จุดจบของกระบวนการคลอด : เด็กหญิงมินละเอ้


ผมคิดว่าเธอน่าจะได้รับผลดีจากการที่การคลอดโรงพยาบาล เพราะส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล เธอน่าจะได้รับการตีความที่เป็นคุณว่าเกิดที่โรงพยาบาล

           เมื่อเด็กคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาอยู่บนโลกดวงนี้ มีผู้คนอยู่กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเกิดของเด็กคือผู้ทำคลอด และมีสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือสถานที่เด็กคลอด

            ปัญหาที่ผมพบอยู่มีว่า เด็กหญิงมินละเอ้ ได้ออกมาจากครรภ์มารดาในบ้านเช่า เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๗ ได้มีการตัดสายสะดือในบ้านหลังนั้น แต่ว่าขณะที่เด็กเกิดรกในครรภ์มารดายังมิได้ออกมาจากครรภ์ จึงได้มีการนำทารก และมารดาไปยังโรงพยาบาล เด็กได้รับการทำความสะอาด ผูกสายสะดือใหม่ ฉีดวัคซีนที่นั้น ส่วนแม่ รกที่คาอยู่ภายในได้รับการนำออกมา และทำแผลที่ช่องคลอดทั้งสองอยู่รอดปลอดภัยจนถึงทุกวันนี้

            ก่อนที่แม่และเด็กจะเดินทางกลับบ้านไป พวกเขาได้ชำระค่าใช้จ่ายให้แก่โรงพยาบาลระนองเป็นค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าLab ค่าผ่าตัด และทางโรงพยาบาลก็ได้มอบหนังสือรับรองการเกิดท.ร.๑/๑ ให้ แต่ว่ามิได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำคลอด และเว้นช่องผู้ทำคลอดไว้ไม่กรอกข้อความใด ๆ นอกจากนั้นในช่องสถานที่ที่เกิดได้ระบุว่าเกิดในบ้านเลขที่ ๕๒/๑๗ ม.๔ ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง

                     

            เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ แม่เด็กหญิงคนดังกล่าวได้ไปแจ้งการเกิดยังเทศบาลเมืองระนอง แต่เนื่องจากท.ร.๑/๑ ไม่สมบูรณ์ขาดลายเซ็นต์ของผู้ทำคลอด ทางเทศบาลจึงให้ไปโรงพยาบาลระนองลงลายมือชื่อ เมื่อเธอไปถึงทางโรงพยาบาลปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อเนื่องจากให้เหตุผลว่าแม่และเด็กมาทำความสะอาดจากการคลอดที่โรงพยาบาลเท่านั้น และทางเทศบาลก็ปฏิเสธการรับแจ้งการเกิด

ปัญหามีอยู่ว่า

๑.กระบวนการถือกำเนิดของเด็กคนหนึ่งจะต้องมีถึงเพียงใด ขั้นตอนใดบ้าง จึงจะสามารถออกหนังสือรับรองการเกิดท.ร.๑/๑ ให้แก่เด็ก

๒.การตัดสายสะดือ ผูกสายสะดือ, การตัดสายสะดือใหม่ ผูกสายสะดือใหม่ หลังจากที่หมอตำแยทำไม่เรียบร้อย รวมทั้งการทำความสะอาดทารก เป็นขั้นตอนหนึ่งในการทำคลอดหรือไม่ หรือเพียงแค่เด็กคลอดออกมาแล้วถูกตัดสายสะดือเท่านั้นเป็นการทำคลอด ขั้นตอนหลังจากนั้นไม่เรียกว่าการทำคลอดใช่หรือไม่ เช่นการทำความสะอาดทารก การผูกสายสะดือให้แก่ทารกใหม่ การฉีดวัคซีนแรกเกิด

๓.ขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทารกเช่นตัดแต่งสายสะดือและผูกใหม่ ฉีดวัคซีนแรกเกิดถือว่าผู้ที่ได้กระทำนั้นเป็นผู้ทำคลอดหรือไม่ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่างานเหล่านี้ผู้ทำต้องมีทักษะ และความรู้มิใช่ใครก็ได้ที่จะทำเช่นนั้น

                                  

๔.ขั้นตอนของแม่ที่ต้องนอนพักรักษาตัวพร้อมกับลูกก่อนออกจากโรงพยาบาลเป็นขั้นตอนหนึ่งของการคลอดลูกใช่หรือไม่

                           

๕.ทางกฎหมายแล้วเธอจะเกิดในหรือนอกโรงพยาบาล ในเมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดที่เธอเกี่ยวข้องมีทั้งนอกและในโรงพยาบาล

            ผมคิดว่าเธอน่าจะได้รับผลดีจากการที่การคลอดโรงพยาบาล เพราะส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล เธอน่าจะได้รับการตีความที่เป็นคุณว่าเกิดที่โรงพยาบาลเพราะมีผู้รู้เห็นหลายคน ที่เกี่ยวข้องกับเด็กคนนี้ นอกจากนี้เธอเกิดมาจวนจะ ๖ ปี บริบูรณ์แล้วไม่เคยไปแจ้งเกิดกับผู้ใหญ่บ้านเลย  เธอมีแต่ท.ร.๑/๑ ฉบับนี้ ฉบับเดียวเท่านั้น

                               

หมายเลขบันทึก: 333557เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2010 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เริ่มต้นการบังคับใช้กฎหมายเลยค่ะ

ร้องขอการตีความจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

และท้ายสุด ศาลปกครอง หากถูกปฏิเสธสิทธิ

ยังคิดว่า บันทึกต้องมีชื่อเคส แม้นามสมมติ ทั้งนี้ เพื่อการอ้างอิงค่ะเพ้ง

และควรมาบอกความคืบหน้านะคะ

Ugrid Milintangkul แสดงความเห็นบนลิ้งค์ลิงก์ของ FB ของ อ.แหวว

"ในทางการแพทย์แล้ว การคลอดที่สมบูรณ์คือการคลอดรก ซึ่งเกิดขึ้นในโรงพยาบาล (ตรงนี้ให้ถามสูติแพทย์ดูอีกทีก็ดีครับ) ดังนั้น ผู้ช่วยคลอดจะต้องลงนามครับ...ผมตีความเอาเองนะครับ พอดีตอนนี้ไม่ได้ทำสวนมะพร้าวแล้ว เรื่องนี้อาจหาโอกาสทำเวทีพูดคุยกันก็ดีครับ...กฎหมายอาจจะโบราณไปแล้วและการปฏิบัติก็ย่อหย่อนเกินไปก็ได้"

เพ้งทีรัก คุยกันเรื่องของมินนะเอ้มากเลย ตามมาดูซิคะ

http://www.facebook.com/home.php?sk=lf#!/archanwell?v=wall&story_fbid=132259806804759

ต้องทันเทคโนโลยีนะคะเพ้ง

ผมมาบอกเล่าความคืบหน้า และกระบวนการทำงานเผื่อว่ายามมีปัญหาเพื่อน ๆ จะหาทางแก้ไขได้

๑.เมื่อผมได้โพสต์ข้อความ และรับรู้ถึงความคิดเห็นจากอ.แหวว ผมจึงมั่นใจได้ว่ากรณีเช่นมินละเอ้ ยังไม่เคยมีการกระทำการใด ๆ อย่างเป็นทางการและเป็นกรณีทั่วไปว่าจะจัดการกับการเกิดเช่นมินละเอ้ ผมจึงเขียนหนังสือปรึกษาหารือ

๒.แต่ว่าในกรณีนี้มีข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ประเด็นข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของทางการแพทย์ ผมต้องหาผู้ช่วยครับ

๓.ผมร่างจดหมายปรึกษาหารือ แล้วนึกถึงพี่ด๋าว (คุณดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) ที่เป็นหน่วยงานสนันสนุนทางวิชาการ และเคยช่วยอ่านแก้ไขร่างหนังสือปรึกษาหารือกันมาครั้งหนึ่งแล้ว

๔.จดหมายนั้นทำเป็น ๒ ฉบับ ฉบับแรกเป็นหนังสือปะหน้า ฉบับที่สองเป็นเรื่องของตัวเนื้อหาและเรื่องราว โดยในส่วนของเนื้อหาก็จะแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกบอกเล่าข้อเท็จจริงอันเป็นที่มาของปัญหา. ส่วนที่สองเป็นข้อที่จะต้องพิจารณาเพื่อหาทางออกร่วมกัน

๕.ในส่วนของข้อเท็จจริงนั้น ผมรวบรวมข้อเท็จจริงที่เป็นเอกสารทั้งหมด แล้วร้อยให้เป็นเรื่องราวเท่าที่จะทำได้

ตอนนี้ส่งไปให้ทาง SWIT ช่วยพิจารณาเรียบร้อยมีประเด็นเรื่อง Birth Before Arrival หรือ Birth Before Admitted เข้ามาอย่างน่าสนใจ

แล้วเมื่อร่างสมบูรณ์เสร็จผมจะนำมาบอกเล่าอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดอาการสับสนระหว่างร่างที่ยังไม่เรียบร้อย กับร่างที่เรียบร้อย หรือคิดว่าการเผยร่างที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างร่างแรกของผม และร่างสองของ SWIT เพื่อดูการทำงานของเราดีครับ

หลังจากที่ส่งหนังสือปรึกษาหารือเรื่องนี้ ไปยังผู้อำนวยการทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, อธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนอง เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา บัดนี้ได้รับคำตอบจากสำนักทะเบียนกลางแล้ว ส่วนทางฝั่งสาธารณสุขยังไม่ได้รับการตอบรับ โดยมีสรุปย่อดังนี้ครับ

“ถ้าโรงพยาบาลระนองยืนยันว่าเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ให้กับเด็กหญิงละมินเอ้ จริง เอกสารดังกล่าวย่อมใช้เป็นหลักฐานประกอบการรับแจ้งการเกิดของนายทะเบียนได้ เพราะหากจะพิจารณาตามกฎหมายแล้ว แม้จะไม่มีหนังสือรับรองการเกิดแต่มีพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดและสามารถให้การรับรองต่อนายทะเบียนได้ว่าเด็กเกิดในเขตท้องที่ของสำนักทะเบียน นายทะเบียนก็ไม่อาจปฏิเสธการรับแจ้งเพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย”

แต่ในส่วนปัญหาว่าเด็กเกิดนอกโรงพยาบาลจังหวัดระนอง แล้วถูกนำตัวส่งไปโรงพยาบาลเพื่อทำความสะอาดแผลของแม่และเด็ก โดยโรงพยาบาลออกหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ให้แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อของผู้ทำคลอดนั้น ทางสำนักทะเบียนกลางเห็นว่า “ประเด็นดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ร้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักทะเบียน ว่าการทำคลอดเด็กตามหลักวิชาการแพทย์และการสาธารณสุขมีขอบเขตของงานแค่ไหน อย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน”

มีข้อสงสัยในชุมชนออนไลน์ว่ามินละเอ้ เกิดที่ฝั่งเกาะสอง แล้วข้ามประเทศ ข้ามทะเล มารักษาต่อในโรงพยาบาลระนอง

ต่อข้อสงสัยนี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากยานพาหนะที่จะข้ามมายังฝั่งระนอง มีแต่เรือหางยาวที่ไม่มีหลังคากันแดดกันฝน และจะต้องฝ่าคลื่น ลมในท้องทะเลตลอดเวลา ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนขึ้น ๆ ลง ๆ ตามกระแสคลื่นขณะเดินทาง คนที่เพิ่งคลอดลูก เด็กที่เพิ่งเกิดแม้จะทนทานกับสภาพนี้ได้ แต่ทว่าคนเรือที่พามา หรือเจ้าหน้าที่พม่าจะฝืนมโนธรรม ความรู้สึกปล่อยแม่และเด็กไปผจญชีวิตในทะเลอีกราวครึ่งชั่วโมงได้หรอกหรือ

นอกจากนี้การที่แม่จะข้ามฝั่งมายังประเทศไทย พร้อมกับลูกได้แม่ต้องมี Border Pass เท่านั้น เพราะมีแต่ Border Pass ที่สามารถพาลูกเดินทางมาพร้อมกับตน และการจะทำเช่นนี้ แม่จะต้องนำสูติบัตร หรือทะเบียนบ้านที่บ่งบอกว่าเด็กคนนี้คือรูปตน พร้อมรูปถ่ายไปแสดงกับเจ้าหน้าที่ เพื่อติดภาพเป็นผู้ติดตามใน Border Pass ของแม่ แล้วเด็กที่เพิ่งคลอดเช่นมินละเอ้ จะไปนำเอกสารอะไรมาแสดงเพื่อเดินทางพร้อมแม่ ซึ่งสามารถศึกษาเทียบเคียงได้กับ Border Pass ที่ฝั่งไทยเป็นผู้ออกให้กับคนไทย

ส่วน Temporary Border Pass แม้จะเดินทางได้ แต่ก็ไม่อาจพาลูกมาได้ เนื่องจากมีการตรวจเช็คคนออกจากที่ประเทศพม่าเหมือนกัน โดยจุดแรกตรวจเช็คที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อประทับตราออก ต่อมานั่งเรือหางยาวมาที่จุด Check Point กลางทะเลใกล้ ๆ เกาะเล็ก ๆ สองด่านนี้โดยสภาพที่แม่เพิ่งคลอดลูกยังมีคราบเลือดอยู่ คงจะไม่มีเจ้าหน้าที่พม่าที่จะปล่อยให้เดินทางต่อไปได้

จุดที่ ๓ เมื่อฝ่าคลื่นลมกลางทะเล ราวครึ่งชั่วโมงเข้าน่านน้ำไทย ก็จะพบจุด Check Point ของไทย สมัยนี้จะต้องผ่านการตรวจของทหารอีกจุดหนึ่งด้วย เมื่อถึงจุดนี้ คนพม่าต้องขึ้นไปรายงานตัวที่สำนักงานพร้อมเอกสารเดินทางว่าจะแสตมป์ให้เข้าเมืองไทยหรือไม่ ซึ่งก็ต้องมีการตรวจคนอีกนั้นแหละ

กรณีนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่คลอดทางฝั่งเกาะสอง แล้วต้องพาทั้งแม่และเด็กมาทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลไม่อาจทำได้ด้วยเหตุผลข้างต้น อีกทั้งต้องใช้เวลาในทำเอกสาร เวลาในการตรวจสอบคนเข้าออกเมืองตามจุดต่าง ๆ

เด็กกับแม่ตายกันพอดี เมื่อต้องทำตามแบบพิธีการเข้าเมือง

หรือจะให้คิดว่าหลบหนีเข้าเมืองมา ไม่ต้องผ่านพิธีการ ในเวลากลางวันจะต้องมีการยัดคนลงไปท้องเรือ หรือวิธีการอื่นที่ปกปิดไม่ให้จนท.ทั้งไทยและพม่าตรวจพบ หากมีการยัดมาจริง แมและเด็กก็ตายก่อนที่จะมาถึงแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งแม้จะหลบมาเฉพาะแม่และเด็กก็ต้องใช้เวลา มิใช่อยากมาเวลาไหนก็มาได้ ต้องมีการตระเตรียมทั้งฝั่งพม่าและไทย โดยเฉพาะที่ฝั่งไทย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นระยะเวลาการเปิดปิดด่านเข้าออกของทั้ง ๒ ประเทศอีก กล่าวคือการเปิดด่านมีระยะเวลาตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น.- ๑๘.๐๐ น. มิใช่เปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมงเหมือน 7-11

กล่าวคือ คนจะข้ามแดนในช่วงเช้าแสตมป์แรกก็คือเวลา ๐๖.๐๐ น. ส่วนคนจะข้ามแดนช่วงเย็นแสตมป์สุดท้ายคือ ๑๘.๐๐ น. ซึ่งช่วงเช้าก็จะไปถึงอีกฝั่งหนึ่งก็ราว ๐๖.๓๐ น.-๐๗.๐๐ น. ส่วนช่วงเย็นก็จะถึงเวลา ๑๘.๓๐-๑๙.๐๐ น.โดยประมาณ จากนั้นพรมแดนก็จะปิด นอนหลับไหลกระทั่งเช้าวันใหม่

ในกรณีของมินละเอ้-เธอเกิดหลังตะวันลับฟ้าไปสักพัก แล้วจึงไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลระนอง ซึ่งตามหนังสือสุขภาพแม่และเด็ก ตลอดจนหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ที่ได้รับมาก็ระบุช่วงเวลาคลอดเป็นเวลา ๑๙.๓๐ น. จึงเป็นไปไม่ได้ที่เด็กคลอดแล้ว จะออกมาจากเกาะสองพร้อมแม่ในเวลา ๑๘.๐๐ น. เพื่อรับการอภิบาลที่โรงพยาบาลในอีก ๑ ชั่วโมงครึ่งถัดมา ระยะเวลาขนาดนี้สำหรับแม่และเด็กนานเกินไปไหมที่ทั้ง ๒ จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท