ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

สงครามน้ำ: ศึกษากรณีการจัดการความขัดแย้งในลุ่มน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงใหม่


                   

       

           “ลุ่มน้ำแม่ตาช้าง”[1] เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำปิงประกอบด้วยห้วยสาขาต่าง ๆ  ๖๔   ลำห้วย ซึ่งมีต้นน้ำไหลลงจากอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย และอุทยานแห่งชาติออบขานลงสู่ลุ่มน้ำปิงบริเวณอำเภอหางดง  จังหวัดเชียงใหม่  จากการวิเคราะห์ในเชิงภูมิศาสตร์พบว่า ลุ่มน้ำนี้มีพื้นที่ครอบคลุม ๓ อำเภอ กล่าวคือ พื้นที่ต้นน้ำจะอยู่ในเขตแม่ริม และอำเภอเมือง ส่วนกลางน้ำอยู่ในเขตตำบลบ้านปก อำเภอหางดง และพื้นที่ปลายน้ำอยู่ในเขตตำบลหนองควาย ตำบลน้ำแพร่  ตำบลหางดง ตำบลบ้านแหวน ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง  แต่เมื่อวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์พบว่า ลุ่มน้ำแม่ตาช้างประกอบด้วย ๒ ชาติพันธุ์ คือ ชาวเขา “เผ่าม้ง”  [2]ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงอันเป็นเขตต้นน้ำ  และ “ชาวเมือง” ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นราบอันเป็นเขตกลางน้ำ และปลายน้ำ

          จากการศึกษาสถานการณ์ความขัดแย้งในลุ่มน้ำแม่ตาช้าง พบว่า สถานการณ์ภัยแล้งในลุ่มน้ำได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๓๖ และในพ.ศ.๒๕๔๐  ได้ขยายตัวรุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้น และผลกระทบที่เกิดตามก็คือ  จำนวนน้ำที่ลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่สภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง 

          อย่างไรก็ดี  ชาวบ้านที่อยู่กลางน้ำ และปลายน้ำมองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลให้เกิดภัยแล้งตามมามากกว่าการปรวนแปรของตัวธรรมชาติเอง  เหตุผลเชิงประจักษ์ที่ประชาชนกลุ่มนี้นำมายืนยันข้อสมมติฐานของตัวเองก็คือ      (๑) ชาวเขาเผ่าม้งซึ่งเป็นคนพื้นที่ราบสูงได้ตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ (๒) ชาวเขาเผ่าม้งได้ใช้น้ำรด    พืชไร่มากเกินความจำเป็น (๓) สถานประกอบการรีสอร์ทได้กั้นเขื่อนปูนเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้

         จากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ดังกล่าว ได้ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลางน้ำบางส่วน และพื้นที่ปลายน้ำจำนวนมากได้รวมตัวกันขึ้นไปทำลายต้นลิ้นจี่  และทุบท่อส่งน้ำของชาวเขาเผ่าม้ง  รวมไปถึงการรื้อฝายของสถานประกอบหลายจุด เพื่อเปิดพื้นที่ให้เส้นทางของน้ำไหลลงสู่พื้นราบได้อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมากยิ่งขึ้นด้วย

         ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการแย่งชิงทรัพยากร “น้ำ” กำลังกลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งคู่ของความขัดแย้ง นอกจากจะเป็นการแย่งชิงกันเองของคนในพื้นที่แล้ว  แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประเด็นความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นจากกลุ่มที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติ กับกลุ่มที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในยุคหลัง  ในขณะเดียวกัน คู่ของความขัดแย้งอีกประเภทหนึ่งก็คือ กลุ่มชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งจับคู่กับ กลุ่มนักอนุรักษ์ และกลุ่มนักพัฒนาธุรกิจที่มองทรัพยากรธรรมชาติในเชิง “ทุนนิยม” พยายามที่  แปรทรัพยากรธรรมชาติเป็น “เงิน”  หรือแปรรูปเป็นวัตถุชนิดอื่น ๆ

         จากสถานการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรน้ำดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นนั้น ได้ทำให้เกิดคำถามต่อลุ่มน้ำที่สำคัญสายหนึ่งซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ผู้วิจัยได้ใช้เป็นพื้นที่ในการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวกับ “ความขัดแย้ง” และ” การปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้ง” ว่า      ความขัดแย้งในลุ่มน้ำแม่ตาช้าง เป็นความขัดแย้งของกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือเป็นการแย่งชิงระหว่างกลุ่มพื้นที่เดิม กับกลุ่มที่มาอาศัยอยู่ใหม่ หรือกลุ่มนักธุรกิจ  และ เมื่อเกิดความขัดแย้งดังกล่าวแล้ว  ประชาชนในลุ่มน้ำแม่ตาช้างมีแนวคิดพื้นฐาน และการปฏิบัติการขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งอย่างไร

         ความขัดแย้งในลุ่มน้ำแม่ตาช้างเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวกับ “การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ”  เหตุผลสำคัญของการแย่งชิงนั้นเกิดจากตัวแปรภายนอก และตัวแปรภายใน  เมื่อกล่าวถึง “ตัวแปรภายนอก” ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งสามารถประเมินได้จากการที่ประชาชนบางกลุ่มต้องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยม”  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวเขาบางกลุ่ม รวมไปถึงกลุ่มรีสอร์ทต่างๆ  จึงทำให้เกิดความต้องการทรัพยากรน้ำเพื่อใช้ประกอบกิจการ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าของตัวเอง  นอกจากนั้น การขยายตัวเกี่ยวกับความต้องการพืชพันธุ์ทางการเกษตรทำให้เกิดการขยายสวนลิ้นจี่และลำไยออกไปจนนำไปสู่ความต้องการในการใช้สอยน้ำเพิ่มมากขึ้น

         ในขณะเดียวกัน “ตัวแปรภายใน” ได้แก่การบริโภคทรัพยากรน้ำ  หรือใช้สอยน้ำโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของคนอื่นๆ ในลุ่มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนปลายน้ำที่ต้องการใช้น้ำเพื่อการทำกสิกรรมต้องประสบกับความชะงักงันเพราะน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืชไร่  จึงทำให้กลุ่มปลายน้ำ และกลางน้ำบางส่วนมองว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่แต่ไม่ได้รับโอกาสจากการใช้น้ำอย่างเท่าเทียม และที่ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลที่มาใหม่ได้แย่งสิทธิในการใช้น้ำเกินความจำเป็น จึงทำให้บรรยากาศของความขัดแย้งเชิงรูปธรรมปะทุขึ้นมา

        

         ถึงกระนั้น  บรรยากาศของความขัดแย้งได้ค่อยๆ สลายตัวลง เมื่อชุมชนลุ่มน้ำได้มองเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของการจัดการลุ่มน้ำ โดยมีอาจารย์ชัยพันธ์ ประภาสะวัต และทีมงานนักวิชาการได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือ และให้คำแนะนำพร้อมทั้งดึงกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในลุ่มน้ำเข้ามาพบปะพูดคุย และปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน

         จะพบว่า หลักการสำคัญที่ก่อให้เกิดท่าทีในเชิงสมานฉันท์คือ การสลายความเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มตัวเองโดยการไม่ยึดมั่นในความเป็นอัตลักษณ์  การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และ “การแบ่งปัน” ทรัพยากรเท่าที่มีอย่างจำกัดให้เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มคนในชุมชนลุ่มน้ำ  นอกเหนือจากนั้น แนวคิดที่ว่าด้วยการสร้างสมานฉันท์ให้เกิดความปรองดองในหมู่คนลุ่มน้ำก็เป็นแนวคิดหลักอีกประการหนึ่งที่ได้นำเสนอผ่านกระบวนการของการมีส่วนร่วมของประชาชนในลุ่มน้ำแม่ตาช้างในการกำหนดชีวิต และชาตากรรมของตนเอง

         นอกเหนือจากนั้น  ประเด็นที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์ของการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนลุ่มน้ำก็คือ กระบวนการจัดการข้อพิพาทโดยใช้ทางเลือกที่เหมาะสม  ซึ่งหลักการที่นำมาใช้ก็คือ “กระบวนการในการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง”  ซึ่งคณะเจรจาได้พยายามที่จะวางกรอบในการศึกษาบริบทต่างๆ ในลุ่มน้ำ  และจัดวางขั้นตอนก่อนเข้าไป ขณะเข้าไปดำเนินการไกล่เกลี่ยจนทำให้ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง อันเป็นความสำเร็จที่สามารถโน้มน้าว และชี้ให้กลุ่มต่างๆ ในลุ่มน้ำได้เลือกแนวทางของการเจรจาแทนกระบวนการของการแก้ปัญหาในรูปแบบอื่นๆ

        ถึงกระนั้น เมื่อนำแนวคิด และการปฏิบัติการเกี่ยวกับความขัดแย้งตามที่มีการประยุกต์ใช้ในลุ่มน้ำแม่ตาช้างไปเปรียบเทียบกับแนวคิดของนักคิดตะวันตกนั้นจะพบว่า มีนัยที่สอดรับบางประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง” และสันติวิธีทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง การพยายามที่โน้มน้าวให้คู่กรณีได้มองเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหา การประนีประนอมข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยให้แต่ละฝ่ายหันหน้าเข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อพูดคุยหาทาออกร่วมกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมหลังจากที่ได้มีการสร้างกฎกติกาเกี่ยวกับลุ่มน้ำ รวมไปถึงการแบ่งปันทรัพยากรน้ำเรียบร้อยแล้ว

         อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การนำหลักการ “วัดน้ำ” เข้าไปใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งปันทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ อันเป็นการวัดปริมาณน้ำฝน หรือน้ำที่มีอยู่ในลุ่มน้ำว่ามีปริมาณเท่าใด เพียงพอแก่ประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เพื่อจะทำให้สะดวกและบริหารจัดการได้ว่าประชาชนควรจะใช้น้ำได้คนละจำนวนเท่าใด ปริมาณน้ำจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในลุ่มน้ำ

        สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ประชาชนในลุ่มน้ำแม่ตาช้างได้นำหลักคิดในทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการจัดการความขัดแย้งในลุ่มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จากการแย่งชิงน้ำไปสู่การแบ่งปัน”  และ “จากการยึดมั่นในความเป็นอัตลักษณ์ไปสู่การสลายและทำลายความเป็นอัตลักษณ์”  หรือ “จากภาวะที่ไร้เอกภาพของประชาชนในลุ่มน้ำไปสู่ความมีเอกภาพ”  หรือ “จากการรวม และไม่ร่วมมือ หรือร่วมมือ แต่ไม่รวมของประชาชนไปสู่การรวมตัว และร่วมมือกันในการหาทางออกให้แก่ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำ”

       

        นอกจากนั้น  ประชาชนในลุ่มน้ำนำหลักคิดในทางพระพุทธศาสนาในเชิงพิธีกรรมเข้าไปผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสร้างจิตสำนึก หรือสร้างเสริมคุณค่าภายในใจแก่ประชาชนในลุ่มน้ำเพื่อให้ประชาชนได้มองเห็นคุณค่าของผืนป่า และลุ่มน้ำ และมีท่าทีที่ถูกต้องในการกระทำที่ไม่บุกรุกและทำลายป่า อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อป่าต้นน้ำ และลุ่มน้ำ โดยการทำพิธีสืบชาตาลุ่มน้ำ  การทำพิธีบวชป่า และเดินธรรมยาตรา  ซึ่งทำให้ความขัดแย้งในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องชาติพันธุ์  เรื่องข้อเท็จจริงได้ดำเนินไปสู่จุด “สมดุล” มากยิ่งขึ้น

        แม้ว่าประเด็นปัญหาเรื่องชาติพันธุ์และประเด็นความขัดแย้งแบบหลบในอื่นๆ และความขัดแย้งที่ปรากฏตัวคือ “การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ” ได้คลี่คลายลงไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้นแล้ว แต่ประเด็นสำคัญก็คือ สถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรน้ำมักจะจะเกิดขึ้น และเผยตัวอีกครั้งเมื่ออยู่ในช่วงฤดูแล้งของแต่ละปี ซึ่งขณะนี้ภาครัฐพยายามที่เข้าไปแก้ไขปัญหาในเชิงกายภาพโดยการหาแหล่งน้ำ หรือสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อเป็นฐานรองรับ และสนับสนุนความต้องการของประชาชน  อย่างไรก็ตามประเด็นที่ไม่ควรจะมองข้ามก็คือ นอกเหนือจากการ “จัดการแหล่งน้ำ” หรือ “ทรัพยากรน้ำ” อันเป็นการจัดการ “เชิงกายภาพ” แล้ว  สิ่งที่จะทำเคียงคู่กันไปก็คือ “การจัดการมนุษย์”  ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ อันเป็นการจัดการใน “เชิงจิตภาพ” เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำได้บริหารความต้องการของตนเองให้สอดรับกับปริมาณของน้ำที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ดังที่อาจารย์ชัยพันธ์  ประภาสะวัตอ้างถึงคำพูดของคานธีอยู่เนืองๆ ว่า “ทรัพยากรมีเพียงพอสำหรับคนทั้งโลก แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว”

 

ส่วนหนึ่งจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง "รูปแบบการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี:ศึกษากรณีลุ่มน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงใหม่" ของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๗.

 


[1] คำว่า “แม่ตาช้าง”  มีที่มา ๒ ตำนาน กล่าวคือ (๑) ตาน้ำที่เป็นแหล่งซับน้ำมีขนาดเท่าตาช้าง       (๒) เจ้าเมืองเชียงใหม่ในยุคอดีต  ได้เสด็จข้ามแม่น้ำสายนี้ไปอำเภอจอมทอง เพื่ออัญเชิญพระธาตุมาสรงน้ำที่  เมืองเชียงใหม่  พระองค์ทรงเสด็จลงจากหลังช้างในบริเวณตลิ่งน้ำ  บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า ‘ท่าช้าง’ แต่ต่อมาแผลงเป็นตาช้าง

[2] เผ่าม้งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง และแม่น้ำเชียงเจียง ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยครั้งแรกประมาณ พ.ศ.๒๔๓๒ โดยเดินทางข้ามภูเขามาจากลาวทางอำเภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย และอำเภอทุ่งช้าง จ.น่าน ปัจจุบันมีประชากรชาวม้งทั้งสิ้น ๑๒๔,๒๑๑ คน โดยมากมักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก เชียงราย น่าน และเพชรบูรณ์, ดูเพิ่มเติมใน สถาบันวิจัยชาวเขา, ข้อมูลประชากรชาวเขาในประเทศไทย, (เชียงใหม่: สถาบันวิจัยชาวเขา, ๒๕๔๑).

หมายเลขบันทึก: 324518เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2010 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท