Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แนวคิดและแนวปฏิบัติในการยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นคนหนีภัยความตาย


จะเห็นว่า คำสำคัญที่ HRC ใช้ในประเด็นคำถามนี้ ก็คือ (๑) แรงงานอพยพ ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า (๒) สถานการณ์และการปฏิบัติ ละ (๓) หลักการและเงื่อนไขในการส่งออกไปจากประเทศไทย ผู้ศึกษาจึงมีความเห็นว่า รายงานประเทศฯ จึงควรจะให้ข้อมูลแก่ HRC ใน ๔ ประเด็น กล่าวคือ (๑) แนวคิดของรัฐไทยเกี่ยวกับการส่งบุคคลออกไปจากประเทศไทยโดยทั่วไป และ (๒) แนวคิดและแนวปฏิบัติในการยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นคนหนีภัยความตาย (๓) แนวคิดและแนวปฏิบัติในการยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นแรงงานในสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานไทยขาดแคลน และ (๔) แนวคิดและแนวปฏิบัติในการส่งคนจากพม่าที่มีปัญหาสถานะบุคคลออกไปจากประเทศไทย

            ปกติประเพณีลักษณะแรกที่รัฐไทยใช้ในการจัดการประชากรชายขอบเพราะไร้รัฐ  ก็คือ การยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นคนหนีภัยความตาย จะไม่ส่งบุคคลดังกล่าวออกไปจากประเทศไทยในระหว่างที่ภัยต่อชีวิตยังปรากฏมีอยู่ แม้จะไม่ยอมรับให้สถานที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  โดยเฉพาะในช่วงเวลาแรกๆ ของการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของคนหนีภัยความตาย รัฐไทยจะไม่ยอมรับให้ทั้งสิทธิเข้าเมืองหรือสิทธิอาศัย แต่ก็จะไม่ผลักดันออกไปจากประเทศไทย การอาศัยในประเทศไทยในช่วงเวลาแรกของคนหนีภัยความตายเป็นไปโดยนโยบายที่มีกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองรองรับ[1] ยังแต่ก็อาจมีการยอมรับบันทึกตัวตนในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย[2]  แต่หากคนหนีภัยความตายนั้นได้อาศัยนานขึ้นบนแผ่นดินไทยจนกลมกลืนกับสังคมไทย รัฐไทยก็มีปกติประเพณีที่จะยอมรับให้สิทธิอาศัยตามกฎหมายคนเข้าเมือง หรืออาจยอมรับให้สิทธิในสัญชาติไทย อันทำให้มีสิทธิอาศัยในลักษณะถาวรในประเทศไทย

           เราอาจสรุปปกติประเพณีของรัฐไทยเพื่อการจัดการประชากรไร้รัฐย้ายถิ่นเพื่อหนีภัยความตายออกได้เป็น ๓ ทิศทาง อันได้แก่ (๑) ผลักดันกลับประเทศต้นทางเมื่อภัยต่อชีวิตหมดไป หรือ (๒) ผลักดันไปประเทศที่สาม หากประเทศนี้ยอมรับ และ (๓) ยอมรับให้มีสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรหรือสถานะคนสัญชาติไทย หากบุคคลดังกล่าวมีความกลมกลืนแล้วกับสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไทย นั่นคือ เกิดความสัมพันธ์อย่างแท้จริงกับสังคมไทย ขอให้สังเกตว่า ปกติประเพณีดังกล่าวก็มีลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ที่เผชิญสถานการณ์เดียวกัน

             สำหรับพื้นที่อาศัยอยู่นั้น ปกติประเพณีในการจัดการคนหนีภัยความตายในประเทศไทย ก็เป็นไปได้ ๒ ทิศทาง กล่าวคือ (๑) การจัดการให้อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงหรือพื้นที่ควบคุม และ (๒) การจัดการให้อาศัยอยู่ปะปนกับราษฎรไทยในพื้นที่ปกติ เพียงแต่ไม่อนุญาตให้ออกนอกพื้นที่จังหวัดที่อนุญาตให้อาศัยอยู่ตามใจชอบ การออกนอกพื้นที่อนุญาตจะทำได้อย่างถูกกฎหมายก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตตามวิธีการที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

           ในกรณีที่คนต่างด้าวที่หนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยมีความกลมกลืนกับสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไทยอย่างแนบแน่นแล้ว ปกติประเพณีในการจัดการ ก็คือ (๑) การให้สถานะคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวร ซึ่งอาจร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ในช่วงเวลาต่อมา และ (๒) การให้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแก่บุตรที่เกิดในประเทศไทย เราพบว่า โดยทั่วไป การให้สัญชาติไทยประเภทนี้ก็จะเป็นไปโดยคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายใต้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อันเป็นการกระทำของฝ่ายบริหารของรัฐ แต่หากมีความคั่งค้างของปัญหามาก การให้สัญชาติไทยประเภทนี้ก็จะเป็นไปโดยผลของกฎหมายของรัฐสภา อันเป็นการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐเอง

                เราพบว่า ส่วนใหญ่ของคนหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย ก็คือ คนชายขอบในความห่วงใยของ HRC อันได้แก่ บุคคลที่ HRC เรียกว่า “ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า (asylum-seekers and refugees from Myanmar)” นั่นเอง แต่นโยบายของรัฐบาลไทยเรียกคนหนีภัยความตายในค่ายว่า “ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า” ส่วนคนหนีภัยความตายนอกค่ายนั้น มีชื่อเรียกไม่เหมือนกันในช่วงก่อน พ.ศ.๒๕๔๗ แต่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ นโยบายของรัฐบาลไทยเรียกคนหนีภัยความตายซึ่งมีนโยบายยอมรับให้สิทธิอาศัยถาวรว่า “บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย” และเรียกคนหนีภัยความตายซึ่งได้รับการสำรวจตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘ ว่า “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน”

               เรามี ๓ กรณีตัวอย่างของคนหนีภัยความตายจากประเทศพม่า ซึ่งได้รับการยอมรับให้อาศัยในประเทศไทย กล่าวคือ

               ตัวอย่างแรกของคนหนีภัยความตายจากพม่า ก็คือ นางโต โหมะ ซึ่งเป็นคนหนีภัยความตายจากประเทศพม่า ซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่หนีภัยความตายเข้ามาอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยภัยการสู้รบบ้านใหม่ในสอย หมู่ที่ ๔ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๙ พื้นที่พักพิง [3] ตามแนวชายแดนไทย –พม่า นั่นเอง ซึ่งนโยบายในปัจจุบัน นางโต ยังไม่ได้รับสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยใดๆ เลย แต่ก็ไม่ถูกผลักดันออกไปจากประเทศไทย แต่ก็มีการจัดทำทะเบียนบุคคลภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและ UNHCR อันไปสู่การออกเอกสารรับรองสถานะบุคคลโดยประเทศไทยดังปรากฏด้านล่าง เอกสารดังกล่าวไม่ถือเป็นการยอมรับให้สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย แม้ทางราชการไทยจะยอมรับให้นางโตและผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าอื่นๆ เรียนภาษาไทย แต่ก็มีความพยายามระหว่างประเทศไทยและ UNHCR ที่จะแสวงหาประเทศที่สามที่จะรับตัวคนหนีภัยในพื้นที่พักพิงทั้ง ๙ พื้นที่นี้ออกไปจากประเทศไทย และก็เป็นความฝันของคนหนีภัยความตายในพื้นที่พักพิงทั้ง ๙ แห่งที่จะเดินทางไปประเทศที่สาม

               ตัวอย่างที่สองของคนหนีภัยความตายจากพม่า ก็คือ ครอบครัวสายฟ้า ซึ่งบรรพบุรุษ ก็คือ  นายจ๋ามใหม่และนายยิ่งหนุ่ม สายฟ้าซึ่งเป็นคนเชื้อสายไทยใหญ่ที่หนีภัยความตายมาจากพม่า และเข้ามาอาศัยที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ก่อน พ.ศ.๒๕๑๙[4]  เราพบว่า นายจ๋ามใหม่ เกิดที่บ้านจ๋ามเมืองมู้ รัฐฉานในประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ ในขณะที่นางยิ่งหนุ่มเกิดที่แสนหวีซึ่งตั้งอยู่ในภาคเหนือของรัฐฉานในประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓  บุคคลทั้งสองได้อพยพหนีตายมาจากประเทศพม่า และเข้ามาอาศัยอยู่ที่กิ่งอำเภอเวียงแหง[5] จังหวัดเชียงใหม่ จะเห็นว่า บุคคลทั้งสองเข้ามาในประเทศไทย โดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองให้เข้ามาในประเทศไทย บุคคลทั้งสองจึงมีสถานะเป็นคนที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง ในช่วงเวลานี้ บุคคลทั้งสองไม่มีทั้งสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่การผลักดันจ๋ามใหม่และยิ่งหนุ่มออกไปจากประเทศไทยมิได้เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยตระหนักว่า การกระทำเช่นนั้นย่อมจะทำให้ประเทศไทยต้องมีการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพราะการกระทำเช่นนั้นย่อมหมายถึงการผลักดันบุคคลทั้งสองออกไปสู่ความตาย เราพบว่า ทางราชการไทยยอมรับผ่อนผันให้จ๋ามใหม่และยิ่งหนุ่มอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยไม่มีการผลักดันออกไปจากประเทศไทย แต่ในช่วงเวลาแรกที่เข้ามาในประเทศไทย บุคคลทั้งสองก็ไม่ได้ให้สิทธิอื่นใด นอกจากการรับรองสิทธิในความเป็นมนุษย์ บุคคลทั้งสองจึงตั้งบ้านเรือนในประเทศไทยและประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย

             ขอให้ตระหนักว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแก่จ๋ามใหม่และยิ่งหนุ่มในระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๙ – ๒๕๓๔ ก็ได้เกิดขึ้นแก่คนเชื้อสายไทยใหญ่ที่หนีภัยความตายมาอยู่ในอำเภอเวียงแหง และในอีกหลายพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย ไม่มีการส่งพวกเขาออกไปจากประเทศไทยสู่ความตายแต่อย่างใด ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยงดังเช่นครอบครัวโพ หรือครอบครัวของมึดา หรือคนเชื้อสายจีนดังเช่นครอบครัวแซ่ตั้ง

             จ๋ามใหม่และยิ่งหนุ่มมีบุตรด้วยกันหลายคนมีบุตรด้วยกัน แม้บุตรทุกคนจะเกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน[6] ในช่วงเวลานั้น บุตรของจ๋ามใหม่และยิ่งหนุ่มจึงมีสถานะเป็นเพียงคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย

              ใน พ.ศ.๒๕๓๔ รัฐบาลไทยตระหนักในความไร้รัฐและความกลมกลืนกับสังคมไทยของบุคคลบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ซึ่งหมายถึงคนไทยใหญ่ที่อำเภอเวียงแหงในสถานการณ์เดียวกับครอบครัวสายฟ้าด้วย รัฐบาลนี้จึงใช้อำนาจตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลบนพื้นที่สูงที่ประสบปัญหาความไร้รัฐ กล่าวคือ เป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐใดๆ เลย โดยผลของนโยบายดังกล่าว บุคคลบนพื้นที่สูงหลายชาติพันธุ์จึงได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและออกบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงให้ถือ (บัตรสีฟ้า)

                            ดังนั้น  ความไร้รัฐของครอบครัวสายฟ้าจึงสิ้นสุดลงเมื่อได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่มีชื่อว่า “แบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ออกโดยสำนักทะเบียนกิ่งอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๔” สมาชิกทุกคนในครอบครัวสายฟ้าจึงได้รับการออกบัตรประจำตัวบุคคลพื้นที่สูง โดยสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาของครอบครัวสายฟ้าที่ยังเหลืออยู่ ก็คือ พวกเขายังไร้สัญชาติต่อไป

                            ในปัจจุบัน รัฐไทยยอมรับว่า ครอบครัวสายฟ้าและคนในสถานการณ์เดียวกับครอบครัวสายฟ้าขาดความเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศพม่า ซึ่งเป็นประเทศต้นทาง จึงยอมรับให้สถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรแก่อดีตคนหนีภัยความตายที่เกิดนอกประเทศไทย และให้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแก่บุตรที่เกิดในประเทศไทยของอดีตคนหนีภัยความตาย แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้แก่คนหนีภัยความตายก่อน พ.ศ.๒๕๒๘ ก็ยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด แม้กระบวนการจัดการปัญหาเริ่มต้นแล้ว

                            โดยสรุป กรณีของครอบครัวสายฟ้าจึงเป็นตัวอย่างของ บุคคลที่ HRC เรียกว่า “ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า (asylum-seekers and refugees from Myanmar)” ซึ่งประเทศไทยยอมรับไว้อย่างถาวรในประเทศไทย ไม่มีการผลักดันออกไปยังประเทศใดๆ อีกต่อไป

                     ตัวอย่างที่สามของคนหนีภัยความตายจากพม่า ก็คือ กรณีครอบครัวโพ[7] ซึ่งเป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยงที่หนีภัยความตายมาจากพม่า และเข้ามาอาศัยที่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ก่อน พ.ศ.๒๕๐๒[8]  เราพบว่า กรณีครอบครัวโพ อาจเป็นตัวอย่างของคนหนีภัยความตายที่รัฐไทยมิได้มีกระบวนการจัดการคนหนีภัยความตายเป็นพิเศษ กล่าวคือ ประเทศไทยไม่มีนโยบายในรูปใดๆ สำหรับคนหนีภัยความตายจากพม่าที่เป็นปัจเจกชน ก่อน พ.ศ.๒๕๔๘ ประเทศไทยจะมีนโยบายออกมาเพื่อคนหนีภัยความตายที่เข้ามาในประเทศไทยในลักษณะกลุ่มชนจำนวนมากๆ เท่านั้น

                        จากการศึกษาข้อเท็จจริงของครอบครัวนี้ เราพบว่า ในราวก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ อาจารย์ ดร.ยอร์ช โพ นักวิชาการเชื้อสายกะเหรี่ยงสัญชาติพม่าที่มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองกับรัฐบาลทหารพม่า จนต้องพาครอบครัวหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย ทั้งครอบครัวไม่เคยได้รับอนุญาตให้สิทธิเข้าเมืองหรืออาศัยอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ครอบครัวของ ดร.ยอร์ช ก็ได้รับการผ่อนผันเชิงนโยบายให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่นั้นจนถึงวันนี้ แม้จะมีสถานะเป็นคนผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในวันนี้ ตัวของ ดร.ยอร์ชเองก็เสียชีวิตลงในประเทศไทย ส่วนอาจารย์อายุ นามเทพ บุตรสาวยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้จะประสบปัญหาความไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริงมาตลอด เพราะไม่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้สัญชาติพม่าเนื่องจากไม่มีเอกสารรับรองความเป็นคนสัญชาติพม่าจากรัฐบาลพม่า

                        อาจารย์อายุจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพายัพ ประเทศไทย และทำงานเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางคศิลป์ในมหาวิทยาลัยนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๑ อาจารย์อายุมีสามีเป็นคนสัญชาติไทย และมีบุตรชาย ๒ คน ตลอดชีวิตของเธอเป็นไปเพื่อฝึกฝนเยาวชนภาคเหนือให้เติบโตเป็นศิลปินดนตรีจำนวนมากมายตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๑ จนถึงปัจจุบัน

                         ใน พ.ศ.๒๕๕๐ อาจารย์อายุได้รับการบันทึกตัวบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย[9] แต่ยังไร้สัญชาติอยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้จะมีความพยายามของหลายฝ่ายที่จะผลักดันให้เธอได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ แต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่บรรลุผล

                         โดยสรุป กรณีของครอบครัวโพจึงเป็นอีกตัวอย่างของ บุคคลที่ HRC เรียกว่า “ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า (asylum-seekers and refugees from Myanmar)” ซึ่งประเทศไทยยอมรับไว้ในประเทศไทยอีกเช่นกัน ไม่มีการผลักดันออกไปยังประเทศใดๆ และโดยยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ คนในสถานการณ์ดังครอบครัวโพ ก็ได้รับการยอมรับว่า เป็นคนต่างด้าวที่ขาดจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศต้นทาง และไม่ควรจะผลักดันกลับออกไปจากประเทศไทย เนื่องจากมีความกลมกลืนทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมกับสังคมไทยอย่างแนบแน่นแล้ว

 


[1] ในปัจจุบัน ก็คือ มาตรา ๕๔ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

[2] ในปัจจุบัน กฎหมายที่ให้อำนาจแก่กระทรวงมหาดไทยที่จะบันทึกตัวตนของคนหนีภัยความตายในทะเบียนราษฎรไทย ก็คือ มาตรา ๓๘ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ฉบับดั่งเดิม และต่อมา ก็คือ มาตรา ๓๘ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ.๒๕๕๑

[3]  โดยข้อมูลตามรายงานของ UNHCR เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งเผยแพร่โดย USCRI ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย – พม่า ๙ แห่ง ซึ่งมีคนหนีภัยความตายประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ คน ซึ่งพื้นที่ที่มีอายุสูงสุด ก็คือ ๒๐ ปี อันได้แก่ (๑) ค่ายบ้านใหม่ในสอย  อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีประชากรจำนวน ๒๐,๐๐๐ คน (๒) ค่ายบ้านแม่สุรินทร์ อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีประชากรจำนวน ๓,๗๐๐ คน (๓) ค่ายบ้านแม่ละอูน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีประชากรจำนวน ๑๕,๐๐๐ คน (๔) ค่ายแม่ลามะหลวง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีประชากรจำนวน ๑๓,๐๐๐ คน (๕) ค่ายบ้านอุ้มเปี้ยมใหม่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งมีประชากรจำนวน ๑๙,๐๐๐ คน (๖) ค่ายแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งมีประชากรจำนวน ๔๗,๐๐๐ คน (๗) ค่ายนุโพ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งมีประชากรจำนวน ๑๒,๐๐๐ คน (๘) ค่ายบ้านต้นยาง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนะบุรี ซึ่งมีประชากรจำนวน ๓,๗๐๐ คน และ (๙) ค่าถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีประชากรจำนวน ๗,๘๐๐ คน 

[4] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, การปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในภาคเหนือของประเทศไทย, งานเขียนภายใต้โครงการ เรื่องการปรากฏตัวของคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย : แนวคิดและมาตรการในการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒

[5] ปัจจุบันคืออำเภอเวียงแหง

[6] เพราะตกอยู่ภายใต้ข้อ ๒ แห่ง ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ จึงไม่อาจได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามมาตรา ๗ (๓) แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ เนื่องจากปรากฏว่ามีบิดาและมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

[7] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะให้สัญชาติไทยแก่คนหนีภัยความตายจากแผ่นดินพม่ามาสู่แผ่นดินไทย : กรณีอาจารย์อายุ นามเทพ, สรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘, บทความอันเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการติดตามและประสานงานตามสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=128&d_id=128

พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, กรณีศึกษาอาจารย์อายุ นามเทพ : คนไร้สัญชาติที่เกิดนอกประเทศไทย, งานเขียนภายใต้โครงการ เรื่องการปรากฏตัวของคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย : แนวคิดและมาตรการในการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒

[8] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, การปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในภาคเหนือของประเทศไทย, งานเขียนภายใต้โครงการ เรื่องการปรากฏตัวของคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย : แนวคิดและมาตรการในการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒

[9] อันได้แก่ ท.ร.๓๘ ก. ซึ่งออกให้แก่คนที่มีสถานะเป็น “คนไร้รัฐ (Stateless Person)” ซึ่งกรมการปกครองไทยเรียกว่า “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร”

หมายเลขบันทึก: 324635เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2010 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท