ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

พระพุทธเจ้าในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางกรณีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์


                              

                      (แม่น้ำอจิระวดีที่พัดถล่มพระเจ้าวิทูฑภะและกองทัพหลวงจนเสียชีวิต)

 

                       ประเด็นความขัดแย้งซึ่งเป็นที่มาของ “สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide)[1] นั้น ไม่ได้ปรากฏมีเฉพาะกรณีของอดอร์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ที่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชายยิว ๑๐ กว่าล้านคน[2]  หรือกรณีของนายสโลโบดัน มิโลเซวิค (Slobodan Milosevic) อดีตนายกรัฐมนตรีของโคโซโวที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเซิร์บและมุสลิมกว่า ๓ แสนคน[3] เป็นต้นเท่านั้น  แต่เมื่อกล่าวย้อนไปในสมัยพุทธกาลนั้น  ปรากฏการณ์เช่นเดียวกันนี้  ได้ปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ของสังคมอินเดียสมัยนั้นเช่นเดียวกัน  แรงผลักดันที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาจากสาเหตุที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันคือ “ความเกลียดชัง”  ประเด็นที่มาของการทำให้เกิด “ความเกลียดชัง” (Contradiction) นั้น อาจจะมาจากตัวแปรที่ค่อนข้างหลากหลายเนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่แตกต่างกัน

                      กรณีของพระเจ้าวิฑูฑภะ[4]ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเจ้าศากยะ  มีปรากฏชัดอยู่ในคัมภีร์หลายแห่งด้วยกันคือ   วิฑูฑภวัตถุ[5] อรรถกถาวิฑูฑภวัตถุ อรรถกถาธรรมเจติยสูตร[6]      อรรกถาสุนทริยสูตร[7] ปราภวสูตร[8]  และอรรกถาปราภวสูตร[9]   ซึ่งบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง(Stakeholder) กับเหตุการณ์นี้  ประกอบไปด้วยพระพุทธเจ้า  พระเจ้าปเสนทิโกศล[10] เจ้าศากยะ[11]  ทีฆการายนะ[12]  วิฑูฑภะ[13]  และนางวาสภขัตติยา[14]  ประเด็นที่น่าสนใจคือ พระพุทธเจ้าได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้อย่างไร  และเพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่เข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ย (Mediation) เพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับญาติของพระองค์ด้วย

                      คำว่า “ต้นทุนทางสังคมสูง” กับการทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก  เพราะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อคู่กรณี  เช่น กรณีสงครามน้ำ และกรณีข้อพิพาทระหว่างพระภิกษุฝ่ายธรรมกถึก และพระวินัยธร

                      แต่บางครั้งคำว่า “ต้นทุนทางสังคม” ของนักเจราจาไกล่เกลี่ยอาจ “ไม่มีผล” หรือ “ใช้ไม่ได้ผล”  เมื่อต้องเผชิญกับ “ต้นทุนทางความเกลียดชัง” ที่คู่กรณีมีต่อกันอย่างรุนแรง และยาวนาน  เห็นได้จากกรณีของ “สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

                      ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ พระพุทธเจ้าได้เข้าไปทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ให้พระเจ้าวิฑูฑภะฆ่าเจ้าศากยะทั้งหลายในขณะที่ความขัดแย้งได้ดำรงอยู่ในภาวะของ “ความแตกตัว” หรือ “ปรากฏรูปอย่างชัดเจน” แล้ว และเป็นการเข้าไปไกล่เกลี่ยในขณะที่พระเจ้าวิฑูฑภะกำลังยก “ทัพหลวง” เพื่อไปฆ่าเจ้าศากยะ

                      ในฐานะที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาต่อพระญาติโดยมีพระประสงค์ที่จะสงเคราะห์พระญาติของพระองค์ (ญาตัตถจริยา) นั้น พระองค์ทรงพยายามอย่างยิ่งในการใช้ “พุทโธบาย” ไกล่เกลี่ย และหาแนวทางเพื่อยับยั้งพระเจ้าวิฑูฑภะให้ “ล้มเลิก” ความตั้งใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจ้าศากยะให้จงได้ พุทโธบายที่พระองค์ได้ดำเนินการคือ “การนั่งใต้โคนไม้ซึ่งมีเงาโปร่ง” 

                      “ต้นไม้ซึ่งมีเงาโปร่ง” ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตแดนของเจ้าศากยะ แต่ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น เป็นต้นไม้ที่มีใบหนา และมีเงาทึบ  แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ต้นไม้ดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในเขตแดนของพระเจ้าวิฑูฑภะ  พุทโธบายเช่นนี้จัดเป็นกลยุทธ์ในการสร้างจุดเด่น หรือจุดสนใจ และทำให้เกิดการตั้งคำถามได้ง่าย

                      จะพบว่า เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพหลวงเดินทางผ่านบริเวณดังกล่าวได้ถามพระองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงประทับนั่งแล้วที่โคนไม้เงาปรุโปร่ง  ในเวลาร้อนเห็นปานนี้, ขอพระองค์ได้โปรดประทับนั่งที่โคนไทร มีเงาอันสนิทนั่นเถิดพระเจ้าข้า”  ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสตอบทันทีว่า “ช่างเถิด มหาบพิตร ชื่อว่าเงาของหมู่พระญาติเป็นของเย็น”

                      ประเด็นนี้อธิบายได้ว่า  แม้พระองค์จะนั่งใต้ต้นไม้ร้อนเพียงใดก็ตาม หากเป็นต้นไม้ที่อยู่ในเขตของพระญาติจัดได้ว่าพระญาติคือเงาที่สามารถทำให้เกิดความเย็นได้  ต่างจากประทับนั่งใต้ต้นไม้เย็นที่มีเงาหนาทึบ  แต่ต้นไม้ดังกล่าวไม่ใช่ของพระญาติ แม้จะเย็นเพียงใดก็ยังจัดได้ว่าร้อนกว่าเงาของพระญาติ  ท่าทีเช่นนี้พระเจ้าวิฑูฑภะก็ประจักษ์เป็นอย่างดีดังจะเห็นได้จากการดำริของพระองค์ว่า “พระศาสดาเสด็จมาเพื่อประสงค์จะรักษาหมู่ญาติ”

                      อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก “ต้นทุนทางความเกลียดชัง” ที่ฝังแน่นมาอย่างยาวนานทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยยกทัพหลวงออกไปเพื่อทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจ้าศากยะอีก แต่พระพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปไกล่เกลี่ยถึง ๓ ครั้งด้วยกัน   เมื่อถึงครั้งที่ ๔ พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยที่จะยุติบทบาทของพระองค์   จึงทำให้พระเจ้าวิฑูฑภะได้มีโอกาสทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเจ้าศากยะในที่สุด

                      ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของพระองค์ก็คือ กรณีศึกษานี้จัดได้ว่าเป็นกรณีเดียวเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าประสบความ “ล้มเหลว” ในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้พระเจ้าวิฑูฑภะประนีประนอมยอมความกับเจ้าศากยะ แต่วาระสุดท้ายก็ไม่สามารถทำให้พระองค์เปลี่ยนพระทัยได้ ประเด็นที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับกรณีนี้ก็คือ เพราะเหตุไร  การทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยของพระองค์จึงไม่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าพระองค์จะใช้วิธีการ “เผชิญหน้า” เพื่อไกล่เกลี่ยให้ “ประนีประนอมยอมความซึ่งกันและกัน”  ด้วยวิธีการ “โน้มน้าว” ถึง ๓ ครั้ง  ผู้วิจัยคิดว่า มีตัวแปรที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ

                      (๑) ประเด็นเรื่อง “ความเกลียดชัง” (Concentration) ที่ฝังแน่นอยู่ในใจตั้งแต่เยาว์ ด้วยสาเหตุที่เกิดจากการตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุไร เพราะญาติของตนจึงไม่เหลียวแล แต่กรณีเด็กคนอื่นๆ มักได้รับของฝากจากญาติ ๆ  และเพราะเหตุไร เมื่อกลับไปในสถานที่ที่ตัวเองคิดว่าเป็นบ้านของพระญาติ แต่ไม่ค่อยได้รับการต้อนรับตามธรรมเนียมที่กษัตริย์ควรกระทำต่อกษัตริย์  ซึ่งคำถามดังกล่าวก็ถูกเปิดเผยเมื่อพลทหารได้ฟังความจริงจากปากของนางทาสีว่า “พระองค์เป็นลูกของนางทาสี” ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องล้างแผ่นกระดานที่พระองค์นั่งด้วยน้ำนม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของประโยคที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจของความชิงชังเกิดจากการถูกดูหมิ่นว่า “สักวันหนึ่งเราจะล้างกระดานแผ่นนั้นด้วยเลือดจากลำคอของเจ้าศากยะ”  ในที่สุดพระองค์กระทำดังที่ได้ตั้งใจเอาไว้

                      (๒) ประเด็นเรื่อง “ความสัมพันธ์” (Relationship) ผู้วิจัยคิดว่าประเด็นนี้ไม่สมควรที่นักวิเคราะห์จะพากันมองข้าม  ด้วยเหตุที่ตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงวินาทีที่พระเจ้าวิฑูฑภะตัดสินใจที่กระทำสงครามนั้น  ความสัมพันธ์ หรือการเกี่ยวข้องระหว่างพระองค์กับพระพุทธเจ้าไม่เคยบังเกิดขึ้นเลย ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีต่อกันทำให้พระเจ้าวิฑูฑภะจึงคิดว่าพระพุทธเจ้าต้องการที่สงเคราะห์ญาติของพระองค์  จนนำไปสู่การตีความได้ว่า พระองค์ต้องการที่จะช่วยเหลือ และเข้าข้างญาติของพระองค์  การคิดอย่างนี้จึงเป็นที่มาของการ “หวาดระแวง” และ “สงสัย” ในการทำหน้าที่ของนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนั่งใต้เงาไม้โปร่งซึ่งอยู่ในอาณาเขตของเมืองสาวัตถีอันเป็นพื้นที่ของของพระญาติแทนที่จะรงเลือกที่จะนั่งใต้ต้นไม้เงาทึบซึ่งเป็นอาณาเขตของพระเจ้าวิฑูฑภะ   ฉะนั้น  คำว่า “ต้นทุนทางสังคมสูง” จึงเป็นคนละประเด็นกับ “ต้นทุนทางความเกลียดชังสูง”

                      (๓) ประเด็นเรื่อง “กรรมเก่า” ของเจ้าศากยะ  เป็นประเด็นที่ทำให้พระพุทธเจ้าต้องหันกลับไปทบทวนบทบาทในการทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยของพระองค์ว่า “เพราะเหตุใด จึงล้มเหลว” และไม่สามารถเปลี่ยนพระทัยของพระเจ้าวิฑูฑภะให้ล้มเลิกความตั้งใจได้ เมื่อพระองค์วิเคราะห์ปัจจัยดังกล่าวด้วยพุทธญาณแล้ว จึงพบว่า เจ้าศากยะเหล่านั้นเคยโปรยยาพิษเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนอื่น ด้วยเหตุนี้  เจ้าศากยะเหล่านั้นจึงต้องประสบกับวิบากกรรมที่ตัวเองเคยกระทำมาแล้ว  ประเด็นเรื่อง “กรรมเก่า” จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักเจรจาไกล่จะพึงพิจารณาในขณะที่ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยแล้วเกิดความล้มเหลวขึ้นมา ซึ่งเราไม่สามารถที่จะไปกล่าวตำหนิว่า วิธีการดังกล่าวนั้นไม่ดี หรือ ไม่เหมาะกับสถานการณ์ บางครั้งหากนักไกล่เกลี่ยได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้ว หากไม่สามารถที่จะช่วยเหลือคู่กรณีได้ก็จำเป็นต้องยอมรับความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจริงในเรื่องของกรรมเก่าของแต่ละบุคคล

                      เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว การจัดการความขัดแย้งในความหมายทั่วไปในแง่ของธรรมนั้น  ทำให้พบชุดของวิธีการ หรือชุดของข้อปฏิบัติเพื่อจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธีในประเด็นใหญ่เพียงชุดวิธีเดียว คือ  “จัดการความขัดแย้งโดยใช้กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง”  ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวคือ “พระพุทธเจ้า” 

                      และเมื่อกล่าวถึงวิธีการ หรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่พระองค์ได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือประกอบการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางคือ การเริ่มต้นด้วย “การเผชิญหน้า” เข้าไปจัดการความขัดแย้ง หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นด้วยการ “ประนีประนอม” ให้คู่กรณี “ยอมความ”  โดยใช้การ “โน้มน้าว” ด้วยการชี้ให้เห็นถึง “จุดอ่อน” (Weakness) ที่จะเกิดขึ้นจากข้อพิพาทดังกล่าว  แต่เมื่อพบทางตันอันเนื่องมาจาก “ฐานรากของข้อพิพาท” ใหญ่ และกินเนื้อที่ทางสังคมวิทยา และจิตวิทยามากจนเกินไป พระองค์ก็จะทรงเลือกใช้วิธี “หลีกเลี่ยง”  เพื่อรอให้เวลาของข้อพิพาทสุกงอมโดยใช้ “การกดดันทางสังคม” หรือ “สงครามสื่อมวลชน” เข้าไปเป็นตัว “กระตุ้น” ให้เกิดการสร้างทางเลือกในวิธีการใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การสร้างเวทีสังฆเสวนา (Shangka’s Dialogue) ขึ้นมา เพื่อให้คู่กรณีได้ใช้เวทีดังกล่าวพบปะพูดคุยและหาทางออกร่วมกันในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

 


                      [1] ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นโปรดดูเพิ่มเติมที่ “http://www.ess.uwe.ac.uk/ genocide.htm”.

                      [2] อ่านเพิ่มเติมในเกี่ยวกับประวัติสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์ใน “Recorded in the annals of history are plenty of genocidal dictators” <http://www.rotten.com/library/bio/nazi/adolf-hitler/>.

                      [3] ประเทศยูโกสลาเวียมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเป็นมาทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติระหว่างชาวโครแอท ชาวเซิร์บ และชาวมุสลิม  อดีตประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเซวิค  ผู้ได้รับการขนานนามว่า “จอมสังหารแห่งบอลข่าน” ได้มีส่วนสำคัญในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวชาวมุสลิมเชื้อสายแอบาเนียนเป็นจำนวนมาก  ดูเพิ่มเติมใน “QUARTERLY REPORT ON THE VIOLATION OF HUMAN RIGHTS AND FREEDOMS IN KOSOVA” <http://www.ess.uwe.ac.uk/Kosovo/CdhrfMar2000.htm>.

                      [4] กรณีศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้าวิฑูฑภะกับฮิตเลอร์มีความสอดคล้องที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ทั้งคู่ มีปมด้อยตั้งแต่เด็ก

                      [5] ขุ.สุ. (บาลี) ๒๕/๔๗/๒๕, ขุ.สุ. (ไทย) ๒๕/๔๗/๔๑,

                      [6] ม.ม.อ.๒/๓๗๔/๒๕๖.

                      [7] ในอรรถกถาของพระสูตรนี้ เรียกพระเจ้าวิฑูฑภะว่า “วิฏฺฏูโภ”. ข.อุ.อ._/๘/๓๘๓.

                      [8] ขุ.สุ. (บาลี) ๒๕/๑๐๔/๓๕๖, ขุ.สุ. (ไทย) ๒๕/๑๐๔/๕๒๖.

                      [9] ขุ.สุ.อ ๑/๑๐๕/๑๗๖.

                      [10] พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้ามหาโกศล  และเป็นพี่ชายของพระนางเวเทหิซึ่งเป็นพระชายาของพระเจ้าพิมพิสาร และเป็นพระเจ้าลุงของพระเจ้าอชาตศัตรู ทรงเป็นผู้ปกครองประจำแคว้นโกศล  ซึ่ง       เมืองหลวงมีชื่อว่า “สาวัตถี”  สํ.ส.ฏี. ๑/๑๒๕/๑๙๘.

                      [11] ดูประวัติและความเป็นมาของเจ้าศากยะ บทเดียวกัน

                      [12] ทีฆการายนะนั้น เป็นหลานของพันธุละเสนาบดี  ซึ่งพันธุลเสนาบดีนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล  ได้สั่งให้ทหารลอบฆ่าพร้อมกับลูกๆ จำนวน ๓๒  คน เนื่องจากพระองค์ระแวงว่าพันธุลเสนาบดีจะแย่งชิง      พระราชสมบัติของพระองค์  แต่เมื่อส่งสายลับไปสืบแล้ว กลับพบความจริงว่า นางมัลลิกาเทวีซึ่งเป็นภรรยาของพันธุลเสนาบดีและลูกสะใภ้ไม่ได้มีความคิด และพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว   ด้วยความสำนึกผิดพระองค์จึงได้ตั้งหลานของพันธุลเสนาบดีขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีในโอกาสต่อมา.

                      [13] เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล และนางวาสภขัตติยา

                      [14] เป็นลูกสาวของนางทาสีที่อยู่ในการดูแลของพระเจ้าศากยะมหานามะ

ผู้สนใจดูเนื้อหาเพิ่มเติมจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน
http://www.mcu.ac.th/site/thesisdetails.php?thesis=254818

หมายเลขบันทึก: 326314เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท