"จิตและอาสา"


การมีจิตอาสาของมนุษย์ในสังคม จึงไม่ต่างกับจิตของศิษย์พายัพทั้งเก่าและใหม่ ที่ล้วนมีอยู่ซึ่ง “สัจจะและบริการ”.....

“จิต และ อาสา” 

 

          หลังจากผ่านเรื่องวุ่นๆในช่วงเช้า มารู้สึกตัวอีกครั้ง ผมก็นั่งจิบกาแฟอยู่ที่ร้านทรู คอฟฟี่ ในห้างใหญ่ใจกลางกรุงแห่งนี้แล้ว มันช่างดูขัดกันเหลือเกินกับสิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไป เพราะความตั้งใจหลังจากนี้คือ ตั้งใจเขียนเรื่อง “จิตอาสา” ซึ่งนับวันจะยิ่งหาได้ยากขึ้นจากใจจริงของคนเมืองในทุกวันนี้

          นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องยากสำหรับผม ในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับจิตอาสา เพราะงานเขียนที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดของผม ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของกฎหมาย หรือประเด็นทางธุรกิจ แต่เมื่อตระหนักดีแล้วว่าต้องเขียน ดังนั้นผมจึงเริ่มต้นคำๆนี้จากนิยามความหมายก่อน

          คำว่า “จิตอาสา” คือคำนาม ซึ่งเกิดจากคำสองคำ กล่าวคือ

“จิต, จิต-[จิด, จิดตะ-] น. ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบ เขียนว่า จิตร),ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

“อาสา   ก. เสนอตัวเข้ารับทำ. น. ความหวัง เช่น นิราสา = ความหวังหมดแล้ว คือ ความหมดหวัง, ความต้องการ, ความอยาก.(ป.; ส. อาศา).”

          แต่เมื่อประมวลดูแล้ว ความหมายของทั้งสองคำ ก็ไม่สื่อออกมาอย่างที่ใจของผมนึกไว้แต่ต้น เพราะในส่วนลึกๆของนักกฎหมาย ในมิติสำนักกฎหมายธรรมชาติแล้ว คำๆนี้มันควรจะสื่อออกมา ในประเด้นที่เกี่ยวข้องกับสังคมด้วย ผมจึงตัดสินใจ ถามผู้รู้หลายๆท่าน ทั้งนักกฎหมายและนักภาษาศาสตร์ ผลที่ออกมาตรงกันก็คือ ทุกท่านให้นิยามของคำว่าจิตอาสา ในเชิงการทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนั้น จึงยิ่งเป็นการยากสำหรับผม ในการค้นหาคำตอบต่อไปว่า...แล้วประโยชน์ของสังคม เข้ามาสอกแทรกอยู่ในความหมายของคำว่าจิตอาสาได้อย่างไร

          อาจเนื่องเพราะเป็นวันศุกร์ทำให้มีคนพลุกพล่านในห้าง หรือเพราะกลิ่นของกาแฟที่ร้านนี้ไม่หอมเหมือนบางร้าน หรือด้วยเหตุผลใดๆอีกร้อยแปด กาแฟหมดไปกว่าครึ่งแก้วแล้ว ผมก็ยังคิดไม่ออกว่านัยความหมายทางสังคมนี้ เข้ามาเกี่ยวข้องกับคำว่าจิตอาสาอย่างไร แต่เมื่อลองอ่านย้อนใหม่ตั้งแต่ย่อหน้าแรก ผมก็คิดขึ้นได้ถึงเหตุผลดังกล่าว.....

          สำนักกฎหมายธรรมชาติ เป็นหนึ่งในสำนักแนวคิดทางกฎหมายของโลก โดยสำนักนี้เชื่อว่า กฎหมายนั้นมนุษย์มิได้สร้างขึ้นมา แต่เกิดขึ้นจากธรรมชาติโดยตรงเสมอกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ หรือเกิดจากพระเจ้าสถาปนาขึ้น หรือเกิดจากความรู้สึกของมนุษย์ที่สามารถแยกผิดชอบชั่วดีได้ กับทั้งเห็นว่ากฎหมายมีลักษณะพิเศษคือใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาไม่มีวันพ้นสมัย และอยู่เหนือรัฐอีกด้วย[1] ประเด็นที่ข้าพเจ้านึกขึ้นได้ก็คือ เมื่อกฎหมายในทัศนะของสำนักกฎหมายธรรมชาติ คือสิ่งที่มนุษย์ทราบดีอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถทราบได้เองว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด ดังนั้นมนุษย์ทุกคนโดยแท้จริงแล้ว จึงย่อมทราบได้เองถึงความดี ความชั่ว ไม่ต้องรอให้กฎหมายมากำหนด หรือมีคนมาคอยชี้นำ ซึ่งก็สอดคล้องต้องกันกับนานาทัศนะ ทั้งนักกฎหมายและนักภาษาศาสตร์ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ย่อมทราบได้เองว่าสิ่งใดดี หรือไม่ดี และเมื่อกล่าวถึงการอาสา เสนอตัวเข้าทำสิ่งใดๆภายใต้จิตใจของตนแล้ว ภายใต้หัวจิตหัวใจของมนุษย์ลึกๆแล้วก็คงขาดเสียไม่ได้ที่จะไม่นึกถึงซึ่งประโยชน์ส่วนร่วม

          ดังนั้นโดยความเชื่อมั่นของผมนี้ ผมจึงเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าโดยแท้แล้วมนุษย์ทุกคน ย่อมมีจิตใจในส่วนที่คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง การมีส่วนร่วมของบุคคลใดๆที่มีต่อสังคม ในการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และตั้งมั่นในการปฎิบัติ การพยายามไม่เสนอตัวเข้าทำสิ่งใดๆให้แก่สังคม จึงมิใช่วิสัยโดยปกติของมนุษย์ บุคคลธรรมดาในสังคม การมีจิตอาสา จึงเป็นการมีอยู่อย่างเป็นปกติของมนุษย์ อยู่เพียงที่ว่าจะนำสิ่งดังกล่าวออกมาใช้อย่างมีประสิทธิผลได้อย่างไร การมีจิตอาสาของมนุษย์ในสังคม จึงไม่ต่างกับจิตของศิษย์พายัพทั้งเก่าและใหม่ ที่ล้วนมีอยู่ซึ่ง “สัจจะและบริการ”.....

 


[1]http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2#.E0.B8.AA.E0.B8.B3.E0.B8.99.E0.B8.B1.E0.B8.81.E0.B8.81.E0.B8.8E.E0.B8.AB.E0.B8.A1.E0.B8.B2.E0.B8.A2.E0.B8.98.E0.B8.A3.E0.B8.A3.E0.B8.A1.E0.B8.8A.E0.B8.B2.E0.B8.95.E0.B8.B4

หมายเลขบันทึก: 336320เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แยมไม่รู้ว่าสำนักกฎหมายธรรมชาติที่พูดถึงเกี่ยวเนื่องอย่างไรกับ ธรรมชาตินิยม (Naturalism) นะ เพราะถ้าพูดถึง ธรรมชาตินิยม แล้ว เรามักจะนึกถึง วัตถุนิยม(Materialism) และ จิตนิยม(Idealism) แต่เท่าที่ตีความจากนิยาม ก็น่าจะเกี่ยว

 

แต่เกิดขึ้นจากธรรมชาติโดยตรงเสมอกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ หรือเกิดจากพระเจ้าสถาปนาขึ้น

 

 แยมขอแย้งหน่อย ละกัน แยมไม่คิดว่าเป็นปรกติวิสัยนะที่คนจะสามารถแยกแยะ ความดี กับความชั่วออกได้ เพราะสองสิ่งนี้เป็นสิ่งสมมุติที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อให้ "ถูกต้อง" ตามแนวคิดของใครสักคนที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมา แต่การที่คนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ "ดี" หรือ "ชั่ว" เป็นเพราะเราถูกครอบโดยกรอบมาตั้งแต่เกิด เหมือนกับการโฆษณาชวนเชื่อ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกเช้า ทุกเย็น ตลอดเวลาคนก็จะเริ่มจำ เริ่มเชื่อ (ตามหลักการตลาดทุกประการ) ก็ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์เพศชายในยุคโบราณอาจจะเสพเมถุนกันเป็นเรื่องธรรมดา อยู่ในปรกติวิสัย แต่มายุคนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกตราหน้าว่าไม่พึงปรารถนา เป็นสิ่งผิดปรกติ (ตลก!!)

 

หรือแม้แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ ที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจ อย่างแพนด้า กับช้างไทย ทำไมคนถึงคลั่งแพนด้า แต่ช้างไทยกลับถูกลืมเลือนทั้งๆที่ เราชอบพูดกันอย่างภูมิใจนักหนาว่าเป็นสัตว์ประจำชาติ โดนใช้งาน โดนให้เสพยา โดนรถชน เป็นช้างเร่ร่อนเต็มเมือง หรือในกรณีของเฮติ คนที่บริจาคเงินให้เฮติ ถามว่าดีมั้ย คำตอบคือดี เป็นห่วงเพื่อนมนุษย์ แต่ก่อนจะไปเป็นห่วงเพื่อนมนุษย์ถึงเฮติ เคยเป็นห่วงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศไทยบ้างไหม ? หรือห่วงแต่กลัวคนอื่นไม่ยกย่อง(ตาม ขั้นที่ 4 ความต้องการได้ รับการยกย่องจากผู้อื่น ของ มาสโลว์) สุดท้ายก็กลับกลายเป็นการทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง

 

อิอิ บ่นอีกแระ แยมนี่ บ่นตลอด 55 ไปละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท