รถเมล์ป้ายสุดท้าย


เมื่อวันก่อนฉันโทรศัพท์กลับไปยังสายที่ไม่ได้รับ เป็นสายของผู้อำนวยการ ท่านบอกฉันว่าจะมีคนไข้ระยะสุดท้ายมาขอใช้เครื่องช่วยหายใจที่ไอซียู

 

รุ่งเช้าเมื่อฉันไปทำงาน ฉันพบคนไข้ในห้องแยก เครื่องช่วยหายใจชนิดเบิร์ด ดังแช่ๆอยู่ข้างเตียง คนไข้หายใจหอบ หน้าอกขยายน้อยมาก แสดงให้เห็นถึงว่าปริมาตรลมหายใจเข้าไม่เพียงพอ ฉันบอกกล่าวยังผู้อำนวยการเมื่อท่านมาตรวจเยี่ยมคนไข้ ท่านรับเป็นเจ้าของไข้ให้เอง

 

ท่านผู้อำนวยการบอกให้ฉันดูแลคนไข้ ให้ยาก็ได้หากคนไข้ไม่สงบ ฉันพยายามปรับเครื่องช่วยหายใจให้เข้ากับการหายใจคนไข้ ใส่ลมเพิ่มเข้าไปยัง cuff ของท่อหลอดลม เผื่อว่าหน้าอกคนไข้จะขยายได้มากขึ้น แต่ความเข้มข้นของอ๊อกซิเจนในเลือดกลับต่ำลง ฉันช่วยหายใจคนไข้ด้วย ambu bag ทำhyperventilation ให้คนไข้ อาจจะช่วยให้คนไข้หยุดหายใจแล้วเครื่องช่วยหายใจทำงานได้ดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ต้องใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อ คนไข้จึงสงบและหายใจได้เพียงพอ

 

เมื่อคุณหมอวิสัญญีมาถึง ฉันบอกกับคุณหมอว่า ผู้อำนวยการให้ดมยาดูแลคนไข้ อยากได้ยาแก้ปวดให้คนไข้ด้วย เพราะการใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้ออาจจะทำให้คนไข้อึดอัดเพราะกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั้งทียังรู้สึกตัว ยาแก้ปวดจะช่วยให้ผู้ป่วยหลับหรือคลายกังวลได้

 

ฉันยังไม่ค่อยเข้าใจหลักการของการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายมากนัก เพียงแค่คิดว่า ต้องให้คนไข้สุขสบายที่สุด หากจากไปก็จากไปด้วยความสงบ สมศักดิ์ศรี แพทย์พยาบาลก็ให้ความช่วยเหลือตามมาตรฐานวิชาชีพ

ฉันให้น้องใส่เตียงลมให้คนไข้เพราะคาดว่า คนไข้ต้องนอนท่าเดียวนาน คุณหมอวิสัญญีเปลี่ยนเครื่องช่วยหายใจเป็นแบบควบคุมปริมาตร ซึ่งควบคุมได้ดีกว่า หลังจากที่ทำการหย่าเครื่องช่วยหายใจของคนไข้รายอื่นได้สำเร็จ

 

เนื้อร้ายของคนไข้กระจายมาที่ปอด คนไข้เหลือปอดข้างเดียว เวลาจัดให้คนไข้พลิกตะแคงตัวจะทำให้ปริมาตรลมหายใจไม่เพียงพอ จากผลเอ็กซ์เรย์ พบว่าคนไข้มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด คุณหมอบอกกับฉันว่า หากเจาะน้ำออกจะให้ปอดขยายตัวได้มากขึ้น อาจจะทำให้คนไข้หายใจได้ดีขึ้น คุณหมอตัดสินใจที่จะเจาะปอดเพื่อระบายน้ำออก น้องพยาบาลบางคนกังวลว่าญาติจะไม่พอใจเพราะบอกว่าไม่ต้องทำอะไรให้คนไข้แล้ว ฉันบอกน้องว่า เราต้องทำตามมาตรฐานวิชาชีพ คนไข้ไม่ให้ปั๊มหัวใจแต่ยังคงให้รักษาเต็มที่

 

หลังเจาะปอดต่อสายลงขวด คนไข้หายใจดีขึ้น ไม่หายใจหอบ ญาติดีใจมากเมื่อฉันเล่าให้ฟังว่า คนไข้เคาะข้างเตียงเรียกพยาบาลได้แล้ว และหายใจดูสบายขึ้นหลังเจอะปอด ญาติรับรู้และมีความยินดีที่คุณหมอระบายน้ำออก ทำให้คุณพ่อดูสบายขึ้น ที่กรุงเทพหมอก็ดูดน้ำออกให้ทุกวัน ลูกสาวคนไข้เล่าให้ฉันฟังบ้าง

 

เมื่อรถเมล์มาถึงยังป้ายสุดท้าย ผู้โดยสารไม่ได้ไปต่อ จำต้องหยุดเพียงที่ป้ายนี้ ทิ้งให้คนข้างหลังวุ่นวายกับการขึ้นลงรถเมล์ในแต่ละป้าย จนกว่าจะมาถึงป้ายสุดท้ายแล้วไปต่อไม่ได้ เพราะการดำเนินชีวิตได้สิ้นสุดลงอย่างเช่นคนไข้รายนี้ ที่กำลังจะเดินลงรถเมล์ไปยังสถานที่แห่งใหม่ในดินแดนที่ใครมักจะพูดว่า "สู่สุคติ"

 

หมายเลขบันทึก: 332601เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2010 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ป้าแดงขา สุดยอดของการให้บริการ ตามมาตรฐานวิชาชีพ ขอชื่นชมคะ

ป้าแดงจ๋า...

บันทึกนี้ดีมากๆค่ะ

เราต้องส่งให้ถึงป้ายสุดท้ายอย่างเต็มความสามารถของคนขับเลยค่ะ

คิดถึงเสมอคะ

  • สวัสดีค่ะ อ.ประกาย อ.น้องพอลล่า
  • อยู่กับคนไข้ระยะสุดท้าย นานเข้าๆ ก็ทำให้รู้ว่า บางครั้งที่เราเข้าใจว่าระยะสุดท้ายแล้ว อาจจะไม่ใช่นะคะ เพราะฉะนั้น ต้องดูแลเขาอย่างคนที่ยังมีความหวังค่ะ
  • คิดถึงเหมือนกันค่ะ เดือนมีนา ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ไปฟังอาจารย์บรรยายรึป่าวค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ป้าแดงครับ ทำให้คิดถึงการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของคุณหมอสกล คุณหมอเต็มและพระไพศาลครับ

ขอบคุณค่ะ อ.ขจิต ป้าแดงกำลังเรียนรู้แล้วก็ศึกษาแนวคิดของอาจารย์ท่านค่ะ

ป้าแดงค่ะ เกดชอบเรื่องเล่าเรื่องนี้ ทำอย่างไรก็ได้ ถ้าทำแล้วเขาสุขสบายขึ้น เพราะเป้าหมายของ palliative care คือให้ความสุขสบายลดความทุกข์ทรมาน บางครั้ง palliative surgery ก็เป็นประโยชน์ บรรเทาอาการทุกข์ทรมานที่เกิดกับผู้ป่วยได้ค่ะ แต่ทุกครั้งที่ offer กิจกรรมการักษาพยาบาลของคนไข้ ต้องให้โอกาสผู้ป่วยและครอบครัวได้วางแผนร่วมกับทีม น่าจะเป็นทางออกที่ดี ของ palliative care ค่ะ

เยี่ยมจังเลยครับ ชื่นชมในหน้าที่นะครับ

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณค่ะ อ่านแล้วรู้สึกอุ่นใจจัง

อยากให้โรงพยาบาลที่คุณพ่อรักษาอยู่มีพยาบาลดีๆอย่างนี้มากๆจังค่ะ

ตอนนี้รู้สึกไม่ปลอดภัยเลย ใช้สิทธิ์บัตรทอง คุณพยาบาลแกเลยจะไล่กลับบ้านลูกเดียว ทั้งๆที่ยังไม่ได้คำแนะนำหลังจากที่ต้องตัดขา และยังมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกรุนแรงเป็นระยะๆ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ คุณหมอเลยให้ออกซิเจน ตอนนี้กลัวว่ากลับบ้านแล้วเกิดอาการ จะช่วยไม่ทันน่ะค่ะ ยังคิดกันว่าจะหาซื้อเครื่องให้ออกซิเจนติดบ้านไว้ดีมั้ย ถ้าใช้เองจะอันตรายมั้ย เข้ามาหาข้อมูล เลยเจอบทความดีๆอย่างงี้ ขอบคุณจริงๆค่ะ อ่านแล้วรู้สึกดีจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท