SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

สิทธิแรงงานข้ามชาติในระหว่างช่องว่างของความยุติธรรม : มองผ่าน 4 คดี ใน 2 ศาลของนางหนุ่ม ไหมแสง


การตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม ผ่านจำนวนเงินทดแทนที่แรงงานคนหนึ่งๆ ได้รับ เป็นคำถามร่วมของแรงงานทุกสัญชาติ อย่างไรก็ดี ต่อกรณีของนางหนุ่มได้จุดประเด็นขึ้นอีกหนึ่งคำถาม- ที่เป็นไปได้ว่า-ต่อไปอาจเป็นคำถามร่วม-ของแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับนางหนุ่ม นั่นคือ ทำไมนางหนุ่มจึงไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

สิทธิแรงงานข้ามชาติในระหว่างช่องว่างของความยุติธรรม : มองผ่าน 4 คดี ใน 2 ศาลของนางหนุ่ม ไหมแสง[1]

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล[2]

6 พฤศจิกายน 2552

 

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานหนาแน่น แต่เน้นการจ้างงานแบบยืดหยุ่นและการจ้างแบบเหมาช่วงการผลิตอย่างประเทศไทย หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบ ‘3 L’ (Lowest payment, Low productivity และ Long working hours) แรงงานข้ามชาติราคาถูก จึงกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่แสนจะสำคัญ[3] แต่ในแง่ของการมีสุขภาวะที่ดี คุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติบนเส้นทางการพัฒนาดังกล่าว ได้เกิดบางคำถามต่อมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่าแรงงานไทใหญ่ที่ชื่อ นางหนุ่ม ไหมแสง ได้กลายเป็นตัวแทนของแรงงานข้ามชาติ โดยร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการยุติธรรม ในการสร้างความชัดเจนให้กับคำถามดังกล่าวไปแล้ว

จากการเข้าร่วมสนับสนุนงานตรวจสอบประเด็นและกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิและประเด็นทางกฎหมายปกครอง สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ พบว่า เหตุผลที่นางหนุ่มไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน น่าจะเกิดจาก 2-3 ประเด็นที่คลาดเคลื่อน-ผิดพลาด เพราะหลายเรื่องไม่ถูกทำความเข้าใจ

 

‘สถานะบุคคล’ ของนางหนุ่ม ไหมแสง และ ‘ท.ร.38/1’ : เรื่องที่ไม่ถูกทำความเข้าใจ

นางหนุ่ม ไหมแสง ชาวไทใหญ่ที่เดินเท้าเข้าประเทศไทยมาทำงานเป็นลูกจ้างที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้เธอจะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ในฐานะแรงงานข้ามชาติ-เธอเป็นแรงงานที่มีสิทธิทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  นอกจากนี้เธอยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย เพราะเธอได้รับการสำรวจและบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครองได้ออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลคือ ท.ร.38/1 ให้แก่นางหนุ่มเป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคล

ในสายตานักกฎหมายระหว่างประเทศ และกรมการปกครอง กล่าวอีกแบบได้ว่า ภายใต้กฎหมายและนโยบายของประเทศไทย นางหนุ่มได้รับการกำหนดสถานะบุคคล (Legal Personality)ให้เป็น “คนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว และมีสิทธิทำงานชั่วคราวในประเทศไทย” (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 และมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522) หรือเป็นราษฎรประเภทต่างด้าวหรือคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย เป็นบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 4 และมาตรา 30 รวมถึงมาตรา 38 และมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ.2547 ได้รับรองถึงสถานะบุคคลตามกฎหมายของนางหนุ่ม โดยการดำเนินการดังกล่าวของประเทศไทย โดยกรมการปกครองนี้ ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันในฐานะรัฐภาคีต่อข้อ 16 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง(แพ่ง)และสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights)[4]

 

นางหนุ่ม ไม่ใช่ ‘ผู้ทรงสิทธิ’ ในกองทุนเงินทดแทน: การเลือกปฎิบัติบนความไม่รู้ ?

ภายใต้เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537  กองทุนเงินทดแทนคือกองทุนในสำนักงานประกันสังคมเพื่อจ่ายเป็นเงินทดแทน[5] ให้แก่ลูกจ้าง[6]แทนนายจ้าง[7] ซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ[8]  (มาตรา 44) โดยอัตราเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่ายจะถูกกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงสถิติการประสบอันตรายหรืออัตราความเสี่ยงขอแต่ละประเภทกิจการ โดยกองทุนจะทำหน้าที่เป็นหลักประกันในการจ่ายเงินทดแทน เพื่อคุ้มครอง-เยียวยาให้กับลูกจ้างเร็วที่สุด หลังจากที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองลูกจ้าง อย่างน้อยที่สุด ลูกจ้างไม่ต้องพาร่างกายและจิตใจที่บอบช้ำจากการประสบอุบัติเหตุไปเผชิญหรือเสี่ยงกับการยืดเยื้อ-ถ่วงเวลาการจ่ายเงินของนายจ้าง

มีกิจการจำนวนไม่น้อย ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ แต่สำหรับกิจการก่อสร้าง มาตรา 44 แห่งพ.ร.บ.เงินทดแทนฯ และตามข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงแรงงาน ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2537 ถูกกำหนดให้เป็นประเภทกิจการที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ (มาตรา 45 และ 46) ดังนั้น นายจ้างของนางหนุ่มซึ่งประกอบกิจการก่อสร้างจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนอย่างไม่มีข้อต้องสงสัย  และลูกจ้างทุกคน โดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร เป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ หรือมีเอกสารประเภทใด เพราะหากทำงานให้นายจ้าง ย่อมถือเป็นลูกจ้างตามมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.เงินทดแทนฯ  จึงย่อมเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนหากตนได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน

 

มันไม่ใช่แค่คำถามของแรงงานข้ามชาติ

เงื่อนไขของการเป็นผู้มีสิทธิในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนที่ปรากฎในหนังสือ รส. 0711/ว. 751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 เรื่อง แนวปฏิบัติในการให้ความคุ้มครองแก่แรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือหนังสือ ว.751 อาจเป็นข้อความที่ “ย่อมเขียนได้” ในสายตาของคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย รวมถึงหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานประกันสังคม (สปส.)  แต่หากมองในแง่การจัดการประชากร สำหรับนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้ว การกำหนดเงื่อนไขและการแปลความเงื่อนไขการเป็นผู้มีสิทธิในการเข้าถึงกองทุนฯ ให้เป็นว่าต้องมีหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเท่านั้น ย่อมไม่ถูกต้อง

หนังสือว.751 เป็นแค่แนวปฏิบัติภายในหรือคำชี้แจงภายในองค์กรสปส. คือถ้อยคำที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เรียกหนังสือ ว.751 อาจกล่าวได้ว่า มีนักกฎหมายสายมหาชนเองจำนวนหนึ่งก็เห็นแบบนี้ ขณะเดียวกันก็มีอีกแนวความคิดหนึ่งที่เห็นว่า หนังสือว.751 ที่เป็นแนวปฏิบัติภายในสปส.นี้ ยังมีสถานะทางกฎหมายเป็น “กฎ” อีกด้วย

สำหรับนักกฎหมาย ประเด็นหนังสือ ว.751 อาจเป็นไปในทางหนึ่งทางใดของ 2 แนวความเห็นในทางกฎหมายมหาชนที่ว่า ซึ่งคนที่จะชี้ขาดสุดท้ายก็คือศาลปกครอง แต่สำหรับนางหนุ่ม ไหมแสง-มันเป็นข้อท้าทายที่ใหญ่โตสำหรับแรงงานข้ามชาติตัวเล็กๆ อย่างเธอ เพราะในทางปกครองแล้ว การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่ง หรือออกกฎ หากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ได้รับคำสั่งหรือประชาชน การกระทำทางปกครองนั้นๆ สามารถถูกทบทวนตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรม (judicial review) ข้อท้าทายของนางหนุ่มก็คือ สำหรับคดีแรงงาน คำฟ้องของเธอเป็นเรื่องเฉพาะของตัวเธอเอง แต่ในแง่ของคดีปกครองแล้ว คำฟ้องของนางหนุ่มจะส่งผลให้ ว.751 ถูกยกเลิกเพิกถอน ซึ่งจะส่งผลต่อแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบ หรืออาจจะได้รับผลกระทบจากว.751ด้วย

แนวปฏิบัติภายใน หรือคำชี้แจงภายในองค์กรสปส. คือถ้อยคำที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เรียกหนังสือ ว.751 อาจกล่าวได้ว่า มีนักกฎหมายสายมหาชนเองจำนวนหนึ่งก็เห็นแบบนี้ ขณะเดียวกันก็มีอีกแนวความคิดหนึ่งที่เห็นว่า หนังสือว.751 ที่เป็นแนวปฏิบัติภายในสปส.นี้ ยังมีสถานะทางกฎหมายเป็น “กฎ” อีกด้วย ทั้งยังเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือสิทธิของเอกชนที่จะได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 30) ขัดต่อหลักกฎหมาย (หลักความสัมฤทธิ์ผล) ขัดและละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี (ข้อ 26 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง(แพ่ง)และสิทธิทางการเมือง, ข้อ 5 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ พ.ศ.2508 , อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 19 ว่าด้วยการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันในเรื่องค่าทดแทนระหว่างคนงานชาติในบังคับและคนต่างชาติ พ.ศ.2468 รวมถึง ข้อ 5, ข้อ 7-9 แห่งปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรื่อง การปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ)

สำหรับนักกฎหมาย ประเด็นหนังสือ ว.751 อาจเป็นไปในทางหนึ่งทางใดของ 2 แนวความเห็นในทางกฎหมายมหาชนที่ว่า ซึ่งคนที่จะชี้ขาดสุดท้ายก็คือศาลปกครอง แต่สำหรับนางหนุ่ม ไหมแสง-มันเป็นข้อท้าทายที่ใหญ่โตสำหรับแรงงานข้ามชาติตัวเล็กๆ อย่างเธอ เพราะในทางปกครองแล้ว การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่ง หรือออกกฎ หากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ได้รับคำสั่งหรือประชาชน การกระทำทางปกครองนั้นๆ สามารถถูกทบทวนตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรม (judicial review) ข้อท้าทายของนางหนุ่มก็คือ สำหรับคดีแรงงาน คำฟ้องของเธอเป็นเรื่องเฉพาะของตัวเธอเอง แต่ในแง่ของคดีปกครองแล้ว คำฟ้องของนางหนุ่มจะส่งผลให้ ว.751 ถูกยกเลิกเพิกถอน ซึ่งจะส่งผลต่อแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบ หรืออาจจะได้รับผลกระทบจากว.751ด้วย

 

4 คดีใน 2 ศาลของนางหนุ่ม ไหมแสง

การตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม ผ่านจำนวนเงินทดแทนที่แรงงานคนหนึ่งๆ ได้รับ เป็นคำถามร่วมของแรงงานทุกสัญชาติ อย่างไรก็ดี ต่อกรณีของนางหนุ่มได้จุดประเด็นขึ้นอีกหนึ่งคำถาม- ที่เป็นไปได้ว่า-ต่อไปอาจเป็นคำถามร่วม-ของแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับนางหนุ่ม นั่นคือ ทำไมนางหนุ่มจึงไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

4 ธันวาคม 2549 นางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ อายุ 37 ปี ซึ่งได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน ตั้งแต่ปี 2547  ขณะทำงานเป็นคนก่อสร้างที่โครงการก่อสร้างโรงแรมแชงกรี-ลา ถนนช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฎว่าแบบหล่อเสาเหล็กสูงประมาณ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ตกลงมาจากเครนยกบนชั้นที่ 12 แบบเสาแตกออกกระเด็นทับนางหนุ่มอย่างรุนแรง ทำให้ต้องทุพพลภาพ เธอได้ร้องเรียนขอรับเงินทดแทน ต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จังหวัดเชียงใหม่ แต่ถูกปฏิเสธ

เงินจำนวน  425,568 บาท (รับจริง 326,729.72 บาท[9]) คือ จำนวนเงินที่สปส. สั่งให้นายจ้างจ่ายให้กับเธอ สำหรับการดำเนินชีวิต ด้วยร่างกายที่เป็นอัมพาตครึ่งล่าง ขาทั้งสองข้างรวมถึงลำตัวส่วนล่างสูญเสียความรู้สึก สูญเสียสมรรถภาพร้อยเปอร์เซนต์ คิดเป็นการสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 70 ของทั้งร่างกาย ..เธอไม่สามารถทำงานใดๆ ได้อีกต่อไปแล้ว และแน่นอน-นายจ้างได้เลิกจ้างนางหนุ่มทันที

ด้วยการสนับสนุนความช่วยเหลือทางกฎหมายจากโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษชนและการพัฒนา วันที่ 24 สิงหาคม 2550 นางหนุ่มโดยทนายความผู้รับมอบอำนาจ (นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชน จังหวัดเชียงใหม่)ได้ยื่นอุทรณ์คำสั่งของสปส.จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เพื่อขอให้กองทุนจ่ายเงินทดแทน จำนวน 435,240 บาท สำหรับการดำรงชีวิตที่เหลือหลังจากอัมพาต  ต่อมาคณะกรรมการได้มีมติให้จำหน่ายคำอุทธรณ์นี้ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการ  โดยอ้างหลักเกณฑ์การคุ้มครองแรงงานต่าวด้าวประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานที่ปรากฎตามหนังสือ รส 0711/ว.751 ลว 25 ตุลาคม 2544  โดยมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้กับนางหนุ่มแทน และในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2550 ได้จำหน่ายอุทธรณ์ของนางหนุ่มออกจากการพิจารณา โดยอ้างว่านางหนุ่มได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างแล้ว

 

คดีแรก (ศาลแรงงาน)

วันที่ 3 ธันวาคม 2550 นางหนุ่มโดยทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้ยื่นฟ้องนายจ้างและผู้รับเหมาช่วงคือนายวิรัช มั่นคงเป็นจำเลยที่ 1 บริษัทลิงค์ อินโนว่า พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท วอ ฮับ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 ต่อศาลแรงงานภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ในความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและในความผิดฐานละเมิดเกี่ยวกับการงานที่จ้าง โดยเรียกค่าเสียหายจากทั้งสิ้นเป็นเงิน 753,209 ภายใต้กระบวนการไกล่เกลี่ย จำเลยตกลงจ่ายค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 200,000 บาท และนางหนุ่มได้ตกลงรับไว้ ศาลจึงพิพากษาตามยอมและคดีสิ้นสุดในวันที่ 13 พฤษภาคม 2551

คดีที่ 2 (ศาลแรงงาน)

ทนายความของมูลนิธิฯ จึงยื่นฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่อศาลแรงงานภาค 5 (คดีที่ 2) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการและให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้กองทุนเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนให้นางหนุ่ม หรือให้นางหนุ่มมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 18(1) เพิ่มอีก 5 เดือน เป็น 12,045.25 บาท เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งของคณะกรรมการ นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหนังสือ ว.751 ที่คณะกรรมการฯ อ้างถึงเพื่อเป็นฐานของการออกคำสั่งก็เป็นหนังสือและการกำหนดแนวปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อพ.ร.บ.เงินทดแทนฯ ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

15 กรกฎาคม 2551 ศาลแรงงานภาค 5 ได้พิพากษายืนตามคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โดยมีคำวินิฉัยใน 3 ประเด็นหลัก (คดีหมายเลขดำที่ 33/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 124/2551)คือ หนึ่ง-ว. 751 เป็นแนวปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการฯ (ตามสำเนารายงานการประชุมของคณะกรรมการฯ) จึงชอบด้วยกฎหมาย, สอง-คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยถูกต้อง กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้อง และไม่สามารถนำหลักฐานมาแสดงได้ หรือนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบกองทุน จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้สำหรับแรงงานต่างด้าวทุกกรณีแล้ว, และสาม-การจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนฯ จำกัดเฉพาะในรายที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายจึงจำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่ากฎหมายได้กำหนดหน้าที่ด้วยหรือไม่ ดังนั้น ปัญหาว่ากองทุนฯ ต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์เพิ่มขึ้นหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง

ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยนางหนุ่มได้ยื่นอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551

คดีที่ 3 (ศาลปกครอง)

วันที่ 11  เมษายน 2551 นางหนุ่ม ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย, นายซอ ลุงกอ และนายเต็ง (ไม่มีนามสกุล) ผู้อาจได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผลแห่งหนังสือว.751 (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ (ผู้ถูกฟ้อง) ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนแนวทางปฏิบัติ หรือการออกคำสั่งหรือกฎหรือแนวทางปฏิบัติที่ขัดต่อหลักการของกฎหมาย อันเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

25เมษายน 2551 ศาลปกครองเชียงใหม่ ชี้ว่า “..แม้ว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายก็ตาม แต่ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน พ.ศ.2522 (มาตรา 8) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคสอง (3) ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (คดีหมายเลขดำที่ 102/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 97/2551)

คำสั่งของศาลปกครองเชียงใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมาย เพราะคำถามถึงการยกเลิกเพิกถอนกฎที่เป็นการกระทำทางปกครองนี้ มันอยู่ในเขตอำนาจศาลแรงงานหรือเปล่า เป็นคำถามของทีมทนายความอยู่แล้ว ดังนั้นขั้นตอนที่ต้องเดินต่อคือ การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

18 กันยายน 2551 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (คำร้องที่ 412/2551 คำสั่งที่ 586/2551)

คดีที่ 4 (ศาลแรงงาน)

วันที่ 7 มกราคม 2552  นางหนุ่ม ไหมแสง พร้อมด้วย นายซอ ลุงกอ และนายเต็ง จึงยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลเพิกถอนหนังสือว.751ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา และนัดพิจารณาคดีนัดแรกในวันที่ 30 มีนาคม 2552

วันที่ 21 กันยายน 2552 ศาลแรงงานภาค 5 มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นางหนุ่ม ไหมแสง และแรงงานข้ามชาติอีกสองราย ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือเวียนที่เลือกปฏิบัติดังกล่าว โดยศาล เห็นว่า “ประเด็นความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของหนังสือเวียนดังกล่าวนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้น ไม่มีอำนาจฟ้อง” (คดีหมายเลขดำที่ 164/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 232/2552)

ข้อสังเกตเบื้องต้น

-ในคดีแรงงานที่นางหนุ่มยื่นฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่อศาลแรงงานนั้น คำขอต่อศาลก็คือ ขอให้ศาลสั่งให้คณะกรรมการมีคำสั่งจ่ายเงินทดแทนให้แก่นางหนุ่ม โดยให้เหตุผลว่าหนังสือว.751  ที่คณะกรรมการอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินทดแทนนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเลือกปฏิบัติระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติด้วยกันเอง

-ความยุติธรรมอาจเกิดช่องว่าง?-ในประเด็นที่ศาลแรงงานภาค 5  เห็นว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3  ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ต้องนับว่ามันเป็นประเด็นท้าทาย เพราะก่อนหน้านี้ศาลปกครองไม่รับฟ้อง โดยบอกว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล มาถีงศาลแรงงาน กลับได้รับคำตอบว่า “ไม่มีอำนาจฟ้อง”

นางหนุ่มยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ปัจจุบันคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

-----------------------------------------------


[1] ส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิประจำปี 2552 โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand-SWIT)

[2] นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

[3] ส่วนหนึ่งในการนำเสนอของ ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ ในหัวข้อ “ประโยชน์ ปัญหาและอุปสรรคของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย”, ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติโดยกระบวนการปรึกษาหารือในระดับจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่” วันที่ 26-28 ตุลาคม 2552 ณ สวนบัว รีสอร์ท จ.เชียงใหม่ โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

[4] ข้อ 16 บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกหนแห่ง 

[5] เงินที่จ่ายเป็นค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ (มาตรา 5)

[6] ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน อันมิได้การประกอบธุรกิจอยู่ด้วย (มาตรา 5)

[7] นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้ามาทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย (มาตรา 5)

[8] เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพื่อใช้เป็นเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง (มาตรา 5)

[9] เดิม สปส. (คำสั่งที่ 1/2550 ลงวันที่ 27 เมษายน 2550 เรื่องเงินทดแทน) สั่งให้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน ๓๕,๐๐๐ บาท, ค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เดือนละ 2,418 บาท เป็นเวลา 2 เดือน 17 วัน รวมเป็นจำนวนเงิน 6,206.20  บาท

ต่อมาเมื่อแพทย์ได้ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 พบว่า นางหนุ่มสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 70 ของร่างกาย จึงมีคำสั่งใหม่  (คำสั่งที่ 2/2550 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2550) ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็น ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 35,000 บาท ค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เดือนละ 2,418 บาท เป็นเวลา 2 เดือน 17 วัน จำนวน 6,206.20 บาท และค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (3) เดือนละ 2,418 บาท เป็นเวลา 15 ปี ตั้งแต่ 11 กรกฎาคมเป็นต้นไป รวมเป็นเงิน 425,568 บาท นายจ้างได้หักส่วนลดตามกฎหมายร้อยละ 2 ต่อปีของค่าทดแทน (รวมอัตราเท่ากับ 25.96) เป็นเงินส่วนลดจำนน 62,771.28 บาท คงเหลือเงินสุทธ์ที่ได้รับจริง 326,729.72 บาท  (หมายเหตุ: การรวบรวมตัวเลขต่างๆ อาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง)

หมายเลขบันทึก: 327668เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2010 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท