๕.คำชมของครูทำให้หนูเป็นเด็กดี


            สืบเนื่องจากบันทึกที่แล้ว   คำชมของครูใหญ่มีอานุภาพเนื่องจากครูใหญ่ไม่ชื่นชม  บันทึกนี้ขอเล่าเรื่องคำชมของครูที่มีต่อนักเรียนบ้าง  มีหลายกรณีที่อยากจะเล่า  แต่กรณีนี้น่าสนใจกว่า  เพราะเพียงคำชมทำให้เด็กชายคนหนึ่งที่นอกจากเรียนไม่เก่ง ค่อนข้างเกเร เห็นแก่ตัว ขาดสำนึกจิตสาธารณะมาเป็นผู้เรียนดีและมีหัวใจเต็มไปด้วยสำนึกสาธารณะ 

          ฉันเคยสังเกตและติดตามพฤติกรรมของนักเรียนคนนี้มาเมื่อ ๔  ปีที่แล้ว  เนื่องจากเขามีลักษณะโดดเด่นชัดเจน ตัวอ้วนท้วน สูงใหญ่  แต่งกายสะอาด  จากการสนทนาแลกเปลี่ยนกับคุณครูในโรงเรียนทุกท่านลงความเห็นเช่นเดียวกันว่า "เรียนไม่เก่งและมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นัก"  นับว่าเป็นโอกาสของการท้าทายอย่างยิ่ง   

          ฉันมีโอกาสสอนเด็กชายคนนี้เฉพาะชั่วโมงภาษาอังกฤษเท่านั้น   จากการติดตามทำให้ทราบว่า เขาเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว  พ่อไปทำงานกรุงเทพ  แม่ขายก๋วยเตี๋ยว ปล่อยให้ป้าซึ่งไม่มีลูกเลี้ยงแทนพ่อและแม่  ป้าจะรักเขาอย่างทุ่มเท  ตามใจมากมาย  เมื่อโรงเรียนใช้งานไม่ว่ากลุ่มหรือเดี่ยวก็จะหลบเลี่ยงเสมอ 

         เมื่อปีที่ผ่านมาเขาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ พฤติกรรมก็เหมือนเดิม  ฉันยังคิดไม่ออกว่าจะแก้ไขเขาอย่างไร   ขั้นแรกคอยให้ความใกล้ชิด แต่ท่าทางของเขายังไม่มั่นใจในตัวฉันมากนัก  ฉันได้เริ่มทักทายและชวนสนทนาถึงพ่อ แม่และครอบครัว  ชื่นชมพ่อและแม่ว่าเป็นคนขยันทำมาหากิน  "ครูภาคภูมิใจกับความขยันของพ่อแม่หนูนะ  หนูภูมิใจไหมละ"

           ต่อมาในห้องเรียน  ฉันพยายามจ้องตาเขาบ่อย ๆ เมื่อเขาอ้าปากพูดสนทนากับบทเรียน ทำให้ฉันสบโอกาส "พูดชื่นชมเขาต่อหน้าเพื่อน ๆ ว่าเขาเป็นเด็กสนใจเรียน  และสื่อสารให้ครูทราบว่ามีความเข้าใจเรื่องที่สอน  และขอให้กำลังใจ" โดยไม่คาดหวังอะไร  ต่อจากนั้นได้สังเกตว่าเขาสนใจเรียนมากขึ้น  ส่งการบ้านตรงเวลา แม้ว่าจะไม่เข้าใจมากนัก  การชื่นชมจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองคือ "กล่าวชมนักเรียนที่ส่งการบ้านตรงเวลา"

          ฉันเริ่มมองเห็นกลยุทธ์ขั้นต่อไป  คือให้ความสนใจเขามากขึ้นในชั่วโมงเรียน "เปิดโอกาสให้เขาอธิบายเพื่อน"  และช่วยกันวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาในทางที่ดี  เป็นแบบอย่างของเพื่อน ๆ นักเรียนทั้งชั้นปรบมือแสดงความยินดีเป็นการยอมรับ "เขายิ้มและยกมือไหว้ขอบคุณเพื่อน ๆอย่างมีความสุข

         ผลบันทึกพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้นี้เกิดขึ้นเมื่อภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๒  ปัจจุบันเขาเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และเป็นเด็กที่มีผลการเรียนภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดี  เพราะให้ความสนใจกับการเรียนตลอดเวลา  ภายหลังที่จบกิจกรรมภาคปฏิบัติแล้ว  เขาจะตั้งใจทำแบบฝึกอย่างมีสมาธิไม่คุยไปเล่นไปเหมือนครั้งที่ผ่านมา  

          ส่วนสำนึกจิตสาธารณะ  ได้ฝึกไปพร้อม ๆ กันคือถือโอกาสใช้ไหว้วานให้ช่วยงานบางอย่างและกล่าวชื่นชมว่า "เป็นเด็กมีฝีมือ แข็งแรงดีกว่าเพื่อน ๆ เพราะรูปร่างที่มองเห็นได้ชัด" และเขาจะเสนอตัวไปช่วยงานของเพื่อนและครู  งานกลุ่มงานเดี่ยวไม่มีบกพร่อง เมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเขามี"ช่อดอกใบเตย"มามอบให้ฉัน ๑ ช่อเป็นฝีมือของเขาเอง แม้ว่าจะไม่สวยเหมือนของเด็กหญิงและบิด ๆ เบี้ยว ๆ แต่เป็นการกระทำด้วยหัวใจจากเด็กชายคนหนึ่ง   "คำชื่นชมจึงเกิดขึ้นด้วยความประทับใจทั้งสองฝ่าย" พฤติกรรมด้านการหลบเลี่ยงงานนั้นไม่ปรากฏในตัวเขาอีกต่อไป  คุณครูและเพื่อน ๆ มองเห็นได้  ระยะเวลา ๔ ปีไม่นับว่านานเกินไปที่สำหรับการรอการปรับพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน

         ส่วนเด็กคนอื่น ๆ จะมีความรู้สึกเป็นสุขกับที่เพื่อนได้รับคำชมนั้น   เนื่องจากเด็กนักเรียนของฉันถูกฝึกให้แสดงออกกับความสำเร็จและชื่นชมความดีของผู้อื่นเสมอ  บทบาทของการอิจฉาริษยาจึงไม่เกิดขึ้น   เพราะเด็ก ๆ มีใจเปิดกว้างในการยอมรับเพื่อน ๆ ซึ่งทุกคนก็ได้รับความเสมอภาคในคำชมตามสมควรเช่นเดียวกัน

 

หมายเลขบันทึก: 331367เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2010 06:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

   "ครูภาคภูมิใจกับความขยันของพ่อแม่หนูนะ  หนูภูมิใจไหมละ"

 

    การประทับตราทางบวก มีผลดีต่อเด็กมากเลยนะครับ  ลงทุนน้อย  แต่ได้ผลคุ้มค่า

 

       ขอบคุณบันทึกดีๆเพื่อเด็กครับ

  • หลายคนไม่อยากชมเด็ก..เดี๋ยวว่าเด็กจะเหลิง
  • แต่คำชมเป็นยาชูกำลังใจอย่างดีนะคะ
  • อย่างของครูคิมนี่ยิ่งดีมากขนาดปรับพฤติกรรมเลย
  • เยี่ยมมากเลยยค่ะ

ดีใจด้วยครับ

สวัสดสีค่ะครูคิม

* คำชม เป็นเหมือนนำทิพย์ที่ชะโลมใจ ใครๆ ก็ยากได้ยิน

* ไม่มีใครอยากได้ยิน คำพูดที่เต็มไปด้วย การติหนิ ดุด่า ดูถูก เสียดสี เด็กทุกคนเติบโตมาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน พฤติกรรมก็ต่างกันไป บางคนดี บางคนไม่ดี ไม่น่ารัก บางคนเห็นแก่ตัว เกเรไม่ตั้งใจเรียน.... หากครูเราทุกคนเปิดใจ-มองเห็นถึงความแตกต่างเหล่านี้  เหมือนที่ครูคิมมองเห็น  แล้วช่วยเขาปรับเปลี่ยน เริ่มต้นจำคำพูดเชิงบวก "คำชื่นชม" และดูแล เอาใจใส่ ติดตามพฤติกรรม เขาย่อมมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น.... คำมาซึ่งความชื่นใจทั้งตัวเด็กเอง ครู และผู้ปกครอง....

* ครูคิมน่ารัก และเป็นแบบอย่างของครูดี...ครูคิมอยู่ต่ออีกซัก 70 ค่อยเกษียณตัวเองนะคะ.....

* ด้วยความนับถือและระลึกถึงค่ะ

 

สวัสดีค่ะท่านรองฯsmall man

  • ขอขอบพระคุณท่านรองฯค่ะ ที่มาแลกเปลี่ยน
  • การแก้ไขพฤติกรรมไม่ยากและไม่ง่ายค่ะ  ขอเพียงให้ถูกจุด เหมาะกับจริต
  • และใช้เวลาหน่อยเท่านั้นเอง
  • อาจจะแก้ไปพร้อม ๆ กันหลายคน  แต่ผลสำเร็จของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากันค่ะ
  • บางคนต้องคอยประคองอยู่ห่าง ๆ บางคนก็ต้องใกล้ชิด  ไม่เกินความสามารถของครูค่ะ
  • เมื่อรายนี้สำเร็จแล้ว  ก็ต้องจัดการกับรายต่อ ๆ ไปค่ะ

สวัสดีค่ะน้องพิชชา

  • คำชมและคำพูดเยินยอไม่เหมือนกันนะคะ
  • เด็กเขาฉลาด  และสัมผัสความรู้สึกของครูได้ดีค่ะ
  • ทุกอย่างใช้เวลาค่ะ
  • ขอขอบคุณนะคะ  ที่มาแลกเปลียน

สวัสดีค่ะคุณ...preechaprathaen [IP: 125.26.146.217]

  • ขอขอบคุณค่ะที่ให้ความสนใจ
  • ยินดีต้อนรับเสมอนะคะ

สวัสดีค่ะคุณครูใจดี

  • ขอขอบคุณในความปรารถนาดีค่ะ
  • ไม่ว่าเด็กเล็กหรือเด็กโตนะคะ  ชอบการชื่นชม  เพราะถือว่าเป็นการยอมรับในสังคมของเด็กเขานะคะ
  • ทุกวันนี้จึงได้เด็กมีใจรักที่จะเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นอีก ๑ คนค่ะ
  • ดีใจมากที่น้องมาแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น
  • พี่คิม...จะพยายามค่ะ...อยู่ให้ครบเกษียณ

สวัสดีค่ะน้องadd

  • ขอขอบคุณในกำลังใจค่ะ
  • คิดถึงเสมอนะคะ

สวัสดีค่ะคุณครูพี่คิม

•ใครๆก็ชอบคำชื่นชมค่ะ...ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

•แต่ต้องยอมรับได้ทั้งคำติและคำชมเช่นกันน่ะค่ะ

•พี่คิมสบายดีน่ะค่ะ พักนี้ หนูรีไม่ค่อยได้เข้ามาบ่อยนัก เลยไม่ค่อยได้ทักทายกัน

แต่ยังคิดถึงเสมอ...ขอให้มีความสุขค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • หนูมองว่าในกรณีนี้อาจารย์ช่างสังเกตและแก้ไขได้ตรงจุดมากเลยค่ะ เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนคนหนึ่งให้เข้ามาสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้ดีขึ้นเป็นลำดับ
  • สมัยที่หนูเรียนมัธยมต้น.. มีเพื่อนๆ (ผู้ชาย)หลายคนที่สอบเข้ามาได้คะแนนที่อยู่ในระดับที่สูงและค่อนข้างเรียบร้อยกว่าหนูมาก
  • แต่เมื่อเวลาผ่านไปผลการเรียนของเขาเหล่านั้นกลับลดลงและเกเรมากขึ้น ถ้าได้คุณครูที่ติดตาม เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงตามวัยของพวกเขา.. หนูคิดว่าน่าจะช่วยเขาเหล่านั้นได้ระดับหนึ่ง
  • แต่รู้สึกเสียดายค่ะ.. ที่สมัยนั้นอาจารย์ฝ่ายปกครองจะมีบทบาทมากกว่า และยังไม่มีคุณครูที่ดูแลเกี่ยวกับจิตวิทยาวัยรุ่นค่ะ ทำให้หลายคนจึงตกหล่นไปในเส้นทางการศึกษาทั้งๆที่ต้นทุนที่เข้ามาค่อนข้างดีอยู่แล้ว
  • ขออนุญาตพูดยาวค่ะอาจารย์.. เพราะรู้สึกว่านักเรียนทุกคนที่เข้ามาน่าจะปั้นได้ อย่างน้อยก็ด้วยวิธีการที่ครูคิมใช้อยู่เป็นสิ่งที่หนูเห็นด้วยว่าสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนใฝ่ดีขึ้นได้ค่ะ..
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณครู  เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก จริง ๆ นะครับ

เด็กๆทุกคนอยากโต อยากโชว์ อยากช่วย..ถ้าได้รับโอกาสและกำลังใจจากคนรอบข้าง เหมือน "ลมใต้ปีกนก" เขาก็จะก้าวไปได้ไกลอย่างมั่นคงนะคะ..

                

สวัสดีค่ะน้องหนูรี

  • ดีใจค่ะที่น้องรีมาทักทาย หายหน้าไปนานคิดถึงนะคะ
  • ขอขอบคุณที่นำข้อคิดมาฝากค่ะ
  • คำชื่นชมคือกำลังใจนะคะ

สวัสดีค่ะน้องน้องซิลเวีย

  • เด็ก ๆ ที่โรงเรียนพี่คิมเป็นเด็กที่น่าสงสาร  มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ดูแล  เพราะต้องหาเงินหาทองค่ะ
  • ส่วนมากอยู่กับญาต ๆ หรือผู้เฒ่าผู้แก่  ไม่มีคนช่วยอบรมบ่มเพาะ
  • พฤติกรรมก็แปลก ๆ เพราะทำตามใจ หรือทำตามคนอื่นที่เห็นว่าถูกใจ
  • การเรียนก็เรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น โรงเรียนเลิกก็หมดหน้าที่
  • ครูจึงจำเป็นต้องดูแลเขาค่ะ
  • ถ้าจะเอาระเบียบแบบฝ่ายปกครอง  เราอาจเสียเด็กหรือเด็กส่วนมากอาจขาดโอกาสก็ได้นะคะ  ระเบียบและกฏเกณฑ์ใช้ได้ดีเป็นบางอย่างค่ะ
  • ขอขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนค่ะ

สวัสดีค่ะพี่หนุ่ม กร~natadee

  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • ที่มาติดตามอ่านบันทึก และให้กำลังใจเสมอ ๆ
  • พักผ่อน  คงสบายดีนะคะ  น่าอิจฉามาก ๆ

สวัสดีค่ะคุณพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • กำลังใจจากคุณพี่ใหญ่  ทำให้น้องครูคิมมีพลังมากขึ้นค่ะ
  • เด็กต้องการยอมรับ  และต้องการเป็นส่วนหนึ่งเสมอค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท