เรื่องของสี...ที่ไม่ใช่แค่สีอีกต่อไป (ตอนที่ 1)


ภูมิปัญญาของคนโบราณ...เขาคิดกันขนาดนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วหรือ???

วันนี้ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมวิชาการเรื่องสีและการเห็นสีที่จุฬาฯ หัวข้อหลักจะเป็นเรื่องของ “สีในวิถีชีวิตของคนไทย (The Role of Colour in Thai Life Style)”  ส่วนหัวข้อรองเป็นเรื่องการนำเสนอผลงานวิจัยการเห็นสี ซึ่งมีผู้นำเสนอทั้งคนไทยและญี่ปุ่น (งานนี้จัดโดย ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และกลุ่มสีประเทศไทย)

 

หัวข้อในตอนแรกที่ได้ทราบข่าวดูเหมือนจะไม่ค่อยน่าเกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่สักเท่าไหร่ แต่เมื่อได้มานั่งฟังถึงพบว่า มันน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่อีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นว่า เรื่องราวของสีนั้นน่าสนใจมากกว่าที่คิด สำคัญมากกว่าที่เห็น อย่างน้อยๆ สิ่งที่ได้ไปในวันนี้ก็คือการเปิดมุมมองใหม่ให้ตัวเองในเรื่องราวที่เกี่ยวกับด้านสี จนรู้สึกว่าไม่อยากให้การบรรยายในครั้งนี้ได้ฟังกันไม่กี่คน แล้วมันก็จะหายไป เลยอยากบันทึกเอาไว้ (เท่าที่จดทัน)

 

และเนื่องจากว่าผู้เขียนก็ไม่ได้ถนัดในเชิงวิทยาศาสตร์มากนัก ศัพท์ในบางคำหรือข้อความบางอย่างจึงไม่สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้  ถึงแม้ว่าโดยส่วนตัวจะสนใจเรื่องของภาพถ่ายและการถ่ายภาพอยู่บ้างก็ตาม แต่เมื่อค้นลึกๆ ลงไปในแขนงของภาพถ่ายที่เป็นเชิงวิทยาศาสตร์นั้นค่อนข้างเกี่ยวข้องกับตัวเลขเป็นส่วนใหญ่ (ซึ่งไม่ค่อยจะถูกกันนักกับตัวเลข) ดังนั้นเมื่อเรื่องของภาพถ่ายมาอยู่กับภาควิชาวิทยาศาสตร์มันจึงกลายเป็นอีกแขนงวิชาหนึ่งที่น่าสนใจในเชิงของการคำนวณเรื่อง สี และ แสง ที่มีผลต่อภาพถ่าย มีผลต่อการเห็นสี และการรับรู้สีของผู้คนทั่วๆ ไป

 

“สีกับความเชื่อของคนไทย” เป็นหัวข้อแรกที่เปิดวงเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ขึ้น ว่าด้วยเรื่องที่น่าสนใจมากๆ บรรยายโดยผศ.โชติวัฒน์  ปุณโณปถัมภ์ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเปิดตัวด้วยเรื่องของ “สีแสงแห่งดาว-ชะตาและอารมณ์ในโหราศาสตร์” ในเรื่องดังกล่าวต้องอาศัยความรู้พื้นฐานดั้งเดิมอันเกี่ยวกับเรื่องของไตรภูมิ ซึ่งเป็นความเชื่อเก่าแก่ของคนไทยที่อยู่คู่กับคนไทยและสังคมไทยมาตลอดเวลา โดยเฉพาะในเรื่องของงานจิตรกรรม

 

ทำไมเราต้องมีความรู้พื้นฐานเดิมเกี่ยวข้องกับเรื่องของไตรภูมิ ก็เพราะว่าจากความเชื่อดังกล่าวที่ว่ากันว่า มีอยู่ 3 ภพภูมิที่สำคัญอันได้แก่ กามภูมิ – รูปภูมิ – อรูปภูมิ เมื่อเชื่อมโยงเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องของสีและแสงจะพบว่า ในภพภูมิแต่ละอันนั้น มีสีและแสงที่แตกต่างกัน กล่าวโดยสรุปคือ ในกามภูมิ (หรือเชื่อว่าเป็นโลกมนุษย์)นั้นจะมีสีและแสงแบบที่เป็นอยู่ เทวดาที่อยู่ตามเขาต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 4 เขารอบๆ กลุ่มเขาสัตตบริภัณฑ์ จะมีที่ตั้งที่แตกต่างกันไปในสี่ทิศ เขาในกลุ่มแรกจะมีลักษณะเหลี่ยม กลุ่มสองลักษณะกลม กลุ่มสามลักษณะครึ่งวงกลม และกลุ่มสี่มีลักษณะรีๆ กลุ่มเขาเหล่านี้จะตั้งอยู่ในทิศต่างๆ (เสียดายจำไม่ได้ว่าเขาลูกไหนอยู่ทิศไหน) จำได้แต่ว่าทั้งสี่เขาดังกล่าวนั้นต่างก็อยู่ภายใต้พระอาทิตย์ แสงและสีในเขาทั้งสี่จึงมีลักษณะของแสงและเงาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเขาลูกนั้นจะตั้งอยู่ในทิศใด ทำมุมและองศาอย่างไรกับพระอาทิตย์ (อาจารย์ให้สังเกตว่า เทวดาในชั้นนี้จะมีเงา)ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่แตกต่างจากภพภูมิที่เป็นที่อยู่ของเทวดาในชั้นดาวดึงส์ (หรือเรียกว่าดาวดึงส์ภูมิ) เพราะในชั้นของดาวดึงส์ภูมินั้นเชื่อว่า มีตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าพระอาทิตย์ ดังนั้นภพภูมิชั้นนี้ก็จะมืดไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์มาทำให้สว่าง ตัวเทวดาที่เสวยสุขอยู่ในภพภูมินี้จึงไม่มีเงา ส่วนลักษณะแสงของชั้นนี้จะมาจากหินผลึกที่เปล่งแสงได้ รวมถึงตัวเทวดาเองก็มีรัศมีแสงเป็นของตัวเอง (เหมือนดาวฤกษ์)

 

ในงานจิตรกรรมไทยโบราณจึงสามารถสังเกตได้ว่า การวาดเทวดาที่อยู่ในภพภูมินี้จะไม่เห็นเงา แต่จะเห็นรัศมีเรืองแสงออกมาจากตัวของเทวดาเอง จะเห็นว่าถ้าเราเข้าใจบางส่วนบางตอนเกี่ยวกับไตรภูมิ จะทำให้เราเข้าใจ “รากฐาน” ของศาสตร์ในอีกหลากหลายแขนงของชาวชมพูทวีปนี้ได้อย่างชัดเจน อันเนื่องมาจากความเชื่อที่คล้ายๆ กันนั่นเอง

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในเรื่องสีและความเชื่อของคนไทยก็คือ น่าอัศจรรย์ใจเมื่ออาจารย์บรรยายว่า หากเราเอาดาวและสีของดาวมาใส่ในวงกลมจักรราศี  เราก็จะพบว่า สีของดาวในแต่ละตำแหน่งจะอยู่กันแบบคู่สีตรงข้ามกันเสมอ (ดังที่ปรากฎในรูปประกอบ) เช่น สีประจำดวงจันทร์ (ในทางความเชื่อของไทย) จะเป็นสีขาว ซึ่งดวงจันทร์จะอยู่ตรงข้ามกับดาวเสาร์ ซึ่งมีสีประจำตัวคือสีดำ ตามตำราโหราศาสตร์เก่าจะมีคำพูดในทำนองที่ว่า ดูรูปจริงให้ดูจันทร์ ดูโทษทุกข์ให้ดูเสาร์ หรืออย่างสีประจำดวงอาทิตย์ ในทางความเชื่อของไทย จะมีสีส้ม ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงข้ามกับดาวมฤตยู ซึ่งมีสีประจำตัวคือ สีม่วงคราม เป็นต้น และเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกทึ่งมากๆ กับภูมิปัญญาของคนโบราณ (ว่าเขาคิดขนาดนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วหรือ)

 

เรื่องที่คุยกันต่อมาก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน หัวข้อว่าด้วย “สีกับวัฒนธรรมสิ่งทอพื้นเมืองไทยดำ” โดย อ.พิรมาลย์  บุญธรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ท่านได้ทำการวิจัยในเรื่องของสิ่งทอพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยไทยดำหรือเรียกกันว่า “ไทยซ่ง” ซึ่งชาวไทยดำนี้เดิมมีชื่อเรียกว่า “ไททรงดำ” หรือ “ผู้ไทดำ” หรือ “ไทยดำ” เพราะนิยมแต่งกายด้วยสีดำ หรือสีครามเข้ม และจะแต่งกายด้วยผ้าทอมือจากฝ้ายหรือไหมที่ทอไว้ใช้เองเท่านั้น (แต่ปัจจุบันเหลือน้อยมากแล้ว)

 

เรื่องราวของสิ่งทอพื้นเมืองไทยดำนี้ พบว่า ฝ้ายที่กลุ่มไทยดำนำมาใช้จะมีอยู่ 2 พันธุ์คือ พันธุ์แก่นน้อย และพันธุ์แก่น สิ่งที่น่าทึ่งคือ การย้อมผ้าของไทยดำนี้มีลักษณะเป็นออแกนิค (คือธรรมชาติมากๆ) มาแต่ไหนแต่ไรโดยไม่ต้องตามเทรนด์รักษ์โลก เนื่องจากพบว่า ในการย้อมฝ้ายให้ติดสีครามนั้นต้องใช้ฝีมือเป็นอย่างมาก เพราะถ้าทำไม่เป็น ครามก็จะไม่ติดฝ้าย หรือสีจะซีดเร็ว (เขาว่าว่ามันจะไม่ขึ้นมัน สีมันจะดูด้านๆ ไม่สวย) ดังนั้นใครที่ทำเป็นก็จะถือว่าเป็น ปรมาจารย์ตั๊กม๊อแห่งการย้อมผ้า (ใครทันหนังจีนเรื่องนี้น่าจะเข้าใจ) การย้อมผ้าจึงมีสองแบบคือ ย้อมก่อนทอ หรือ ทอก่อนย้อม

 

ก่อนอื่นคงต้องมาทำความรู้จักกันก่อนว่า “น้ำคราม” นั้นในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า สีอินดิโกธรรมชาติ ซึ่งจะมีสาร Indoxyl Glucoside , Indican, Indurubin, Indico-Brown, Indio Glutin โดยวิธีการทำน้ำครามต้องนำต้นหรือใบมาสกัดสารสีดังกล่าวด้วยวิธีการแช่หรือหมัก ซึ่งจะทำให้ครามเปลี่ยนจากอินดิคานมาเป็นอินดอกซิล โดยเมื่อเปลี่ยนมาเป็นอินดอกซิลแล้ว ครามจะมีคุณสมบัติสำคัญคือ ไม่ละลายน้ำ (หรือเรียกกันในทางวิทยาศาสตร์ว่า Indico Blue)

 

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการย้อมครามก็คือ เรื่องของการติดสี ที่สีมักจะไม่ทำปฏิกิริยากับไฟเบอร์ (ซึ่งก็คือฝ้ายนั่นเอง) ดังนั้นจะดูว่าคนนั้นย้อมครามเป็นหรือไม่ก็ต้องดูว่า เขาย้อมแล้วครามติดหรือไม่ติด “ครามเป็น”หรือ “ครามตาย” ซึ่งถ้า “ครามตาย” ก็จะทำให้ผ้าเน่า ดังนั้นครามที่ย้อมผ้าได้จะต้องใช้ “ครามเป็น” เท่านั้น ส่วนเทคนิคของชาวไทยดำที่จะทำให้สีของครามยึดติดกับผ้าฝ้ายได้นั้น ชาวไทยดำจะนิยมใส่ “เถ้าเปลือกนุ่น” ลงไปในระหว่างการย้อม เพราะเถ้าเปลือกนุ่นมีคุณสมบัติของสารที่ช่วยในการติดสี ในขณะที่ถ้าต้องการสีครามให้เข้มขึ้นหรือติดนานขึ้น จะมีการเติมสารติดสีเข้าไปอีกตัวหนึ่งซึ่งก็เป็นธรรมชาติล้วนๆ นั่นก็คือ “เปลือกประดู่”

 

นอกจากนี้ชาวไทยดำยังมีธรรมเนียมอย่างนึงที่น่าบันทึกไว้ นั่นคือ ธรรมเนียมเครื่องแต่งกาย โดยเขาจะมีคำพูดว่า ผู้ชายนุ่งซ้วง ผู้หญิงนุ่งซิ่น ชาวไทยดำมีเสื้อที่เป็นเสมือนสูทสำหรับชนกลุ่มนี้เรียกว่า “เสื้อฮี” จะนิยมใส่ไปในงานมงคลกับอวมงคล โดยเสื้อดังกล่าวออกแบบให้ใส่ได้ทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งจะมีสีดำ มีขลิบลายเล็กน้อย ใช้สำหรับใส่ไปในงานรื่นเริง งานที่เป็นมงคล มีหลักว่า ในงานมงคลชาวไทยดำจะไม่ใส่สีสดใส แต่ถ้างานอวมงคล ชาวไทยดำจะใส่เสื้อฮีที่กลับเอาอีกด้านออกมา ซึ่งจะมีสีสันสดใส มีลวดลายเต็มตัว สิ่งที่น่าทึ่งในภูมิปัญญาก็คือ เสื้อฮีนั้นใส่ได้ทั้งสองด้าน โดยใช้เทคนิคการเย็บแบบไม่มีตะเข็บ และลวดลายที่ปักบนเสื้อฮีนั้นยังบ่งบอกถึงเครือเถาหรือใครเป็นลูกใครได้อีกด้วย (น่าทึ่งจริงๆ)

 

อาจารย์ทั้งสองท่านบรรยายได้อย่างน่าสนใจและติดตามฟังมากๆ แต่ทว่าหัวข้อที่มีต่อมาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน แต่คงต้องขอยกยอดไปบันทึกต่อในวันพรุ่งนี้ ถ้าใครสนใจก็ลองติดตามกันดูนะคะ

               

หมายเลขบันทึก: 325996เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวน่าสนใจค่ะ

ใช้สีอยู่เป็นประจำ ได้ประโยชน์จากบันทึกนี้ค่ะ

เลยได้รู้จัก อินดิโกธรรมชาติ ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดา และ คุณสิริพร

ยินดีมากที่บันทึกนี้เป็นประโยชน์ตามความตั้งใจ

คุณณัฐรดาน่าจะได้อ่านบันทึกครั้งที่ 2 ด้วยนะคะ

มีพูดเรื่อง คำเรียกสีของไทย อยู่ด้วย

ซึ่งแนทว่ามันน่าสนใจดีทีเดียวค่ะ

ขอบคุณค่ะ

กำลังทำโปรเจคที่เกี่ยวข้องเลยค่ะ ข้อมูลเป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ ไม่ทราบว่ามีตีพืมเป็นงานวิจัยรึป่าวค่ะ สนใจมากๆเลยค่ะ

ได้ความรู้มากมายค่ะ อยากจะนำไปเปรียบเทียบรูปทังกาว่าเข้ากันได้ไหม ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท