ประเพณีปักธงชัย


หนึ่งเดียวในโลก

          อาจารย์จูน หรืออาจารย์อรุโณทัย อ่อนอ้าย ผอ.รร.จันทราพระกิตติคุณนครไทย เชิญข้าพเจ้าไปเที่ยวงานประเพณีปักธงชัยทุกปีแต่ยังไม่สบโอกาสเหมาะสักที
          ปีนี้ท่านก็เชิญอีกอยู่ในช่วงลอยกระทง และพิเศษท่านประกอบพิธีเปิดบ้านพักพิงใจ เป็นลักษณะรีสอร์ทพักค้างคืนเป็นหมู่คณะได้ มีหอประชุมสำหรับการประชุมสัมมนากลุ่มย่อยได้ด้วย
          ข้าพเจ้าชักชวนเพื่อนครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จำนวนสิบคนหนึ่งคันรถตู้พอดีออกเดินทางแต่เช้ากะถึงนครไทยสามโมงเช้า
           ร่วมเป็นเกียรติพิธีเปิดบ้านพักพิงใจมอบของที่ระลึกให้เจ้าภาพเป็นพิธีทางศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสแตนท์ ท่านจุติ ไกรฤกษ์ สส.พิษณุโลก เป็นประธาน เสร็จพิธีเจ้าภาพเลี้ยงอาหารโต๊ะจีน           
           อิ่มหนำสำราญแล้วก็อยากจะเดินย่อยอาหาร โดยความตั้งใจเดิมมีจุดประสงค์ร่วมประเพณีปักธงชัย เพื่อศึกษาประเพณีของท้องถิ่นจึงสอบถามชาวบ้าน ทราบว่าวันนี้มีประเพณีนำธงไปบวงสรวงอนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางหาวและแห่ริ้วขบวนในตลาดเท่านั้นจะมีพิธีปักธงชัยแห่ขึ้นเขาในวันลอยกระทงคือวันพรุ่งนี้ เป็นอันว่ามาผิดวันแต่ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ พวกเราสอบถามว่าถ้าพวกเราจะเดินขึ้นเขาช้างล้วงกันตามลำพังจะมีอันตรายไหม ชาวบ้านตอบแบบไม่ค่อยเชื่อหูตัวเองคล้ายกับว่าพวกเราพูดจริงหรือเปล่าว่าได้
          จากนั้นจึงติดต่อคุณอ้อซึ่งเป็นคนนครไทยเป็นไกด์นำทาง นำรถยนต์ไปฝากบ้านพักเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ตรงทางขึ้นอุทยานซึ่งให้การต้อนรับคณะของเราด้วยอัธยาศัยไมตรีดีเยี่ยมโดยเฉพาะขากลับลงมาจากเดินเขาทั้งเหนื่อยทั้งหิวและกระหายท่านดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
         ความรู้เกี่ยวกับประเพณีปักธงชัยพอสรุปได้ดังนี้
    พิธีกรรม
สมัยโบราณ มีพิธีกรรมดังนี้
         ๑. เมื่อใกล้เทศกาลปักธงชัย เวลากลางคืนจะมีชาวบ้านที่เป็นชายเป็นผู้ตีฆ้องเดินนำหน้าพระภิกษุไปรับบิณฑบาต "ดอกฝ้ายสีขาว" จากนั้นสตรีสูงอายุในหมู่บ้านใกล้ๆ วัดเหนือ วัดกลาง และวัดหัวร้อง จะชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันตากฝ้าย หีบฝ้าย ดีดฝ้าย และเข็นฝ้าย (ปั่นฝ้าย) เมื่อได้เส้นด้ายขาวนวลแล้วจึงช่วยกันทอธงผ้าขาว ๓ ผืน จาก ๓ หมู่บ้าน
         ๒. ในวันพิธีปักธงชัย ชาวอำเภอนครไทยจะนำอาหารหวานคาว และนิมนต์พระภิกษุขึ้นไปยังเทือกเขาช้างล้วง ถวายภัตตาหารเพล ผู้นำชาวบ้าน จะกล่าวคำถวายธงผ้าขาวต่อพระภิกษุด้วยภาษาบาลี พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ชาวบ้านจะนำธงผ้าขาวมาผูกติดกับด้ามไม้ไผ่ นำไปปักบนร่องหินธรรมชาติ ณ ยอดเขาฉันเพล ยอดเขายั่นไฮ และยอดเขาช้างล้วงตามลำดับ หลังจากเสร็จพิธีปักธงชัยแล้ว ชาวบ้านจะเล่นดนตรีพื้นบ้านและฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานลงมาจากยอดเขา
ปัจจุบัน มีพิธีกรรมดังนี้
          ๑. เมื่อใกล้เทศกาลปักธงชัย ชาวอำเภอนครไทยในหมู่บ้านใกล้วัดเหนือ วัดกลาง และวัดหัวร้อง จะช่วยซื้อฝ้ายและช่วยกันทอธงผ้าขาวขนาดกว้าง ๙๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร จำนวน ๓ ผืน จาก ๓ หมู่บ้านและทอเป็นลวดลายบริเวณชายธงอย่างสวยงาม
           ๒. เวลาเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ จะนำธงไปทำพิธีบวงสรวงที่อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางหาวภาคบ่ายมีการประกวดริ้วขบวนจากทุกหมู่บ้าน กลางคืนจัดงานรื่นเริงฉลอง
๓. รุ่งเช้าของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตั้งริ้วขบวนรถยนต์ เคลื่อนไปตามถนนแล้วเดินผ่านคันนาขึ้นไปประกอบพิธีปักธงชัยเช่นเดียวกับในสมัยโบราณ ตอนกลางคืนจัดงานลอยกระทงและมีการละเล่นต่าง ๆ

     สาระ
ประเพณีปักธงชัยเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่า ทำให้ประชาชนรู้สึกผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิด ซึ่งก่อให้เกิดความรัก สามัคคีและช่วยเหลือกัน และเชื่อว่าหากปีใดไม่ปฏิบัติประเพณีนี้ ชาวนครไทยจะเกิดภัยพิบัติจากโรคภัย ภัยธรรมชาติ หรือเกิดไฟไหม้บ้านเรือน
        สมกับเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกจริงๆ 

 
 
 
หมายเลขบันทึก: 323901เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2009 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท