเสริม  และดำเนินการในการแก้ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา  การเยียวยา  ป้องกัน  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูเพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีขวัญกำลังใจที่เข้มแข็ง  สร้างศรัทธาความเชื่อมั่นให้กับสังคม  และสังคมยอมรับนับถือ  ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถทุ่มเทและมุ่งมั่นต่อการสร้างคุณภาพการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่  โดยปราศจากภาวะที่จะมาบั่นทอนขวัญกำลังใจ  ภาวะที่จะมาเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษา

            ยุทธศาสตร์สำคัญของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู  สกสค.  กระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งนับได้ว่าเป็น  “ Innovation”  สำหรับการสร้าง  “คุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา  รวมถึงการดำเนินชีวิตของครูที่มีผลโดยตรงต่อการสร้างคุณภาพการเรียนการสอน  หรือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนได้แก่

            1.  ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา  โดยความร่วมมือของ  3  หน่วยงาน  คือ  (1)  กระทรวงศึกษาธิการ  โดยสำนักงานคณะกรรมการ  สกสค.  (2)  คณะกรรมการเครือข่ายพัฒนาชีวิตครูระดับประเทศ  ภูมิภาคและจังหวัด  และ  (3)  สถาบันการเงินคือ ธนาคารออมสิน  ใช้กระบวนการวิเคราะห์สภาพหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา  ปรับโครงสร้างหนี้และรวมหนี้  จัดเข้ากลุ่มพัฒนาเป็นกลุ่มเล็ก  (5-10  คน)  และกลุ่มใหญ่  (50  คน)  เข้ากระบวนการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ  ของธนาคารออมสินโดยมีตำแหน่งครูและสมาชิกเครือข่ายพัฒนาครูค้ำประกันตามเงื่อนไข

            2.  ยุทธศาสตร์ป้องกันและพัฒนาคุณภาพชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช  โดยกระบวนการอบรมพัฒนา  เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้เกิดเจตคติในเรื่อง  “ความพอประมาณ”  “ความมีเหตุมีผล”  และ  “ความมีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต”  โดยใช้ความรู้สติปัญญาและคุณธรรมเป็นเครื่องกำกับการดำเนินชีวิต  และการนำไปปฏิบัติจริงให้เห็นผล

            3.  ยุทธศาสตร์การลดรายจ่าย -  เพิ่มรายได้เพื่อลดปัญหาและความทุกข์ยาก  การดำเนินชีวิตของครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้กลวิธี  (Tactics)  ชี้ให้เห็นทุกข์ – ปลูกให้เห็นธรรม – นำให้เห็นแสงสว่าง  แล้วนำเสนอโครงการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยกิจกรรมการขอให้มีและเลื่อนวิทยฐานะครูหรือการเลื่อนวิทยฐานะครูเพื่อมีสิทธิของรับเงินค่าวิทยฐานะของตำแหน่งครู  และกิจกรรมการพัฒนาสื่อนวัตกรรมต้นแบบเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้แล้วนำไปสร้างและผลิตเชิงพาณิชย์  จะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีรายได้เพิ่มขึ้น

            4.  ยุทธศาสตร์พัฒนาวิชาชีพครูเพื่อให้เป็นครูมืออาชีพตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ  โดยกระบวนการพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  มุ่งมั่นสู่คุณภาพและการแข่งขันได้  ด้วยการใช้กระบวนการวิจัยและกระบวนการพัฒนาเป็นเครื่องมือสำคัญและตัวชี้วัดความสำเร็จ

            จึงเป็นที่คาดหวังได้ว่าหากได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็น  “Innovation  of  learning process”  (นวัตกรรมกระบวนการเรียนรู้)  ของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู  สกสค.  กระทรวงศึกษาธิการ  ดังกล่าวแล้ว  คุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษารวมถึงการดำเนินชีวิตของครูไทยก็จะเป็นไปตามแนวทางที่พึงประสงค์  และยังคาดหวังได้ว่า  “คุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา  และการดำเนินชีวิตของครู”  จะช่วยส่งเสริมและสร้างคุณภาพการเรียนการสอนของครูหรือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน”  ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา

................................................................

 เอกสารอ้างอิง

 Marquardt , M. (1996). Building the  learning  Oragnization.  New  York : Mc Graw – Hill.

___________(2005). Building the Learning  Organization: Mastering the 5 Elements for  Corporate Learning.  California  94303  USA : Davies-Black  Publishing.

Noparat Positong (2007).  Knowledge  Management…In Action for the  Quailty  and  Competitiveness. S and G  Graphic, Bangkok, Thailand.

___________(2007). Professional  Principalship.  Suan Dusit  Rajaphard  University  Press,  Bangkok, Thailand.

Peter  F.  Drucker  (2004).  What  makes  an  Effective  Executive, The  Discipline  of  Innovation,  Knowledge-Worker  Productivity : The  Biggest  Challenge.  Harvard  Business  School  Publishing.

___________(2006).  Classic  Drucker.  Hasvard  Business  School  Publishing  Corporation.

 

 

หมายเลขบันทึก: 323466เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2009 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณ  ครูอ้อย  ดีใจด้วยครับที่ได้เห็นทุกภาพที่ครูส่งมา จงมีความสุขความเจริญตลอดปี 2010

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท