ตูมเดียวก็จบ


ภาพสะท้อนรากเหง้าในสังคมไทย ในโครงสร้างของสังคมการเมือง ความขัดแย้ง และ ความรุนแรง ที่สะท้อนผ่านคำพูดติดปากคนไทย ท่ามกลางความเบื่อหน่าย อาการรำคาญ กับ ความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อทางการเมือง ที่ปรากฎในสังคมไทย ตลอดระยะเวลา สามสี่ปีที่ผ่านมา

ตูมเดียวก็จบ

 

อ้างอิง - ภาพ Kati1789

เคยได้ยิน

เคยได้ฟังประโยค

ที่กล่าวคำเช่นนี้บ้างไหมครับ

 

สำหรับคนไทยทั่วไป ที่อยู่ท่ามกลางความคุกรุ่นรุนแรง ความอึดอัด ความกังวลคับข้อง และความรำคาญใจ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า เมื่อไรประเทศไทยจะก้าวพ้นผ่านปลายอุโมงค์ จากวิกฤติศรัทธาในทางการเมือง จากความขัดแย้ง และไม่ไว้วางใจของคนร่วมชาติ หรือจากเกมการเมืองที่คนในชาติเราเอง เล่นเกมกันอยู่ในทุกคืนวัน เคยได้ยินบ้างไหมครับ

กับประโยคที่คล้ายคลึงกันเหล่านี้

ที่ว่า ยิงทิ้งซะก็จบเรื่อง

ฆ่าให้ตายก็จบ

 

สำหรับผม ที่เติบโตขึ้นมาในสังคมไทย ผมได้ยินได้ฟังประโยคเหล่านี้อยู่เสมอ ได้ยินตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น กระทั่งโตขึ้นมาจนหัวเข่าแตกด้าน ผมหงอกเริ่มขึ้นปกคลุม และพยายามจะกินพื้นที่ในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ผมก็ยังคงได้ยินได้ฟังประโยคดังกล่าว ในสังคมแห่งอำนาจ และในสังคมไทย

ผมได้ยินจนเบื่อ

จนอดนึกตั้งคำถามไม่ได้

หลังจากเบื่อคำคุยโต และ โม้ว่าใหญ่โต

 

กระทั่งเมื่อเห็นความขัดแย้งรำคาญใจ ของผู้พูดหลายต่อหลายคน ก็มักจะอดพูดออกมาไม่ได้ ด้วยคำตอบที่เสมือนยามหัศจรรย์ ยาผีบอก หรือ ยาหมอตี๋ ที่กินเพียงเม็ดเดียว ก็สามารถแก้ปัญหาได้ทุกโรคในระบบจักรวาล เช่นเดียวกับความเข้าใจโดยพื้นฐานของคนไทย ที่มักชอบพูดประโยคดังกล่าวว่า ยิงทิ้งก็จบเรื่อง ฆ่าให้ตายก็จบ ตูมเดียวก็จบ และอีกมากมายเพื่อให้จบ

จบแน่นอนครับ สำหรับคนที่พูดประโยคนี้

ที่หากไม่ฉลาดพอ หรือ ไม่เจนจัดพอ

ก็ต้องจบลงในห้องขัง

 

ยิ่งในยุคสมัย ที่เกิดสงครามยาเสพติด ผมยิ่งได้เห็นความจริงของอำนาจบาตรใหญ่ และ คำคุยโต ของการเข่นฆ่า ใช้อำนาจเข้าแก้ปัญหาโดยไร้สติ อุ้ม ฆ่า ยัดเยียดข้อหา จนเสมือนหนึ่งว่าการฆ่าตัดตอน เป็นสิทธิอันชอบธรรมของตำรวจไทย ที่จะตัดสินความเป็นความตายของใครก็ได้ หากคิดเพียงว่า เขาเป็นคนเลว และไม่ควรจะอยู่ในสังคมไทย

ไม่แปลกอย่างยิ่ง

หากความตายของ คุณสมชาย นีลไพจิตร

คือ คำตอบที่เกิดขึ้น จากรากเหง้าของแนวคิดดังกล่าว

 

แนวคิดที่ขี้เบื่อ ขี้รำคาญ ไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช้สติ แต่ใช้อำนาจ ใช้กำลังเข้าตัดสินปัญหา ไม่ชอบการถกเถียงแลกเปลี่ยน ชอบแต่การสั่งการ เบื่อหน่ายที่จะรับฟัง และไม่พร้อมจะฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ยอมรับความแตกต่าง ไม่ชอบอัตลักษณ์ที่แตกต่างไปจากจริตของตนเอง

จนกระทั่งแตกหน่อออกผล เป็นข้อสรุปที่ว่า

โลกและจักรวาล ต้องหมุนรอบ

จริตและจริยธรรมของเขา

 

เราคนไทย จึงได้มีโอกาสเห็นคนบางคน เชื่อในเรื่องการปฏิวัติ รัฐประหาร การยึดอำนาจ การใช้กำลังทหารเข้าจัดการปัญหา  หรือแม้แต่ความใฝ่ฝันว่า จะมีอัศวินขี่ม้าขาว อัศวินขี่ควายดำ เข้ามาดับทุกข์เข็ญของประชาชนคนไทย นำยุคแห่งความเฟื่องฟูรุ่งเรืองเข้ามาสู่สังคมไทย กระทั่งพร้อมจะยอมรับอำนาจใดใดก็ตามอันไม่ชอบธรรม เพราะขี้เกียจที่จะอดทน หรือ ที่จะรอคอย

 

ใช่หรือไม่

สำหรับความจริงที่เกิดขึ้น

ซึ่งขัดแย้งต่อหลักการ ประชาธิปไตย

 

หลักการที่ต้องยอมรับความแตกต่าง ต้องฟังความคิดเห็นของผู้คนที่เห็นต่างจากตน ต้องยอมรับเสียงข้างมาก ฟังเสียงข้างน้อย และพร้อมจะนั่งลงพูดคุย เจรจาความ ต่อรอง และถามไถ่ ด้วยความเชื่อขั้นพื้นฐานว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานอันชอบธรรม ที่จะมีส่วนปกครองบ้านเมือง

เราจึงได้เห็น หลักการแห่งอำนาจนิยม

เชื่อในเรื่องว่า ใครใหญ่กว่ากัน

และพ่อใครใหญ่กว่า

 

กระทั่งแตกยอดเป็นคำประจำเมืองประจำถิ่น เมื่อมักจะมีคนเมา เที่ยวถามหาชื่อพ่อของตัวเองกับคนอื่น รู้ไหมว่าพ่อของผมชื่ออะไร รู้ไหมว่าอาฉันเป็นผู้การ รู้ไหมว่าลุงฉันเป็นนายพล จนคนจน คนเดินถนน และคนตัวเล็กตัวน้อยในบ้านเมือง อดไม่ได้ที่จะถามว่า รู้ไหมว่าฉันชื่ออะไร

ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจ

ที่เราจะได้ยินแนวคิดดังกล่าว

ในทุกครั้งที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง

 

เกิดปัญหาแตกแยกทางความคิด จนกระทั่งมีเสียงพูดออกมาว่า ก็ยิงทิ้งซะก็จบเรื่อง ยิงทักษิณ ชินวัตรก็จบ ยิงสนธิ ลิ้มทองกุลก็จบ ยิงใครต่อใครที่เราไม่เห็นด้วย ก็คิดว่าจะจบเรื่อง เหมือนกับแนวคิดที่บอกว่า ปฏิวัติรัฐประหารแล้วก็จบ เห็นไหมครับสำหรับรากที่ยึดโยง จนกระทั่งวันนี้ เราคนไทยได้มีโอกาสเห็นว่า การรัฐประหาร ไม่ได้ทำให้ปัญหาในเมืองไทยจบลง

ไม่ใช่อย่างแน่นอน สำหรับกติกาอันชอบธรรม

และไม่ใช่อย่างแน่นอน สำหรับทางออก

ของการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ

 

ไม่ใช่ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในการเด็ดหัวใคร หรือ ฆ่าใครตายแล้ว เรื่องราวอันซับซ้อนหลากหลายของการเมืองไทยจะจบสิ้นลง ไม่ใช่อย่างแน่นอนครับ สำหรับสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ร่วมกัน สิ่งที่เราต้องจ่าย สำหรับบทเรียนราคาแพง ในสังคมการเมืองของไทย ที่เราต้องร่วมกันผ่านไป

สำหรับการรับฟัง

การยอมรับความแตกต่าง

เพื่อหาจุดร่วม ที่เป็นทางออก

 

เราไม่ได้ต้องการออกจากปัญหา เพียงเพื่อไล่คนไทยคนอื่นให้ออกจากแผ่นดินไทย แต่เรากำลังต้องร่วมกันเรียนรู้ ในการยอมรับความแตกต่าง ยอมรับฟังความคิดเห็นที่เหมือน หรือไม่เหมือนกับเรา ด้วยความตระหนัก ด้วยการเปิดใจที่จะฟัง และอดทนเพียงพอที่จะอยู่ท่ามกลางความแตกต่าง กระทั่งผ่านพ้นจากวิกฤติของยุคสมัย กูไม่กลัวมึง จนก้าวพ้นจากนิสัยบ้าอำนาจ

วันนี้ เราคนไทยคงต้องอดทนและเรียนรู้

รวมทั้งขยายต่อมความขี้รำคาญ

เพื่อยอมรับความแตกต่าง

และก้าวให้พ้น จากวังวนของความรุนแรง

 

 

หมายเลขบันทึก: 329994เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2010 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท