เมื่อครู หรือ ผู้บริหาร ไม่ได้รับความเป็นธรรม จะ"วางมือ" หรือจะ "ร่วมมือ"ดี


 

      เมื่อครู หรือ ผู้บริหาร ไม่ได้รับความเป็นธรรม:
                                             จะ"วางมือ" หรือจะ "ร่วมมือ"ดี

  

blauweglitterhart.gif blauwe glitter hartjes image by anneliesknubben

 

  • วันนี้ผมได้เข้ามาที่บล็อกข้อคิดชีวิตครู ซึ่งผมและนักศึกษาที่เรียนความเป็นครูเมื่อเทอมที่ 1 ปีการศึกษา2551 ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาในนามของครูดี
  • รู้สึกสะดุดต่อความเห็นของท่านผู้บริหารที่ฝันค้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเองก็ไม่อยากให้มันมีโดยเฉพาะในวงการครู โปรดดูรายละเอียดที่นี่
  • ข้อเรียกร้องที่ว่า"ขอผู้ใหญ่ทุกท่านจงเห็นใจและให้ความยุติธรรมแก่คนทำงานด้วยเถิด จะได้มีกำลังใจไม่ท้อ กล้ายืนหยัดต่อสู้ทำสิ่งดี อย่าให้ดี แพ้อิทธิพล นะเจ้าคะ"คือเรื่องที่ผมอยากยกขึ้นมาสนทนาแบบสุนทรีย์ต่อ
  • ผมคิดว่า เรื่องของคุณธรรมเพื่อความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่สำคัญและเราจะต้องเสริมสร้างกันต่อไป
  • แต่ในยุคปัจจุบันที่คุณธรรมมันถูก วัตถุธรรมมาสั่นคลอนค่อนข้างจะรุนแรง เราจะหวังให้คุณธรรมนำมาสู่ "ความเป็นธรรม" อย่างเดียวไม่ได้ คือ เราไม่อาจมั่นใจได้ว่า "ผู้ใหญ่ทุกท่านจะเห็นใจและให้ความยุติธรรมแก่คนทำงาน" เพราะมองไปโดยรอบตัวเรา หลายต่อหลายครั้งไม่เห็นผู้ใหญ่สักคน แม้แต่ตัวเราเองบางที หลายที ก็แคลงใจในตนเองเหมือนกัน ว่าเป็นผู้ใหญ่หรือเปล่า?????????...........
  • ดังนั้น คนทำงาน หรือคนระดับล่าง หรือ ระดับผู้น้อย จึงต้องอาศัย"อำนาจ"เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมด้วย
  • ผู้น้อย จะเอาอำนาจที่ไหนมา???????????????
  • นี่คือคำถามแรกที่บรรดาเราท่านทั้งหลายมักจะถามกัน เมื่อคิดจะต่อรองกับผู้ใหญ่ นาย หัวหน้า หรือ ผู้มีอำนาจ
  • เพราะในสังคมที่วัฒนธรรมมีค่านิยมแบบอำนาจนิยมรองรับรับอยู่อย่างแข็งแรงอย่างบ้านเรา ผู้น้อยไม่รู้สึกเลยว่าตนเองมีอำนาจ และผู้ใหญ่ในสังคมแบบนี้ก็ไม่เห็นว่าผู้น้อยมีหรือควรมีอำนาจด้วย
  • ตามหลักทั่ว ๆไป ในสังคมประชาธิปไตย บุคคลย่อมมีอำนาจน้อยกว่าสถาบันอยู่แล้ว บรรดา นาย หัวหน้า หรือ ผู้ใหญ่ทั้งหลาย ที่ดูเหมือนว่ามีอำนาจมากมายนั้น เขาไม่ใช่บุคคล แต่เขาทำหน้าที่ในนามของสถาบัน ของหน่วยงาน หรือขององค์กร เห็นชัด ๆ เมื่อเขาผู้นั้นพ้นไปจากตำแหน่ง เขาก็ไม่อาจทำอะไรอย่างที่เคยทำได้ในตำแหน่งนั้น เช่น อดีตอธิบดีที่เกษียณอายุราชการไปแล้วกลับเข้ามาในกรมเดิมที่ตนเคยบริหารมาก็อาจจะไม่มีใครเสิร์ฟน้ำให้สักแก้วก็ได้
  • บุคคลจะมีอำนาจมากขึ้น และมีอำนาจอยู่ในระดับที่จะสามารถต่อรอง กับผู้ใหญ่ได้ ต้องอาศัยการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นองค์กร จะเรียกว่า กลุ่ม ชมรม สมาคม สมาพันธ์ หรือ ใด ๆก็ตาม แต่ถ้าเป็นองค์กรที่มีกฎหมายรองรับอำนาจนั้นก็จะสัมบูรณ์และมีความศักสิทธิ์ ขึ้นตามลำดับ
  • ในบ้านเรา ครู และผู้บริหาร ในระดับผู้ปฏิบัติงานขาดการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กร ดังนั้น ครูและผู้บริหารเหล่านี้ จึงไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง แม้จะยืนตะโกนจนปากฉีกอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่เขาก็ไม่ได้ยิน
  • ครู และผู้บริหารที่เป็นผู้ทำงานในบ้านเรา จึงมักเกิดอาการ "ท้อ" รู้สึกว่า"ดีแพ้อิทธิพล" ทำให้"ไม่ยืนหยัดต่อสู้ทำสิ่งดี" ต่อไป ส่งผลให้งานการศึกษาอ่อนด้อยไปแทบทุกจุดในปัจจุบัน
  • ในสังคมบ้านเรา คนโดยทั่ว ๆไปไม่มีสำนึกในการรวมตัวของคนในระดับเดียวกันเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ร่วม คนไทยจะรวมตัวกันก็ต้องอาศัยการดำเนินการของคนที่เหนือกว่า การรวมตัวแบบนี้จึงไม่มั่นคงถาวร และ ไม่เป็นประโยชน์แก่คนที่มารวมตัวกันเป็นสำคัญ
  • การศึกษาในทุกระดับ ตั้งแต่ ในบ้าน ในวัด ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย และในสังคม ไม่มีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายเพื่อการนี้
  • วัฒนธรรมแบบนี้จึงเปิดให้คนที่มีนิสัยเบียดเบียนผู้อื่นสามารถใช้อำนาจ ที่มิชอบ ดังที่ ท่านผู้บริหารที่ฝันค้างเรียกว่า "อิทธิพล"แสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองได้สะดวกดาย ดังที่เห็นกันอยู่ดาดดื่นในบ้านเมืองเรา
  • ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ คนดีที่อยากทำดี แต่หัวใจยังไม่แกร่งพอ ก็จะ "ท้อ" และ พากัน"วางมือ" ไม่มี "กำลังใจ" จะ"ทำดี"ต่อไป
  • การเสริมสร้างให้คนบ้านเรารวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นองค์กรอย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ได้มีความพยายามกันมาโดยตลอด แม้ในวงการครูเองก็ได้ดำเนินการมาไม่น้อยกว่า 30 ปี แต่ได้ผลน้อยมาก ในที่นี้ ผมขอโยนความผิดไปให้จำเลยชื่อ "การศึกษา"ไว้ก่อน
  • สิ่งที่เป็นไปได้ และควรจะเป็นมากที่สุดก็คือ ครูดี และผู้บริหารที่ดี ๆทั้งหลาย ต้องมีความมั่นใจในการทำดีของตน มองเห็นคุณค่าของการทำดีของตนมากกว่ามูลค่าของผลตอบแทนที่พึงได้เฉพาะหน้า เช่น เงิน ตำแหน่ง และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ และเห็นว่าความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ แล้วพาลวางมือไม่ทำหน้าที่ตามหน้าที่ของตน เป็นสิ่งที่เป็นบาปน่าละอายอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่คนที่ไม่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้นเขากระทำกัน
  • นี่เป็นเพียงความเห็นของคนเป็นครูคนหนึ่ง อยากที่จะรับฟังความเห็นของท่านอื่น ๆเหมือนกัน

      

                       blauweglitterhart.gif blauwe glitter hartjes image by anneliesknubben

paaoobtong
21/01/53
13:00

หมายเลขบันทึก: 329764เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 00:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะ

  • ในความคิดเห็นของครูคิม
  • ความท้อแท้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ท้อแท้ระดับประเทศชาติปลงได้ง่ายเพราะเราไม่สามารถจะไปแก้ไขระบบระดับชาติได้
  • ความท้อแท้ระดับหน่วยงาน  ระดับโรงเรียน  ต้องปล่อยวางเมื่อเรามีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อเด็ก
  • ท้อแท้ระดับห้องเรียน  มีสุขทุกข์ระคนกัน เมื่อมองเห็นเด็กยิ้ม ร่าเริง แววตาจะหม่นหมองหรือมีฝัน  ความท้อแท้นั้น ๆ จะหมดไป
  • ทำไมครูดี ๆ จึงลาออก  เช่นเดียวกับครูคิมเคยยื่นใบลาออกจากราชการเพราะ "มันไม่ใช่" (คือคำตอบ)
  • ขอขอบคุณค่ะที่มีโอกาสมาแลกเปลี่ยน
ประชาชนคนกรุงเทพ

ครูดี ก็มีเยอะที่ทุ่มเทเพื่อเด็ก เพราะครูบางคนถือว่าไม่ใช่เรื่องของเราพ่อแม่เด็กยังไม่สนใจเลย บ้างครั้งครูที่ดีก็ต้องการความร่วมมือจากผู้บริหารและเพื่อนครูเหมือนกัน แต่ครูสมัยนี้สนใจเด็กมากน้อยแค่ไหน ดูได้ตามป้ายรถเมล์ เด็กมัธยม ไว้ผม(ตามใจฉัน ซอย ทำสี) ใส่กระโปรงสั้น (มาก)ไม่มีกระเป๋าเรียน ยืนตะโกนอยู่ตามป้ายรถเมล์ทั้งหญิงชาย ดูป้ายหน้าอกพอรู้เลยว่า โรงเรียนอะไร ทำให้มองไกลถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ชื่อเสียงโรงเรียน และบรรดาครูโรงเรียนรัฐบาล ของโรงเรียนที่มีชื่อยู่บนหน้าอกเด็ก (เห็นแล้วรู้สึกว่าครูทำอะไรกันอยู่ ครูดีดี ไปไหนหมด

สวัสดีครับคุณนงนาท สนธิสุวรรณ

  • ขอบคุณครับสำหรับกำลังใจ
  • อยากให้คุณนงนาท เล่าประสบการณ์จากงานที่ทำให้ฟังบ้าง เคยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้างไหม? แล้วจัดการกับสถานการณ์นั้นอย่างไร
  • ขอบคุณอีกครั้งครับ
  • สวัสดีครับ

paaoobtong
21/01/53
22:55

สวัสดีครับคุณครูคิม

  • ผมเห็นด้วยกับวิธีมองของคุณครูคิมครับ
  • ผมเห็นว่าคุณครูคิมตัดสินใจดีแล้วครับที่ไม่ออกจากราชการ
  • ซึ่งผมเชื่อว่าหัวใจของคุณครูคิมวันนี้ กับวันที่ยื่นใบลาออก แกร่งต่างกัน
  • ตรงกับความเห็นของผมที่ว่า"สิ่งที่เป็นไปได้ และควรจะเป็นมากที่สุดก็คือ ครูดี และผู้บริหารที่ดี ๆทั้งหลาย ต้องมีความมั่นใจในการทำดีของตน มองเห็นคุณค่าของการทำดีของตนมากกว่ามูลค่าของผลตอบแทนที่พึงได้เฉพาะหน้า เช่น เงิน ตำแหน่ง และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ และเห็นว่าความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ แล้วพาลวางมือไม่ทำหน้าที่ตามหน้าที่ของตน เป็นสิ่งที่เป็นบาปน่าละอายอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่คนที่ไม่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้นเขากระทำกั"
  • ขอให้คุณครูคิมจงมีความสุข นะครับ
  • สวัสดีครับ

paaoobtong
21/01/53
23:07

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ดิฉันได้รับ ๒ อย่างคือความไม่เป็นธรรมกับการเลือกปฏิบัติว่า...ซึ่งถือว่าต่างกันค่ะ
  • ดิฉันไม่ได้รับความเป็นธรรม.... ดิฉันไม่เสียใจ แต่ก็ภูมิใจว่าโลกนี้ช่างให้บทเรียนว่ามนุษย์มีความหลากหลาย การศึกษา หน้าที่ ตำแหน่งไม่ได้มีความหมายว่าผู้นั้นจะเป็นผู้รักษาธรรม  เมื่อเขาไม่ชอบในสิ่งที่เราทำถือว่าเขามีอคติหรือมีอีโก้สูง  เมื่อเราได้รับรู้ก็จบค่ะ  ไม่มีอุปสรรคว่าทำงานไม่ได้
  • การเลือกปฏิบัติ...เป็นอันตรายต่อองค์กร ... ถ้าหากผู้บริหารไม่นำหลักการมาใช้เพื่อพัฒนาองค์กร  วันนี้ปฏิบัติแบบนี้กับคนนี้ วันนั้นปฏิบัติแบบนั้นกับคนนั้น
  • ตอนที่ตัดสินใจลาออก (ปกติ) ไม่เข้าโครงการฯ  เพราะเห็นความเสียหายต่อประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ  และการทำงานย้อนอดีต  ตลอดจนการไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน (ซึ่งไม่ใช่ดิฉัน) ดิฉันคิดว่า "ที่นี่ไม่ใช่ที่สำหรับดิฉันจะอยู่ร่วมกับคนแบบนี้" แต่ก็ทนอยู่ทำงานอย่างมีสิตมากขึ้น เดิมใช้ปัญญาเหนือสติค่ะ
  • ตอนนี้ก็ยังมีความคิดที่จะลาออกค่ะ  เพราะบางเรื่องมันหมดปัญญากับการจัดการตนเองค่ะ   
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

เจริญพร ครูดี (จริงๆ)

อาตมาจะไม่ขอตอบคำถามที่ "ครูดี" กรุณาถามพวกเราว่า "เมื่อไ่ม่ได้รับความเป็นธรรม เราจะร่วมมือ หรือวางมือดี" แต่สิ่งที่อาตมาอยากจะร่วมแบ่งปัน คือ "อำนาจ" อำนาจโดยทั่วไป มี ๒ อย่าง คือ อำนาจที่เกิดจากตำแหน่ง หรือที่มากับตำแหน่ง (Position Power) กับ อำนาจส่วนตัว หรืออำนาจเฉพาะตัว (Personal Power) ผู้บริหารมักจะใช้อำนาจทั้งสองเป็นเครื่องมือในการบริหาร แต่ปัญหาที่เกิดก็คือ เรามักจะใช้อำนาจสองอย่างผิดที่ผิดทาง กล่าวคือ บางสถานการณ์แทนที่จะบริหารโดยใช้ตำแหน่งกลับใช้เรื่องส่วนตัวไปตัดสินใจ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

เมื่อเห็นความไม่ชอบมาพากลจากการใช้อำนาจ เราอาจจะใช้กุศโลบายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อกระตุ๊กหนวดแมว แต่ธรรมชาติของแมว คือ ความดื้อ (ตามสายตามนุษย์) เมื่อ ดึงบนลงล้าง ดึงล้างขึ้นบน ดึงหัวไปทางหาง เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้บริหารแบบนี้ คิดว่ามีอำนาจเหนือเรา (Power Over) จึงไม่ใส่ใจต่อข้อคิดเห็น หรือควาห่วงใจของเรา แม้เราจะหากุศโลบายแล้ว ถ้าโชคดี เจ้านายบางคนที่มีหิริโอตตัปปะ หรือเกรงกลัวต่อการทำชั่ว ก็อาจจะระมัดระวัง และใส่ใจการใช้อำนาจมากขึ้น

ปัญหาคือ ผู้บริหารที่ขาดธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร หน้าที่ของเราไม่ใช่ "เอาหูไปนา เอาตาไปไร่" แต่คือการดูสถานการณ์ หรือรอเวลาที่เหมาะสม (อุเบกขา) โดยใช้ปัญญาเข้าไปวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามหลักอริยสัจ ๔: คืออะไร เกิดจากอะไร จะหมดปัญหาอย่างไร และจะแก้โดยวิธีใด

หากความผิดที่เกิดจากการใช้อำนาจทั้งสองอย่างได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อ องค์กร หน่วยงาน สังคม และชาติบ้านเมืองจนยากที่จะเยียวยาได้แล้ว เรามีเครื่องมือหลายอย่างที่บัญญัติเอาไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก เพื่อจะดำเนินการจัดการกลุ่มคนดังกล่าว ซึ่งมีทั้งเปิดเผยตัวเรา และไม่จำเป็นต้องเปิดเผย

แต่ปัญหาก็คือ เรามีความ "กล้าหาญทางจริยธรรม" มากน้อยเพียงใด ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประเทศชาติของเรา สังคมของเรา และเพื่ออนาคตที่ดีกว่า การเกิดเป็นมนุษย์นี่ยากแล้ว แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นก็คือ การใช้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ในการช่วยเหลือประเทศชาติ และสังคม สักวันหนึ่ง มนุษย์ทุกคนจะต้องตายตามกฎธรรมชาติ แต่ก่อนจะตายถ้าเราได้สร้าง "ธรรมเจดีย์" หรือ "อนุเสาวรีย์แห่งความดีงาม" เอาไว้ให้ลูกหลาน และอนุชนรุ่นหลัง เราคิดว่า "คุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์" หรือไม่?

ขอสมัครเป็นสมาชิกต่อสู้ เพือคนที่อยู่ในอาชีพครู เพื่ออนาคตผู้ที่ได้ชื่อว่านักเรียนไท

อย่าเห็นพลังอันยิ่งใหญ่ในวงการครู (ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย) ช่วยกันต่อสู้เพื่อวิชาชีพครู

อยากให้ครูทุก ๆ ท่านช่วยกันพัฒนาอาชีพ ช่วยกันดันให้คนที่มีอาชีพครู เสมอหน้ากันทั้งรัฐและเอกชน

ครูต่างชาติไม่ใด้รับความเป็นธรรมโดนบีบให้ออกจากโรงเรียน จากรอง ผอ.ใจร้าย ที่เพิ่งจะย้ายมมาอยู่ประมาณ1 เทอมใด้ ,ไม่ชอบเขาโดยไม่รู้สาเหตุทั้งๆที่เขาสอนอยู่ที่นั่นนานมากกว่า 3 ปีแล้ว เห็นใจเขามากๆเลย,เขารักเด็กๆที่โรงเรียนแห่งนั้นมากๆเลยที ไม่ยอมย้ายไปสอนโรงเรียนอื่นทั้งๆที่จะใด้ค่าจ้างแพงกว่าที่นั่นด้วยซ้ำ

อ่านข้อความของพระคุณเจ้า ธรรมะหรรษาแล้ว ได้ข้อคิดและกำลังใจมากขึ้นว่า เราควรมีความ "กล้าหาญทางจริยธรรม" ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประเทศชาติของเรา สังคมของเรา และเพื่ออนาคตที่ดีกว่า  และก่อนจะตายเราควรสร้าง "ธรรมเจดีย์" หรือ "อนุเสาวรีย์แห่งความดีงาม" เอาไว้ให้ลูกหลาน และอนุชนรุ่นหลัง เพื่อได้ข้อคิดว่า "คุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์" หรือไม่? ถ้าครูไม่เป็นตัวอย่างให้เด็ก ก็อย่าหวังว่าจะเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยได้

น่าสนใจหัวข้อนี้ "เมื่อครู หรือ ผู้บริหาร ไม่ได้รับความเป็นธรรม:จะ"วางมือ" หรือจะ "ร่วมมือ"ดี ..."

 เมื่อเริ่มมาเป็นครู ก้าวแรกที่เข้ามา คงต้องขอให้ถามตนเองก่อนว่า มาเป็นครูเพราะอะไร.?.... บางคนมีความมุ่งมั่นด้วยอุดมการณ์ ? บางคนเข้ามาด้วยความคาดหวัง ? บางคนเข้ามาเพราะบุญวาสนา ? บางคนเข้ามาเพราะขอเพียงให้ได้งานทำ ? ฯลฯ และด้วยเหตุหลายปัจจัย...

แต่ในขณะเดียวกันธรรมชาติของคน จะเป็นอะไร คนก็คือคน... ธรรมชาติของคนจะสวมหัวโขนเป็นตัวอะไรก็ตาม นิสัยคนก็ไม่พ้น ความโลภ โกรธ หลง ..... ปัญหาทุกอย่าง หยุดได้ที่ตัวเรา คาถาตัวสุดท้ายคือคำว่า "หยุด" ถ้าไม่หยุด ก็จะไม่รู้จักคำว่า พอเพียง...........

 จงสู้ต่อไปบนคุณค่าของความเป็น "ครูดี"

ครูดี คือปูชนียบุคคลที่ควรค่าแก่การเคารพบูชาอย่างแท้จริง แต่ต้องอาศัยเวลาและความอดทน คือ ขํนติ บารมี

บารมี คือ ความดี ที่ต้องสะสม ด้วยความเพียร และสร้างสมมาอย่างสมำเสมอ ทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นธรรมชาติของตนเองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ถ้าหวังสิ่งตอบแทนเมื่อไรจะกลายเป็นความโลภ ความอยาก ความดีนั้นจึงกลายเป็น อกุศลที่แอบแฝงด้วยผลประโยชน์ผลแห่งกรรมก็จะตามมา แต่เมื่อเห็นความไม่พึงพอใจเกิดขึ้นในภาพงานของสังคม(ครู) จงหยุดมองและพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงผลที่จะเกิดตามมาในอนาคต แล้วเฝ้าดูเถอะว่า เวรกรรมมีจริง ไม่ช้าก็เร็ว ขอเพียงตัวเราอย่าเอา อารมณ์ เข้าไปยึดติด  เป็นเวรที่เขาทำ กรรมที่เขาสร้าง   ตัวของเราดีพอหรือยัง...? 

ถ้าเขาเลว  เราทำตามเขา หรือทำประชดเขา เราก็เลวกว่าเขา  เพราะรู้แล้วยังทำ

ถ้าเขาเลว  เราไม่ทำตาม   เราดีกว่าเขา  เพราะรู้แล้วไม่ทำ

ถ้าเขาดี  เราทำตามเขา   เราดี   เพราะรู้แล้วทำ

ถ้าเขาดี  เราไม่ทำตาม    เราเสมอตัว  หรืออาจจะไม่ดี  เพราะ....?....(อยู่ที่ตัวท่านเอง)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท