ไข่ไก่ 2 กระเช้า จากราชมงคลศรีวิชัย(ไสใหญ่)


ท่านเชื่อหรือไม่ ? ว่าเกษตรเขาจ้างเรียนกันเมื่อก่อนนี้

        แปลกสักหน่อยกับการตั้งชื่อเรื่องในบันทึกนี้แต่ก็นึกไม่ออกว่าจะตั้งยังไงดี  บางชื่อที่คิดจะตั้งก็ดูวิชาการไปหน่อย ก็เอาชื่อนี้แหละเพราะปลายทางของเรื่องที่เกิดจบที่ไข่ไก่ 2 กระเช้า เหตุเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็มีความสุขใจประทับใจในความร่วมมือที่มีด้วยความใส่ใจลงไป เล่าเรื่องเลยดีกว่าครับ

        บ่ายวันที่ 13 มกราคม 2553 ผมเดินทางถึงสวนมะนาวในปล่องซิเมนต์(เรียกกันอย่างนี้ตามท้องถิ่นนะครับ)  ของผู้พันจรัญ  หนูเนียม  ที่อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ผมและท่านผู้พันฯ แม้นจะอยู่ห่างกันคนละที่ก็ต้องเป็นเจ้าบ้านร่วมกัน  ผมนั้นไม่ได้เป็นเจ้าบ้านตัวจริงแต่ก็เป็นไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

นั่นคือ เตรียมรับน้องๆนักศึกษาสาขาพัฒนาการเกษตรและธุรกิจเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (เกษตรไสใหญ่เดิม) 18 คน นำดูงานโดย รองศาสตราจารย์นิพนธ์ ใจปลื้ม ต้องการศึกษาดูงานและฟังการบรรยายในประเด็นของ "หลักการ วิธีการและกลยุทธ์ในการทำงานส่งเสริมการเกษตรจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม"  ซึ่งผมได้รับมอบหมายจากท่านเกษตรจังหวัดยงยุทธ สุวรรณฤกษ์ ให้เป็นผู้แทนของสำนักงานเกษตรจังหวัดบรรยายในการดูงานครั้งนี้ ตามที่น้อง ๆ นักศึกษาร้องขอมา  และส่วนหนึ่งต้องการดูงานในพื้นที่ ดูความสำเร็จของเกษตรกรในแปลงจริงด้วย ซึ่งท่านผู้พันจรัญ เป็นเกษตรกรคนเก่งที่เป็นเป้าหมายในครั้งนี้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดคัดเลือกเป็น "คุณเล่า" ในการดูงานครับ

       เรื่องการประสานงาน จนมาถึงผมก็โดยการติดต่อทางหนังสือราชการ และ คุณนิพนธ์ สุขสะอาด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ที่ทำงานอยู่ในฝ่าย ฯ เดียวกับผมรับเรื่องไว้แล้วก็หารือกัน เพราะคุณนิพนธ์ติดราชการในชุดวิทยากรเศรษฐกิจพอเพียงที่ดำเนินการสนับสนุนให้ กับ สำนักงานแรงงานจังหวัด ผมจึงรับหน้าที่มาดำเนินการเรื่องนี้เอง  อีกอย่างผมกับท่านผู้พันจรัญก็รู้จักกันมานาน ประสานงานกันอยู่เรื่อย ๆ ปัจจุบันก็ร่วมเป็นเครือข่ายถ่ายทอดความรู้"เศรษฐกิจพอเพียง" ในโอกาสใด ๆ ที่เหมาะสม ในครั้งนี้ก็ได้มีโอกาสกระทำอีก และที่สำคัญคือดำเนินการถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ น้อง ๆ ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

 ซึ่งผมต้องการอย่างยิ่งที่จะคุยกับคนรุ่นหลัง ๆ นี้ เพราะหาโอกาสยาก งานที่ทำกันอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำร่วมกับคนรุ่นนี้  ผมคุยอยู่กับผู้พันฯเพื่อรออาจารย์นิพนธ์ ใจปลื้มและลูกศิษย์ของท่าน  และไม่นานท่านอาจารย์นิพนธ์ ฯ ก็โทรเข้ามาถามเส้นทาง ซึ่งพอถามท่านก็ถึงพอดี(ถามได้จังหวะกับระยะทางถ้าไม่ถามก็ขับผ่านแน่ ๆ) ดีอย่างหนึ่งสวนผู้พันมีเอกลักษณ์คือต้นหมากที่เรียงกันเป็นแถวนี่แหละครับจำง่ายดี  เวลาการต้อนรับกันก็มาถึง ได้รู้จักอาจารย์นิพนธ์ เป็นครั้งแรกสำหรับผม ได้พูดคุยสอบถามและทราบว่า น้อง ๆ นักศึกษาสาขาเกษตรนี่คือปี 3 เหลืออยู่เท่านี้หลายคนถอดใจออกไปหมด เพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่างซึ่งแน่นอนว่าผมก็เคยเจอตอนสมัยเรียนเหมือนกัน การเปรียบเทียบหลักสูตรการเรียน ระหว่างนักศึกษาด้วยกัน  แต่ละคนต้องการหนีจากเกษตร อายเพื่อน โดยมีเหตุผลที่คิดเอาเอง  และนี่คือส่วนหนึ่งของการลืมร่องรอยที่มาของตนเอง  เกิดมาจากไหนจะลบอย่างไรก็ไม่หายจะพยายามลบทำไมก็ไม่ทราบ และวัดด้วยอะไรใครเป็นคนกำหนดว่า อย่างไหนสูงกว่าต่ำกว่า ท่านเชื่อหรือไม่ ? เมื่อก่อนนี้แรก ๆ นะครับเกษตรเขาจ้างให้ไปเรียนกัน แต่ตอนที่ผมเรียนมีคนสนใจไปเรียนมากขึ้นแล้ว (เสียดายไม่ทันตอนเขาจ้าง)ทำให้พ่อกับแม่หาเงินส่งกันจนเหนื่อยไม่น้อยเลย ไม่เห็นใครจ้างเลย ผมไปของผมเองครับ มาถึงตอนนี้ที่เห็นย้อนรอยกลับไปอีกแล้ว ฟังอาจารย์นิพนธ์เล่าคนเรียนน้อยลง และเรียนด้วยความน้อยใจ เข้ามามากตอนแรกและเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ ผมก็เลยบอกท่านว่าที่เหลือ 18 คน นี่แหละของแท้  ขอเป็นกำลังใจ ให้น้อง 18 คน ทั้งหญิง ชาย ว่าที่น้องทำอยู่ตอนนี้คือชีวิตที่แท้จริงครับ ไม่หลอกไม่เทียมและไม่ปลอม การเกษตรเป็นเรื่องของชีวิตทั้งเล็กใหญ่ "หากเทียมชีวิตจะตายให้เห็น " สักวันหนึ่งน้องจะรู้ว่า "นี่แหละใช่" "นี่แหละชีวิตจริงของคนไทย" ที่เราลบอย่างไรก็ไม่หาย เรามาของเราอย่างนี้ อย่าได้หลอกตัวเอง

 

 

         วันนี้ (12 ม.ค.52) ท่านผู้พันฯ เองท่านก็มีความสุขที่ได้มีโอกาสฝากแนวคิดและวิชาการให้กับน้อง ๆ นักศึกษา ให้เต็มที่ ทั้งๆ ที่ตอนมาค่อนข้างจะน้อยใจในตัวเอง สิ่งที่ตัวเองทำอยู่แต่ก็ประทับใจและมีความสุขไม่น้อย  เมื่อได้มาเรียนรู้แลกเปลี่ยน ในความเป็นจริงของธรรมชาติและชีวิตที่แท้จริง  ผมได้เรียนรู้กับน้อง ๆ 18 ด้วย รู้ว่าคนรุ่นนี้มีความคิดอย่างไร หากมีโอกาสได้พูดคุยจะได้ให้กำลังใจ ว่าทุกคนทุกอย่างมีคุณค่าในส่วนนั้น ๆ อยู่  อย่าฟังกระแสนิยม จนตนเองจมอยู่กับกองความน้อยเนื้อต่ำใจ  ต้องลุกขึ้นยืนสู้ให้พ้น  เพื่อนถามอย่าเดินหนี ลองถามกลับคำถามที่เขาถามเราบ้างเขามีคำตอบให่เราหรือเปล่า

        ท้ายสุดของความประทับใจและฝากไว้แก่กัน คือมีอะไรก็ค่อยประสานกัน และ กระเช้าไข่ไก่ฟองงาม ๆ ก็ถูกมอบมาให้ผู้พันและผม และอำลากัน  

 

ดูรายละเอียดเพิ่มสวนมะนาวในปล่องซิเมนต์ของผู้พันจรัญ หนูเนียม

หมายเลขบันทึก: 327593เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2010 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ลูกชายเรียนเกษตรเหมือนกัน หากมีโอกาสจะแนะนำให้อ่านดูบ้าง เด็กรุ่นใหม่จะได้มีความภูมิใจในสิ่งที่ตนเองเป็นคนเลือก

สวัสดีครับ น้องศรี : พัชร์ธนนันท์

ให้กำลังใจสำหรับลูกชายของน้อง เขาเรียนไม่ผิดหรอก การเกษตรสำหรับเมืองไทยแล้วอยู่ในสายเลือด เราเป็นเมืองของความเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติที่มีชีวิต วิถีชีวิตความอุดมสมบูรณ์เรามาจากตรงนั้น จะรักษาไว้ได้ให้ยั่งยืนก็ต้องเข้าใจในธรรมชาติสิ่งมีชีวิตนั้นที่อยู่ร่วมกัน และคือวิชาเกษตรนะครับ

สวัสดีค่ะ

  • เป็นคนลานสกา  แต่ยังไม่ทราบเลย
  • อายจัง  คนอื่นมาเรียน  แต่เด็กบ้านเราไม่รู้
  • บอกสถานที่ได้ไหมค่ะ เผื่อจะทำโครงการให้เด็กไปศึกษาบ้าง
  • เป็นมะนาวพันธุ์ลูกใหญ่  หรือไม่มีเมล็ดเหมือนที่เขาเล่าลือกันใช่ไหมค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ สำหรับความรู้ที่นำมาแบ่งปัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท