ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

การไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง (Mediation)


                                    

                      การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง หมายถึง กระบวนการที่คู่กรณีซึ่งอาจจะเป็นรัฐ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยสมัครใจมาพูดคุย อภิปรายถึงความแตกต่างกันในเรื่องต่าง ๆ และเนื่องจากเป็นความสมัครใจที่คู่เจรจาหันมาพูดคุยกัน  จึงเป็นการร่วมกันหาทางออกต่าง ๆ แล้วจึงร่วมกันตัดสินใจนำไปสู่ผลที่   คู่เจรจาพึงพอใจ ถ้าคู่เจรจาเข้าใจกระบวนการและสามารถสื่อสารกันได้อย่างดี  ไม่ต้องมีคนกลางมาเป็นผู้กำกับกระบวนการ แต่โดยส่วนใหญ่กว่าที่จะตัดสินใจมาร่วมเจรจา ความขัดแย้งก็กลายไปเป็นข้อพิพาทอย่างรุนแรง จำเป็นต้องมีคนกลางมาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยที่เรียกว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง[1]

                      จะเห็นว่า กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางเป็นแนวทางที่ขยายเพิ่มเติมจาก     การเจรจา โดยมี “บุคคลที่สาม” ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง บุคคลคนที่สามนี้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินปัญหาโดยตรง แต่คนกลางนี้จะช่วยคู่กรณีที่เกิดความขัดแย้งกัน เพื่อให้บรรลุข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับโดยความเห็นพ้องต้องกัน ในประเด็นข้อพิพาท ทั้ง “การเจรจาต่อรอง” และ “การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง” เปิดทางให้อำนาจแห่งการตัดสินใจอยู่ที่คู่กรณีที่มีความขัดแย้งกัน

                      อย่างไรก็ดี  เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของการเจรจาไกล่เกลี่ยพบแง่มุมที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ[1] 

                       (๑) การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางเป็นกระบวนการพิจารณาตัดสินหาทางออกของ        ข้อขัดแย้งเกิดโดยคู่กรณี  หรือคู่ขัดแย้งช่วยกันพิจารณาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งคนกลางไม่มีหน้าที่หรือไม่มีอำนาจไปตัดสินคดี

                      (๒) กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยจะใช้วิธีการ หรือกระบวนการใช้การเรียนรู้ร่วมกัน (Learning Process) โดยไม่ใช้จุดยืน (Position) แต่จะใช้การเจรจาโดยใช้ความต้องการ หรือ      ความสนใจร่วมกันเป็นพื้นฐานในการเจรจา (Interest-Based Negotiation)  โดยไม่มุ่งไปที่การเจรจาโดยยึดจุดยืน (Position-Based Negotiation) ซึ่งจะทำให้ยากต่อการเจรจา

                      (๓) กระบวนการในการเจรจาต้องมีกติกาในการเจรจา (Ground Rules) เพื่อให้คนกลางที่มีหน้าที่กำกับกระบวนการได้ตามนั้น

                      สรุปก็คือ นักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางจะทำหน้าที่ประดุจข้างที่สามนั้น ซึ่งจะสร้างเวทีขึ้นมาเพื่อให้มีการสานเสวนาร่วมกันทำหน้าที่ในการช่วยเหลือประเด็นต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิด  ความพึงพอใจร่วมกัน  อีกทั้งจะช่วยให้มีทางเลือกที่หลากหลาย และก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี    ต่อกันระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วย

 


                      [1] วันชัย วัฒนศัพท์, ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา, หน้า ๑๕๘.

                      [2] Chirstopher W. Moor, (เขียน), วันชัย วัฒนศัพท์, กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง, หน้า ๗-๘.

                      [3] William Ury, Getting to Peace: Transforming Conflict at Home, at Work, and in the World, (New York:  Penguin Putnam, 1999), p.19–26.

ผู้สนใจดูเนื้อหาเพิ่มเติมจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน
http://www.mcu.ac.th/site/thesisdetails.php?thesis=254818

หมายเลขบันทึก: 326318เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท