ไม้แก่ดัดยาก...แทบถอดใจ


น้ำตาลในเลือดสูง ..เหตุหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อ ค่ะ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งนัก ต้องอาศัยเวลาค่ะ และตราบใดที่ความคิดไม่เปลี่ยน ก็ยากที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการกระทำ(การปฏิบัติ)ได้ วันนี้ผู้เขียนเจอโจทย์ยากค่ะ ผู้ป่วยหญิงรายนี้ อายุ 75 ปีแล้ว สาเหตุที่ต้องเข้านอนในโรงพยาบาลคือ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา คุณยายไปนั่งเล่นไพ่ ติดต่อกัน 5 วันทำให้เกิดแผลที่เท้าร่วมกับการควบคุมเบาหวานไม่ดีพอ ทำให้แผลลุกลามมากจนต้องส่งตัวมาจากต่างจังหวัด เข้ารักษาในโรงพยาบาลของผู้เขียน หลังจากที่ให้การดูแลมา 4-5 วัน พบว่าส่วนใหญ่น้ำตาลในเลือดจะสูงต้องฉีดอินซูลินทุกครั้งที่เจาะเลือด ..เหตุหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อที่แผลค่ะ แต่ อีกเหตุหนึ่ง ซึ่ง ลูกสาวของผู้ป่วยเพิ่งบอก กับผู้เขียน วันนี้ ว่า ตั้งแต่แม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แม่ไม่เคยรับประทานอาหารเบาหวานของโรงพยาบาลเลย ต้องให้ลูกไปซื้ออาหารนอกโรงพยาบาลมารับประทานตลอด พอพยาบาลไปถาม ก็ช่วยแม่โกหก!!!

ผู้เขียนทราบดังนั้น ก็งานเข้า..ความจริงผู้ป่วยรายนี้ผู้เขียนทราบว่ามีประวัติการควบคุมเบาหวานไม่ดีเลย ไม่คุมอาหาร ไม่ติดตามรักษา ขี้โมโห ตลอดระยะเวลา 5 ปีนี้ ต้องเข้าๆออกๆ โรงพยาบาลตลอด เมื่อปีที่แล้วเพิ่งถูกตัดขาไปข้างหนึ่งค่ะ ปีนี้เป็นแผลที่เท้าของขาอีกข้างหนึ่ง วันนี้จึงต้องประเมินการรับรู้ ความเชื่อ ฯ ในการดูแลตนเองเกี่ยวกับโรคเบาหวานอีกสักครั้งค่ะ..ผู้เขียนตั้งเป้าหมายร่วมกับลูกสาวยายว่า"ขอแค่คุณยายยอมรับประทานอาหารของโรงพยาบาลสักครั้ง..เผื่อว่าเรื่องอื่นๆยายจะยอมปรับตาม..

หลังจากพูดคุยกัน ผ่านไป เกือบ 1 ชั่วโมง ผู้เขียนแทบถอดใจ ..คุณยายไม่ยอมรับอะไรเลย ซึ่งสอดคล้องกับที่ลูกสาวบอก..และคุณยายก็งอนให้ลูกสาวที่เล่าเรื่อง การไม่ปฏิบัติตัว ให้พยาบาลฟัง..คุณยายไม่ยอมทานอาหารกลางวัน ..เอาละสิ ฉีดอินซูลินก่อนอาหารไปแล้วด้วย?? ต้องเฝ้าดูอาการ..

ขณะนั้น ลูกสาวของผู้ป่วยรู้สึกเห็นใจจึงพูดกับผู้เขียนว่า "พี่ หนูกลัวพี่จะเสียเวลาเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์หรอก แม่แกไม่ยอมฟังใครหรอก.." พี่รู้มั๊ย?? มีพยาบาลระดับหัวหน้า มาพูดกับแกแล้ว 5 คน แกก็เหมือนเดิม..ฯ ซ้ำร้ายทะเลาะกันอีก จนแกไม่ไปโรงพยาบาลแถวใกล้บ้านแล้ว " ว่าแล้วเธอก็ไปซื้ออาหารข้างนอกมาให้แม่รับประทาน..

ผู้เขียนรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นเมื่อทราบว่าลูกสาวคนนี้ เป็นพยาบาล..ค่ะ

ขณะรับประทานอาหารกลางวันผู้เขียนก็คิดวิเคราะห์ปัญหา ..ลักษณะของผู้ป่วย..และ ได้แนวคิดบางอย่าง.. รีบกลับไปดูผู้ป่วยเกรงว่าน้ำตาลในเลือดจะต่ำ พบว่าผู้ป่วยกำลังรับประทานอาหารที่ซื้อมา อย่างอร่อย..ผู้เขียนไม่ต่อว่าค่ะ แต่ถามว่า"แซบบ่..ยายยยย" คุณยายตอบงึมงำ..ส่วนลูกสาวพูดว่า" เนี่ย ..ถ้าเป็นโรงพยาบาลอื่นหนูถูกต่อว่าแล้วนะ" 

ก่อนถึงเวลาอาหารเย็นต้องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วอีกครั้ง ผู้เขียนเริ่มทำตามที่ตัวเองคิดไว้ โดยให้คุณยายได้มีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง (สอน)ให้ตรวจน้ำตาลปลายนิ้วด้วยตัวเอง ยายให้ความร่วมมือดีค่ะ ต่อจากนั้นก็(สอน)ให้ฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง ลูกสาวซึ่งนั่งมองด้วยสายตาที่ไม่อยากเชื่อนักถามยายว่า"เป็นไงยาย ยากมั๊ย?? ยายตอบว่า "ต่ำหูก ยังยากกว่า" (หมายความว่า ทอเสื่อ ซึ่งง่ายที่สุดแล้ว ยังยากกว่าเจาะเลือดและฉีดยา: ผู้เขียน)

หลังจากนั้นคุณยายก็รับประทานอาหารเย็นของโรงพยาบาล(มื้อแรก)..ค่ะ ผู้เขียนก็ลากลับ ยายบอกว่า"อยู่ดี มีแฮง เด้อลูก" ส่วนลูกสาวก็ยกมือไหว้>>

ทั้งนี้เพราะ ผู้เขียนได้ยินคุณยายเล่าถึงตัวเองว่า ยายเลี้ยงลูก 9 คน ด้วยตัวคนเดียวมาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ จนลูกได้ทำงานดีๆเกือบทุกคน..ยายมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่ยอมรับฟังใครง่ายๆ แม้กระทั่งลูกสาวซึ่งเป็นข้าราชการรุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียนก็ไม่สามารถดูแลหรือให้คำแนะนำแม่ได้  ดังนั้น ต้องได้ใจ ยายก่อน โดย ให้ยายรู้สึกว่าตัวเองคือคนเก่ง ในสายตาคนอื่นๆค่ะ

ที่สำคัญปัญหาแค่นี้ เราจะยอมแพ้ได้ยังไง????   

สำหรับกรณีนี้นอกจากตัวยายแล้ว บุคคลหนึ่งที่ต้องเสริมพลังก็คือลูกสาวซึ่งเป็นผู้ดูแลค่ะ

ผู้เขียนดำเนินการแล้ว แต่จะเล่าวันหลังค่ะ

หมายเลขบันทึก: 329306เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2010 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายและมาเป็นกำลังใจให้ค่ะ
  • ขอบคุณบันทึกดี ๆ ที่นำมาแบ่งปันกันค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • สบายดีกันหรือเปล่า
  • มาเป็นกำลังใจให้นะคะ  ตั้งแต่นั้นมาก็งานเข้า ๆ ๆ ๆ ไม่ค่อยว่างเลยค่ะ
  • รักและคิดถึงเสมอค่ะ 

สวัสดีค่ะ

*** แวะมาทักทายและมาเป็นกำลังใจให้

*** ขอบคุณค่ะ

P บุษรา

ยินดีค่ะ

อยากฟังเรื่องเล่าจากพะโต๊ะบ้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท