ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

พระพุทธเจ้าในฐานะนักไกล่เกลี่ยกรณีสงครามน้ำ


                                   

                      “สงครามน้ำ”[1] เป็นสงครามเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างชาวศากยะ และโกลิยะ ซึ่ง “ที่มา” ของสงครามก็คือ “ทาสและกรรมกร” ที่อ้างสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโรหิณี  ในขณะที่ทรัพยากรมีจำนวนน้อย แต่ความต้องการของประชาชนทั้งสองกลุ่มมีมากกว่า  ฉะนั้น เมื่อทั้งคู่ไม่ได้นำเอา “ผลประโยชน์” มาเป็นตัวตั้ง แต่กลับยืนอยู่บน “จุดยืน” ของตัวเองอย่างเหนียวแน่น  การเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ทางทรัพยากรน้ำจึงเกิดความ “ล้มเหลว”  และผลจากความล้มเหลวดังกล่าวจึงทำให้สถานการณ์ลุกลามไปสู่ความรุนแรงด้วยการทะเลาะวิวาท และทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำประเด็นเรื่อง “ชาติพันธุ์” ของกษัตริย์แต่ละฝ่ายมาเป็น “ตัวช่วย”  สถานการณ์ขัดแย้งไม่ได้ “จำกัดวง” อยู่ในกลุ่มของทาสและกรรมกรเท่านั้น หากแต่ได้ขยายวงจากกรรมกรไปสู่อำมาตย์ เสนาบดี และกษัตริย์ของทั้งสองแคว้นด้วย  จึงทำให้กษัตริย์ทั้งสองแคว้นตัดสินใจนำ “กำลังรบ” ทั้งทางบกและทางน้ำเพื่อทำ “สงคราม” ระหว่างกัน

                      ในขณะที่ “สงครามน้ำ” กำลังดำเนินไปอยู่นั้น  พระพุทธเจ้าทรงวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้ง (Conflict Analysis) ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ ในกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ซึ่งไม่ไกลจากสถานที่ดังกล่าว  และพบว่าประเด็น (Issue) ของความขัดแย้งคือ “น้ำ”[2]  ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทับซ้อนก็คือประเด็นเรื่อง “ชาติพันธุ์”  สิ่งที่ทำหน้าที่ชักใยอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมดังกล่าวก็คือ “ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ”[3]

                      ในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง  เมื่อพระองค์ทรงทราบประเด็นที่ชัดเจนแล้ว จึงทรงเริ่มต้นด้วยวิเคราะห์คู่กรณี (Party) ทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้แก่แคว้นศากยะ และแคว้นโกลิยะเกี่ยวกับ “ตัวแปร” ที่ทำให้คู่กรณีเกิดความขัดแย้ง และปัญหาก็คือว่า “เมื่อเราไปห้าม  การทะเลาะนี้จะระงับหรือไม่หนอ”[4]

                      สิ่งที่สามารถยืนยันข้อสมมติฐานเกี่ยวกับการวิเคราะห์คู่กรณีก็คือ การที่พระองค์ออกแบบ คัดสรร และเลือกชุดของวิธีที่จะนำไปจัดการข้อพิพาทว่า “ควรจะเลือกวิธี หรือชุดของวิธีใดจึงจะดีที่สุด และเหมาะแก่บุคคล และสถานการณ์มากที่สุด และท้ายที่สุดแล้ว พระองค์ทรงตัดสินพระทัย (Decision Making)  ใช้ชุดของแนวคิดต่างๆ ๓ ชุด เพื่อจัดการความขัดแย้งใน ๓ ขั้นตอน ซึ่งรายละเอียดจะนำเสนอข้างหน้า

                      เมื่อพระองค์สามารถ “คัดกรอง” ชุดวิธีที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการข้อพิพาทแล้ว จึงตัดสินพระทัยเดินทางไปยืนประทับอยู่ท่ามกลางกษัตริย์ทั้งสองแคว้น  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พระองค์ได้ใช้กระบวนการ “สานเสวนาประชาลุ่มน้ำโรหิณี” (Rohinee’s Dialogue) โดยการสนทนาพูดคุยอย่างมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง (Fact Finding) เกี่ยวกับที่มาและแรงจูงใจในการทำสงครามของกษัตริย์ทั้งแคว้น ดังจะเห็นได้จากประเด็นของการสนทนาที่ว่า  “ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย เพราะเหคุไร พวกท่านจึงมาที่นี่”[5]  ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นว่ามีอาวุธที่กองเรียงรายอยู่ข้างกายของกษัตริย์เหล่านั้น

                      เมื่อวิเคราะห์ประเด็นที่พระพุทธเจ้าเปิดประเด็นการสนทนาด้วยคำถามพบว่า เป็นการถามนำเพื่อให้พระญาติของพระองค์เปิดเผยประเด็นต่าง ๆ ออกมาเอง  แล้วนำคำตอบที่ได้รับนั้นมาขยายผลต่อ “หม่อมฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อจะดูแม่น้ำ  เพื่อต้องการเที่ยวเล่น  และก็ไม่ได้ที่นี่เพื่อดูความร่มรื่นของป่าไม้  หากแต่มาเพื่อต้องการเริ่มสงคราม”[6]   จากการตอบคำถามของพระพุทธองค์ก็ทำให้เราทราบชัดว่า ความร้าวฉานที่เกิดขึ้นนั้นมิได้มีสาเหตุหลักมาจากน้ำ เพราะหมู่ญาติถวายบังคมทูลว่า “ไม่ได้มาที่นี่เพื่อจะดูแม่น้ำ”[7]

                      เมื่อพระองค์ทราบชัดว่าการมาที่นี่ของเหล่ากษัตริย์ก็เพื่อทำ “สงคราม”  พระองค์จึงถามต่อไปว่า “ก็แล้วพวกเธอทะเลาะกันเพราะเรื่องอะไรเล่า”[8]  การถามในลักษณะนี้เป็นการถามเพื่อเสาะหาสาเหตุที่แท้จริงของการที่จะทำ “สงคราม”  เพราะว่าลำพังเพียงแค่การทะเลาะวิวาทกันคงไม่สามารถทำให้เกิดสงครามขึ้นมาได้

                      แต่เมื่อถูกซักถามในลักษณะนี้  กษัตริย์ทั้งหลายก็พากันงงงันและเงียบงัน  เพราะหากบอกว่าความร้าวฉานเกิดมาจากการที่ตัวเองถูกดูหมิ่นดูแคลนเกี่ยวกับที่มาของการเกิดขึ้นแห่ง    ขัตติยวงศ์ก็จะทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการก่อสงครามด้วยเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล และอาจถูกแย้งได้ว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นมิได้เป็นข้อมูลที่เกินเลยไปจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์แต่ประการใด  

                      แต่หากกษัตริย์เหล่านั้นตอบว่า “ทะเลาะ หรือร้าวฉานกันเพราะน้ำ”  ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า “จริง ๆ แล้ว กษัตริย์เหล่านั้นทะเลาะกันเพราะน้ำจริงหรือไม่?  เพราะว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เราเห็นว่า ทาสและกรรมกรของแคว้นทั้งสองทะเลาะกันเพราะการแบ่งปันทรัพยากรน้ำเป็นเหตุผลที่กษัตริย์ซึ่งมีวุฒิภาวะที่สูงกว่าน่าจะสามารถหาทางออกด้วยการไกล่เกลี่ยได้  แต่สถานการณ์กลับดำเนินไปในลักษณะที่ว่า กษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสนับสนุนข้อพิพาทดังกล่าว 

                      อย่างไรก็ตาม ในประเด็นดังกล่าว  พระอรรถกถาจารย์บางแห่งได้ชี้ให้เห็นว่า  เมื่อกษัตริย์ถูกถามว่า “ทะเลาะกันเพราะอะไร”[9] กษัตริย์จึงพากันตอบอย่างฉับพลันทันทีว่า “ทะเลาะกันเพราะน้ำ”[10]  แต่ผู้วิจัยมองว่า การตอบในลักษณะนี้เป็นการตอบเพื่อปกปิดปมด้อยของตนเองมากกว่า  โดยการนำเอาประเด็นเรื่องน้ำมากลบเกลื่อนประเด็นปัญหาเรื่องที่มาของกษัตริย์  เพราะเมื่อพิจารณาจากบริบทต่าง ๆ พบว่า ในความเป็นจริงแล้ว กษัตริย์เหล่านั้นก็ไม่ได้ทะเลาะกันเพราะการแย่งชิงทรัพยากรน้ำแต่ประการใด  หากแต่ถูกพาดถึงในเชิงดูหมิ่นเกี่ยวกับที่มาของวงศ์ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำที่ว่า “พวกเราจักแสดงเรี่ยวแรงและกำลังของเหล่าชนผู้ที่อยู่ร่วมกับพวกพี่สาวน้องสาว” และ “พวกเราจักสำแดงเรี่ยวแรงและกำลังของเหล่าชนผู้อยู่ที่ต้นกระเบา” เมื่อพิจารณามิติของถ้อยคำของกษัตริย์ทั้งสองแคว้นพบว่า มิได้มีร่องรอยของการทะเลาะกันเพราะประเด็นเรื่องน้ำ

                      ฉะนั้น เมื่อกษัตริย์ไม่กล้าตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า  เนื่องจากเหตุผลเหตุผลดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น  คำตอบที่เหล่ากษัตริย์มองว่าน่าจะเหมาะกับบรรยากาศเช่นนี้ก็คือคำว่า “ไม่ทราบ”  แม้การตอบในลักษณะนี้อาจจะถูกตำหนิได้ว่า  สถานการณ์ที่ทำให้เกิดภาวะสงคราม  โดยกษัตริย์ทั้งสองแคว้นได้พากันยกทัพ และขนอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายขนาดนี้ จะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงได้อย่างไร

                      พระพุทธเจ้ากลับมิได้ตอกย้ำถึงปมด้อยดังกล่าวแต่ประการใด  เพราะการถามเพื่อจี้ไปที่จุดด้อยในบรรยากาศเช่นนั้นอาจทำให้กษัตริย์เหล่านั้นเกิดความอับอาย และการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในหมู่พระญาติทำได้ยากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงกลบเกลื่อนประเด็นดังกล่าวด้วยการถามต่อไปว่า “บัดนี้ใครจักทราบ”   สถานการณ์ของความตึงเครียดได้ทุเลาเบาบางลง  เมื่อจะต้องมีการมองหาบุคคลที่ทำให้เกิดความร้าวฉาน  เมื่อซักถามไปโดยลำดับตั้งแต่อุปราชลงไปเป็นทอด ๆ สุดท้ายผู้ที่ไม่สามารถจะหนีความรับผิดชอบไปได้ก็คือ “ทาสและกรรมกร” ถือได้ว่า “เป็นเจ้าภาพ” ที่แท้จริงในความผิดดังกล่าว

                      เมื่อพระองค์ได้ “วัตถุดิบ” หรือ “ข้อมูล” จากการ “สานเสวนา” อย่างเพียงพอแล้ว  จึงได้นำเสนอกระบวนการในการสร้างทางเลือกที่ดีที่สุด (Best Alternative)  แทนการแก้ปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากการตั้งคำถามของพระองค์ว่า  “น้ำตีราคาเท่าไร”   ถึงแม้คำตอบที่ได้รับว่า “มีราคาน้อย”  “กษัตริย์ทั้งหลาย มีราคาเท่าไร”  “ขึ้นชื่อว่ากษัตริย์ทั้งหลายหาค่ามิได้”  จากการตอบคำถามดังกล่าวทำให้พบว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดแทนการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงก็คือ “การที่ท่านทั้งหลาย ยังพวกกษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้ให้ฉิบหาย เพราะอาศัยน้ำ ซึ่งมีประมาณน้อย  ควรแล้วละหรือ”   

                      ประโยคเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็น “ชุดของถ้อยคำ” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “ฉุดปัญญา” ของกษัตริย์เหล่านั้นให้กลับคืนมาอีกครั้ง  กษัตริย์เหล่านั้นก็ยอมรับในประเด็นนี้  หากวิเคราะห์แล้วพบว่า เป็นการยอมรับตั้งแต่เริ่มแรกของความร้าวฉานแล้วว่า “น้ำมีค่าสู้กษัตริย์ไม่ได้”  แต่ที่กษัตริย์ยอมไม่ได้ก็เพราะ “มานะ และทิฐิ” ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเมฆหมอกของ “อวิชชา”

                      ขั้นตอนต่อไปซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของของพระพุทธเจ้าในฐานะ “นักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง” ก็คือ  การนำเสนอชุดของแนวคิดที่ได้ “คัดสรร” และ “ตระเตรียม” มาตั้งแต่ช่วงใกล้รุ่ง ดังต่อไปนี้[11]

                      (๑) ชุดของแนวคิดที่ใช้ระงับความขัดแย้ง  ชุดของวิธีนี้ประกอบไปหลักการตามที่ปรากฏอยู่ใน “๓  ชาดก” ซึ่งได้แก่ ผันทนชาดก[12] ทุททภชาดก[13] และลฏุกิกชาดก[14] ซึ่งเป้าหมายของชุดนี้ก็เพื่อที่จะซ่อมแซมความรู้สึกของทั้งสองฝ่ายที่กำลังทำสงคราม และเสริมสร้าง “สันติภายใน”

                      (๒) ชุดของแนวคิดที่สร้างความสามัคคี และสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่าย ชุดของวิธีนี้ประกอบไปด้วยหลักการตามที่ปรากฏใน “๒ ชาดก” กล่าวคือ รุกขชาดก[15]  และวัฏฏกชาดก[16] เป้าหมายสำคัญของชุดนี้คือการเสริมสร้าง “สันติภายนอก”

                      (๓) แนวคิดถอนรากเหง้าของตัณหา ทิฏฐิ และมานะ  แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ใน          “อัตตทัณฑสูตร”[17] อันเป็นการแก้ไขปัญหา “ความอยากในเรื่องน้ำ”  “การยึดมั่นในความคิดเห็นของแต่ละคน” และ “ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์”

                      ภายหลังที่พระองค์ได้นำเสนอ “แนวคิดทั้ง ๓ ชุด” ดังกล่าวแล้ว กษัตริย์ และประชาชนทั้งสองแคว้นได้พากัน “ยุติสงครามน้ำ”  จากการทำหน้าที่เป็น “นักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง” ของพระพุทธเจ้านั้น มีประเด็นที่น่าศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมใน ๒ ประเด็นใหญ่คือ การใช้ “วิธีการ” เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินกลยุทธ์ของพระองค์ และปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความขัดแย้งบรรลุผลสำเร็จ

                      (ก) การใช้ “วิธีการ” เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินกลยุทธ์  จากการวิเคราะห์วิธีการที่พระองค์ได้นำไปใช้ในการจัดการความขัดแย้งนั้นพบว่าประกอบไปด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

                      (๑) กลยุทธ์ในการเผชิญหน้ากับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย  ในสถานการณ์นี้ พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการเข้าไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งโดยตรง  เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันกับกษัตริย์ทั้งสองฝ่าย  แต่จุดอ่อนของวิธีนี้ก็คือ หากความสัมพันธ์ของคู่กรณีกับผู้ไกล่เกลี่ยไม่ดีแล้ว อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในหลายๆ ด้านได้

                      (๒) กลยุทธ์ในการโน้มน้าว (Persuasion)   เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าเน้นหนัก และให้ความสำคัญสูงมากในการเข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ย ดังจะเห็นได้จากกรณีนี้  หรือกรณีอื่น ๆ ที่จะนำเสนอต่อไป จุดเด่นของวิธีการนี้คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่คู่กรณี และโน้มน้าวให้คู่กรณีได้เห็นถึงความสำคัญของความสามัคคี  แต่จุดอ่อนคือ “ทุนทางสังคม” ของผู้ไกล่เกลี่ยว่าจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการสื่อหรือไม่

                      (ข) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความขัดแย้งบรรลุผลสำเร็จ  ผู้วิจัยมองว่า การที่พระพุทธเจ้าสามารถทำให้คู่กรณียุติความขัดแย้งนั้น เกิดจากปัจจัยที่สำคัญบางประการดังต่อไปนี้

                      (๑) สร้างความสัมพันธ์กับคู่กรณี  จากการศึกษาวิเคราะห์บริบทต่าง ๆ ของพระองค์นั้นทำให้เราประจักษ์ความจริงประการหนึ่งว่า พระพุทธองค์ทรงมี “ต้นทุนทางสังคม” สูงมาก  กล่าวคือ สถานะทางสังคมก่อนที่จะบวชพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกันกษัตริย์ศากยะและโกลิยะ  แม้ว่าพระองค์จะทรงเจริญวัยในแคว้นศากยะ และมีพระบิดาเป็นชาวศากยะ

                       ประเด็นที่มองข้ามคือพระองค์ทรงมีพระมารดาเป็นชาวโกลิยะ  ด้วยเหตุนี้  เลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์ประกอบด้วยความเป็นวงศ์ของกษัตริย์ทั้งในแคว้นศากยะและโกลิยะ  ฉะนั้น ความเป็น “กลุ่มเดียวกัน” หรือ “ชาติพันธุ์เดียวกัน” ระหว่างพระองค์กับกษัตริย์เหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะหลีกได้   การนำเสนอหรือเปิดฉากให้กษัตริย์เหล่านั้นไว้วางใจในพระองค์ได้เป็นประเด็นแรก ๆ ของการไกล่เกลี่ยก็คือ การบอกให้เขาเหล่านั้นได้ทราบว่า “เราเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน” 

                      นอกจากนั้นแล้ว  การไปปรากฏตัวของพระองค์เป็นการดำรงอยู่ท่ามกลางกลุ่มชนทั้งสองแคว้น ที่กำลังขัดแย้งกันโดยการ “ประทับนั่งโดยบัลลังก์ในอากาศ ณ ท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี” ทำให้มวลทั้งสองแคว้นได้บังเกิดความเข้าใจว่าพระองค์มิได้ฝักไฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  หากแต่พระองค์ดำรงตนอยู่ในสถานะของ “ผู้เจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง” (Mediator)  เพื่อทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในหมู่ญาติ

                     () การสร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือจากคู่กรณี   ต้นทุนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ “สถานะของความเป็นพระพุทธเจ้า”  ที่พระองค์มีอยู่เหนือบุคคลเหล่านั้น และบุคคลเหล่านั้นมิได้มีในสิ่งที่พระองค์มี  ในประเด็นนี้พระองค์มักจะตรัสอยู่เสมอว่า “ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่  กษัตริย์ประเสริฐที่สุด  ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  จัดได้ว่าประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์” [18] 

                      การประกาศในลักษณะนี้มีนัยที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่ากษัตริย์จะได้ชื่อว่าประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์   พระองค์ก็มีสถานะเป็นกษัตริย์เช่นเดียวกัน แต่สถานภาพของความเป็นกษัตริย์ที่พระญาติ หรือพระองค์มีนั้น  จัดได้ว่าเป็นสถานะทางสังคมชั้นนอก  มิได้เป็นสถานะที่สูงสุดแต่ประการใด  หากแต่สิ่งที่สูงสุดคือผู้ที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  คุณสมบัติข้อนี้ถือได้ว่าเป็นสถานะภายในที่พระองค์มี แต่พระญาติของพระองค์ไม่มี 

                      อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งว่าพระองค์อยู่เหนือกษัตริย์อื่น ๆ ในโลกด้วย “พวกศากยะเป็นผู้ใกล้ชิด และอยู่ในอำนาจของพระราชาปเสนทิโกศล… ก็พวกศากยะย่อมทำการต้อนรับ ทำการอภิวาท  ลุกขึ้นยืนรับ  ทำอัญชลีกรรมและสามีจิกรรมในพระราชา    ปเสนทิโกศล… พวกศากยะกระทำการต้อนรับเป็นต้น  แก่พระราชาปเสนทิโกศลอย่างไร  พระราชา ปเสนทิโกศลย่อมทำการต้อนรับเป็นต้น แก่ตถาคตอย่างนั้น”[19] ซึ่งกรณีนี้ปรากฏชัดในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังที่ได้กล่าวแล้ว

                      อย่างไรก็ตาม จากคุณสมบัติภายในและภายนอกดังกล่าวนั้น สิ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นจากพฤติภาพของกษัติรย์ของทั้งสองแคว้นที่เห็นพระวรกายของพระองค์เท่านั้น” ก็ได้พากันทิ้งอาวุธ และถวายการบังคม”  กล่าวโดยสรุป  ไม่ปรากฏพระดำรัสตอนใดเลยที่ทรงแนะนำให้กษัตริย์ได้ทราบถึง “วิธีจัดสรร หรือการแบ่งปันทรัพยากรน้ำ”  ว่าควรจะทำอย่างไร ว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก หากเกิดจากปัจจัยภายใน เมื่อปัจจัยภายในได้รับการแก้ไข  จึงไม่มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงปัจจัยภายนอกซึ่งสำคัญน้อยกว่า    ฉะนั้น “ความสามัคคี”  จึงเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล และพร้อมที่จะแบ่งปันความต้องการ  ความรัก และความเข้าใจระหว่างกันและกัน อันส่งผลให้เกิดสังคมแห่งสันติได้

 


                      [1] ดูเพิ่มเติมใน ขุ.สุ.อ. ๒/๓๖๒/๑๗๖-๑๗๗, ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๐๘-๓๑๒.

                      [2] ขุ.สุ.อ. ๒/๓๖๒/๑๗๖, ขุ.ชา.อ. ๒/๗๖/๑๑๘.

                      [3] ในอรรกถามองว่า ตัวที่อยู่เบื้องหลังคือ ตัณหา และทิฏฐิ แต่ผู้วิจัยมองว่า เมื่อวิเคราะห์จากตอนท้ายของคาถาจะพบว่า มีประเด็นเรื่องมานะเข้าไปเกี่ยวข้องค่อนข้างชัดเจน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเรื่องการถือตัวของกษัตริย์ทั้งสองฝ่าย ดูเพิ่มเติมในทัณฑสูตร  ขุ.สุ. (บาลี) ๒๕/๙๔๒-๙๖๑/๕๑๘-๕๒๐, ขุ.ม. (บาลี) ๒๙/๑๗๐-๑๘๙/๓๓๖-๓๗๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๔๒-๙๖๑/๔๑๐-๔๑๔.

                      [4] ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๐๙.

                      [5] ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๑๐.

                      [6] ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๑๐.

                      [7] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๐.

                      [8] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๐.

                      [9] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๐.

                      [10]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๐.

                      [11] ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๐๙.

                      [12] ชาดกนี้เน้นเรื่องราวที่เกี่ยวกับรุกขเทวดาและหมีซึ่งทะเลาะวิวาทกันครั้งแล้วครั้งเล่า  แต่ในที่สุดไม้ตะคร้อที่รุกขเทวดาอาศัยอยู่ก็กลายเป็นล้อเกวียน โดยมีหนังหมีหุ้มล้อ  ขุ.ชา.อ. ๖/๔๗๕/๑๔๔-๑๔๘ โดยพระองค์ได้สรุปว่า “ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย  ขึ้นชื่อว่า การหายใจคล่อง เพราะเหตุทะเลาะวิวาทกันไม่มีเลย”

                      [13] ชาดกนี้เน้นเรื่องราวของกระต่ายที่นอนอยู่ใต้ต้นมะตูม ในขณะที่นอนหลับนั้น ผลมะตูมสุกได้ล่นลงไปถูกใบตาล จึงเข้าใจว่า แผ่นดินถล่ม จึงส่งสัญญาณให้กระตายตัว และสัตว์อื่นๆ ได้รับรู้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ สัตว์ทั้งหลายพากันวิ่งหนี และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก  ขุ.ชา.อ. ๔/๓๒๒/๒๗๙-๒๘๓ พระองค์จึงสรุปว่า “ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย  เกิดมาเป็นคนไม่ควรหันไปตามเหตุที่ถึงของบุคคลอื่น (คือไม่ควรเก็บเอาเรื่องของคนอื่นมาคิด)”

                      [14]  ชาดกนี้เน้นเรื่องราวของความบาดหมางระหว่างช้างกับนกไส้ ที่ช้างได้ฆ่าลูกของเธอตาย เธอจึงแกล้งทำดีกับกา แมลงวันและกบเพื่อให้กาเจาะตาช้าง แมลงวันเข้าไปไข่ใส่ และกบไปยืนรองที่ปากเหวเพื่อให้ช้างตกไปตาย  ขุ.ชา.อ. ๔/๓๕๗/๓๘๙-๓๙๒  พระองค์จึงสรุปว่า“ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย  บางคราวผู้ที่มีกำลังน้อยกว่าก็หาช่องทำลายผู้ที่มีกำลังมากได้  บางคราวผู้ที่มีกำลังมากก็ได้ช่องทำลายผู้ที่มีกำลังน้อยได้  แม้แต่นางนกไซ้ยังฆ่าพญาช้างตัวประเสริฐได้”

                      [15] ชาดกนี้ชี้ให้เห็นถึงเทวดาสองกลุ่ม คือกลุ่มที่พากันไปอาศัยอยู่ในป่ารังที่ประสานกันแน่น กับกลุ่มที่พากันไปอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งอยู่ต้นเดียว เมื่อพายุเกิดขึ้นได้ทำลายต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวล้มลง แต่ลมพายุไม่สามารถที่จะทำลายป่ารังที่เกาะประสานกันอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันได้  ขุ.ชา.อ. ๒/๗๔/๑๑๘-๑๒๐ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงสรุปว่า“มหาบพิตรทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายได้นามว่าเป็นญาติกัน  ควรจะสมัครสมานสามัคคีร่วมใจกัน  เพราะว่า  เมื่อญาติทั้งหลายยังสามัคคีกันอยู่  หมู่ปัจจามิตร (ข้าศึก) ย่อมไม่มีโอกาส”

                      [16] ชาดกนี้ชี้ให้เห็นถึงกรณีที่นกกระจาบแก่งแย่งกัน และอวดดีว่าตัวเองเก่ง จึงทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ และทำให้นายพรานจับได้ทั้งฝูง  ขุ.ชา.อ. ๒/๑๑๘/๒๖๐  ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงสรุปว่า “ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย เมื่อฝูงนกกระจาบพร้อมเพรียงกันอยู่  นายพรานก็ไม่อาจหาช่องทำร้ายได้  ต่อเมื่อใดฝูงนกกระจาบเกิดการแก่งแย่งขึ้น  เมื่อนั้น  บุตรนายพรานคนหนึ่งจึงทำลายเอานกกระจาบเหล่านั้นไปเสีย”

                      [17] พระสูตรนี้ย้ำให้เห็นว่า การทะเลาะวิวาทไม่ได้เกิดผลดีแก่บุคคลใด และยังจะส่งผลให้เกิดภัยต่างๆ ที่มาของภัยก็คือ “ตัณหา และทิฏฐิ” อันทำให้หมู่ชนโกรธเคืองกันและกัน ฉะนั้น มุนีย่อมไม่กล่าวยกย่องตนในบุคคลที่เสมอกัน  ผู้ต่ำกว่า ผู้สูงกว่า  มุนีนั้นเป็นผู้สงบปราศจากความตระหนี่  ย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่น

                      [18] ที.สี. (ไทย) ๙/๒๗๗/๙๙.

                      [19] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๙๑/๕๑.

 

ผู้สนใจดูเนื้อหาเพิ่มเติมจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน
http://www.mcu.ac.th/site/thesisdetails.php?thesis=254818

หมายเลขบันทึก: 326301เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท