เดินทางไกลไปกับไทอาหม ตอน ๒๑


เรื่องเล่ารอบกองไฟ ...

 

 

 

 

 

                บ่ายสามแล้ว ความหนาวยังไม่บรรเทา ...

                หลังจากอาหารกลางวัน และเข้าร่วมพิธีเปิดการสัมมนาอย่างเป็นทางการ ที่ทุกคนต้องขึ้นไปนั่งอยู่บนเวที พูดอะไรคนละนิดหน่อยเกี่ยวกับตัวเอง และความประทับใจที่ได้รับ  โอลิเวอร์กับนิดยังคงทำแบบเดิม ๆ  นั่นคือนิดพูดภาษาไทย แล้วโอลิเวอร์แปลเป็นภาษาอังกฤษ  คู่นี้ดูจะสามัคคีกันมาก

 

 

                เจ้าภาพ ผู้จัดงานมอบของที่ระลึกเป็น “จาบิ” หรือหมวกแบบอาหม และผ้ากามูสะ ตลอดเวลาที่เราอยู่ในอัสสัม เราได้ผ้ากามูสะเกือบทุกวัน วันละหลายๆ ผืน  จนมีมากมายเกินจะบรรจุลงกระเป๋าได้ ต้องแบ่งแจกจ่ายไปตามบ้านที่เราไปพัก  ฉันทิ้งไว้บ้าน ดร.บุสปะจำนวนหนึ่ง ทิ้งไว้ที่มหาวิทยาลัยดีบรูการ์หจำนวนหนึ่ง เลือกเก็บเฉพาะผืนที่ชอบจริง ๆ  หรือไม่ก็มีลวดลายแตกต่างจากผืนอื่น ๆ 

 

                วันนี้ได้หมวกอันมหึมา  นึกไม่ออกว่าจะขนกลับอย่างไร

 

                เราออกจากซาดิยา ตอนบ่ายสอง  ดร.บุสปะพาแวะระหว่างทาง เป็นบ้านของคนไทผ่าเก ที่คุ้นเคยกัน  ท่านเล่าว่าเคยมานอนค้างที่นี่ประจำตอนมาเก็บข้อมูล ผ่านมาจึงต้องแวะทักทาย

 

                เจ้าของบ้านยังอยู่ในวัยหนุ่ม เป็นน้องชายของเพื่อน ดร.บุสปะ  ด้วยอากาศที่หนาวเย็น  จึงมีการก่อไฟกองใหญ่ที่ลานข้างบ้าน  จากนั้นทุกคนก็มานั่งล้อมรอบกองไฟกันเป็นวงใหญ่

 

 

                วงสนทนารอบกองไฟออกรสชาติยิ่งขึ้น เมื่อมีอาหารว่างมาเสิร์ฟ และเรื่องเล่าขำ ๆ  เกิดขึ้นเมื่อ ดร.บุสปะเห็นคนขับรถที่เป็นไทคำตี่ นั่งติดกับเจ้าของบ้าน  ประวัติศาสตร์การสู้รบกันของชนสองกลุ่ม เล่ห์เพทุบายต่าง ๆ  ที่เคยหักหลังกันเมื่อครั้งประวัติศาสตร์ถูกถ่ายทอดออกมา  ในมิติของเวลาที่แตกต่าง  เรื่องเครียด ๆ  จึงกลายเป็นเรื่องขำ ๆ

 

                ไม่ต่างอะไรกับประวัติศาสตร์ของเผ่าชุติยา ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ  ดร.บุสปะก็รบกับไทอาหมมาโดยตลอด  ที่สำคัญในพงศาวดารอาหมบุราณจี บันทึกไว้ว่าชนเผ่าชุติยายังนิยมจับคนเป็น ๆ  มาบูชายัญอีกด้วย  และส่วนใหญ่มักเลือกจับพวกไทอาหมอีกต่างหาก

 

                เป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของทุกชนชาติ ล้วนเคยผ่านการเข่นฆ่า แย่งชิงอำนาจ และการกดขี่ เบียดเบียนกันและกันมาแล้วทั้งสิ้น  คงเหมือนไทย – พม่า – เขมร – ลาว – เวียดนาม    หากคนรุ่นใหม่ยังคงเก็บเอาประวัติศาสตร์มาเป็นอารมณ์ปัจจุบัน โดยไม่ทำความเข้าใจเงื่อนไขของยุคสมัย หรือวิธีคิดและชีวิตของสังคมในแต่ละยุคว่ามีความแตกต่างกันกับปัจจุบัน  และโดยวิธีคิดแบบนั้น ทำให้ต้องมีประวัติศาสตร์แบบนั้น

 

                ในขณะที่ทุกวันนี้ โลกเปลี่ยนไป วิถีชีวิต ความรับรู้ การสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างกันที่เปลี่ยนไป  เราก็น่าจะมีวิธีคิดที่เปลี่ยนไปด้วย  ประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์  ปัจจุบันก็คือปัจจุบัน ที่ต้องอยู่ร่วมกันต่อไปให้ได้

 

                ฉันนั่งมองคนเผ่าต่าง ๆ  ที่นั่งหัวเราะ พูดคุยกันอย่างสนุกสนานกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ของพวกเขา  แต่ท้ายที่สุดคนรุ่นพวกเขาก็ต้องมาอยู่หมู่บ้านเดียวกัน  ต้องสื่อสารปฏิสัมพันธ์กัน  ต้องเป็นเพื่อน และช่วยเหลือพึ่งพากัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของตนเอง

 

                อากาศเริ่มหนาวเย็นลงเรื่อย ๆ  เพราะเราอยู่ใกล้เทือกเขาหิมาลัย  ดร.บุสปะว่าถ้าเราเดินตัดตรงไปจากป่าตรงหน้านี้  ระยะทางแค่ 50 กิโลเมตร ก็จะเห็นยอดหิมาลัยที่มีหิมะขาวโพลนปกคลุม ...

 

                ฉันแทบไม่อยากเชื่อว่าเรามากันไกลถึงขนาดนี้ และคืนนี้เราต้องนั่งรถจากเหนือสุดของอัสสัมลงไปยังเมืองหลวงตามลำพัง

 

 

หมายเลขบันทึก: 324955เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2010 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท