ซ.ซวง
นาย นพรัตน์ รัตนพงศ์ผาสุข

กว่าจะมีวันนี้...วันที่เรารอคอย (AAR สองปีแห่งการเดินทางของวง Dialogue)


...รอยเท้าที่เราได้เดินทางมา แม้ดูไม่มากมาย แต่พวกเราได้เรียนรู้อะไรมากมายเหลือเกิน...

กว่าจะมีวันนี้...วันที่เรารอคอย (AAR สองปีแห่งการเดินทางของวง Dialogue บวท.)

 

สองปีกว่าๆ ผ่านไป

นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 50

ที่พี่อ๊อดได้ไปทาบทามท่านอาจารย์ ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร

ให้มาหว่านเมล็ดพันธุ์แห่ง Dialogue ไว้ในหมู่พวกเรา

 

ระหว่างการเดินทางอันยาวนานแรมปีที่ผ่านมานั้น

พวกเราเคยหวังลึกๆ ว่า 

คงจะมีวันหนึ่งมั๊ง

วันที่คนใน Core Business (ATC) ของเรา

จะได้มาตั้งวงคุยกันแบบเปิดใจในวง Dialogue บ้าง...

 

ณ ตอนนั้น

มันก็ดูเหมือนฝันลมๆ แล้งๆ

ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงได้อย่างไร

และมันจะออกมาในรูปแบบไหน

แต่เราก็ยังคงแอบฝันกันเรื่อยมา

 

ทว่าวันนี้

ฝันนั้น ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อวันที่ 21-24 ธ.ค. 52 ที่ผ่านมา

ที่ฝ่าย ปจ.1

ที่ห้องประชุม 5/1 อาคาร 60 ปี

พี่น้องชาว ATC รวมๆ แล้ว ราว 120 ท่าน

ทั้งที่เป็นซุบ (Supervisor) และเล่อร์อาวุโส  (Controller)

ได้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาเข้ากะ

เอ้ย!!! พัฒนาฝึกฝนทักษะ Dialogue กันถ้วนหน้า

 

ต้องถือว่ากิจกรรมการฝึกทักษะของ ATC ของ ปจ1 นั้น

ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

(ประเมินตามความรู้สึกส่วนตัวนะครับ)

อารมณ์ในวันนี้

อยากจะทบทวนร่องรอยของการเดินทางที่ผ่านมา

ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้มีวันนี้

เผื่อว่า ข้อสังเกตที่ตั้งไว้

จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน เพื่อเปลี่ยนแปลง

ในเรื่องอื่นๆ  ต่อไป

 

ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จแห่งการเดินทางของ Dialogue ในวันนี้

หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา

ก็ต้องยอมรับว่า

 

(1) การมีทีมงานแกนหลัก ที่เข้มแข็ง

อย่างทีม KM ของ พก.พส.

นำโดยพี่อ๊อด เอิง น้องพร น้องนุ่น และน้องเอ๋ นั้น

น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

 

หากปราศจากทีมงานแกนหลัก

ที่มั่นคง แข็งแรง

และสามารถเป็นที่พึง

และให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานอื่นๆ ได้

Dialogue คงก้าวเดินมาไม่ถึงวันนี้อย่างแน่นอน

 

(2) เครือข่าย KF (Knowledge Facilitator)

การมีเครือข่ายนั้น ถือเป็นองค์ประกอบหลักแห่งความสำเร็จ

เป็นอย่างมากทีเดียว

ซึ่งนี่ก็เป็นผลมาจาก ยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อน

แบบที่ใช้ “คนหน้างาน”

มาเป็น Change Agent

ที่จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในหน่วยปฏิบัติ

อันเคยใช้ได้ผลกับงาน HRD

ที่แต่ละกองจะแต่งตั้งคนของตัวเอง

ขึ้นมาทำหน้าที่นี้

หากปราศจากเครือข่ายของคนหน้างาน ที่เข้มแข็งแล้ว

ก็คงยากมากที่จะเดินมาถึงวันนี้ได้

 

(3) ผู้นำ

จริงอยู่ว่า ในแทบทุกตำรา

มักจะกล่าวถึง “ผู้นำ”

ว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ เรื่อง

สำหรับกรณีของ Dialogue

แม้ว่าการเดินทางในระยะต้น

จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

จึงทำให้ดูประหนึ่งว่า

ยังไม่สามารถ ขับเคลื่อนอะไรได้มากนัก

แต่หลังจากที่ พก.พส.

ได้ปรับกลยุทธการรุกคืบ

ให้ความรู้ และฝึกทักษะ Dialogue

กับฝ่ายจัดการ ที่สนใจ

และสมัครใจเข้าร่วม

และเมื่อผู้นำเห็นประโยชน์ เห็นความสำคัญ

ก็ย่อมไม่ยากที่จะ ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

และยิ่งถ้าหน่วยมี  KF ของหน่วยที่พร้อมจะรับลูกอยู่แล้ว

ก็เป็นผลให้ การกระเพื่อม ขยายวง

เป็นไปในวงกว้างขึ้น และแรงขึ้น

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

กับ กรณี Dialogue ของ ฝ่าย ปจ1.

ที่ทำกันอย่างพร้อมเพรียงในครั้งนี้

คงจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

หากไม่มี ผู้บริหารที่เข้าใจ และเห็นประโยชน์

และพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

  

(4) กระบวนการ KM

ถือเป็นกระบวนการที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

ในการขับเคลื่อนที่ผ่านมา

ในทุกกิจกรรม Dialogue

ทีมงานจะใช้การ BAR (Before Action Review)

ซึ่งก็คือการหารือ เตรียมการก่อนกิจกรรม

โดยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแล้วว่า

ก่อนจัด Dialogue ทุกครั้งนั้น

ทีม KM และ KF เจ้าภาพ

จะต้องมีการพูดคุย หารือถึง

ความคาดหวังต่อกิจกรรม รูปแบบ

ประเด็นการเสวนา

ตลอดจนบริบท ความเป็นไปของหน่วย

และหลังกิจกรรมที่หากโอกาสอำนวย

ทีมงานก็จะมีการ AAR (After Action Review)

เพื่อสรุปประมวล แลกเปลี่ยน มุมมอง ทัศนะ

ประเด็นการเรียนรู้ระหว่างกัน

ซึ่งจะเป็นเสมือนการประเมินผล

เพื่อปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับหรับการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป

และแน่นอนว่า

ในทุกๆ การพูดคุย ทั้งแบบทางการ

และไม่เป็นทางการ ในหมู่ทีมงานนั้น

ทักษะ Dialogue ของแต่ละคน

ได้ถูกนำมาใช้ และฝึกฝนกันตลอดเวลา

ในทุกการพูดคุย

Dialogue ได้ทำให้

การสื่อสารในทีมงานนั้นมีบรรยากาศของ

Team Learning ที่ทำให้พวกเราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

 

(5) การทำงานแบบเป็นองค์รวมไม่แยกส่วน

สิ่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จในระยะยาว

การให้ความช่วยเหลือ จากทีมงานแกนหลักของ พก.พส.

โดยไม่เคยปฏิเสธ ในทุกครั้งที่ได้รับการร้องขอ จากหน่วยต่างๆ

โดยไม่มีการแบ่งแยก

และคิดเล็กคิดน้อยว่า

งานนี้ใครจะได้ ใครจะเสีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ทีมงาน KM

ได้เข้าไปร่วมสนับสนุน หลอมรวม

และเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน SMART AEROTHAI

อย่างไม่แบ่งแยกนั้น

ก็ยิ่งทำให้ เป็นพลังเสริม และเกื้อหนุนกันได้เป็นอย่างดี

ซึ่งสิ่งเหล่านี้  ล้วนเกิดเองโดยไม่มีใครสั่งการ

แต่ก็กลับให้เกิด การรวมตัวเป็นทีมกัลยาณมิตรที่เข้มแข็ง

และทำให้เกิดความหมายแห่ง “ทีม” ที่แท้จริง

ที่ทุกฝ่ายล้วนอุทิศตนเพื่อเป้าประสงค์ ขององค์กรเป็นหลัก

 

(6) กลยุทธการสื่อสาร

คุณูปการของการสื่อสารนั้นมีมากมาย

การสื่อสารช่วยสร้างการรับรู้

ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนกัน

ทำให้เราไว้วางใจกัน

และที่สำคัญ

มันได้เชื่อมโยงให้เรา

เกิดความรู้สึกถึงความเป็น “ชุมชน” เดียวกัน

และทำให้เกิดความมี "ชีวิตชีวา" ขึ้นมาได้

ทีมงานเราใช้การสื่อสารในหลากหลายรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแบบเผชิญหน้า (Face to Face)

หรือการสื่อสารผ่านอิเลคโทรนิคส์เช่น ระบบ E-mail

เว็บไซต์ พก.พส.  แม้กระทั่งบล็อกส่วนตัว 

และในช่วงหลังก็มีการรุกทาง Webboard

และ CoPs ใน Intranet

เพื่อขยายวงแห่งการรับรู้ให้กว้างขึ้นอีกด้วย

 

(7) Dialogue

โดยตัวเครื่องมือเองนั้น

เป็นกระบวนการง่ายๆ ที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง

อาจารย์มนต์ชัย ท่านเคยกล่าวไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า

“Dialogue เป็นเครื่องมือการพัฒนาที่ไม่ฝืนธรรมชาติของคน”

นอกจากนี้ ท่านยังกล่าวไว้อีกว่า

“Dialogue คือรากฐานขององค์กรแห่งการเรียนรู้”

ถึงวันนี้ กับสิ่งที่ได้พบเห็นมา

พวกเราขอยืนยัน และเป็นพยานในคำกล่าวของอาจารย์มนต์ชัย

จริงอยู่ว่า แม้องค์กรเราจะพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า

เราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ 

แต่สิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับทีมงาน

ที่เราพยายามใช้ Dialogue ตลอดเวลา

ของการพูดคุยในทุกๆ เรื่อง

มันมีนัยยะที่อาจารย์ท่านได้ว่าไว้จริงๆ

พูดได้ว่าพวกเราในทีมงาน

มีการเรียนรู้ และเติบโตในทุกๆ ครั้ง

ที่เราทำ Dialogue ให้กับหน่วยงานต่างๆ

เรามีพัฒนาการ และปรับปรุงกระบวนการอยู่ตลอดเวลา

เราเป็นทีมงานแห่งการเรียนรู้ ก็เพราะ Dialogue

และเราก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า

หากเรายังคงมุ่งมั่นที่จะเดินต่อไป

โดยไม่หมดแรงล้มพับไปเสียก่อน

ก็คงจะมีวันนั้น วันที่เราจะพูดได้เต็มปากว่า

เราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

 

(8) การบูรณาการกิจกรรมต่างๆ กับ Dialogue

หลังจากที่เราเดินกันมาพักใหญ่

เราพบว่า ยังมีสิ่งดีๆ อีกมากมาย

ที่ช่วยส่งเสริมกันและกัน

เราได้พัฒนากระบวนการใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลา

เราเคยทดลองผสมผสานศาสตร์นพลักษณ์กับ Dialogue

เราเคยให้ผู้คนทำการ “ฝันร่วม” ก่อนจะใช้ Dialogue เพื่อการ “สานฝัน”

เราเคยนำเกมละลายพฤติกรรมสนุกๆ มาใช้ ก่อนการ Dialogue

เราเคยนำแนวคิดปรัชญาจากเรื่อง Fish มานำเสนอก่อนการ Dialogue

และปัจจุบันเรากำลังนำ Dialogue มาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือ

เพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร SMART AEROTHAI

 

ร่วมกับเครื่องมือ และกระบวนการต่างๆ อีกมากมาย

และเรายังเชื่อว่า จะมีรูปแบบใหม่ๆ กระบวนการใหม่ๆ

และเป้าหมายใหม่ๆ อีกมากมายที่ยังรอเราอยู่

 

และทั้งหมดก็คือรอยเท้า

ที่เราได้เดินทางมา แม้ดูไม่มากมาย

แต่พวกเราได้เรียนรู้อะไรมากมายเหลือเกิน

เราค่อยๆเติบโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น

จากประสบการณ์ดังกล่าว

นี่คือโอกาสดี ที่ได้มีโอกาสเหลียวหลัง

หันกลับไปดู

 “รอยเท้า” เล็กๆ

ที่พวกเราได้ก้าวร่วมกันมาระยะหนึ่ง

 

หวังว่ารอยเท้าเหล่านี้

คงจะพอมีประโยชน์บ้าง

กับการเดินทางของเหล่ากัลยาณมิตรท่านอื่น

ไม่มาก...ก็น้อยครับ

คำสำคัญ (Tags): #aerothai#dialogue aar
หมายเลขบันทึก: 331359เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2010 05:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • ครูอ้อย ขออนุญาต  เดินตามรอยเท้า ด้วยนะคะ
  • ขออย่าให้เป็น รอยเท้าบนผืนทราย นะคะ
  • แต่รอยเท้าบนผืนทราย ของ พิ้งค์แพนเตอร์ ไพเราะมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณซ ซวง

สบายดีนะคะ ยินดีกับ กว่าจะถึงวันนี้ ที่รอคอย ชื่นชม เป็นกำลังใจก้าวต่อไป ขอบคุณค่ะ

    *  เข้ามาชมดอกอะไร ด้วยความชื่นชมครับ

     *  ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร  ผมศึกษาจากหนังสือที่ท่านเขียนครับ

    *  ผมชอบดอกอะไรก็ได้แต่ชอบ  แต่ยังไม่มีโอกาสทำเป็นเรื่องเป็นราวเสียที  ได้แต่เข้าชมคนอื่นครับ

     * แอบตามมาเก็บรายละเอียดประเภทครูพักลักจำครับ  เผื่อว่าวันดีคืนดีจะได้ทำเองบ้าง

                     ขอบคุณบันทึกดีๆครับ

สวัสดีครับ คุณพี่ครูอ้อย

ขอบคุณมากๆ ครับสำหรับกำลังใจ

ก็คงได้อาศัยคุณูปการของ GotoKnow นี่แหละครับ

ที่ช่วยเปลี่ยน รอยเท้าบนผืนทราย ให้เป็น รอยเท้าบนผืนปูน

แต่ไม่ว่าจะเป็นรอยเท้าบนอะไร ก็ต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลาอยู่วันยังค่ำนะครับ

ขอบคุณครับ คุณ poo

สำหรับกำลังใจให้ทีมงานตัวจริงทุกคน

ตัวผมนั้นเป็นแค่ ผู้สังเกตการณ์ที่คอยเก็บเรื่องราวมาเล่าต่อครับ

สวัสดีครับ ท่านรองฯ Small man

เคยเห็นท่านรอง ก็เคยทำหลายครั้งแล้วนี่ครับ

ให้กลุ่มครูบ้าง นักเรียนบ้าง

ยินดีนะครับ หากมีอะไรจะแนะนำ

ที่หน่วยงานผมเองนั้น ก็ยังไม่ได้ไปถึงไหนหรอกครับ

ยังอยู่ระหว่างการเดินทางไกล

สองปีที่ผ่านมาคงเป็นแค่เพียงก้าวแรกๆ เท่านั้นเอง

ขอบคุณครับ

* เข้ามาอีกรอบครับ

ตามที่คุณ ซ.ซวง เขียนมาว่า ก็เคยทำหลายครั้งแล้วนี่ครับ ให้กลุ่มครูบ้าง นักเรียนบ้าง

* ครับ ก็จริงครับ

* แต่ที่ยังไม่มีโอกาสทำและที่ต้องการทำ คือ ทำในหน่วยงาน หรือ ทำในระดับองค์กรครับ

* เคยวางแผน เคยคิดๆว่าจะทำ เคยจุดประกายขายความคิดไป แต่ไม่มีเสียงตอบรับครับ เลยยังไม่ได้ทำสักที

* ส่วนใหญ่ที่ทำก็ทำกับครูและเด็กครับ เร็วๆนี้ ก็จะทำอีกแล้วครับ กับเด็ก

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ท่านรองฯ Small man

ค่อยๆ ทำไปนะครับ

หากในหน่วย หรือในองค์กรยังไม่พร้อม

ก็ไปทำกับกลุ่มที่พอจะทำได้ก่อน

เชื่อว่าหากท่านรองยังคงมุ่งมั่นทำสิ่งดีๆ ต่อไป

คนในคงเห็นประโยชน์เข้าซักวัน

ขอเอาใจช่วยนะครับ

พี่ก็ขอร่วมเดินไปด้วยคนนะ

สวัสดีครับ พี่วุฒิ

ที่ผ่านมาก็เดินด้วยกันอยู่แล้วนี่ครับ

ต่อไปผมขอเดินตามดูอยู่ห่างๆ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท