Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ขันธปริตร


ขันธปริตร: คาถาแห่งการป้องกันอสรพิษและสัตว์ร้ายทั้งหลาย (พระวินัยปิฎก จุลวรรค ขุททกขันธกะ, อหิสูตร สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ,อรรถกถาขุททกนิกายชาดก ทุกกนิบาต)

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน  อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งในกรุงสาวัตถีถูกงูกัด ทำกาละแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในเมืองสาวัตถีนี้ถูกงูกัด ทำกาละแล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ตระกูลพญางู ๔ เป็นไฉน คือ

ตระกูลพญางู ชื่อวิรูปักข์ ๑

ตระกูลพญางู ชื่อเอราปถะ ๑

ตระกูลพญางู ชื่อฉัพยาปุตตะ ๑

ตระกูลพญางู ชื่อกัณหาโคตมกะ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางู ๔ จำพวกนี้เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางู ๔ จำพวกนี้เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน ฯ

                          ความเป็นมิตร ของเรา จงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อ วิรูปักข์

                          ความเป็นมิตรของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อ เอราปถะ

                          ความเป็นมิตร ของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อ ฉัพยาปุตตะ

                          ความเป็นมิตรของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลายชื่อ กัณหาโคตมกะ

                          ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า

                          ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๒ เท้า

                          ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๔ เท้า

                          ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกมีเท้ามาก

                          สัตว์ไม่มีเท้าอย่าเบียดเบียนเรา

                           สัตว์ ๒ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา

                           สัตว์ ๔ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา

                           สัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเรา

                          ขอสรรพสัตว์ทั้งปวงที่มีลมปราณ มีชีวิตเป็นอยู่

                          จงได้พบเห็นความเจริญเถิด

                           อย่าได้มาถึงโทษอันลามกน้อยหนึ่งเลย ฯ

                           พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้

                           พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้

                          พระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้

                           สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมลงป่อง   ตะขาบ แมลงมุม ตุ๊กแก หนู ล้วนมีประมาณ

                           ความรักษาอันเรากระทำแล้ว

                           ความป้องกันอันเรากระทำแล้ว

                           ขอหมู่สัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย

                           เรานั้นกำลังนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่

                          กำลังนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗  พระองค์อยู่ ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓  อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

กล่าวโดยสรุป

ขันธปริตร  เป็นคาถาที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้พระภิกษุแผ่เมตตาไปในบรรดาตระกูลงูที่มีพิษดุร้ายทั้งหลาย  เพื่อเป็นการคุ้มครอง  ป้องกันตนเองจากสัตว์ร้าย  ปรากฏทั้งในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก  นอกจากจะเป็นคาถาสำหรับป้องกันอสรพิษและสัตว์ร้ายทั้งหลายแล้ว  ยังสามารถป้องกันอสรพิษและสัตว์ร้ายทั้งหลายแล้ว  ยังสามารถป้องกันอันตรายจากยาพิษทั้งหลายได้ด้วย

ขันธปริตร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อหิสูตร หรือ อหิราชปริตร (บทสวดป้องกันพญางู) ที่ตั้งชื่อว่า "ขันธปริตร" แปลให้เข้าความได้ยาก อาจหมายถึง "มนต์ป้องกันขันธ์" ขันธ์ ในที่นี้ต้องแปลว่า ตัวหรือกาย ตัวขันธปริตร จึงหมายถึง "ป้องกันตัว"

วิรูปักเขหิ  เม  เมตตัง                                เมตตัง  เอราปะเถหิ  เม

ฉัพยาปุตเตหิ  เม  เมตตัง                           เมตตัง  กัณหาโคตะมะเกหิ  จะ

อะปาทะเกหิ  เม  เมตตัง                            เมตตัง  ทิปาทะเกหิ  เม

จะตุปปะเทหิ  เม  เมตตัง                           เมตตัง  พะหุปปะเทหิ  เม

มา  มัง  อะปาทะโก  หิงสิ                           มา  มัง  หิงสิ  ทิปาทะโก

มา  มัง  จะตุปปะโท  หิงสิ                          มา  มัง  หิงสิ  พะหุปปะโท

สัพเพ  สัตตา  สัพเพ  ปาณา....                    สัพเพ  ภูตา  จะ  เกวะลา.

สัพเพ  ภัทรานิ  ปัสสันตุ                             มา  กิญจิ  ปาปะมาคะมา

อัปปะมาโณ  พุทโธ                                   อัปปะมาโณ  ธัมโม

อัปปะมาโณ  สังโฆ                                    ปะมาณะวันตานิ  สิริงสะปานิ

อะหิ  วิจฉิกา  สะตะปะที                            อุณณานาภี  สะระพู  มูสิกา

กะตา  เม  รักขา  กะตา  เม  ปะริตตา           ปะฏิกกะมันตุ  ภูตานิ

โสหัง  นะโม  ภะคะวะโต                            นะโม  สัตตันนัง  สัมมาสัมพุทธานัง

หมายเลขบันทึก: 325190เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2010 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท