จากผู้ป่วยระยะสุดท้าย…สู่การดูแลด้วยหัวใจ ตอนที่ 1


ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่บนเตียงบางรายที่ยังรู้สติดี แม้อาการยังคงหนักหนาสาหัส พลันเมื่อได้ยินเสียงบทสวดมนต์ ด้วยพลังศรัทธาอันแรงกล้า จึงพยายามใช้เรี่ยวแรงอันน้อยนิดที่มีอยู่ ยกมือขึ้นพนมในท่านอน หลับตาฟังบทสวดมนต์อย่างตั้งใจ หากเพ่งพิศดูให้ดี ก็จะมองเห็นความอิ่มเอิบแฝงบนในหน้าที่ดูอิดโรยนั้น
    แสงตะวันโผล่พ้นเหนือขอบฟ้า ขับไล่ความมืดมิดยามค่ำคืนให้กลายเป็นเช้าวันใหม่ที่สดใสแสงแดดอ่อนๆ ส่องผ่านบานกระจกใสตกกระทบเก้าอี้ไม้สีเขียวอันว่างเปล่า ที่เรียงรายอยู่ชิดผนังทางเดินทั้งสองด้านภายในอาคาร 
 
    ท่วงทำนองของบทสวดมนต์ อักขระภาษาที่มีมนต์ขลังยังคงดังแว่วออกมาจากบริเวณห้องโถงด้านในที่ถูกกั้นไว้เพียงประตูขอบอลูมิเนียมผ่านม่านสีเขียวบางตา
 
    นับว่าเป็นภาพชินตาของผู้คนที่ผ่านไปมาอยู่เป็นประจำ ในบรรยากาศเดิมๆที่ครุกรุ่นไปด้วยความตึงเครียด วิตกกังวล  ความกลัวและความไม่แน่ใจ ของเหล่าบรรดาญาติสนิทมิตรสหายของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาล 
 
    และเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามารับการบริการภายในหอผู้ป่วยหนัก จึงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ  มีการจำกัดทั้งจำนวนคนและกำหนดเวลาในการอนุญาตให้เข้าเยี่ยมอย่างชัดเจน
 
    หลังม่านบานประตูที่ปิดสนิทนั้น หากเดินเข้าไปจะได้กลิ่นยาลอยมาปะทะจมูก  เสียงอื้ออึงของเครื่องมือทางการแพทย์หลากชนิดที่กำลังทำงาน  หากเดินต่อไปจนพ้นขอบผนังห้องทางซ้ายมือจะพบกับผู้ป่วยอาการหนักนอนอยู่บนเตียงที่วางหันหัวเตียงเข้าหาผนังตึก ห่างกันเตียงละประมาณ 2 เมตร รายรอบไปเต็มบริเวณทั้งด้านทิศใต้และทิศตะวันตก
 
    ทางด้านทิศเหนือถูกกั้นไว้เป็นห้องแยกโรค 2 ห้อง ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกถูกกั้นด้วยเคาน์เตอร์พยาบาล ด้านหลังเคาน์เตอร์ห่างออกไปประมาณ 3 เมตร เป็นตู้เก็บอุปกรณ์ ตู้ยา และพื้นที่สำหรับเตรียมยา ซึ่งอยู่ติดกับประตูเข้าออกโดยมีเพียงผนังปูนบางๆกั้นไว้
 
    พยาบาลในชุดยูนิฟอร์มสีชมพู เส้นผมที่ถูกรวบอย่างมิดชิดภายในหมวกคลุมผม ใส่ผ้าปิดปากและจมูก กำลังขะมักเขม้นกับการดูแลผู้ป่วยอยู่อย่างใกล้ชิด บ้างก็เตรียมยาและบ้างก็กำลังบันทึกข้อมูลต่างๆ   ลงในแฟ้มผู้ป่วยอย่างใจจดใจจ่อ
 
    ผู้ป่วยเกือบทุกรายมีอาการหนักมาก ร่างกายถูกควบคุมด้วยบรรดาเครื่องช่วยชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นท่อช่วยหายใจที่ถูกใส่เข้าทางปากบ้าง จมูกบ้างเพื่อต่อเข้ากับเครื่องช่วยหายใจ สายยางสำหรับให้อาหารผ่านทางช่องจมูก เครื่องวัดความดันโลหิตที่ถูกพันรอบๆ ต้นแขนไว้ตลอดเวลา และบริเวณหน้าอกยังมีสายต่อมายังเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ
 
    พื้นที่โล่งกลางห้องขนาด 3x4 เมตร จากเดิมที่เคยว่างเปล่า มาบัดนี้มีผู้คนมากหน้าหลายตาทั้งชาย หญิงและเด็กต่างนั่งพับเพียบพนมมือเรียงกันเป็นแถวหน้ากระดาน มีแก้วน้ำ ขวดน้ำและจานวางอยู่ข้างๆตัว ส่วนด้านหน้าห่างออกไปประมาณ 1 เมตร มีพระสงฆ์ 2 รูป กำลังสวดมนต์อย่างคร่ำเคร่งอยู่บนเก้าอี้ทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกดัดแปลงให้กลายเป็นอาสนสงฆ์ชั่วคราว
 
    ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่บนเตียงบางรายที่ยังรู้สติดี แม้อาการยังคงหนักหนาสาหัส พลันเมื่อได้ยินเสียงบทสวดมนต์ ด้วยพลังศรัทธาอันแรงกล้า จึงพยายามใช้เรี่ยวแรงอันน้อยนิดที่มีอยู่ ยกมือขึ้นพนมในท่านอน หลับตาฟังบทสวดมนต์อย่างตั้งใจ หากเพ่งพิศดูให้ดี ก็จะมองเห็นความอิ่มเอิบแฝงบนในหน้าที่ดูอิดโรยนั้น
 
    เป็นที่รู้กันในหมู่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยแห่งนี้ และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานใกล้เคียงว่าหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรมได้ทำกิจนิมนต์พระมารับบิณฑบาตทุกวันศุกร์ ในโครงการ “ใส่บาตร เดลิเวอร์รี่”
 
    จึงได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเตรียมอาหารคาวหวานมาทำบุญใส่บาตรร่วมกันพร้อมกันนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ตระเตรียมอาหารและดอกไม้ใส่บาตรมาเผื่อไว้สำหรับผู้ป่วยและญาติด้วย ญาติผู้ป่วยบางรายมาร่วมทำบุญด้วยตัวเองไม่ได้ก็จะนำของใส่บาตรมาฝากให้พยาบาลช่วยใส่แทน
 
    เวลาประมาณ 7.30 น. ของวันศุกร์ พระสงฆ์จะบิณฑบาตมาถึงบริเวณชั้น 3 อาคารอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม
 
    บรรดาเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยในชุดปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่หน่วยงานใกล้เคียงพร้อมทั้งครอบครัวบุตรหลานและญาติผู้ป่วยต่างพากันมายืนเข้าแถวรอใส่บาตรกันอย่างพร้อมเพรียง อีกทั้งยังได้นิมนต์พระเข้าไปรับบิณฑบาตถึงเตียงผู้ป่วยอีกด้วย
 
    ญาติผู้ป่วยและพยาบาลจะช่วยกันประคองมือผู้ป่วยหนักที่นอนอยู่บนเตียงให้ใส่บาตรร่วมกัน ผู้ป่วยรายใดไม่มีญาติ พยาบาลจะช่วยทำหน้าที่แทนญาติในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้ใส่บาตร ญาติผู้ป่วยบางครอบครัวถือโอกาสที่พระมารับบิณฑบาตนี้ให้ผู้ป่วยได้ถวายสังฆทานไปด้วยเลย
 
     หลังจากผู้ป่วยและญาติใส่บาตรร่วมกันครบทุกเตียงแล้ว จึงมานั่งรวมกันเพื่อรับพรจากพระ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ญาติและผู้ป่วยได้ทำพิธีกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร  ญาติพี่น้อง  ผู้มีพระคุณและสัตว์ทั้งหลายตามความเชื่อของแต่ละบุคคล จึงเป็นอันเสร็จพิธี
 
     หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม เป็นหนึ่งในหน่วยงานนำร่อง ที่เข้าร่วมโครงการวิจัย “การพัฒนาวิธีปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ของโรงพยาบาล ซึ่ง “พี่จิน” ธนภรณ์ กุลทัพ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ    เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
 
    พยาบาลประจำหอผู้ป่วยแห่งนี้จึงได้เรียนรู้วิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากการพาไปศึกษาดูงานและการฝึกอบรมของ “พี่จิน” จนสามารถปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี
 
    หากมีผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต พยาบาลจะปฏิบัติตามขั้นตอนในการแจ้งข่าวร้ายแก่ญาติ เนื่องจากเป็นหอผู้ป่วยหนัก  พยาบาลประจำหอผู้ป่วยแห่งนี้จึงได้รับการสั่งสมประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง  
 
    และสามารถสังเกตได้ว่าญาติยอมรับการสูญเสียนั้นได้แล้ว จึงเริ่มเสนอทางเลือกในการปฏิบัติให้แก่ญาติ มีญาติบางรายต้องการนำผู้ป่วยไปเสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งทางหอผู้ป่วยก็จะอำนวยความสะดวกในการส่งผู้ป่วยกลับบ้าน
 
    แต่หากญาติเลือกให้ผู้ป่วยเสียชีวิตที่โรงพยาบาล พยาบาลก็จะเริ่มปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย โดยเปิดโอกาสให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แนะนำให้ญาติขออโหสิกรรมผู้ป่วยและให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยได้ตามที่ญาติต้องการ  เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วก็ให้การดูแลช่วยเหลือในเรื่องการตกแต่งศพ รวมถึงขั้นตอนการในการนำศพผู้เสียชีวิตออกจากโรงพยาบาล
 
    “น้องคม”  คมคาย รักษ์สิงห์ทอง และ “น้องเอ๋”  กาญจนา น้ำค้าง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำหอผู้ป่วยหนักแห่งนี้ เป็นพยาบาลที่มีพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา และปฏิบัติตนเฉกเช่นพุทธศาสนิกชนที่ดี
 
    เมื่อมีโอกาสก็มักจะรวมกลุ่มเพื่อนๆ พยาบาลและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆในตึกพากันไปปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสนากรรมฐานที่วัดอยู่เนืองๆ การได้ปฏิบัติกิจทางศาสนา ทั้งทาน ศีล ภาวนาอยู่เป็นประจำนั้น ทำให้เกิดการพัฒนาจิตวิญญาณด้วยการสร้างคุณธรรมจาก ธรรมะ เพื่อเพิ่มคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้ชัดเจนขึ้น
 
     “น้องคม” และเพื่อนๆ ที่มีใจมองเห็นการดูแลแบบองค์รวม มองเห็นความเป็นมนุษย์และความทุกข์ยากของผู้ป่วยและญาติ
 
    จึงได้คิดทำการวิจัยเพื่อประเมินความต้องการของญาติและผู้ป่วย และนำผลการวิจัยที่พบว่า ญาติผู้ป่วยมีความต้องการในการลดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก มาเป็นโจทย์   ในการพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าของงานบริการ ให้สามารถตอบสนองความต้องการครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณโดยการนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการพัฒนางานบริการ ซึ่งความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก “พี่แก้ว” สุทธนี มณีอินทร์ หัวหน้าหอผู้ป่วย
 
    จึงเป็นที่มาของการนำกิจกรรมทางพุทธศาสนามาใช้ในการพัฒนาจิตวิญญาณ ในนามโครงการ  “ใส่บาตร เดลิเวอร์รี่”
 
    โครงการนี้จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจ ช่วยลดความวิตกกังวลใจให้ผู้ป่วยและญาติ  ที่เฝ้ารอคอยอย่างใจจดจ่อด้วยความห่วงใย รวมทั้งเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยที่ต้องทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง จนแทบจะไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติกิจทางศาสนาและเจ้าหน้าที่หน่วยงานใกล้เคียงได้อย่างไรนั้น
 
     “พี่อ๋อย” กันยารัตน์  ม้าวิไล รองหัวหน้าหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรมแห่งนี้ ได้บันทึกไว้ในเรื่องเล่าของเธอว่า
 
     “...สิ่งที่ได้เห็น คือ รอยยิ้มและใบหน้าที่มีความสุขของทุกคน เหนือสิ่งอื่นใด คือ ถ้อยคำที่ทิ้งท้ายจากผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับภาวะคุกคามในชีวิต ที่ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก “ขอบคุณที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา มันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาก เพราะป้าเคยตักบาตรทุกเช้า ขอบคุณจริงๆ”
 
    นี่เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการเชื่อมต่อเรื่องราวทางโลกกับทางธรรมให้เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งไม่เคยคิดว่าจะมีทางเป็นไปได้ แต่ในวันนี้ภาพแห่งความสำเร็จนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ณ ที่แห่งนี้...การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี
หมายเลขบันทึก: 334182เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2010 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โอ้โห... พี่เจี๊ยบ คะ

ฝีมือ ขั้นเทพ เลยค่ะ เขียนดีจังเลยคะพี่

งานเข้า งานเข้า อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท