ปีใหม่ การบ้านใหม่


Death and Dying

สวัสดีปีใหม่ นักศึกษาทุกท่าน

เราเดินทางมาระยะหนึ่งแล้ว ใกล้เป้าหมายเข้าไปแล้วนะครับ ตอนนี้วิชา Epidemiology และ Biostatistics ก็กำลังเข้มข้นมากขึ้นlส่วนวิชา Public Health Skill Development เราก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นระยะๆ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร อยากจะเห็นพวกเราแสดงความคิดเห็นกันมากกว่านี้

 

1. ประเด็นที่เราได้ยกมาแลกเปลี่ยนกันเริ่มตั้งแต่มุมมองด้านสุขภาพ ซึ่งมีการพูดถึงการนิยามสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มีการกล่าวถึงธรรมนูญด้านสุขภาพ และเราได้คุยกันถึงมุมมองที่แตกต่างของความหมายสุขภาพในนัยยะของสถานะ (State) กับมองในฐานะ ที่เป็น ศักยภาพและทรัพยากร (Capacity and resource) ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแนวนโยบายด้านสุขภาพและการสาธารณสุขด้วย เราได้พูดถึงความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงโครงสร้างทางสังคม ที่มีผลต่อความไม่เป็นธรรม และการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เมื่อเราพูดถึงโครงสร้าง เราต้องคิดถึงแบบแผนของความสัมพันธ์ โครงสร้างทางสังคม ก็จะเป็นการมองถึงความสัมพันธ์ของคนในสังคม โครงสร้างของระบบสุขภาพ เราก็ต้องมองถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆในระบบสุขภาพ ว่าลักษณะความสัมพันธ์เหล่านี้ จะทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นหรือไม่  หากเรามองย้อนไปนับแต่ระยะแรกของการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งแผนแรก เริ่มจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในยุคนั้น เราเร่งรัดการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มผลผลิต เรามีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่นถนนหนทาง บริการด้านสุขภาพ การศึกษา ฯลฯ แต่โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบที่ตามมา คือการเกิดสังคมในลักษณะทวิลักษณ์ (Dualistic Society) ที่แบ่งชัดระหว่าภาคเมืองกับภาคชนบท ความแตกต่างเหล่นนี้กระทบต่อโอกาสและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชนบท จนอาจารย์ประเวศ วะสี กล่าวว่า “คนจนในชนบท จนถึงเลือดถึงเนื้อ” จนจนเป็นโลหิตจาง คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบต่อการพัฒนาสุขภาพของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาชน (ที่ขณะนี้เป็นกลุ่มท่านทั้งหลายนั่นเอง คือกลุ่มที่ขณะนี้ อายุ ต้น 40- 50 ปี) ลองคิดดูว่าหากเด็กเกิดมาจน มีภาวะโลหิตจางทั้งจากการขาดอาหารและการมีพยาธิ รวมถึงโรคทางพันธุกรรม คือทาลาสซีเมีย เด็กเหล่านี้จะมีโอกาสพัฒนาทางสมองได้เท่าเทียมกับเด็กที่เกิดมาในเขตเมือง ที่พ่อแม่มีโอกาสเข้าถึงบริการมากว่า ได้อย่างไร

 

มาถึงปัจจุบัน ในยุคโลกาภิวัตน์ ลักษณะสังคมไทยเป็นพหุลักษณ์ มีความหลากหลายทั้งในเชิงกายภาพ และวัฒนธรรม มีความเป็นเมืองในชนบท วิถีชนบทถูกกระแสทุนนิยมเข้าไปครอบงำการใช้ชีวิตและการบริโภค แบบแผนปัญหาจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นตามความซับซ้อนของโครงสร้างทางสังคม ลักษณะความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพจึงเกิดขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น และการที่จะแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมนั้น เราจะต้องมองปัญหาในเชิงโครงสร้างให้ชัดเจน และควบคู่กันไปคือการปรับกระบวนทัศน์การแก้ปัญหาที่จะต้องเน้นการเสริมสร้างการพัฒนามนุษย์ให้สามารถพัฒนาให้เต็มศักยภาพ  แม้เกิดมาจะมีทุนมนุษย์ (Human Capital) มาไม่เท่ากัน และบางคนมีความจำกัดแต่กำเนิด เราจะต้องจัดโอกาสให้เขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงการพัฒนา โดยเสมอภาค และโดยเฉพาะกลุ่มที่เกิดมาด้วยความจำกัด ไม่ว่าจะพิการทางกาย ทางสมอง หรือตำแหน่งแห่งหนในสังคมที่เขาสังกัด ทำให้เขาขาดโอกาส บุคคลเหล่านี้ควรจะอยู่ในลำดับความสำคัญต้นๆด้วย

 

2.  ความพยายามในการสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพ ตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ใช้กลไกทางการเงินการคลัง ปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เพื่อเอื้อให้ทุกคนมีความเสมอภาคด้านการเข้าถึงบริการนั้น เราได้ริเริ่มและประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการทำให้ภาคการเมืองยอมรับและขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนา ในฐานะที่เราจะต้องดูแลและพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการอย่างเหมาะสมตามความจำเป็น  นั้น พันธะกิจนี้ ยังคงต้องเร่งรัดดำเนินต่อไป ให้บริการที่เราจัดในระดับต่างๆนั้นมีความสมดุล และสามารถสนองตอบต่อการแก้ปัญหาสุขภาพของประชากรในเขตรับผิดชอบได้อย่างแท้จริง

 

                ดังที่เราตระหนักดีว่า ประมาณร้อยละ 80 ของปัญหาสุขภาพ สามารถแก้ไขได้ในระดับปฐมภูมิ และเราพยายามเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพบริการปฐมภูมิ ให้สามารถรองรับการแก้ปัญหาสุขภาพของประชากรได้ ทั้งยังจะต้องให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า หากจำเป็นเขาจะได้รับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสม ในการเลือกใช้บริการในระดับเหนือขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นทุติยภูมิ หรือตติยภูมิ ทั้งจะได้รับความสะดวก มั่นใจ ว่าเขาจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

 

ความพยายามในการยกระดับคุณภาพบริการปฐมภูมิ ให้ใกล้บ้าน ใกล้ใจ มั่นใจในคุณภาพ และความต่อเนื่องของบริการ นั้นแต่ละ CUP ก็มีการพัฒนารูปแบบและนวัตกรรมต่างๆ และโดยภาพรวม จะเห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนโดยพิจารณาจากระดับความพึงพอใจในบริการของประชากรเป้าหมาย อย่างไรก็ดี เราคงจะต้องพิจารณากันให้ชัดเจนว่า ความพึงพอใจในบริการที่ว่านั้น เป็นความพึงพอใจในมิติใดของคุณภาพบริการ เช่น มิติความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ “ไม่หน้างอ รอนาน” หรือคุณภาพในแง่การสนองตอบต่อการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ รักษาได้หาย หรือมีบริการที่ต่อเนื่อง ฯลฯ

 

ผมได้ส่งหนังสือ “บนเส้นทางธรรม ฝ่าวิกฤตชีวิต” ซึ่งเขียนโดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง กานดา วัฒโนภาส อดีตคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผมขออนุญาตอาจารย์ให้ประกอบการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษา และอาจารย์ได้กรุณาอนุญาต ทั้งอนุโมทนาในความตั้งใจดี ที่พวกเราจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของอาจารย์ เพื่อนำไปพัฒนารูปแบบบริการที่ตนรับผิดชอบให้มีคุณภาพ สามารถสนองตอบต่อปัญหาความจำเป็นแท้จริงของประชากร ประเด็นที่ผมอยากให้พวกเราช่วยคิดต่อไปก็คือ

 

ประเด็นเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยในภาวะใกล้ตาย และการตาย (Death and Dying) ซึ่งพวกเราคงต้องนำไปคิดต่อ เพราะโดยโครงสร้างประชากรของเรา หนีไม่พ้นที่จะต้องมีปัญหาโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง (Chronic Diseases) ที่ต้องรับบริการในระยะยาว อย่างต่อเนื่อง การที่จะให้ผู้ป่วยมีชีวิตต่อไปอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จะทำได้อย่างไร? ในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบ มีผู้ป่วยและครอบครัวหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ที่มีทุกข์ซ้ำซาก คนหนึ่งป่วยหนัก อีกคนหนึ่งก็ป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่เฉพาะกับคู่สมรส หรือ อยู่คนเดียว (Elderly living alone)

 

ก.      ใช้บทเรียนจากหนังสือนี้ เป็นเสมือน Bench marking คือ เป็น reference แล้ว นำปัจจัยที่สกัดได้เหล่านั้นมาคิดต่อว่า เราจะประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบริการในพื้นที่ของเราได้อย่างไร?

ข.      สกัดปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยให้ care giver และผู้ป่วย มีกำลังใจ สามารถรับกับความเครียดได้ มองเห็นคุณค่าของตนเอง ฯลฯ และนำเสนอ รูปแบบและนวัตกรรมการพัฒนาบริการปฐมภูมิที่เหมาะสมกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม ในพื้นที่ที่ท่ารับผิดชอบ

หมายเลขบันทึก: 324437เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2010 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

จริงๆยังไม่ได้อ่านหนังสือที่อาจารย์ส่งมาเลยค่ะ ว่าจะอ่านเสาร์อาทิตย์นี้ เห็นแค่ชื่อเรื่องกับอ่านคำนำ คิดว่าสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้แน่นอน โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลตอนนี้ เนื่องจาก อันดับ 1การตายของผู้ป่วยใน คือผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทางโรงพยาบาลกำลังเตรียมทำแนวทางในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่พอดี แล้วจะมาตอบการบ้านนะค่ะ

ชอบ บทนำที่ อ.สรุป ประเด็นมาก ช่วยให้ ได้คิด ศึกษา และทำงานได้ตรงเป้ามาก

สำหรับการดูแลผู้ป่วยในภาะวะใกล้ตายและการตายนั้น เป็นเรื่องหนึ่งที่ทางรพ.กาญจนดิษฐ ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่ง

คือเริ่มจาก

1.ให้ทีมงานผู้ให้บริการทุกคน เข้าใจปัญหาและยอมรับเป็นงานที่ เราควรมีส่วนร่วมในการดูแลต่อเนื่องร่วมกับญาติผู้ป่วย(มิใช่ปฎิเสธการดูแล เพราะเป็นว่าไม่สามารรักษาได้แล้ว)

2.ประเด็นปัญหาของผป.และญาติใน ภาวะนี้

ทุกข์จากความเครียด ความกลัว ความเสียใจ ของผู้ป่วยและญาติ

ความทุกข์ทรมานจากอาการป่วยที่เพิ่มขึ้น

ความพยายามดิ้นรณหาวิธีการรักษา ทุกวิถีทาง ไร้ทิศทาง ทำให้ เพิ่มความเสี่ยงอันตรายโดยไม่รู้ และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายต่างๆของครอบครัวอย่างมากมาย

3. รพ.จึงเริ่ม ด้วยการ

ให้ความสำคัญ ไม่ปฏิเสธการดูแล

ให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคและการดูแล, การปฏิบัติตัวสำหรับผป.และญาติ หรือเฉพาะญาติที่ยังไม่ต้องการให้ผู้ป่วยรับรู้ในระยะแรก รพ.ต้องให้ความร่วมมือกับญาติและค่อยๆ ให้ข้อมูลผู้ป่วยให้ยอมรับที่ละน้อย ว่าต้องรักษาต่อเนื่องนาน -> ไม่สามารถรักษาหายขาดเป็นปกติได้-> อาการจะเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น ซึ่งต้องใช้จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการให้ข้อมูลแต่ละระยะ

เป็นที่พึงที่ปรึกษา ให้กับผู้ป่วยและญาติอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้ข้อมูล การเลือกการรักษา ทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสมตราบเท่าที่ผู้ป่วยและญาติยังมีความหวัง และไม่ถูกหลอกเสียเงินฟรี

ให้บริการ ช่วยดูแล รักษาตามอาการที่เหมาะสมเมื่อ ถูกร้องขอ พร้อมทั้งแนวทางวิธีการดูแลต่อที่บ้าน

ให้บริการ ช่วยดูแล จนถึงสิ้นลมหายใจใน รพ.ในรายที่ ไม่พร้อมจะกลับบ้านก่อน ด้วยกิจกรรม พิธิกรรมที่สอดคล้อง กับ หลักศาสนา

เมื่อวานนิ้เอง ตอนเย็นใกล้ค่ำ ผมได้รับโทรศัพท์ จากญาติ ผู้ป่วย มะเร็งที่เสียชีวิตใน โรงพยาบาล ตอนแรกตกใจกลัวเป็นเรื่องร้องเรียน แต่ กลายเป็น คำขอบคุณด้วยความตื้นตันใจจนพูดแทบไม่ออกน้ำเสียงสั่นเครืออจาก ลูกชายผู้เสียชีวิต ที่รพ.ได้ช่วยเหลือดูแลคุณแม่เป็นอย่างดี และจัดพิธีกรรม จนท.และญาติ ขอขมาโทษ ที่อาจล่วงเกิน นิมนต์พระ สวด ก่อนสิ้นใจ และยังส่งตัวแทนไปวางพวงหรีดร่วมทำบุญในงานศพอีก

Case นี้ ไม่ใช่ผป.ในความดูแลของผม ตั้งใจว่าวันนี้ จะต้องแจ้งน้องหมอเจ้าของไข้ และทีมพยาบาลที่ตึก ให้ร่วมรับความสุขความภาคภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำ

หนังสือของอาจารย์ ได้รับแล้วครับ แต่ยังไม่ได้อ่าน อ่านและจะแลกเปลี่ยนมาใหม่ครับ

พ.เอกชัย

ในเรื่องนี้มีความคิดเห็นมากมายครับ ผมขอเชิญเข้าไปดูทีwww.thailivingwill.in.th จะมีบทความในเรื่องที่น่าสนใจอยู่มาก โดยเฉพาะ มาตรา 12 จาก พรบ.สุขภาพ ผมกำลังอ่านอยู่ครับ ในส่วนโรงพยาบาลก็มีการให้บริการในด้านนี้อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง

palliative care ขณะเดียวกันก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเคารพการตัดสินใจของผู้ป่วยด้วย

“Living well, aging well, dying well” ขอสวัสดีปีใหม่ทุกๆท่านครับ อย่าได้เจ็บ อย่าได้จน

พรเจริญ เจียมบุญศรี

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์

ประเด็นเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยในภาวะใกล้ตาย และการตาย (Death and Dying)นั้น ทางโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณกำลังให้ความสนใจมากและได้เตรียมทีมงานในการดูแลผู้ป่วยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้กำลังเตรียมอาคารที่สร้างเสร็จใหม่กำลังจะให้เป็นสถานที่ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเป็นสัดส่วนและให้อยู่ในความดูแลของแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัว โดยแบ่งการทำงานการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายออกเป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มที่ต้องการเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน กับกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือถึงที่สุดภายใต้การดูแลของแพทย์ เมื่อวางระบบเสร็จแล้วจะถ่ายรูปและมาเล่าให้ฟังอีกครับ

รักและคิดถึงอาจารย์เสมอ

พรเจริญ

ประเสริฐ ตั้งจิตธรรม

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์ ขอบคุณสำหรับหนังสือ

ในประเด็นต่างๆที่อาจารย์ได้เกริ่นนำไว้ ผมขอออกความเห็น

1.เรื่องธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ตามมาตรา 48 นั้นเพื่อให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบและแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีการทบทวนธรรมนูญ ทุก 5 ปี ผมได้พยายามอ่านแล้วมี 111 มาตรา 12 หมวด ตั้งแต่แนวคิด เป้าหมายระบบสุขภาพ หลักประกันสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน การบริการและคุณภาพ แพทย์ทางเลือก คุ้มครองผู้บริโภค สร้างองค์ความรู้ เผยแพร่ข้อมูลสุขภาพ สร้าง/พัฒนาบุคคลากรสุขภาพ และการเงินการคลังระบบสุขภาพ คิดว่าเนื่องจากเป็นธรรมนูญ จึงไม่สามารถเขียนลงรายละเอียดได้แต่ให้เป็นพันธะร่วมของสังคมและเป็นฐานอ้างอิง

โดยรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนดำเนินการ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ผู้บริหารประเทศ กระทรวง กรม จังหวัด อำเภอ อปท เครื่อข่ายสุขภาพ หรือแม้แต่ระดับบุคคล/สังคมโดยกว้าง ต้องรับรู้ ตระหนัก เห็นความสำคัญ และร่วมดำเนินการ อาจถือเป็นวาระสำคัญวาระหนึ่งของชาติ

2.การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (ให้ใกล้บ้าน ใกล้ใจ มั่นใจในคุณภาพ และความต่อเนื่องของบริการ)นั้นผมเชื่อเรื่อง คนและระบบ

2.1ตอนนี้คน(ผู้ให้บริการ)ขาดแคลนทั้งคุณภาพและปริมาณ สังเกตุจาก งานจะเกิดผลงานถ้า บุคคล...รับผิดชอบ ในขณะเดียวกันเมื่อบุคคลดังกล่าวไม่รับผิดชอบ งานก็...มีผลงานลดลง

2.2 ระบบ บางครั้งเราจะได้ยินว่า ให้พื้นที่ไปดำเนินงานตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งก็เป็นการเปิดกว้างของระบบ แต่เชื่อไหมว่าจังหวัดๆหนึ่งคงมีระบบเรื่องหนึ่งมากมาย สังเกตุ จากระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลในประเทศมีหลายโปรแกรม ต่างมีเอกเทศของตนเอง ในขณะที่เอกชน เช่น 7-11 มีระบบส่วนใหญ่เหมือนกันทั่วประเทศ น่าจะมีประสิทธิ์ภาพและ ผู้ซื้อมีความพึ่งพอใจ

แต่ผมเชื่อว่าทุกพื้นที่มีความพยายามพัฒนาระบบปฐมภูมิตามบริบทและศักยภาพของตนเอง

3.การดูแลผู้ป่วยในภาวะใกล้ตาย และการตาย จากหนังสือคงเป็นตัวอย่างที่ดีในการบอกถึงความสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องคงต้องจัดระบบการดูแลญาติ/ผู้ป่วยในภาวะใกล้ตาย และการตายให้มากขึ้น และหนังสือยังเป็นตัวอย่างของวิธีหนึ่งของบริการการดูแลญาติ/ผู้ป่วยในภาวะใกล้ตาย และการตาย

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์ ผมไม่ได้อยู่ รพ.หลายวัน ไม่ได้ขึ้นไปเซนต์หนังสือ เลยยังไม่ทราบว่ามีหนังสือของอาจารย์มาถึง ผมคงต้องติดตามมาอ่านนะครับ

สำหรับบทสรุปของอาจารย์มีความชัดเจนมากครับ ผมเห็นด้วยว่าแผนพัฒนาฯ ไม่ได้มีความต่อเนื่องด้านสุขภาพมากนักในระยะแรก เน้นแต่การเพิ่มจำนวนของสถานพยาบาล ไม่มีรูปแบบหรือแนวทางการให้บริการที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง แต่ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบันก็แสดงให้เห็นว่าล้มเหลวในเชิงระบบ ที่ประธานาธิปดีโอบามากำลังหาทางปฏิรูปอยู่ โชคดีที่เราไหวตัวได้ก่อนและมีการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ มีทิศทางชัดเจนกับ พรบ.สุขภาพ และธรรมนูญสุขภาพ ผมว่าประเทศเราได้เดินทางมาถูกทางแล้ว ดังจะเห็นได้ว่ามีการตื่นตัวกับระบบสุขภาพพอสมควร แต่ก็ยังต้องมีการจัดการทรัพยากรให้เหมาะสม ส่วนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก็มีมากขึ้น แม้ว่าการกระจายอำนาจจะยังไม่เป็นรูปธรรมมากนักก็ตาม

ประเด็นเรื่องการดูแลผู้ป่วยในภาวะใกล้ตาย ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง ศาสตร์และศิลป์แห่งการดูแลผู้ป่วยเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิต ที่ อ.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข เป็นบรรณาธิการ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางการดูแลผู้ป่วยในวาระสุดท้าย สำหรับผู้ให้บริการสุขภาพ เพื่อความเข้าใจในสภาพที่เป็น ลดช่องว่างของผู้ดูแล ผู้ป่วย และญาติให้น้อยลง คงเอาไปแลกเปลี่ยนด้วยกันได้ครับ จะได้ทำให้ทุกคนมีสิทธิตายอย่างมีศักดิ์ศรีโดยเท่าเทียมกันครับ

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์ สำหรับประเด็นเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือใกล้ตาย หรือการตาย(Death and Dying)ในภาพของโรงพยาบาลคำเขื่อนแก้วนั้น ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยว่าเป็นหนึ่งในหลักการทำงานเชิงระบบของ รพ.ที่กำหนดไว้ว่า ค่านิยมขององค์กรคือ การให้บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์(humanized healthcare) ผู้ป่วยต้องอยู่อย่างมีคุณภาพ ตายอย่างสมศักดิ์ศรี ได้มีการจัดกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายออกเป็น

1.กลุ่มผู้ป่วยในระยะสุดท้าย เช่น มะเร็งระยะสุดท้ายที่รักษาแบบ palliative

-บอกแนวทางการรักษาให้ญาติและผู้ป่วยทราบ และตัดสินใจที่จะให้สิ้นใจที่ รพ.หรือนำกลับไปสิ้นใจที่บ้าน ซึ่งจะขึ้นกับความเชื่อของคนในแต่ละชุมชน บางชุมชนตายแล้วห้ามนำเข้าบ้าน ก็ต้องนำส่งขณะยังมีลมหายใจ (อาจใส่ET-Tube กลับบ้าน)รวมทั้งการresuscitationในคนไข้แต่ละราย

-จัดให้มีกิจกรรมทางศาสนาตามความเชื่อและความเหมาะสม เช่น นำไหว้พระสวดมนต์ มรณสติ

-การให้ยาแก้ปวดและการรักษาทั่วไปอย่างเหมาะสมไม่มากและไม่น้อยเกินไป

-มีทีมเจ้าหน้าที่ของ ward ที่ผ่านการอบรมการดูแลผู้ป่วย Dying หมุนเวียนกันดูแลผู้ป่วยและญาติอย่างเหมาะสม และจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นลายลักษณ์อักษร

-และอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิผู้ป่วย

2.กลุ่มผู้ป่วยนอกและในชุมชนที่ค้นหาเจอ

-ได้แก่ ผู้ป่วยกลุ่มเรื้อรังติดเตียง(สูงอายุมาก CVA )ถูกทิ้งเฝ้าบ้าน

ผู้ป่วย AIDS ระยะสุดท้าย

มะเร็งแรกค้นพบ รวมทั้ง ไตวายระยะสุดท้าย

-จัดทีม รพ.จนท.1คนดูแลหนึ่งหมู่บ้าน ค้นหา แล้วสรุปเป็นภาพของชุมชนแล้วนำมาวิเคราะห์รวมกันหาหนทางให้ความช่วยเหลือซึ่งผมจะนำเสนออาจารย์เป็นภาพของงาน รวมทั้งสรุปรวบยอดจากหนังสือให้อีกทีครับ

ผมได้รับหนังสือแล้วยังอ่านไม่จบครับ มีเวลาอ่าน แต่ข้อความในหนังสือ ทำให้ได้คิด ในหลายเรื่องที่ดีดี เลยยังไม่อยากอ่านให้จบโดยเร็ว กราบขอบพระคุณอาจารย์ครับ

ดีใจที่ได้อ่านข้อคิดเห็นของพวกเรา ยังมีอีกหลายคนที่คงบุ่งอยู่กับงานปีใหม่ วันเด้ก เลยไม่ได้เห็นข้อคิดเห็นของเขา หวังว่าพองานเพลาลง คงได้ได้อ่านข้อคิดเห้นอื่นๆอีก ประเด็นเรื่อภาวะใกล้ตาย กับการตายนี้ เป็นธรรมชาติที่เราหนีไม่พ้นกันทุกคน และทุกคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าผู้กป่วยหรือญาติ โดยทั่วไปแล้ว ต่างตั้งความหวังว่าจะสามารถยืดชีวิตให้อยู่ยาวต่อไปได้ ยกเว้นกลุ่มที่สิ้นหวัง จะได้ปัจจัยจากพยาธิสภาพของโรค หรือปัจจัยแวดล้อม ที่ทำให้เกิดความท้อแท้ ดังนั้น การดูแลผู้ป่วย และ Care giver จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นบริการที่มีลักษณะ Long term care หากเราสามารถจัดบริการที่ให้การสนับสนุน และสร้างความพึงพอใจในชีวิต (Life satisfaction) ให้เกิดขึ้นทั้งผู้ป่วยเองและผู้ดูแล ก็จะทำให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง และอาจมีผลต่อการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ ให้อยู่และจากไปย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ดีใจที่เราได้พยายามริเริ่มสร้างทีมงานสหวิชาชีพ เพื่อการเข้าไปดูประเด็นนี้อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าเมื่อเราให้ความสำคัญและจัดบริการสนับสนุน เชื่อมโยงต่อครอบครัวและชุมชนแล้ว งานนี้จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่จะทำให้เกิดการจัดการความรู้และบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาในการจัดระบบบริการสุขภาพโดยรวมด้วย และเมื่อนั้น งานบริการปฐมภูมิ จะเกดิผล และจะทำให้ความพยายามในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เป็นได้ดังหวัง

ชนินทร์

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น ทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องมาจาก สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้ป่วยในเป็น โรคมะเร็ง ทางโรงพยาบาลจึงได้เตรียมการในการรองรับเรื่องนี้ไว้

การดูแลนั้นเราจะมีการดูแลโดยใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพเข้ามาร่วม เนื่องจากเราเห็นว่า การดูแลคนไข้ควรมีการร่วมกันดูแลทุกๆด้าน

ก่อนที่เราจะบอกอาการแก่ผู้ป่วยและญาตินั้นจะมีการเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจและประเมินโดยฝ่ายจิตเวชเพื่อเตรียมพร้อมในการรับรู้ ต่อมามีการประชุมแพทย์ พยาบาล ทีมงานในการเตรียมสิ่งที่จะเกิดตามมา โดย ดูทุกๆด้าน กาย จิต สังคม

ทางด้านร่างกาย การดูแล ทางการแพทย์ นอกจากนี้ ครอบครัวมีส่วนช่วย จะเป็นหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล ครอบครัวในการดูแล

ทางด้านจิตใจ เมื่อเรามีการเตรียมผุ้ป่วย และญาติ มีการนำ ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดกำลังใจการต่อสู้ และทำให้จิตใจมีความสงบ มีการเปิดเทปธรรมะ ถวายทำบุญ

ทางด้านสังคม เมื่อมีการมาเยี่ยมของเพื่อนบ้าน จะมีการอำนวยความสะดวก

จากการใด้อ่านหนังสือที่อาจารย์ส่งมาให้นั้น ข้อคิดที่ได้คือ เมื่อต้องการที่จะต่อสู้กับสิ่งใดนั้น ต้องเริ่มที่จากตัวเราก่อน นอกจากนี้ การมีสติ เป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จและเป็นสุข...

เรียนอาจารย์ชนินทร์ ผมได้รับความกรุณาจาก ทพญ.อารยา รพ.ท่าตูมที่ส่งหนังสือของ อ.กานดา มาให้เมื่อสัปดาห์ก่อน (เนื่องจากหนังสือที่ อ.ชนินทร์ส่งมาให้ จนท.ผู้หวังดี ส่งไปห้องสมุดของโรงพยาบาล เลยยังไม่สามารถติดตามกลับคืนมาได้ เลยต้องขอความกรุณาจาก คุณหมออารยา) ผมอ่านจบไปเมื่อวันจันทร์ หลังจากอ่านแล้วรู้สึกว่า ชีวิตไม่แน่นอน ต้องอยู่ในความไม่ประมาท ตลอดเวลา เพราะถึงแม้ว่าเราจะเป็นหมอก็ตาม ก็หลีกหนี ความจริงแห่งชีวิตไม่ได้ ประเด็นที่ผมพอจะสรุปแลกเปลี่ยนดังนี้ครับ

1.เมื่อญาติหรือคนในครอบครัวเป็นโรคร้ายแรง ควรพลิกวิกฤต เป็นโอกาสในการถ่ายทอดความรัก ความใส่ใจ พยายามทำให้รู้สึกเป็นปกติให้เร็วที่สุด เพื่อลดความกังวลลง และพร้อมรับสถานการณ์ของการพลัดพรากที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้

2.เมื่อตัวเองป่วยเป็นโรคร้ายแรง (ซึ่งบางครั้งยากสำหรับการปรับตัว และอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว ถ้ายังไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง) มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงดังนี้

2.1. การยอมรับในการเปลี่ยนแปลง เมื่อพบว่ามีความผิดปกติหรือโรคที่สำคัญที่เปลี่ยนชีวิต เช่นโรคมะเร็ง ส่งแรกก็คือต้องตั้งสติ ไม่ต้องนึกถึงสาเหตุหรือโทษโชคชะตา แต่ต้องยอมรับว่ามันสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และไม่เกี่ยวกับทำบุญมากมากหรือน้อย

2..2 ปัจจัยด้านจิตใจ มีความสำคัญมาก เพราะถ้าจิตใจเข้มแข็ง ต้องการมีชีวิตอยู่แล้วก็จะสามารถเริ่มต้นต่อสู้กับปัญหาทางร่างกายได้ เริ่มจากต้องรักตัวเองก่อน แล้วต่อไปก็รับความรักจากผู้อื่นมาเป็นกำลังใจ

2.3 ต้องปรับเปลี่ยน life style ให้เหมาะสม ไม่เคร่งครัดเกินไป หรือหย่อนยานเกินไป ดังทางสายกลางของพระพุทธองค์ พยายามศึกษาเกี่ยวกับโรคที่เป็นเพื่อรู้เท่าทัน และใช้สำหรับการตัดสินใจในการเลือกการรักษาตามแนวทางที่ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง

4.เตรียมความพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และรับมือกับความเจ็บปวด อย่าทำร้ายตัวเองด้วยการคิดต่อเนื่องไปไกลกว่าปัจจุบันที่สร้างความทุกข์เพิ่มขึ้น

5.มีความสุขกับชีวิตที่เหลืออยู่ เป็นโอกาสที่จะให้และรับความรักจากผู้อื่น และพร้อมที่จะจากโลกนี้ไปอย่างสงบ

ในแง่ของการให้บริการทางสาธารณสุข palliative care ก็ควรจัดให้มีการปรึกษาหารือร่วมกับของผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้การรักษา เป็นระยะ เพื่อร่วมกับตัดสินใจเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายนี้

สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากหนังสือของ อ.กานดา คือ ผมต้องพยายามเข้าใจและพร้อมรับความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติ เพราะเหตุการณ์อาจเกิดขึ้นกับครอบครัวของผมเองเมื่อไรก็ได้ การเอาใจเขามาใส่ใจเราจะช่วยทำให้การรักษาแบบประคับประคอง ผ่านไปได้ด้วยดี และทำให้ผมไม่ประมาท ให้คิดถึงเสมอว่าโรคหรือความผิดปกติใด ๆ สามารถเกิดกับเราเองได้เช่นกัน หรือแม่กระทั่งเราอาจจะจากโลกนี้ไปเมื่อไรก็ได้ ชีวิตต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทตลอดเวลา

ขอบคุณครับ

กสิวัฒน์

การดูแลผู้ป่วยในภาวะใกล้ตายและการตาย

จากหนังสือ “บนเส้นทางธรรม ฝ่าวิกฤตชีวิต” สามารถนำหลักธรรมและข้อคิดที่ได้มาใช้ ในการดูแลผู้ป่วยในภาวะใกล้ตายและการตายได้อย่างดียิ่ง

เนื่องจากจำนวนประชากรสูงอายุที่มีมากขึ้น และเผชิญกับโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบบริการที่จะดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆในระยะใกล้ตายและการตาย โดย

สร้างระบบที่มีความชัดเจนและเชื่อมโยงอย่างองค์รวม ให้ความสนใจด้านจิตใจและจิตวิญญาณมากขึ้น

สร้างทีมงานที่จะทำงานในการดูแลผู้ป่วยภาวะใกล้ตายและการตายให้มีความชัดเจนขึ้น และเป็นรูปธรรม

ซึ่งในโรงพยาบาลนิคมคำสร้อยได้เริ่มการดำเนินงาน โดย การทำงานของชมรมจริยธรรมของโรงพยาบาลเป็นหลัก มีการเชื่อมโยงกิจกรรมระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ญาติ และผู้ป่วย โดยยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เช่น สวดมนต์เย็น ธรรมะเสียงตามสาย ตักบาตรทุกวันศุกร์ บริจาคทาน และ สมาธิบำบัดกับการดูแลผู้ป่วย

จากหนังสือ “บนเส้นทางธรรม ฝ่าวิกฤตชีวิต” ทำให้ได้หลักข้อคิดเพื่อมาใช้ในการทำงานของทีมการดูแลผู้ป่วยในภาวะใกล้ตายและการตาย ได้ดังนี้

1. เราสามารถที่จะต่อสู้กับโรคร้ายได้ระดับหนึ่ง ถ้าเรามีความเข้มแข็งพร้อมที่จะสู้ ยอมรับอย่างสงบ

2. จิตใจสงบ ทำให้มีสติอยู่กับปัจจุบันยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เชื่อในผลกรรม ทำดีได้ดี

3. ยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน และ การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องของสังขาร ซึ่งเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

4. สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องทำใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต คือ สติยอมรับอยู่กับปัจจุบัน

5. พลังแห่งความรักไม่ว่าจากเราที่มีต่อคนอื่นหรือจากคนอื่นที่มีต่อเรา โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่ดูแลกัน เป็นพลังที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งและพร้อมต่อสู้กับความเจ็บปวดต่างๆได้ในระดับหนึ่ง

6. การบริการด้วยความรัก ความเมตตา ความตั้งใจจริง เอาใจใส่ ดูแล เอื้ออาทร ห่วงใยทั้งจากญาติมิตร แพทย์ และพยาบาลจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความกลัวน้อยลง จิตใจเข้มแข็งมั่นคงขึ้น

หลักธรรมและข้อคิดเหล่านี้ทำให้สามารถจัดบริการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ ประกอบด้วย

1. การให้ความรัก

2. การช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับความตายที่จะมาถึง

3. การช่วยให้จิตใจผู้ป่วยจดจ่อกับสิ่งดีงาม

4. การช่วยให้ผู้ป่วยปล่อยวางสิ่งต่างๆ

5. การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อความสงบทางใจ

พญ.ภัทรี เลาติเจริญ

จากการที่ได้อ่านหนังสือของอาจารย์แล้ว เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลโนนดินแดง ได้จัดให้มีบริการทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่มีทักษะในการให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำผู้ป่วยในการปฏิบัติตัวและญาติในการดูแลทั่ว ๆ ไป รวมทั้งการดูแลเฉพาะด้านเช่น

1) การดูแลทางกาย เช่น การสอนให้ญาติสามารถทำอาหารเหลวและให้ทางสายยางได้อย่างถูกต้องปลอดภัย การสอนให้ญาติสามารถดุแลสายต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยได้รับมาจากโรงพยาบาลเมื่อกลับมาดูแลต่อที่บ้าน ทำให้ญาติเกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจที่ได้ดุแลผู้ป่วย

2) การดูแลทางด้านจิตใจ มีการเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วย และญาติ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้ผู้ป่วยและญาติสามารถเผชิญความตายได้อย่างสงบ โดยจะเริ่มจากการพูดคุยกับญาติที่ใกล้ชิดและมีอำนาจในการตัดสินใจ เพือ่ให้เกิดความคุ้นเคยและไว้วางใจ นำไปสู่การวางแผนการดุแลผู้ป่วยร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ยังไม่ทราบ prognosis ของตน จะต้องมีการเตรียมความทางใจว่าผู้ป่วยรับได้มากน้อยเพียงใด เพราะบางรายเมื่อทราบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งอาการก็จะทรุดลงอย่างรวดเร็วหมดกำลังใจที่จะดุแลตนเอง ( ตรงข้ามกับครอบครัวของท่านผู้เขียนหนังสือ (อ.พญ. กานดา ) ซึ่งทั้ง 3 ท่านที่เป็นแพทย์มีความรู้เป็นอย่างดีในโรคที่เป็น จึงสามารถดุแลตนเองและเผชิญกัยโรคมะเร็งอย่างกล้าหาญ ไม่ตกเป็นเหยื่อของความเชื่อและการชักจูงผิด ๆ ทั้งจากผู้ที่หวังดี หรือหวังดีแต่ประสงค์ร้าย หันเหไปรักษาแนวทางอื่น ๆ จนโรคลุกลามไปมากแล้วจึงหันกลับมารักษาตามแนวทางการรักษาแบบมาตรฐาน ) ดังนั้นถ้าผุ้ป่วยไม่พร้อมจะรับทราบก็จะยังไม่บอก แต่จะคุยกับญาติถึงแผนการรักษา รวมทั้งการจะช่วยฟื้นคืนชีพหรือไม่เมื่อผู้ป่วยหมดสติหรือมีการเปลียนแปลงสํญญาณชีพ

3) การดูแลทางด้านจิตวิญญาณ มีหนังสือธรรมะ/ สวดมนต์ให้ หรือให้ยืมทุกเตียง มีเทปธรรมะให้ฟัง มีพระมาเทศน์ที่ตึกผู้ป่วยในทุกวันพุธ และนิมนต์ให้พระเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกราย ทำให้ผู้ป่วยมีความอิ่มเอมใจ ปลาบปลื้มใจที่ถึงแม้จะป่วยก้มีโอกาสทำบุญกับพระ (พระมาโปรด)

4) การดูแลทางด้านสังคม โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะมาเยี่ยมให้กำลังใจผู้ติดเชื้อที่นอนโรงพยาบาล สมาชิกชมรมจิตอาสา ก็จะมาช่วยดุแลผู้ป่วยด้วยความรักความปราถนาดี เมื่อผู้ป่วยเสียชิวิตเจ้าหน้าที่ ร.พ.ก้จะไปงานศพเป้นการให้กำลังใจญาติและเป็นการให้เกียรติผู้เสียชิวิต

ในโอกาสต่อไป ทีมดูแลผุ้ป่วยระยะสุดท้ายจะได้สอนการทำสมาธิบำบัดเพื่อลดอาการเจ็บปวด เพื่อลดการใช้ยาและทำให้ผู่ป่วยมีความสงบเยือกเย็น ขออนุญาตยกตัวอย่างในหนังสือ บนเส้นทางธรรมฝ่าวิกฤติชีวิต . " ระยะสุดท้ายของชีวิตคนเป็นเวลาที่สำคัญมาก ถ้าไม่วิตกกังวล เผชิญหน้าความตายอย่างเข้มแข็ง เต็มใจที่จะคืนธาตุทั้งสี่สู่ธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้จะเป้นปัจจัยให้จิตมีความสงบเยือกเย็นยิ่งในภพต่อไป "

ที่รพ.ด่านขุนทด ก็นำแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาใช้อย่างจริงจังประมาณ 3 ปีเห็นจะได้ค่ะ

ขณะนี้ก็กำลังพัฒนาต่อเนื่องให้ดียิ่งขึ้น

หลักๆคือผู้ป่วยหรือญาติมีส่วนในการตัดสินใจหรือเลือกการรักษา

มีการสำรวจความพึงพอใจ ผลญาติและผู้ป่วยพึงพอใจดี

ตอนนี้กำลังมีแนวคิดใหม่กระตุ้นให้ทีมทำเพิ่มขึ้น เช่นชักชวนจิตอาสามาร่วมดูแลผู้ป่วย

ในส่วนของตัวเอง จะกำหนดนโยบายผู้อำนวยการหรือตัวแทนไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกราย

ตอบช้า ทีละนิดๆ

Tomorow never die... ค่ะ

อยากให้เราจินตนาการต่อไปโดยการถอดบทเรียนจากหนังสือที่อาจารย์หมอกานดาเขียน พยายามคิดในฐานะที่เราเป็นชาวบ้าน สกัดออกมาว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถ Cope กับความเครียด และสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพแม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะทุกข์ ทรมาน จากการเจ็บป่วย ที่ต้องใช้เวลาในการดูแลนาน (Long term care) วึ่งเรในฐานะผู้บริหารบริการสุขภาพ จะได้คิด พัฒนาระบบที่จะรองรับการดูแลผู้ป่วย ที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับครอบครัวและชุมชน มีการดูแลสุขภาพในเชิงองค์รวม (Holistic care) ด้วยความเข้าใจในตัวผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนการพัฒนาสมรรถนะทีมงานให้ทำงานดูแลผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน ทั้งในเชิงรับคือการดูแลเพื่อการเยียวยา บำบัดรักษา และการดูแลในเชิงรุก เพื่อการสร้างตวามเข้มแข็งของตรอบตรัวและชุมชน ตลอดจนการเตรียมรับมือการแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย

ชนินทร์

อ่านหนังสือ บนเส้นทางธรรม ฝ่าวิกฤตชีวิต(อ่านเมื่อวานนี้เองค่ะ รวดเดียวจบ)............... ชื่อหนังสือนั้นได้บอกถึงหลักสำคัญที่เราจะใช้รับมือกับ ความเครียด ความเศร้า ความเสียใจ ทั้งหลาย นั่นก็คือ ธรรมะ ..............ส่วนปัจจัยอื่นที่สำคัญเช่นกันซึ่งอาจารย์หมอย้ำบ่อยมาก ได้แก่ ความรักที่คนในครอบครัวมีให้แก่กัน พูดง่ายๆคือ ครอบครัวอบอุ่น.......ความรักจากคนรอบข้างที่เรามีสัมพันธภาพด้วยก็เช่นกัน............ลองเปรียบเทียบเล่นๆว่า ขนาดครอบครัวของหมอซึ่งอยู่ในแวดวงการแพทย์อยู่แล้ว มีใครๆที่พร้อมจะช่วยจะอำนวยความสะดวกให้เพื่อใหได้การดูแลที่ดีที่สุด ยังต้องใช้ ความอดทน ความพยายาม อย่างมากมาย แล้วพ่อ แม่พี่น้อง คนธรรมดาชาวบ้าน ที่ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์นัก ไม่มีความพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤตนี้เล่า.....

.. ระบบการดูแลผู้ป่วยและญาติ(เน้น ญาติ ด้วย)ใน ระยะสุดท้ายแห่งชีวิต...........ผู้บริหารและทีมงานทุกระดับต้องให้ความสำคัญ เชื่อมโยงไปถึงเจ้าหน้าที่อนามัย อสม. คนในชุมชน...............ต้องมี.การให้ข้อมูล การเตรียมพร้อมผู้ป่วยและญาติ..การดูแลรักษา ทุกกระบวนการควรเป็นไปในรูปแบบของ เพือนช่วยเพื่อน (ไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ กับ ประชาชน)............ ระบบการดูแรักษาใช้หลัก C3THER (โรงพยาบาลที่ทำ HA จะรู้หลักการนี้ดี) ....เพื่อให้ครบทุกด้าน

สวัสดีครับ อาจารย์ ช่วงนี้ผมรับผิดชอบสอนนิสิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ชั้นปีที่ 3 สอนอยู่ที่ประสานมิตรเป็นหลักครับ 25-29 มกราคม 2553 รู้สึกสนุกและเป็นสุขใจกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแพทย์รุ่นใหม่ให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมและยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ต้องเรียนอาจารย์ตามตรงว่า ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ต้องถูกฝึกและเรียนรู้ด้าน Palliative Care ตลอดการเรียนแพทย์ประจำบ้านมาตลอด 3 ปี รู้สึกประทับใจว่าในโรงพยาบาลต่างๆ ตามพื้นที่ของเพื่อนนักศึกษาสม.นั้น มีการตื่นตัวและได้นำหลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไปใช้ บอกตามตรงว่ารู้สึกอิ่มใจและดีใจแทนผู้ป่วยด้วยนะครับ

โดยส่วนตัวอาจยังมีความรู้ไม่มากพอ แต่ถ้าต้องให้คำปรึกษาหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เรียนมาตลอด 3 ปี ก็ยินดีครับ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง Patient-Family(Caregiver)-Community(Cultural)

ถ้ามีเวทีแลกเปลี่ยนจะขอถ่ายทอดงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาฯ ของแพทย์รุ่นพี่ให้ฟังนะครับ

จริงๆแล้วก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่จะต้องดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งตั้งแต่สุขภาพดีจนกระทั่งมีปัญหาสุขภาพ ทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู

ทาง Palliative Care ได้มีการสร้างองค์ความรู้เรื่อง End of Life & Last Hour ว่าเราควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร การที่ได้มาเรียนหลักสูตร สม. นี้ เป็นโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับพี่ๆ ผอ. ทั้งหลายและอาจารย์ รู้สึกเป็นโอกาสที่หาได้ยากและมีค่ามากๆเลยครับ

เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า Palliative Care ในโรงเรียนแพทย์ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลไป นิสิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องรู้ เกินมาตรฐานแพทยสภา ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้ไปครับ ทั้งที่จริงๆแล้วการดูแลและประเมิน Pain Management in Cancer Pain สามารถดูแลได้เป็นอย่างดีถ้าเข้าใจหลักการประเมินและปรับ Dose ยา

จากที่ได้อ่านของพี่ผอ. ทั้งหลาย ทำให้ทราบว่า การทำงานจริงๆนั้น อาจไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก็สามารถทำได้ดีอยู่แล้ว โดยใช้หลักการ Holistic & Humanized Medicine

ถ้าหลังสอบ มีหนังที่ใช้สอนเรื่อง Palliative Care เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานด้านนี้ให้แก่โรงพยาบาลของพี่ผอ.นะครับ ยินดีมากๆครับ

ขอบคุณครับ

กฤษฎิ์

ปล. หนังสือ ได้อ่านบ้างแล้ว แต่ขออนุญาตเรียบเรียงประเด็นอีกทีนะครับ

จากการที่ได้อ่านหนังสือของอาจารย์ จะมีการเน้นยำเกี่ยวกับเรื่องของพระพุทธศาสนา ธรรมะ เข้ามาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสงบ ระงับความเจ็บปวดต่างๆที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันบุคคลรอบข้างของตัวผู้ป่วยองมีส่วนสำคัญในการดูแล ให้กำลังใจ การต่อสู้กับโรคของผู้ป่วยเองร่วมด้วย

นอกจากนี้ความรู้ของผู้ป่วยที่เป็นพื้นฐานดั้งเดิมมีส่วนสำคัญ จากหนังสือ ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคนี้เมื่อมีความรู้เกี่ยวกับตัวโรค ก็จะเข้าใจและสามารถจัดการการดำเนินชีวิตได้ดี

แต่เมื่อนำมาเทียบกับผู้ป่วยที่เป็นชาวบ้านซึ่งในความคิดที่เป็นพื้นฐานของพวกเขาเหล่านั้นแตกต่างกัน เขารับรู้เริ่มต้นที่ว่าเมื่อเป็นโรคมะเร็งเป็นโรคที่รุนแรงรักษาไม่หาย เป็นแล้วตาย การที่จะยอมรับเกี่ยวกับตัวโรคที่เป็นเป็นเรื่องที่ยาก ต้องมีการให้ความรู้ การทำความเข้าใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นความรู้พื้นฐานของผู้ป่วยแต่ละคนมีความสำคัญ ในการเริ่มต้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและวิธีการรักษา

นอกจากนี้ ขอเสริมนิดหนึ่งที่ไม่มีในหนังสือ (หรือมีแต่จำไม่ได้) เนื่องจากสังคมชนบท ย่อมมีความเชื่อโบราณ วัฒนธรรมดั้งเดิม หรือ หมอพื้นบ้าน การรักษาสมุนไพร เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในสังคมชนบทยังมีการพึ่งพาและมีผลทางด้านจิตใจร่วมด้วย ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนแบบแผนการรักษาและผสมผสาน2อย่างเข้าด้วยกัน ก็เป็นอีกวิธีการดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม

เริ่มสนุกแล้วนะครับ ความคิดในการจัดการและบริการสุขภาพ ในสถานการณ์ปัญหาที่ต้องการการดูแลระยะยาว (Longterm Care) ทั้งที่เป็นโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย หรือความพิการทั้งทางร่างกาย และทางจิต สถานการณ์แบบนี้จะมีมากขึ้นในสังคมเรา ในขณะเดียวกัน บริบททางสังคม วัฒนธรรมของชุมชน ก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มมุ่งสู่ความเป็นปัจเจกบุคคล (Individualistic) มากขึ้น สตรีไทยที่เคยทำหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลสวัสดิภาพ สวัสดิการของสมาชิกในครอบครัว ต้องออกทำงานนอกบ้านมากขึ้น การดูแลสุขภาพของประชากรที่มีปัญหาความจำกัดทางร่างกาย ป่วยเรื้อรังและ ผู้สูงอายุ (Care for Chronic sick and the elderly) เป็นความจำเป็นมากขึ้น เราคงต้องเตรียมการแต่เนิ่นๆนะครับ

ลองคิดดูต่อไปว่า การดูแลลักษณะแบบนี้ จะต้องมีลักษณะอย่างไร ทั้งในแง่ประเภทของบริการ และการจัดการ อย่าลืมว่า เอาคุณลักษณะบริการปฐทภูมิ มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์และการสังเตราะห์ด้วยนะครับ

ชนินทร์

เรียน อาจารย์ชนินทร์ที่เคารพ

หลังจากกลับมาจากการติวครั้งที่ 2 ก็รีบมาหาข้อมูลแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยขอยกตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของทางรพ. เป็นเรื่องเล่าเพื่อจะได้เห็นภาพของการให้บริการที่รพ.ค่ะ

หญิงไทยอายุ 60 ปี ผิวเหลือง สภาพร่างกายอ่อนแรง หายใจไม่สะดวก ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายและแผลกดทับ โดยได้รับการรักษาต่อเนื่องกับโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งที่กรุงเทพ แต่เนื่องด้วยครอบครัวมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจึงขออนุญาตแพทย์กลับมารับการรักษาต่อกับโรงพยาบาลใกล้บ้าน เธออยู่ในชุดผู้ป่วยในห้องพิเศษมีสีหน้าเศร้าหมอง ดวงตาเซื่องซึม รอบ ๆ ตัวเธอมีคู่ชีวิตของเธอพร้อมกับบุตรชายวัยหนุ่มอีก 3 คนที่นั่งมองดูเธอด้วยสีหน้าที่ไม่ต่างกับเธอนัก แพทย์ประจำโรงพยาบาลท่าตูมได้ให้การรักษาอาการของเธอตามอาการ โดยการเจาะปอดเพื่อช่วยหายใจและยาบรรเทาอาการเจ็บปวดตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์การพยาบาลที่ดีที่สุด และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพยาธิสภาพของโรคให้เธอและญาติทราบเพื่อให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษา ผู้ป่วยและญาติรับทราบโดยยินยอมให้แพทย์รักษาตามที่เห็นสมควร

หลายวันต่อมาอาการของผู้ป่วยยังคงเหมือนเดิมไม่ต่างอะไรกับวันแรกรับ เธอยังดูกังวลเศร้าหมอง รับประทานอาหารได้น้อย ไอบ่อย หายใจไม่สะดวก อ่อนเพลีย หัวหน้าพยาบาลประจำตึกจึงขอปรึกษาทีมสหสาขาวิชาชีพของโรงพยาบาลเพื่อให้บริการแบบองค์รวม โดยมีนักกายภาพ เจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยและนักจิตวิทยาเข้าร่วมให้การบำบัดรักษาเพื่อลดความกังวลและความเจ็บปวด ของเธอ โดยแนะนำให้เธอฝึกทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองขณะอยู่บนเตียง การทำสมาธิบำบัด สมุนไพรบำบัด และการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแบบประคับประคองควบคู่กันไป ผู้ป่วยมีสีหน้าดีขึ้น อาการปวดน้อยลงและสามารถหยุดฉีดยาแก้ปวดได้หลายวัน แต่ด้วยพยาธิสภาพของโรคทำให้เธออาการทรุดลงอีกครั้ง เธอและญาติจึงขออนุญาตแพทย์กลับไปพักที่บ้านด้วยรู้ดีว่าโรคของเธอ ไม่มีทางรักษาหายขาดได้ เธอกล่าวขอบคุณและส่งยิ้มให้เจ้าหน้าที่ก่อนก้าวขึ้นรถที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้เพื่อส่งเธอกลับบ้าน เจ้าหน้าที่พยาบาลและทีมสหสาขาวิชาชีพเข้าใจถึงความรู้สึกของเธอและญาติดีว่านั้นหมายถึง การกลับไปเตรียมตัวและเตรียมพร้อมอยู่กับลมหายใจครั้งสุดท้ายของชีวิตบนโลกนี้ หลังจากกลับบ้านได้เพียง 2 วัน เราทราบข่าวจากลูก ๆ ของเธอว่าเธอหมดลมหายใจลงแล้วอย่างสงบ

เมื่อได้ไปพูดคุยเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่า

พยาบาลมีความตระหนักในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นอย่างดี ทางรพ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมการให้การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายและการทำสมาธิบำบัด, มีการทบทวนการใช้ยาเพื่อลดความเจ็บปวด (pain management) ของทีมสหสาขาวิชาชีพ

แพทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา การพยากรณ์โรค และทางเลือกในการรักษาแก่ญาติและผู้ป่วยทราบ ที่เขียนญาติก่อนเนื่องจาก จากประสบการณ์ถ้าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งแพทย์มักจะบอกญาติว่าคนไข้เป็นอะไรก่อนบอกคนไข้ เพราะส่วนใหญ่ญาติมักจะรู้มาก่อนแล้วเนื่องจากได้รับข้อมูลมาจากที่อื่นบ้างแล้ว ถ้าบอกคนไข้เลยคนไข้มักจะรับไม่ได้ และอาการจะทรุดลงอีก ซึ่งแตกต่างจากในหนังสือของ พญ.กานดาที่ท่านยอมรับว่าตนเองเป็นอะไรแล้ว ทำใจให้อยู่กับโรคร้ายได้ ในประเด็นนี้หนูได้แลกเปลี่ยนกับพี่พยาบาล พวกเราคิดว่าถ้าเราต้องเป็นโรคร้าย พวกเราอยากให้บอกเราตรง ๆ ว่าเป็นอะไร จะได้เตรียมรับมือกับมันได้ค่ะ (มาถึงตรงนี้เห็นด้วยกับเหตุผลของหมอวิวรรณและหมอต้องตามาก ๆ ค่ะ)

นอกจากนั้นพยาบาลยังมีการประเมินสภาพจิตใจของญาติ และมีการส่งต่อเพื่อให้รับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาอีกด้วย

มีบ้างที่ญาติขอทำพิธีสวดต่ออายุซึ่งทางหอผู้ป่วยในก็สามารถอนุญาตให้ดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องรอผ่านการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา แค่เพียงรายงานแพทย์เจ้าของไข้เท่านั้น

ถ้าผู้ป่วยต้องการกลับบ้านก็จะมีการส่งต่อข้อมูลกลับไปให้หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน แต่ถ้าผู้ป่วยเสียชีวิตที่โรงพยาบาล จะมีบริการฉีดยาและตกแต่งศพ พร้อมทั้งมีรถของโรงพยาบาลไปส่งศพที่บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ยกเว้นกรณีที่ญาติไม่อนุญาตให้ดำเนินการ)

ในความเห็นของหนูรู้สึกดีใจมากที่ทางรพ.ท่าตูมได้มีการดำเนินงานดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายอย่างเป็นทีม ซึ่งการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทีมผู้ให้บริการจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้การบริการผู้ป่วยแต่ละราย เพราะปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังต้องรับมือกับปัญหาของญาติอีกด้วย ่ นอกจากนั้นทางรพ.ยังมีชมรมจิตอาสาที่เป็นข้าราชการเกษียณอายุมาช่วยในการนำสวดมนต์ตอนเช้า,ทำบัตรในคนไข้ที่OPD มีกลุ่มมิตรภาพที่เป็นผู้ป่วยHIVsมาช่วยในคลินิกของผู้ติดเชื้อ และจะจัดให้มีการศึกษาดูงานเกี่ยวกับจิตอาสาและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยค่ะ

สำหรับหนังสือของพญ.กานดาท่านได้แนะนำให้เรานำหลักศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันทุกวัน ศรัทธาเชื่อมั่นในพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ, กระทำด้วยวิริยะ ความตั้งใจจริง, มีสติจนเกิดเป็นสมาธิ, เกิดปัญญา รู้และเข้าใจ ย่อมสามารถรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงโดยไม่ต้องรอให้ถึงวาระสุดท้ายแล้วค่อยนำมาปฏิบัติ

ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนั้น เน้นเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะใช้หลัก มีเป้าหมายคือ

1. ดูแลผู้ป่วยไม่ใช่ที่ตัวโรค

2. บรรเทาอาการทุกข์ทรมาน แบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ

3. ให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัว

4. ให้ผู้ป่วยจากไปด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่เร่งรัดหรือพยายามเหนี่ยวรั้ง

หลักการดูแล แบบประคับประคอง ใช้หลัก 9 C

1. Concern ความเอาใจใส่ ความเข้าใจ ความห่วงใยของผู้ดูแล

2. Conletone ความสามารถของผู้ดูแล เป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากปัญหาในผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีความยุ่งยากซับซ้อน จึงต้องพัฒนาองค์ความรู้อยู่เสมอ

3. Communication ต้องมีการสื่อสารข้อมูล ตามความเป็นจริงเป็นระยะๆรวมทั้งการพูดคุย ในเรื่องที่ผู้ป่วยและครอบครัววิตกกังวล ซึ่งมีทั้งด้านจิตใจ สังคม อารมณ์ จิตวิญญาณ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน โดยต้องไม่เพิ่มความทุกข์แก่ผู้ป่วยและครอบครัว

4. Comfort ให้การดูแลโดยคำนึงถึงความสุขสบายของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่เพิ่มความเจ็บป่วย ด้วยหัตถการที่ไม่จำเป็น

5. Children การเข้าเยี่ยมของญาติและลูกหลานเล็กๆ มักช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุข รู้สึกดีและภูมิใจ ที่มีบุคคลเป็นห่วง ไม่ควรกังวลในการอนุญาตให้เด็กเข้าเยี่ยม

6. Cohesion การให้ญาติมาเยี่ยมพร้อมหน้ากัน แสดงถึงความผูกพันและปรองดองของคนในครอบครัว ช่วยให้ผู้ป่วยหมดห่วงกังวล เกี่ยวกับครอบครัวหากต้องจากไป

7. Cheefulness ผู้ดูแลอารมณ์ สีหน้าแจ่มใสมากกว่าแสดงความกังวล หรือซึมเศร้า ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผิดว่าเป็นสาเหตุของความทุกข์หรือกระวนกระวาย

8. Consistonay การมาเยี่ยมสม่ำเสมอหรือการนัดหมายที่ชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง ให้เผชิญความตายที่กำลังจะเกิดขึ้นตามลำพัง เวลาแม้เพียงเล็กน้อยก็มีคุณค่า สำหรับเวลาของชีวิตที่กำลังจะหมดลง

9. Calmnes of mind ผู้ดูแลหรือครอบครัวควรมีชีวิตที่สงบสามารถเผชิญกับผู้ป่วยใกล้ตาย ได้อย่างเหมาะสม ไม่รู้สึกหวาดหวั่นเกินเหตุ หรือแสดงการเฉยเมย ต่อผู้ป่วยและญาติ

บริการที่มีในโรงพยาบาลอาจสามารถ ได้จัดตั้งทีม Palliative Care ในสถานบริการและทีม Home Care (การดูแลที่บ้าน) ผสมผสานกับงาน การดูแลสุขภาพในชุมชน Home Health Care เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งในสถานบริการและในชุมชน ทีมงาน ทรัพยากรในชุมชน ประกอบไปด้วย - แพทย์ - พยาบาล - นักสังคมสงเคราะห์ - พระนักบวช - เภสัชกร - อสม. - ญาติผู้ป่วยในชุมชน

หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือ "บนเส้นทางธรรม ฝ่าวิกฤตชีวิต" ตอนแรกตั้งใจจะอ่านแบบเร็วๆ เพื่อที่จะได้ทำการบ้านส่งอาจารย์ แต่พออ่านไปเรื่อยพบว่าได้แง่คิดเพื่อนำมาปรับใช้ทั้งเรื่องส่วนตัวและการทำงานเป็นอย่างมาก จะขอแลกเปลี่ยนเป็นบทๆไปนะครับผม

บทที่ 1 มะเร็งลำไส้ใหญ่ของคุณพ่อ

  • Working with Elderly & Couple Relationship ในการดูแลผู้ป่วยที่สูงอายุที่เจ็บป่วย คู่ครองและสุขภาพของคู่ครองเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ บ่อยครั้งที่พบว่า เมื่อคนใดคนหนึ่งได้จากไป มักทำให้เกิดผลกระทบต่อคู่ผู้สูงอายุที่เหลืออยู่ มีผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากที่อาจารย์ได้เล่าถึงคุณพ่อซึ่งรักคุณแม่มาก อาการต่างๆของคุณพ่อได้กำเริบอย่างรวดเร็ว หลังจากที่คุณแม่ได้จากไป จนกระทั่งคุณพ่อได้จากไปหลังจากคุณแม่ในเวลา 6 เดือน สำหรับครอบครัวที่มีการสูญเสียคุณพ่อและคุณแม่ในเวลาไล่เลี่ยกัน ถือว่าเป็นการเดินทางของครอบครัวที่ต้องอาศัยกำลังใจและการดูแลซึ่งกันและกันเป้นอย่างมาก
  • Conspirasy of Silence ในตอนแรกในครอบครัวอาจารย์ ยังไม่ได้ตัดสินใจจะบอกคุณพ่อ ซึ่งมักพบเห็นได้บ่อยในครอบครัวเมื่อต้องเผชิญกับข่าวร้าย มีประเด็นมากมายในเรื่องที่จะบอกความจริงกับผู้ป่วยหรือไม่และเมื่อไหร่ การทำงานด้าน Primary Care มักใกล้ชิดกับผู้ป่วยและครอบครัว การตัดสินใจควรใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่สำคัญ ควรตัดสินใจโดยยึดหลักผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง Patiented Centered Medicine และครอบครัวมีส่วนร่วมด้วยเสมอ
  • Spiritual Health in Death & Dying : การเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยและการตายด้วยการมีสติและสงบ โดยอาศัยหลักธรรมและกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นเรื่องราวที่ได้อ่านแล้วรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งครับผม ดังนั้นในการนำมาปรับใช้ในบริบทการทำงานในพื้นที่ซึ่งของผมเป็นมุสลิม จึงต้องศึกษาและต้องปรับให้เข้าใจและเข้าถึงวิถีมุสลิมในระยะสุดท้ายของชีวิต(End of Life Care)

บทที่ 2 มะเร็งตับของสามี

  • Pain Managemennt & Symptomatic Rx in Palliative care              เนื่องจากในปัจจุบัน มีแพทย์ที่ผ่านการเรียนการสอนด้าน Palliative Care น้อยมาก ในส่วนของผมได้เรียนรู้การดูแลผู้ป่วย Palliative Care จากการเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวตลอด 3 ปีนี่เอง แน่นอน ปัจจุบันการเรียนการสอนนิสิตแพทย์เรื่อง Palliative Care ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่มาก หาอาจารย์สอนเรื่องนี้มีน้อย ดังนั้น การปรับยาเพื่อรักษาอาการต่างๆ อาการในผู้ป่วย Last Hour การประเมินความเจ็บปวดและปรับยาเรื่อง Pain Management เช่น การปรับยาและใช้ Morpine อย่างถูกต้อง ยังมีความรู้ความเข้าใจน้อยมาก จากที่อาจารย์ได้เขียนและถ่ายทอดให้ฟัง อาการปวดจากมะเร็ง(Cancer Pain) เป็นความเจ็บปวดที่ทรมานมาก ญาติและผู้ดูแล(Caregiver) มักได้พบกับความทรมานจากความเจ็บปวดไปพร้อมๆกับผู้ป่วย ข้อสังเกต นอกจากเราดูแลผู้ป่วยแล้ว เรายังควรดูแลและให้กำลังใจผู้ดูแล(Caregiver) ของผู้ป่วยด้วย (Family as a Patient) ซึ่งเป็นการรักษา Psychotherapy & Empower แบบ non-phamarcology ที่เป็นการดูแลแบบองค์รวมและการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างดี จากที่อาจารย์ได้เล่าให้ฟัง บุคลากรจากทางรพ.ได้ให้การดูแลเอาใจใส่สามีและครอบครัวอาจารย์เป้นอย่างดี

บทที่ 3 มะเร็งเต้านมของฉัน

  • Family Support ครอบครัวของอาจารย์เป็นครอบครัวที่น่ารักและดูแลซึ่งกันและกัน ทำให้วิกฤตในแต่ละช่วงของชีวิตมีครอบครัวเป็นพลังที่สำคัญ(Family & Power of Healing) แพทย์ที่ทำงาน Primary Care ถ้าสามารถมองเห็นและนำมาปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วย Palliative Care ได้ จะทำให้สามารถดูแล(Caring) ได้มากกว่าการรักษาให้หาย(Cure) โดยในผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้นเราเน้นการดูแลมากกว่าการหาย ซึ่งถือเอาคุณภาพชีวิตและความสุขของผู้ป่วยเป็นสำคัญที่สุดครับผม
  • Friendship & Partnership ตลอดระยะเวลา(Social Support)ในการดูแลรักษานอกจากมีครอบครัวแล้ว ยังมีเรื่องของมิตรภาพและกัลยาณมิตรมากมายในการช่วยดูแลทั้งตอนผ่าตัด ฉายแสง หรือรับเคมีบำบัด แสดงถึงว่าอาจารย์เป้นคนที่มีคนรักมากมายและการที่อาจารย์จะมีคนรักมากมายเช่นนี้ อาจารย์ก็ต้องดูแลและช่วยเหลือคนอื่นๆมามากมายเช่นกัน ประทับใจมากๆครับ ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่า เราได้ดูแลและช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่เราจะช่วยได้แล้วหรือยัง อาจารย์และครอบครัวเป็นตัวอย่างของการมีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์มากๆเลยครับ

โดยรวมแล้ว ในุมมมองส่วนตัวที่ได้สัมผัสหลังจากที่ได้อ่านหนังสือจนจบหน้าสุดท้าย สำหรับตัวผมเองนั้น

  • ได้ต้นแบบการทำหน้าที่เป็นแพทย์ที่ดี มีคุณธรรมและจริยธรรม
  • ได้สัมผัสและทำความเข้าใจถึงคำว่า  

                       อัตตานัง อุปมัง กเร - เอาใจเขามาใส่ใจเรา

เพื่อช่วยเตือนให้เราดูแลผู้ป่วยทั้ง "คน" และ "ไข้"

  • ธรรมะในการดำเนินชีวิต

                               "ชีวิตคนเรานี้สั้นนัก"

ทำให้การดำเนินชีวิตไม่อยู่ในความประมาท

ขอบคุณอาจารย์ครับ ที่มอบของขวัญปีใหม่ปีนี้ได้มีคุณค่ามากๆเลยครับ

สร้างความรู้-สร้างเครือข่าย-พัฒนาคน-พัฒนาระบบสุขภาพชุมชน

     สำหรับการพัฒนางาน Palliative Care ในพื้นที่ ผมได้นำเสนอแผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยทำการเชื่อมต่อการดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative Care ต่อเนื่องจากโรงพยาบาลถึงชุมชน ซึ่งในโรงพยาบาลมีชมรมเครือข่ายมุสลิมและชมรมจิตอาสาของพยาบาลที่คอยดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยและติดตามเยี่ยมบ้านแบบจิตอาสา

     ในส่วนของการพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนาคน ได้วางแผนจัดเป็นลักษณะ KM โดยเป็น Palliative Care Case Conference เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบวิถีมุสลิม นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเวทีสำหรับสร้างเครือข่ายผู้สนใจ Palliative care และเป็นแหล่งการเรียนการสอนสำหรับนิสิตแพทย์ได้อีก ด้วย ในบางโอกาสอาจเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรืออาจารย์สอนศาสนาอิสลามร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นครั้งๆไป

       การทำงานในระดับชุมชน

  1.  ทำการสำรวจผู้ป่วยมะเร็งในพื้นที่ 3 ตำบลที่รับผิดชอบของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ เพื่อจัดทำเป็น Palliative care Database เพื่อใช้ในการวางแผนบริหารจัดการระดับชุมชนต่อไป 
  2. พัฒนาเครือข่ายการให้ความรู้และชมรม "ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย"  Working with Caregiver & Palliative care มีการแลกเปลี่ยนและพัฒนาผู้นำระดับชุมชนต่อไป
  3. พัฒนา 1 ตำบล 1 ชุมชนต้นแบบด้าน Palliative Care โดยใช้ฐานข้อมูลจาก Palliative Care และความต้องการตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเราเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่ชาวบ้านในชุมชน เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายกันเองตามวิถีมุสลิม อย่างยั่งยืนและพอเพียง
  4. พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับชุมชนกับการดูแลผู้ป้วยระยะสุดท้ายตามวิถีมุสลิม

Base on True Story

 

Referenece :

  • มุสลิมกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

http://portal.in.th/ms-pcare/pages/5843/

  • แนวคิดศาสนาอิสลามที่เกี่ยวข้องกับความตาย                  

http://portal.in.th/ms-pcare/pages/6340/

     

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท