ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

เหะหะพาทีไทยรัฐ: ความเข้าใจถูกต่อวิทยาลัยสงฆ์ ในวังน้อย


ในคอลัมน์ "เหะหะพาที" ประจำวันศุกร์ที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา มีข้อผิดพลาดที่สำคัญเกิดขึ้นประการหนึ่ง ซึ่งผมเพิ่งจะพบเมื่อ 2 วันก่อนนี่เอง เมื่อกลับไปอ่านทบทวนอีกครั้ง

ที่ผมเขียนไว้ว่า ผมแวะไปทำบุญวันเกิดของเพื่อนรุ่นพี่ คุณ สถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการบีโอไอ ที่ วัดชูจิตธรรมาราม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั่นแหละครับ

ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็คือ ชื่อของวิทยาลัยสงฆ์ที่ตั้งอยู่ ณ วัดชูจิตธรรมาราม ได้แก่ "มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย" ครับ แต่ที่ปรากฏอยู่ในบทความของผมกลับเป็น "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" ไปเสียได้

ตอนอ่านหลังจากพิมพ์แล้ววันแรก ผมยังไม่สะดุดใจ และไม่ได้นึกว่าตัวเองเขียนผิดแต่ประการใด

จน กระทั่งวันหนึ่งจะตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังกลับไปอ่านอีกครั้ง จึงพบว่าผมผิดไปเสียแล้ว เพราะวัดและวิทยาลัยสงฆ์แห่งวังน้อยที่ผมไปเยือนที่ถูกต้องก็คือ มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย

ความ ผิดพลาดจะเกิดขึ้นจากอะไรผมขออนุญาตไม่แก้ตัวใดๆทั้งสิ้น ขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น และขออนุญาตกราบขออภัยท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้

แต่เมื่อผิดแล้วก็ดีไปอย่าง เพราะจะได้หาเหตุมาอธิบายว่า ของที่ถูกต้องคืออะไร?

ทำให้ต้องไปค้นไปคว้าและเป็นที่มาของข้อเขียนวันนี้

ถามว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ปรากฏอยู่ในคอลัมน์ของผมเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผมบอกว่าตั้งอยู่ที่อำเภอวังน้อยนั้น มีหรือไม่?

ตอบ ว่า มีครับ และเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ผ่านอำเภอวังน้อย โดยเฉพาะก่อนจะเข้าตัวอำเภอคงจะเห็นพระอุโบสถ และบริเวณวัดขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ข้างๆทางได้ถนัดชัดเจน

นี่คืออาณาบริเวณที่ต่อไปจะเป็นศูนย์กลางใหญ่ ของ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และมีสถานที่ค่อนข้างคับแคบ ไม่ค่อยสะดวกในการที่จะประสานกับวิทยาเขตถึง 10 กว่าแห่งทั่วประเทศ

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2542 นายแพทย์ รัศมี และ นาง สมปอง วรรณิสสร เจ้าของโรงพยาบาลสยาม ได้ถวายที่ดินเนื้อที่กว่า 84 ไร่ ที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย ดังกล่าว เพื่อจัดสร้างศูนย์กลางการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

จึงได้มีการจัดสร้างอาคารต่างๆ เช่น อาคาร หอประชุม อาคารเรียน และพระอุโบสถ จนใกล้จะแล้วเสร็จดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้

เสร็จสรรพเมื่อไรก็คงจะเป็นศูนย์กลางที่สมบูรณ์ของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต่อไป

ปัจจุบัน นี้ มหาจุฬาลงกรณ์ฯมีคณะต่างๆอยู่ 5 คณะ ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย, คณะพุทธศาสตร์, คณะครุศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์

มี วิทยาเขตทั้งสิ้น 10 วิทยาเขต มีวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสิ้น 5 แห่ง และมีห้องเรียนอยู่ตามวัดในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ รวม 12 จังหวัด 12 ห้องเรียน

สำหรับที่ วัดชูจิตธรรมาราม ที่ผมไปทำบุญนั้น เป็นที่ตั้งของ มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ ในระดับมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน โดยอยู่ในสังกัดของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร ถนนพระสุเมรุ กทม.

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย ก็คือวิทยาเขตหนึ่งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย นั่นเอง

เท่า ที่ตรวจสอบจากข้อมูลเท่าที่สามารถค้นหาได้พบว่ามหามกุฏราชวิทยาลัยมี วิทยาเขตอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 8 วิทยาเขต และมีวิทยาลัยอยู่ในความดูแล 3 แห่ง พร้อมด้วยศูนย์การศึกษาอีก 15 แห่ง

ในส่วนของที่ตั้งของมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย ณ อำเภอวังน้อย นั้น จะอยู่ที่ตำบลสนับทึบ เลยตัวอำเภอวังน้อยไปทางจังหวัดสระบุรี

ผู้บริจาคที่ดิน ได้แก่ นายฉบับ-นางสงวน ชูจิตารมย์ เนื้อที่ประมาณ 186 ไร่ และต่อมาได้มีผู้บริจาคเพิ่มเติมอีก จนรวมเป็น 736 ไร่

การ ก่อสร้างดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2516 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระนามาภิไธยในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นนามสถาบัน "มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย" เมื่อ 20 มีนาคม 2520

ปัจจุบัน มีพระภิกษุสามเณร รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 รูป โดยสำหรับสามเณรนั้น จะมีการศึกษาในหลักสูตรนักธรรม และภาษาบาลีควบคู่กับหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับ ระดับปริญญาตรี-ปริญญาโทจะมีการสอน 3 สาขาวิชา คือ พุทธศาสนศึกษา, รัฐศาสตร์การปกครอง และการจัดการศึกษา ซึ่งในเอกสารที่ได้รับระบุว่ายังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกทั้งชายและหญิงเข้า มาศึกษาใน 3 สาขาวิชาดังกล่าวด้วย

ครับ! กล่าวโดยสรุปแล้วอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้องถือเป็นอำเภอที่มีบุญอย่างมากอำเภอหนึ่ง เพราะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ถึง 2 แห่งด้วยกัน

ได้แก่ "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และต่อไปก็จะคงจะย้ายศูนย์กลางใหญ่ไปอยู่ที่วังน้อย

กับ "มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย" ซึ่งเป็นวิทยาเขตหนึ่งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.

ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยสงฆ์ดังกล่าวมีประวัติยาวนานสืบเนื่องไปจนถึงรัชสมัยของรัชกาล ที่ 5 เลยทีเดียว คงจะได้มีโอกาสเขียนถึงอีกสักครั้งในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

บอกแล้วไงครับว่าการเขียนอะไรผิดๆเนี่ย
บางครั้งก็เป็น กุศล หรือป็นผลดีได้เหมือนกัน...คือทำให้ต้อง ไปค้นคว้าเพิ่มเติม จนได้ความรู้มาฝากแฟนๆ ซอกแซก ปึกใหญ่ในวันอาทิตย์นี้.

"ซูม"

"ซูม"
ที่มา; หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ17 มกราคม 2553

เวปลิงค์

http://www.thairath.co.th/column/life/zoomzokzak/59146

หมายเลขบันทึก: 328926เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2010 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

พึ่งแวะเข้ามาอ่านครับพระคุณเจ้า ธรรมหรรษา

ยังมีหลายคนที่สนใจใฝ่รู้เรื่องราวของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง และยังมีหลายคนที่ยังสงสัยการปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย อย่างมีคนถามว่า...การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้เหมือนหรือต่างกันกับมหาวิทยาลัยของคนทั่วไปอย่างไร..?

นมัสการครับ

    ผมได้ข้อคิดตรงนี้ครับ

    การเขียนอะไรผิดๆเนี่ย บางครั้งก็เป็น กุศล หรือป็นผลดีได้เหมือนกัน...คือทำให้ต้อง ไปค้นคว้าเพิ่มเติม จนได้ความรู้มาฝากแฟนๆ ซอกแซก ปึกใหญ่ในวันอาทิตย์นี้.

   

นมัสการพระคุณเจ้า ธรรมหรรษา

ผมเคยได้ยินมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งเมื่อครั้งเป็นเด็กอยู่ มศ.2-3 สมัยนั้นอยู่ในวัดในกรุงเทพฯ พระที่ผมเป็นลูกศิษย์ท่านก็เรียน

ที่มหามกุฎ / มหาจุฬา ตอนนี้ก็มีมหามกุฎราชวิทยาลัยวิทยาเขตยโสธร เพื่อนๆ ไปเรียนรัฐศาสตร์ปริญญาโทอยู่ครับ

โอกาสนี้ถือโอกาสมานิมนต์พระคุณเจ้าร่วมเป็นวิทยากร ค่ายจิตอาสา : รวมพลคนต่างวัยหัวใจใฝ่เรียนรู้ ค่ายไร้กรอบ

แต่ไม่ไร้ใจ GotoKnow จัดให้ ผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุน ครั้งที่ 2 ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 63 (ชุมชนบ้านคำแดง) อำเภอเมือง

จังหวัดยโสธร ระหว่างวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งดำเนินการโดย คุณหนานเกียรติ คุณครูคิม ดร ขจิต ฝอยทอง

และสมาชิก GotoKnow อีกหลายๆ ท่าน

อาจารย์ยูมิ อ.Small man และท่านผอ.พรชัย

  • สำหรับคำถามที่อ.ยูมิฝากมานั้นน่าสนใจมาก เพราะความจริงมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งก็เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการเหมือนมหาวิทยาัลัยทั่ว  ระบบโครงการการบริหารงบประมาณ การจัดการ การประกันคุรภาพภายใน แบบ สกอ. และสมศ. ก็เหมือนกัน ต้องเข้าระบบประเมินเหมือนกัน  มีคณะต่างๆ เหมือนกัน เพียงแพ่รายวิชาแกนที่เรียนจะเน้นไปทางพุทธ 60% ส่วนวิชาการประจำเอกต่างๆ 40% เช่น ครุศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์
  • อาจารย์ Small Man พูดได้่น่าสนใจ  ใครก็ตามที่ผิด แล้วยอมรับว่าตัวเองผิด แก้ไขความบกพร่องผิดพลาด นับเป็นปราชญ์อย่างแท้จริง ความจริงสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณซูม อาตมาคิดว่า เป็นความไม่รู้ หรือความเข้าใจผิดด้านข้อมูลมากกว่า ซึ่งแบบนี้จะเรียกว่า "อกุศล" ไม่มั่นใจ เพราะอ่านใจไม่ออก แต่ถ้าถามว่า "มีเจตนา" ที่จะเีขียนให้ผิดไหม อาตมาว่า "ตัวเจตนานี่สำคัญ" เพราะจะเป็นเกณฑ์ในการวัดว่า "เป็นกุศล หรืออกุศล" แต่ถ้าดูบริบทโดยรวม ถือว่าซูมขาดเจตนา เหมือนกรณี "เขายายเที่ยง!!!!" (เอ๊ะ!!! ม้นเกี่ยวกันไหมนี่)
  • อ.ผอ.พรชัย อาตมายินดีและเต็มใจมาก และขอบใจอาจารย์มากที่กรุณานิมนต์ไปร่วมกิจกรรมด้วย  อาตมาจะให้เลขาติดต่อไป เพียงแต่ว่า ขอเช็คตารางงานของอาตมาก่อน  ดีใจที่จะได้พบๆ กับกัลยาณมิตรทุกท่าน
  • ด้วยธรรมะ พร และเมตตา

นมัสการพระคุณเจ้า

  • เรื่องชื่อของ...มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
  • มีเพื่อนที่เรียนปริญยาเอกสาขาปรัชญญา ฯ อธิบายให้ความรู้มาเหมือนกันค่ะ แรก ๆ ไม่มีความเข้าใจ  นั่งรถผ่านวังน้อย ก็สงสัยว่าที่นี่คืออะไร ใหญ่โตดีจัง
  • กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

คุณครูคิม

  • คำบอกเล่าของสหายที่รู้ใจ ไม่สามารถให้ "ภาพที่แท้จริง" แก่ครูได้
  • ฉะนั้น เมื่อใดที่มีโอกาสดีๆ รบกวนแวะมาพักที่โรงแรมในมหาวิทยาลัย
  • กราบพระบรมสารีริกธาตุ
  • กราบอุโบสถที่หลวงพ่อปัญญาสร้างไว้ก่อนท่าน "มรณภาพ"
  • พบบรรยากาศแห่งการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์

นมัสการเจ้าค่ะ

  • ขอประทานอภัยที่สะกดผิด ปริญยา ปริญญา
  • มีโรงแรมที่พักด้วยหรือคะ  เพียงได้เข้าไปพักและแวะเวียนเรียนรู้ตามปกติได้ใช่ไหมเจ้าคะ
  • พี่ครูคิม  ใกล้จะคาดเดาถูกแล้วว่า..มีพระอาจารย์หรรษา  ที่เคยอบรมให้ความรู้ที่วัดปัญญาฯ เมื่อหลายปีก่อน จำหน้าไม่ได้เจ้าค่ะ แต่จำชื่อได้
  • กราบขอบพระคุณอีกครั้ง และหวังว่าคงจะได้กราบนมัสการที่ยโสธรเจ้าค่ะ

เจริญพรครูคิม

  • ที่พัก "ปัญญานันทะ" ถูกออกแบบให้เป็นประดุจ "โรงแรม ๓ ดาว" มีทุกอย่างพร้อมพรันเช่นเดียวกันโรงแรม เปิดให้แขกไปใครมาไม่ว่า่พระหรือโยมได้พักอย่างมีความสุข
  • หลวงพ่อปัญญาทุ่มเทชีวิต ยอมลำบากและเอ่ยก่อนมรณภาพว่า "หากสร้างโบสถ์ไม่เสร็จ อาตมาจะไม่ยอมตาย" แต่สุดท้ายท่านก็ฝืนสังขารตามกฎอนิจจังไม่ได้
  • ตอนท่านมรณภาพ อาตมาอยูที่อังกฤษ แต่บอกตรงๆ อย่างไม่อายว่า "สุดที่กลั่นน้ำตาแห่งธรรมสังเวชเอาไว้ได้"
  • ท่านเป็นพระแบบอย่างที่เตือนใจพวกเราตลอดเวลา นักสร้าง นักสอน นักส่ง นักเสริม และนักเสียสละ มีอยู่ในสายเลือดของท่าน
  • ยินดีตอนรับครูคิมหากมีโอกาส
  • เจริญพร
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ดูบทบาทมจร.วังน้อนแม้จะพึ่งดำเนินการมาไม่นาน แต่ก็เห็นบทบาทและมีกิจกรรมออกสู่สังคมในวงกว้างอย่างมากมายทีเดียว
  • ในส่วนของชุมชนโดยรอบ ท่านผู้ช่วยอธิการบดีฯ กรุณาช่วยแนะนำเรื่องบทบาทของมจร.ที่ให้บริการในพื้นที่ชุมชนวังน้อย และชุมชนวังน้อยได้มีบทบาทมีส่วนร่วมต่อมจร.แห่งนี้อย่างไรบ้าง
  • ชุมชนชาววังน้อยภาคภูมิใจอย่างไร และชุมชนชาวบ้านที่นี่ได้ม่ส่วนช่วยเหลือมจร.วังน้อย มากน้อยเพียงใด
  • ขอบคุณครับ

ท่านอาจารย์แลครับ ขอบคุณมากครับ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในที่นี้ได้ครับ http://gotoknow.org/blog/limcu/335989

http://gotoknow.org/blog/limcu/336506

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท