ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

การจัดการความขัดแย้งโดยวิธีทางกฎหมายเชิงสันติ (Peaceful Legal Means)


  

                    เมื่อกล่าวถึงการจัดการความขัดแย้งโดยวิธีทางกฎหมายเชิงสันติ (Peaceful Legal Means)นั้น  สามารถจำแนกสันติวิธีตามแนวนี้ได้  ๓ วิธี กล่าวคือ อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) กระบวนการทางศาล (Judicial Approach)  และกระบวนการออกกฎหมาย (Legislative Approach)

                      ๑. อนุญาโตตุลาการ  (Arbitration)  หมายถึง กระบวนการที่ทั้งคู่สมัครใจขอให้ “บุคคลที่สามที่เป็นกลาง” ไม่มีส่วนได้เสียเป็นผู้ช่วยตัดสินใจในปัญหาความขัดแย้ง[1] ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทซึ่งมีมานานนับพันปีแล้ว ทั้งในสมัยกรีก และโรมันก็ได้นำวิธีการนี้มาใช้[2]  เมื่อศึกษาถึงประวัติและวิวัฒนาการของกฎหมายพบว่า อนุญาโตตุลาการถูกนำมาใช้เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ ข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน และข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุว่าข้อพิพาทระหว่างรัฐนั้นอาจนำมาซึ่งการใช้กำลังอาวุธเข้าต่อสู้กัน[3] 

                      ด้วยเหตุนี้ อนุญาโตตุลาการจึงเป็นวิธีการหนึ่งของการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีดังที่คลีด  อีเกลตัน(Clyde Eagleton) ได้ชี้ว่า การอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีหนึ่งในการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีซึ่งคู่กรณียอมผูกพันตนเองต่อการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการแบบที่ใช้ในการกำหนด คือ ความยินยอมพิเศษ (Compromise) หรือข้อตกลงในข้อพิพาทได้เสนอให้แก่อนุญาโตตุลาการ คู่กรณียอมกำหนดเงื่อนไขว่า คำวินิจฉัยโดยอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตกลงกันว่าการพิจารณานั้น ถือหลักความยุติธรรมและความเที่ยงตรง ศาลที่ชำระคดีข้อพิพาท ซึ่งได้เสนอขึ้นนั้นอาจสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษโดยข้อตกลง หรือเป็นศาลชำระความที่มีอยู่พร้อมแล้ว ในกรณีทั่ว ๆไป วิธีการดำเนินการของอนุญาโตตุลาการมีลักษณะเป็นไปตามความพึงพอใจของคู่กรณี[4]

                      ในขณะที่ รศ.ดร.อนันต์ จันทรโอภากร  มองว่า อนุญาโตตุลาการนั้นเป็นวิธีระงับข้อพิพาทที่มีบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อกันมากกว่าการไปสู่ศาล ซึ่งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นก็ได้รับการชำระความโดยบุคคลที่คู่กรณีเชื่อถือและไว้วางใจ”[5] จะเห็นว่า อนุญาโตตุลาการนั้นเป็นเรื่องที่คู่กรณีจะตกลงกันเลือกบุคคลและกลไกในการระงับข้อพิพาทของตนเป็นเรื่อง ๆ ไป อีกทั้งกำหนดรูปแบบของอนุญาโตตุลาการ แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ขอบเขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงต้องคำนึงถึงผล หรือข้อผูกมัดที่อาจจะเกิดขึ้นจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย

                      เมื่อกล่าวถึงรูปแบบของอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐนั้น สามารถ      แบ่งออกเป็น ๔ รูปแบบคือ  (๑) คณะกรรมการตัวแทนผสม (Mixed Commission)                      (๒) อนุญาโตตุลาการที่เป็นประมุขของรัฐ (๓) อนุญาโตตุลาการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิคนเดียว และ (๔) อนุญาโตตุลาการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน[6]

                      ถึงกระนั้น คำชี้ขาดของคณะกรรมการที่คู่กรณีได้ตั้งขึ้นเพี่อพิจารณาตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐย่อมผูกพันรัฐคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติตาม แต่ไม่จำเป็นต้องถึงที่สุด เพราะคู่กรณีอาจจะมีการดำเนินกระบวนการทางคดีเพื่อขอให้มีการตีความทบทวน แก้ไข อุทธรณ์ หรือเพื่อให้คำชี้ขาดนั้นใช้บังคับไม่ได้ [7]หรืออาจแสวงหาวิธีการใหม่ในการระงับข้อพิพาทโดยมอบหมายให้ศาลอนุญาโตตุลาการใหม่ หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นผู้พิจารณา หรืออาจมอบให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาและขอคำแนะนำว่าจะให้ปฏิบัติการอย่างใดที่เป็นการสมควร[8]

                      อย่างไรก็ดีความผูกพันของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) อนุญาโตตุลาการเฉพาะเรื่อง กล่าวคือ คำชี้ขาดนั้นย่อมผูกพันเฉพาะรัฐคู่กรณี และเฉพาะเรื่องที่พิพาทกันเท่านั้น (๒) อนุญาโตตุลาการถาวร กล่าวคือ  การที่รัฐนำคดีข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาคดีของอนุญาโตตุลาการก็ด้วยความมุ่งหมายเพื่อที่จะให้คำชี้ขาดตัดสินที่ผูกพันคู่กรณี และมีผลเป็นการยุติข้อพิพาทระหว่างกัน แต่คำชี้ขาดดังกล่าวย่อมมีผลต่อเมื่อองค์คณะได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องและพิจารณาโดยชอบ และคำชี้ได้ทำขึ้นครบถ้วนถูกต้องเท่านั้น[9]

                      สำหรับกรณีของข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายในรัฐ ก็ได้นำหลักการอนุญาโตตุลาการมาประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน  จะเห็นว่าวิธีการนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการค้า การลงทุน เนื่องจากคู่กรณีสามารถคัดสรรบุคคลใด ๆ ก็ตามที่ตนเห็นว่ามีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาท และมีความเป็นธรรมมาวินิจฉัยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ           คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการในระดับประเทศที่เรียกว่า “คำชี้ขาด” นั้น ถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันคู่พิพาทให้ต้องปฏิบัติตามทันที[10]

                      กล่าวโดยสรุปแล้ว  วิธีการนี้จะแตกต่างจากวิธีการแก้ไขกรณีพิพาททั้ง ๔ ประการข้างต้น เนื่องจากวิธีการทั้ง ๔ ข้างต้นนั้นเป็นวิธีการทูตที่ไม่ผูกมัดคู่กรณีในอันที่จะทำ  ความตกลงกันได้หรือไม่ แต่การใช้อนุญาโตตุลาการมาเป็นระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศนั้น คู่กรณีต้องมีพันธะหลาย ๆ ประการต่อการดำเนินการของอนุญาโตตุลาการ

                      ๒. กระบวนการทางศาล (Judicial Approach) หมายถึง การที่สถาบันซึ่งจัดตั้งขึ้นตามระบบที่สังคมยอมรับเข้ามาช่วยจัดการแก้ไขข้อพิพาท  ซึ่งวิธีการนี้เป็นการเปลี่ยนจาก     การแก้ปัญหาระหว่างกันเองไปสู่กระบวนการของรัฐ โดยคู่กรณีดำเนินการจ้าง “ทนายความ” ให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการสู้คดี ซึ่งมีการนำสืบต่อหน้าบุคคลที่สามที่เป็นกลางคือ “ผู้พิพากษา” หรือ “คณะลูกขุน” แล้วแต่ระบบ[11]

                      ผู้ที่ทำหน้าที่พิพากษาเหล่านี้ นอกจากการพิจารณาถึงข้อขัดแย้ง ความห่วงกังวล และผลประโยชน์ของคู่กรณีแล้ว ยังต้องมองไกลออกไปถึงค่านิยม และมาตรฐานของสังคม ผู้พิพากษาและคณะลูกขุนต้องตัดสินบนพื้นฐานของกฎหมาย และต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย  คู่กรณีไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ก็จะได้รับโอกาสในการแสดงทัศนคติของเขาเองอย่างหนักแน่น และจากการตัดสินที่สะท้อนถึงลักษณะความเป็นไปของสังคม[12]

                      อย่างไรก็ดี  เมื่อกล่าวถึงกระบวนการทางศาลประกอบไปด้วยศาลใน ๒ ระดับ คือ  (๑) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อันเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐโดยใช้องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยข้อกฎหมายระหว่างประเทศหรือธรรมเนียมประเพณีระหว่างประเทศที่คู่กรณียอมรับ มาเป็นเครื่องมือในการตัดสินข้อพิพาท[13]  และ (๒) ศาลภายในประเทศ  ซึ่งทำหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในรัฐ ที่มีความขัดแย้งกันในระดับครอบครัว สังคม หรือกลุ่มต่าง ๆ กับรัฐ เป็นต้น ซึ่งวิธีการและขั้นตอนในการตัดสินนั้นจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดตามข้อกำหนด และกติกาต่างๆ ที่สังคมได้กำหนดขึ้นมาใช้เป็นข้อปฏิบัติในสังคม

                      ๓. กระบวนการออกกฎหมาย  (Legislative Approach) กระบวนการออกกฎหมายจัดได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือข้อพิพาทได้อีกประการหนึ่งเช่นเดียวกัน  วิธีการนี้ดำเนินการโดยภาครัฐโดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย[14]  ในรูปแบบของพระราชกำหนด หรือพระบัญญัตินิรโทษกรรม (Amnesty Act)  ซึ่งประเด็นนี้อาจจะเป็นความขัดแย้งในประเด็นใหญ่ ๆ และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก  ซึ่งหากนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอาจจะก่อให้เกิดความโกลาหลได้   กรณีเช่นนี้เห็นได้จากการที่รัฐออกพระราชกำหนด     นิรโทษกรรมเรื่องปืน และนิรโทษกรรมเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นต้น ถึงกระนั้น การออกกฎหมายในลักษณะนี้ไม่ครอบคลุมถึงความผิดเกี่ยวกับ “คดีอาญา” ในประเด็นที่รุนแรง

 


                      [1] Chirstopher W. Moor, วันชัย วัฒนศัพท์(ผู้แปล), กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง, หน้า ๙.

                      [2] พ.ต.ชวัติ พิสุทธิพันธุ์, “วิธีระงับข้อพิพาทโดยสันติของสหประชาชาติ”, หน้า ๑๓.

                      [3] อนันต์ จันทรโอภากร, กฎหมายอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์      นิติธรรม, ๒๕๓๘), หน้า ๑.

                      [4] Clyde Eagleton, International Government, (New York: The Ronald Press Company, 1948), p. 226.

                      [5] อนันต์ จันทรโอภากร, กฎหมายอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ,  หน้า ๑.

                      [6] อนันต์ จันทรโอภากร, กฎหมายอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ,  หน้า ๑๖–๑๑.

                      [7] เรื่องเดียวกัน,  หน้า ๒๗.

                      [8] พ.ต.ชวัติ พิสุทธิพันธุ์, “วิธีระงับข้อพิพาทโดยสันติของสหประชาชาติ”, หน้า ๑๖.

                      [9] โครินทร์ เฟื่องเกษม, สงครามและสันติภาพในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้: การวิเคราะห์โดยใช้แนวคิดและทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศ, (กรุงเทพฯ: ธรรมศาสตร์, ๒๕๓๑), หน้า ๕๓.

                      [10] สำนักระงับข้อพิพาท กระทรวงยุติธรรม, คู่มือระงับข้อพิพาทสำหรับประชาชน, (กรุงเทพฯ:    จิรรัชการพิมพ์, ๒๕๔๗), หน้า ๒๓.
                      [11]
Chirstopher W. Moor, วันชัย วัฒนศัพท์(ผู้แปล), กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง, หน้า ๑๐.

                     [12] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐.

                     [13] ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า”ศาลโลก” เป็นหนึ่งในองค์กรหลักของสหประชาชาติถูกตั้งขึ้นเมื่อปี ๑๙๔๗ เพื่อสนองเจตนารมณ์ขององค์การสหประชาชาติ โดยระบุไว้ในกฎบัตรฯ มาตรา ๙๒ ว่าให้เป็นองค์กรทางตุลาการอันสำคัญของสหประชาชาติ ซึ่งรัฐคู่กรณีที่มีความขัดแย้งจะเสนอปัญหาข้อขัดแย้งให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณา และอำนาจในการพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มีจำนวนผู้พิพากษา ๑๕ คนประกอบเป็น     องค์คณะ ซึ่งผู้พิพากษาทั้งหมดได้รับการเลือกสรรมาจากผู้มีคุณวุฒิและทรงคุณธรรมจากประเทศต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์. ดูเพิ่มเติมใน สมพงษ์  ชูมาก, “ข้อพิพาทระหว่างประเทศและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ”,  หน้า ๑๐๐.

                      [14] Chirstopher W. Moor, วันชัย วัฒนศัพท์(ผู้แปล), กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง, หน้า ๑๐.

ผู้สนใจดูเนื้อหาเพิ่มเติมจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน
http://www.mcu.ac.th/site/thesisdetails.php?thesis=254818

หมายเลขบันทึก: 326321เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท